เราเรียนรู้อย่างไร


ผลการวิจัยที่ว่าด้วยการเปรียบเทียบระหว่างวิธีคิดของ "ผู้รู้" กับ"ผู้เริ่มเรียน" เพื่อเราจะได้นำมาใช้ในการสร้างนักเรียนหรือนักศึกษาของเราจาก "ผู้เริ่มเรียน" ให้เป็น "ผู้รู้" ได้เร็วยิ่งขึ้น

          มีหนังสือเกี่ยวกับการเรียนรู้เล่มหนึ่งชื่อว่า How People Learn เป็นหนังสือที่รวบรวบผลงานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนได้ ข้อดีอีกอย่างคือ สามารถ Download มาอ่านได้ฟรีจาก The National Academies Press (www.nap.edu หรือ Google ด้วยข้อความ:How people learn) ซึ่งมีหนังสืออีกมากที่ให้Download ได้ฟรี ผมเคยคิดจะย่อเนื้อหามาให้ท่านทั้งหลายอ่าน แต่โชคดีที่พบโดยบังเอิญว่า คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่านอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ปี 2546 และได้เก็บเนื้อความสำคัญมาฝากคุณครูทั้งหลาย (น่าจะรวมถึงเราด้วย) ในหัวข้อเรื่อง "เราเรียนรู้อย่างไร" ของฝากเมื่อถูกกักบริเวณ (Google ด้วยข้อความข้างต้นนี้) หรือไปที่ http://www.moe.go.th/main2/art...

(หมายเหตุ​ – ปัจจุบัน​ - 10 ก.พ.​ 2564 -ไม่สามารถเข้าึงเอกสารดังกล่าวตามที่แนะนำไว้ข้างต้นแล้ว แต่ยังสามารถเข้าึง​ How People Learn ได้ด้วยการ Google ด้วยคำว่า nap how people learn (2000) เมื่อข้าึงแล้วเลือก Free PDF)

    ประเด็นที่ขอนำมาเสนอในที่นี้คือ ผลการวิจัยที่ว่าด้วยการเปรียบเทียบระหว่างวิธีคิดของ "ผู้รู้" กับ"ผู้เริ่มเรียน" เพื่อเราจะได้นำมาใช้ในการสร้างนักเรียนหรือนักศึกษาของเราจาก "ผู้เริ่มเรียน" ให้เป็น "ผู้รู้" ได้เร็วยิ่งขึ้น

          ในการเปรียบเทียบวิธีคิดระหว่างผู้รู้และผู้เริ่มเรียนพบว่า ผู้รู้จะมีคุณสมบัติในการคิดดังนี้

(1) ผู้รู้จะสามารถมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่ได้รับ ในขณะที่ผู้เริ่มเรียนจะมองข้ามไป (ถ้ามองเชิงระบบก็ว่า เข้าใจข้อมูลที่เป็นองค์ประกอบแต่ละอย่าง และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น ข้อความในวงเล็บนี้ผมคิดตามไปเอง)

(2) ผู้รู้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆอย่างมากมาย ทั้งยังสามารถจัดระบบข้อมูลที่สะท้อนกรอบความคิด และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง(กรอบความคิดก็น่าจะตรงกับระบบที่กล่าวถึงในข้อแรก)

(3) ความรู้ที่ผู้รู้สั่งสมไว้จะไม่กระจัดกระจายและแยกส่วน แต่จะเชื่อมโยงและสะท้อนให้เห็นถึงการปรับประยุกต์เมื่อนำความรู้นั้นๆไปสู่บริบทต่างๆ (แสดงว่าเก็บความรู้ไว้อย่างเป็นระบบและเวลาจะใช้งานก็จะนำไปใช้ทั้งระบบ)

          ความเชี่ยวชาญของผู้รู้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ผู้ชำนาญ หรือการเดินหมากรุกของนักแข่งหมากรุกชั้นยอด ต่างก็มี "ความรู้" ที่เก็บไว้และนำมาใช้ได้ในรูปแบบของ "ชุดข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน" คล้ายเป็นรูปแบบ(pattern)หรือ schemaที่ได้มาจากประสบการณ์ แต่เป็นชุดที่ยืดหยุ่นปรับตัวได้ (เป็นผลจากประสบการณ์หลากหลายอีกเช่นกัน) ซึ่งจำไว้เป็นชุด (จะว่าเป็นระบบก็น่าจะได้) มิได้จำเป็นข้อมูลโดดๆ จึงไม่เปลืองหน่วยความจำในสมอง เป็นเหตุให้จำข้อมูลได้เป็นจำนวนมากด้วย

          มีตัวอย่างให้เห็นการจำไว้เป็นชุดและการนำมาใช้เป็นชุด จากรายการทีวีเมื่อ 8 ปีก่อนที่ชื่อว่า เกมทศกัณฑ์เด็ก (Google:Dara.hunsa.comน้องเดียว) น้องเดียว (ขณะนั้นอายุ 5 ขวบ) เป็นเด็กชายคนแรกที่ได้รับรางวัลทุนการศึกษา 4,000,000 บาท จากการตอบภาพหน้าคนได้ถูกต้องติดต่อกัน 200 หน้า (จนต้องยุติเพื่อให้คนอื่นได้เล่นบ้าง) ความน่าสนใจของน้องเดียวอยู่ที่วิธีตอบ ที่น้องเดียวพูดออกมาตามที่คิด ทำให้เรารู้วิธีคิดและวิธีจำของน้องเดียว(เพราะน้องเดียวตอบทำนองนี้ทุกครั้งไป)ทั้งยังมีคำสัมภาษณ์ของคุณแม่ในภายหลังถึงวิธีสอนด้วย ขอยกเหตุการณ์ตอนหนึ่ง (ที่ผมเล่าจากความจำที่จำได้ เพราะจำไว้เป็นชุดหรือเป็นเรื่อง) ดังนี้

          ครั้งหนึ่งมีภาพหน้าคนสองภาพให้น้องเดียวเลือกว่า หน้าไหนคือลีเวนฮุค น้องเดียวมองภาพแล้วตอบว่า "ผมจำหน้าบนได้ว่าคือกาลิเลโอ กาลิเลโอคือผู้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ กล้องโทรทรรศน์คือเครื่องมือที่ใช้ขยายภาพที่อยู่ไกล ตรงข้ามกับกล้องจุลทรรศน์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ขยายภาพที่อยู่ใกล้ ผู้ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์คือลีเวนฮุค ผมจำหน้าลีเวนฮุคไม่ได้ แต่หน้าบนเป็นกาลิเลโอ ลีเวนฮุคก็ต้องเป็นหน้าล่าง ขอตอบว่าหน้าล่างครับ"

          โปรดเทียบดูกับสามข้อข้างต้น จะเห็นว่าน้องเดียวเข้าใจข้อมูลแต่ละอย่าง และเห็นหรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันให้เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นระบบหรือมีศัพท์เทคนิคเรียกว่า schema  เวลาใช้งานก็ยกมาทั้งระบบ และอธิบายให้ฟังตามนั้น น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้จำได้ง่ายและนำออกมาใช้ได้ง่าย

         

          หลังพิธีมอบรางวัลมีการสัมภาษณ์คุณแม่น้องเดียว จึงเห็นได้ชัดว่าคุณแม่คือยอดแห่งครู บอกว่า สอนน้องเดียวด้วยวิธีเล่าให้ฟังเป็นเรื่องเหมือนเล่านิทาน (ดูจากนิสัยของน้องเดียวน่าจะมีการซักถามด้วย) จึงน่าจะเป็นเหตุให้จำได้ดี (เพราะจำเป็นเรื่อง มิได้จำข้อมูลแต่ละชิ้น) ทั้งยังไม่เครียดเพราะเรียนแบบฟังนิทาน โปรดดูภาพ schema ของน้องเดียวเทียบกับschema ของการวินิจฉัยโรคของผม ต่างกันแค่ความซับซ้อนเท่านั้น หลักการเดียวกัน เด็กห้าขวบทำได้ มากกว่าห้าขวบก็ทำได้ 

                                  

          โปรดดูภาพต่อไปที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “การเชื่อมโยงข้อมูล” เมื่อข้อมูลที่มีความหมายสามารถเชื่อมโยงกันได้ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ยกระดับความรู้ให้สูงขึ้น จากข้อมูล เป็นข่าวสาร เป็นความรู้ และเป็นปัญญา

                                  

          พยายามจะเสนอว่า การจำข้อมูลหลายๆอย่าง ที่เราเข้าใจความหมาย และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเรื่องราว จะจำได้ดีและหยิบยกมาใช้ได้เมื่อจำเป็น ถ้าเรามีแบบฝึกหัดในลักษณะนี้ให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้ใช้ก็น่าจะเป็นประโยชน์

          ด้วยเหตุนี้ แบบทดสอบระดับการนำความรู้ไปใช้แบบของ PISA ที่กล่าวถึงในตอนก่อน ถ้าเป็นสถานการณ์เหมือนจริง ประกอบด้วยข้อมูลต่างๆที่มีความหมาย มีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องราว ก็ย่อมจะเป็น "ความรู้" ที่จำได้ดี และหยิบยกมาใช้ได้เมื่อจำเป็น แบบทดสอบนี้จึงใช้ได้ทั้งเพื่อการเรียนรู้และการประเมินผล

อำนาจ ศรีรัตน์บัลล์

9 กันยายน 2557

หมายเลขบันทึก: 575993เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2014 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2021 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วิเคราะห์ได้เห็นภาพครับ ขอบคุณอ. ที่บันทึกสิ่งดีๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท