บทวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล มติครม. เมื่อ 18 มกราคม 2548 กรณีศึกษา: เด็กหญิงปิยนุช อากาเป


การจัดสรรเอกชนที่ดี นอกจากจะจัดสรรทางกฎหมายแล้ว ควรจะจัดสรรทางสังคมด้วย

          จากการที่มติครม. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนที่มีสถานะไม่ชัดเจน และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของกลุ่มคนดังกล่าว สามารถมองได้ว่า มติดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างทั้งแผนกคดีเมืองและคดีบุคคล กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนที่มีสถานะไม่ชัดเจน โดยการกำหนดสถานะที่เหมาะสมให้กับบุคคลดังกล่าว เป็นการจัดสรรเอกชน ตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล อันเป็นการจัดสรรทรัพยากรบุคคลของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการให้สัญชาติแก่บุคคลที่เหมาะสม หรือการให้สถานภาพผู้มีสิทธิอาศัย หรือการส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง เป็นต้น

          ในขณะที่ การให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่กลุ่มบุคคลที่มีสถานะไม่ชัดเจน เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary International Law) เพราะถือว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ใดจะมาละเมิดมิได้ เพราะฉะนั้น การที่ประเทศไทยจัดให้บุคคลที่มีสถานะไม่ชัดเจนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองนั่นเอง

          ซึ่งหากพิจารณาในแง่ยุทธศาสตร์ตามมติครม.ดังกล่าวแล้ว ก็เห็นว่ามีความเหมาะสม โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสถานะบุคคลตามกฎหมายได้ ก็มีกฎหมายและนโยบายรองรับเกือบทั้งหมดแล้ว แต่การที่ยังมีบุคคลตกหล่นการสำรวจอยู่คงเนื่องจากว่า การค้นหาบุคคลที่มีสถานภาพไม่ชัดเจนจะมีลักษณะที่หน่วยงานของรัฐ หรือกลุ่มคนที่ได้รับมอบหมาย จะต้องเดินทางเข้าไปค้นหาบุคคลดังกล่าว ซึ่งน่าจะให้คนของทางราชการที่มีโอกาสติดต่อกับบุคคลที่มีสถานะไม่ชัดเจนรับผิดชอบในเขตพื้นที่ของตน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ ครูอาจารย์ของโรงเรียน สำรวจคนในพื้นที่ของตนว่ามีบุคคลเช่นว่านั้นหรือไม่ ซึ่งหากมีกรณีที่คล้ายกับของเด็กหญิงปิยนุช ก็สมารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้โดยบุคคลในท้องถิ่นเอง ไม่จำต้องให้บุคคลนอกท้องถิ่นไปค้นหา ทั้งนี้ ก็ต้องอาศัยกำลังของภาครัฐในการโฆษณาทางสื่อต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้บุคคลดังกล่าวมารายงานตัวต่อรัฐ

          อีกทั้ง การให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลดังกล่าว ควรที่จะรวมเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานไปด้วย เพราะหากคนๆ นั้น มีความรู้ ก็จะไม่เป็นภาระต่อรัฐที่จะต้องดูแลบุคคลนั้นต่อไป ในทางกลับกัน บุคคลดังกล่าวอาจจะกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศไปก็ได้

          ดังนี้ หากพิจารณาตามยุทธศาสตร์ในภาพรวมแล้ว ก็พบว่าน่าจะคลอบคุลมแก่ปัญหาทุกกรณีในเชิงกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ มีปัญหาในการนำกฎหมายนั้นมาบังคับใช้ เนื่องจากอาจจะเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ที่น้อยเกินไป ทำให้บุคคลดังกล่าวไม่ทราบสิทธิของตน อีกทั้งควรสนับสนุนการให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลที่สถานะไม่ชัดเจนในด้านการศึกษาที่มารายงานตัว เพื่อจูงใจให้บุคคลนั้นมารายงานตัว ทำให้บุคคลสถานะไม่ชัดเจนซึ่งตกสำรวจลดลง อีกทั้งการได้รับการศึกษาทำให้บุคคลนั้นไม่ต้องเป็นภาระของรัฐอีกต่อไป 

"การจัดสรรเอกชนที่ดี นอกจากจะจัดสรรทางกฎหมายแล้ว ควรจะจัดสรรทางสังคมด้วย"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท