๖๔๙. เห็นปัญหาตั้งคำถามหาคำตอบ คิดนอกกรอบ..สร้างความแตกต่าง


.สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก..ต้องปรับตัว และกระตือรือร้นตลอดเวลา อย่าคิดเลยว่า..จะแซงหน้าใคร..แค่คิดว่า..การศึกษาก็เพื่อความอยู่รอด แล้วถามว่าใครรอด..?

             ผมคิดว่า..วิธีการบริหารจัดการที่ดีมีมากมาย ขึ้นอยู่กับบริบทขององค์กร ที่เราจะประยุกต์แนวปฏิบัติมาใช้ โรงเรียนขนาดเล็กก็เช่นเดียวกัน วิธีปฏิบัติมีความสำคัญ จึงไม่แปลกใจ..ที่ต้นสังกัด..พยายามตั้งรางวัลให้โรงเรียน สำหรับการนำเสนอผลงานวิธีคิด..

            โรงเรียนขนาดกลาง ถึง ขนาดใหญ่..ไม่มีแรงจูงใจ ให้ผู้บริหารระดับสูงต้องห่วง..ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร..? ปฏิบัติไปแนวทางไหน..? ไม่มีใครวิตกกังวลและไม่มีเวที..ให้นำเสนอผลงาน..

            เพราะ..โรงเรียนทั่วไป ยกเว้นโรงเรียนเล็กๆ มีแรงเสียดทานน้อย มีแรงเสริมเติมเต็มมากมาย มีปัจจัยหลายอย่างควบคุมได้..งานทั้งหลาย..สะดวกและง่ายดาย..

            แต่..สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก..ต้องปรับตัว และกระตือรือร้นตลอดเวลา อย่าคิดเลยว่า..จะแซงหน้าใคร..แค่คิดว่า..การศึกษาก็เพื่อความอยู่รอด แล้วถามว่าใครรอด..?

            คำตอบคือ..ครูกับนักเรียน..ที่ไม่ต้องทำบาป หรือตกเป็นจำเลยของสังคม ด้วยการทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี..ไม่มีการดูดทรัพยากรให้สูญเปล่า มีการเติบโตสมตัว และนักเรียนก็มีคุณภาพ..สมวัย

            ทุกวัน..ผมมองเห็นวิธีทำงาน..ทะลุปรุโปร่ง..ทดลองทำมาแล้ว ก็มากมาย  ล้มเหลวก็เพื่อสำเร็จ..ไม่คิดนำเสนอผลงานเข้าประกวดเอารางวัล เพราะได้มาเยอะแล้วจนรู้สึกพอเพียง..หลีกเลี่ยงคำชม เพราะอาจทำให้หลงและยึดติด..ที่ผิดทาง    

            ปัญหามีให้แก้..มิได้มีไว้ให้กลุ้ม ผมเจอปัญหาบ่อยมาก..จนต้องร้อง เอ๊ะ..แล้วตั้งคำถามทันที..ว่าทำไม...? เพราะอะไร...? แล้วจะแก้อย่างไร..? และต้องลงมือแก้ไขเลย..

            การเรียนการสอน..เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ผมสนใจอย่างใกล้ชิด และเกาะติดสถานการณ์..ครูเริ่มยอมรับในวิธีคิดของผม..ผมเห็นปัญหาเรื้อรังของโรงเรียน ด้านการอ่าน การเขียน คิดและวิเคราะห์..เชื่อมโยง

            ผมตั้งคำถาม..ถามไปเรื่อยเปื่อย..ปัญหานี้ ทำไมแก้ไม่ได้..ทำไมยังเป็นปัญหาอยู่..สังเกตและหาคำตอบก็พบว่า..ครูขาดเครื่องมือ..นักเรียนยังเข้าไม่ถึงเครื่องมือที่มีคุณภาพ...ครูต้องการเวลาซ่อมเสริม..และนักเรียนต้องเพิ่มเวลารู้..

            คำตอบ..ต้องมาพร้อมวิธีแก้ปัญหา..ผมเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้ ให้เวลาครูสอนให้เต็มที่..รบกวนเวลาสอนของครูให้น้อยที่สุด ผมช่วยคิดค้นเครื่องมือ(นวัตกรรม) นำสู่การอ่านการเขียน..ทุกระดับชั้น..วิชาการอบอวลไปทั้งโรงเรียน..

            ทุกวันนี้..ผมคุ้นเคยกับการตั้งคำถาม เก็บเล็กผสมน้อยกับวิธีแก้ปัญหา หาความเป็นไปได้ของคำตอบอยู่เสมอ...

            ดังนั้น..จึงไม่ต้องมีใครมาชี้นำ มากล่าวคำชื่นชม..ในเมื่อวิธีปฏิบัติที่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง..มันเป็น..BEST..อยู่ในตัวมันเอง เพียงแค่หมั่นคิดนอกกรอบ..สร้างความแตกต่าง..

            นักบริหารและนักวิชาการบางท่าน..อาจคิดว่า..การคิดนอกกรอบทำให้เสียเวลา ไม่น่าสนใจ ไม่ควรเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป ไม่เหมือนใคร..คบไม่ได้..

            แต่การคิดนอกกรอบ..จะช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ ให้เกิดการยอมรับ ด้วยวิธีการคิดที่แตกต่างจากเดิม..คิดเหมือนเดิม..ผลลัพธ์ก็เท่าเดิม อาจต่ำกว่าเดิมด้วยซ้ำ..

            สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก..ความคิดนอกกรอบ..ที่แตกต่าง..สร้างสุขในการทำงานได้เสมอ..แต่ก็มีบางครั้งบางครา ก็มีบ้าง..ที่ต้องอดทน..เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๖  ธันวาคม  ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 643597เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2017 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2017 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบการคิดนอกกรอบและนำไปสู่การพัฒนาโรงเรียน

ขอชื่นชมการทำงานครับ

ขอบคุณครับ..อาจารย์สบายดีนะครับ..คิดถึงเสมอ..


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท