จดหมายจาก “หนุ่มดอยเต่า”


จดหมายจาก “หนุ่มดอยเต่า”

“ผอ. กองฝึก”

เรือนจำแม่ฮ่องสอน 

ผอ. กองฝึกฯ ที่เคารพ

ผอ.ครับ ผอ.คงแปลกใจ นะครับ ที่ได้รับจดหมายฉบับนี้พร้อมกับรูปถ่าย ก็เป็นไป ตามที่ผมเคยพูดนะครับ ตอนที่ผมมาอบรมหลักสูตรความรู้พื้นฐานฯ รุ่นที่ 3 ว่าผมจะไปส่งรูปกระต๊อบที่เจ้าพนักงานสร้างอยู่กันมาให้ดูนะครับ เพราะบ้านพักที่ทางราชการสร้างให้มันมีไม่เพียงพอนะครับ พอดีผมกลับจากอบรม มีเจ้าพนักงานซี1 บรรจุใหม่ ซึ่งบรรจุก่อนผมประมาณ 2 เดือน เขาจะปลูกกระต๊อบอยู่เอง เขาลงทุนซื้อใบตอง ตึง, ตอก, ตะปู ส่วนไม้ก็ตัดมาจากเรือนจำชั่วคราว ก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือละครับ ที่เห็นในรูปก็เป็นเจ้าพนักงานทั้งนั้นละครับ ขุดหลุม ลงเสา สร้างโครง ขึ้นมุงเอง เพราะเรือนจำไม่มีผู้ต้องขังจ่ายนอกรอทางกรมอนุมัติอยู่ก็เลยต้องลุยเอง มันจำเป็นต้องสร้างนะครับ เพราะที่แม่ฮ่องสอนบ้านเช่าหายาก และค่าเช่าสูงด้วยและเราเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้ด้วย ก็สร้างกันรอบๆ เรือนจำนั่นแหละครับเสียดายที่ผมไม่ได้ถ่ายรูปกำแพงมาให้ดูด้วย ซึ่งผมคิดว่าท่าน ผอ.คงเคยเห็นแล้ว แต่ก็มีบางรูปที่ผอ.มองเห็นกำแพงเรือนจำสีดำๆ อยู่ด้านข้าง ผอ.ครับที่ผมเขียนจดหมายและส่งรูปมานี้ก็ไม่มีวัตถุประสงค์อะไรนะครับ อย่างที่ผมบอกตอนแรกว่า ผมส่งมาให้ดูกันเล่นๆ นะครับ ว่านี้คือที่อยู่ของพวกผมละครับ

ส่วนการงานก็ปกติดีครับ มีผู้ต้องขัง 123 คน ส่วนมากก็เป็นคดียาเสพติด, และ พ.ร.บ.ปาไม้, หลบหนีเข้าเมืองซึ่งเป็นพวกต่างด้าวครับ จะมีปัญหาเรื่องภาษา ซึ่งมีทั้งกระเหรี่ยง มูเซอดำ, มูเซอแดง, ยาง, แม้ว ซึ่งก็พูดคนละภาษา ชาวไทยราบ ก็พูดภาษาไทยใหญ่ หรือภาษาไต พวกพม่า ส่วนมากจะพูดภาษาอังกฤษได้ และมีเยอรมัน 1 คนก็เลยทำให้ พวกผู้ต้องขังหลายคนพูดภาษอังกฤษได้ โดยส่วนรวมก็ไม่มีปัญหาเรื่องการปกครอง เพราะพวกชาวเขาก็ค่อนข้างปกครองง่ายตอนนี้กำลังสอนผู้ต้องขังไม่รู้หนังสือให้สามารถอ่านออก เขียนได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการศึกษานอกโรงเรียนในเรื่องอุปกรณ์การสอน

เร็วหน่อย เพื่อนใกล้เสร็จแล้ว เพื่อนอีกคนต้องรีบไปเข้าเวร (คำอธิบายหลังภาพ)

หลังที่เห็นเสร็จแล้ว สร้างเมื่อปี 2534 มีเจ้าพนักงานอยู่ 3 คน (คำอธิบายหลังภาพ)

ผอ.ครับผมลืมบอก ผอ.ว่าตอนนี้ผมยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานคุมประพฤติ ตอนนี้ผมประจำอยู่ฝ่ายควบคุมฯ และทาง ผบ.ให้รับผิดชอบในการสอนผู้ต้องขัง (หนังสือ) ซึ่งผมเห็นว่าทางเรือนจำมีผู้ต้องขังน้อย งานเกี่ยวกับทะเบียนหรือการคุมประพฤติมีน้อยในทางปฏิบัติ จริงๆ เราไม่สามารถออกไปสืบเสาะ สอดส่องได้จริงๆ เพราะมีปัญหาเรื่องภูมิประเทศ การเดินทาง ซึ่งระยะทางไกลเป็นป่าเขาและอุปสรรคด้านภาษาอีก ผมก็ว่าอยู่ปฏิบัติงานในฝ่ายควบคุมไปก่อน และท่านผบ. ก็บอกว่าให้ผ่าน 6 เดือน ก็จะให้ขึ้นไปทำงานแผนกทะเบียนและฝ่ายควบคุมประพฤติ ซึ่งเรื่องการสืบเสาะ สอดส่อง จะใช้อาสาสมัครคุมประพฤติปฏิบัติหน้าที่แทนมากกว่า ผมเห็นว่า เหมาะสมนะครับเพราะผมต้องทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้ต้องขังทุกคนและการศึกษาพฤติกรรมของพวกเขา ซึ่งจะมีประโยชน์ในการปฏิบัติงานต่อไป ทั้งสายงานโดยตรงหรือสายงานอื่น ผอ.ครับงานเรือนจำ เปีนงานที่ต้องใช้ความอดทนมากครับและต้องเสียสละด้วยครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็มีความภาคภูมิใจที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ที่มีความผิดพลาดในชีวิตของพวกเขาให้เขาได้สำนึกและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในชีวิตที่เขาต้องมาอยู่ในสถานที่ลงโทษ เช่นนี้ 

 
แต่มีปัญหาหนึ่งครับ ผอ.คือคดียาเสพติดซึ่งมีมากในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้ ผู้ต้องขัง เข้าๆ ออกๆ เกิน 2 ครั้งมีอยู่มากเลย ซึ่งผมคิดว่าปัญหานี้เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เป็นมากกว่า ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้พวกเขากระทำผิดขึ้นอีกในแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ยาเสพติดระบาดมากจังหวัดหนึ่ง เฮโรอีนก็ค่อนข้างจะหาซื้อกันง่ายๆ ฝิ่นในหมู่บ้านชาวเขามีผู้คนติดกันมาก และจึงถือเป็นเรื่องปกติประจำของพวกเขาก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าการแก้ปัญหาที่เรือนจำอย่างเดียวคงไม่ได้ผล เพราะสถิติผู้ต้องขังคดียาเสพติดไม่ว่าฝิ่นหรือเฮโรอีนเป็นพวกที่เคยถูกจำคุกมาก่อนทั้งนั้น โดยความคิดของผมเอง ผมว่าควรใช้การคุมประพฤติในชั้นศาลมากกว่า สำหรับผู้กระทำความผิดเสพครั้งแรก (เสพ) โดยที่จังหวัดอื่นเขาก็ทำกันอยู่นะครับ แต่ที่แม่ฮ่องสอนนี้ยังไม่มีคุมประพฤติของศาล และปัญหาเรื่องนี้จะมีซ้อนกันคือผู้เสพยาเสพติด (เฮโรอีน) จะขายยาเสพติดด้วยเพราะพวกนี้ถ้าเสพอย่างเดียวจะไม่มีเงินซื้อเสพเลยมีอาชีพขายยาด้วย แต่ส่วนพวกที่โดนจับมาก็จะเป็นข้อหาเสพมากกว่า ส่วนเรื่องผู้ต้องขังกระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ก็แก้กันยากครับ เพราะพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 90 % เป็นภูเขาทำ การเพาะปลูกไม่ได้ ชาวเขาประมาณ 60% ของประชากรแม่ฮ่องสอนไม่ปลูกฝิ่นก็ตัดไม้ละครับ พวกหลบหนีเข้าเมืองก็มีอยู่เยอะครับ ทำงานในห้องอาหารหรือก่อสร้างก็มี เพราะชายแดนเป็นป่าเขา และระยะทางเขตยาวไกลมาก มีคนเคยพูดว่า เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษจากเรือนจำ ก็ทำการผลักดันหรือ นำไปปล่อยที่ชายแดน พอก็กลับมาที่ตัวเมืองก็เจอพวกที่นำไปปล่อยเดินอยู่ในตลาดเสียแล้วก็ยากครับ

ผอ. ครับ รู้สึกผมจะเชียนซะยืดยาวเลยนะครับ ก็ค่อนข้างเหงานะครับไม่รู้จะไปไหน เมืองมันเล็กนะครับ สถานที่เที่ยวก็อยู่ไกลออกไปมาก รถเมล์ก็ไม่มี รถประจำทางก็มีวันละไม่กี่เที่ยว ยิ่งไม่มีรถมอเตอร์ไซด์ลำบากครับ เวลาจะไปหาข้าวกินที่เดินอย่างเดียวละครับอาหารรู้สึกจะแพง เพราะพื้นที่เพาะปลูกมีไม่เพียงพอเลี้ยงทั้งจังหวัดต้องอาศัยจังหวัดเชียงใหม่นะครับ

ผอ. ครับผมเห็นทีต้องยุติไว้เพียงเท่านี้นะครับ ผอ.อาจตาลายแล้วก็ได้ วันหลังถ้าผมคิดจะย้าย ผมจะเขียนมาเล่าให้ผอ.ใจอ่อนให้ผมย้ายนะครับ (พม่ากับกระเหรื่ยง ก็ยังยิงกันอยู่นะครับ)

สุดท้ายนี้ขอพรพระศรีฯ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์  อำนวยพรให้ท่าน ผอ. โชคดีในหน้าที่การงาน การเงิน และครอบครัวครับ ด้วยความเคารพและนับถืออย่างสูง (หนุ่มดอยเต่า)

พนักงานคุมประพฤติ 3 

เรือนจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

4 ต.ค.2535

---------------------------------------------------------------------------------------------------

กองฝึกอบรมฯ 

ถึง หนุ่มดอยเต่า

ผมได้รับจดหมายคุณแล้ว ค่อนข้างจะยาวแต่มีสาระสะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง ดีใจนะครับที่คุณเข้าใจในการที่คุณเริ่มไปปฏิบัติหน้าที่ที่เรือนจำ แล้วยังไม่ได้ลงปฏิบัติหน้าที่พนักงานคุมประพฤติโดยตรง เป็นการดีนะครับที่คุณได้เรียนรู้งาน ได้รู้จักผู้ต้องขัง รู้จักเรือนจำ และพื้นที่ก่อน ซึ่งจะทำให้คุณทำงานคุมประพฤติได้ดีขึ้น ความรู้นิติศาสตร์ที่คุณเรียนมาอาจจะยังไม่ได้ใช้เท่าใดนักในตอนนี้ แต่มันจะเป็นพื้นฐานในการทำงานภายภาคหน้าของคุณเป็นอย่างดีเมื่อบวกกับประสบการณ์ ในการทำงานภาคสนาม

เห็นกระต๊อบที่พวกคุณช่วยกันสร้างแล้ว อยากไปดูของจริง ถึงคับแคบแต่ก็คงอยู่สบาย ช่วยประหยัดค่าเช่าบ้านไปได้เยอะ ขอให้คุณและน้องๆ อดทนกันสักพักนะครับ เห็นข่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ของบสร้างเรือนจำแม่ฮ่องสอนแห่งใหม่แล้ว ถ้าสร้างเสร็จก็จะมีบ้านพักของเรือนจำ รอบเรือนจำอย่างเพียงพอสำหรับพวกเราเลย

ใช่ครับ งานเรือนจำเป็นงานที่หนัก ต้องอาศัยความอดทนและเสียสละเป็นอย่างมาก ผมและครูฝึกของกองฝึกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์ทุกคนดีใจนะที่คุณรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานราชทัณฑ์ ช่วยเหลือผู้ผิดพลาดในชีวิต แม้จะเป็นงานที่ยาก หนัก และเสี่ยงภัย มีคนกล่าวไว้ว่า “ชีวิตคนเรา ถ้าได้ทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้อื่นให้ดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นการใช้ชีวิตที่คุ้มค่าแล้ว”

สุดท้ายนี้ ก็ให้คุณโชคดี ขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วยดีนะครับ และ คงยังไม่คิดถึงบ้านในตอนนี้ อดทนอยู่เรือนจำแม่ฮ่องสอนไปก่อนคุณอาจจะชอบก็ได้นะ

ด้วยจิตคารวะ 

“ผอ.กองฝึกฯ”

-------------------------------------------------------------------------------------------

เรือนจำแม่ฮ่องสอน 

ผอ. กองฝึกฯ ที่เคารพ

ผมได้รับจดหมายจากผอ. แล้วดีใจมากครับที่ผอ. ตอบจดหมายผม ผมอยู่ที่นี่นานๆ ก็เริ่มชินแล้วครับรู้สึกสนุกกับงานและได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะ ตอนนี้ผมได้มาเรียนมาดูงานจำแนก และคุมประพฤติ ผมคิดว่าการทำงานเรือนจำทำให้เรียนรู้พฤติกรรมของคนได้มากเลย เรือนจำเหมือน เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตเลยนะครับ มืชีวิตของผู้คนมากมายให้ศึกษา ซึ่งเรื่องราวของผู้ต้องขังแต่ละคนมีอะไรแปลกๆ น่าสนใจที่ไม่มีในตำราให้ศึกษา ผมคิดว่าผมโชคดีที่ได้เข้าเรียนรู้ในนี้ครับ

ที่สำคัญ ผมได้พบผู้ต้องขังหลายคนที่ไม่น่าจะเข้าอยู่ในนี้เลยบางคนตัดต้นไม้ต้นเดียว โดนติดคุก บางคนลักทรัพย์ไก่ข้างบ้าน แต่ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดเป็นผู้เสพบางคนขายด้วยแต่ เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าคนเหล่านี้ถ้าได้รับโอกาสที่เขาไม่เคยได้รับจากสังคมน่าจะเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้ บางคนไม่รู้หนังสือก็ได้มาเรียนหนังสือในเรือนจำ บางคนไม่มือาชีพก็มาฝึกอาชีพในเรือนจำ

ผอ. ครับ ตอนนี้ผมมีเพื่อนที่ทำงานหลายคนแล้วครับ ก็เป็นพวกรุ่นน้องที่เข้ามา พวกพี่ๆ ก็ช่วยเหลือแนะนำดีครับ ผมไม่เหงาแล้วครับ ยังอยากเรียนรู้งานที่นี้ไปอีกครับ ผมชักชอบที่นี้ แล้ว เคยมีรุ่นพี่เล่าให้ฟ้งว่า ผู้ต้องขังที่นี่เคยสร้างวีรกรรมไว้ครั้งหนึ่งที่มืพายุพัดกำแพงสังกะสีของ เรือนจำพังลง ผู้ต้องขังไม่หนีแต่กลับมาช่วยกันซ่อมกำแพงให้เหมือนเดิมแล้วก็กลับเข้าเรือนนอน เป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก แต่เรื่องราวแบบนี้คงจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วมั้งครับ เพราะเห็นว่ากรมจะสร้าง เรือนจำแม่ฮ่องสอนแห่งใหม่ขึ้น

ผอ. ครับ ผมคิดว่าจะไม่เขียนจดหมายมารบกวน ผอ. อีกแล้วครับ เพราะผมเริ่มปรับตัวได้กับการทำงานที่นึ่แล้วครับ ไว้เวลามีป้ญหาจริงๆ ถึงจะเขียนมาครับ

ขอบคุณนะครับ สำหรับคำแนะนำ ขอให้ ผอ. โชคดีนะครับ

ด้วยความเคารพยิ่ง

“หนุ่มดอยเต่า” 

15 ธ.ค. 2535

----------------------------------------------------------------

กอง‘ฝึกอบรม 

เรียน “หนุ่มดอยเต่า”

นับว่าคุณเป็นคนที่ปรับตัวเรียนรู้ได้เร็วมาก คุณใช้เวลาไม่นานเลย แต่จริงๆ แล้วเรือนจำมีอะไรให้เรียนรู้ไม่รู้จบ ผู้ต้องขังก็ดี กฎระเบียบนโยบายต่างๆ ก็ดี สภาพทางกายภาพของเรือนจำ ตลอดจนกระแสของสังคมล้วนมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเรือนจำที่หมุนไป อย่างต่อเนื่อง และทำให้คุณต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา 


ผมเห็นด้วยกับคุณที่ว่า ผู้ต้องขังหลายคนหากได้รับโอกาสที่เขาไม่เคยได้รับจากสังคม เขาจะกลับเข้าสู่สังคมโดยสามารถปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของสังคมได้ เขาจะไม่เป็นภาระของสังคมต่อไป ผมเชื่อว่าคนเราทุกคนมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ผู้ต้องขังก็เช่นกันทุกคนมีส่วนดีที่ซ่อน อยู่หรือยังมิได้ถูกนำออกมา หน้าที่ของราชทัณฑ์จึงต้องทำหน้าที่ในการค้นหา ดึง หรือสกัดเอาศักยภาพส่วนดี ส่วนเด่น หรือพรสวรรค์ ของเขาที่ซ่อนอยู่ออกมา ใครเก่งด้านไหนเอามาพัฒนาด้านนั้น ความเก่ง ความดี ในชีวิตที่ผ่านมาของเขามิได้ถูกนำออกมาใช้ แล้วคุณจะเห็นว่าผู้ต้องขังเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า

ผมและครูฝึกของการฝึกอบรมฯ ทุกคนภูมิใจในตัวลูกศิษย์ทุกคนที่ผ่านการอบรม กองฝึกฯ แล้วสามารถนำความรู้ ทักษะที่ไต้รับจากการอบรมไปปรับใช้ในการทำงาน จนเติบใหญ่ ก้าวหน้าเป็นผู้บริหารของเรือนจำในภายภาคหน้า พวกเราจะเฝ้าดู

ผมจะเก็บจดหมายของคุณไว้อ่านในอีก 20 - 30ปีข้างหน้า เมื่อถึงเวลานั้น เวลาที่คนรุ่นคุณจะมาแทนคนรุ่นผม มาสืบสานงานราชทัณฑ์ต่อไป “สายเลือดราชทัณฑ์ ไม่เคยจางครับ”

โชคดีครับ

ผอ.กองฝึก 

10 ม.ค. 2536

----------------------------------------------------------------------------------------------------

ป้จฉิมบท

จดหมายโต้ตอบของคน 2 คนนี้ เป็นจดหมายโต้ตอบของผู้เข้ารับการฝึกอบรมความรู้พื้นฐานในงานราชทัณฑ์รุ่นที่ 3 (ซึ่งได้รับฉายาจากเพื่อนในรุ่นว่า “หนุ่มดอยเต่า” เพราะได้ลง แม่ฮ่องสอน) กับผู้อำนวยการกองฝึกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์สมัยนั้น ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในช่วงปี พ.ศ.2535 - 2536

ในสมัยนั้น เรือนจำแม่ฮ่องสอนยังเป็นเรือนจำเรือนไม้แห่งเก่า ที่มีกำแพงสังกะสีล้อมรอบ ตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในสมัยนั้นจึงอยู่ด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้งานคุมประพฤติที่ได้รับการพักการลงโทษไม่ว่าจะเป็นงานสืบเสาะ หรือสอดส่องดูแลความประพฤติ ยังเป็นงานสังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย จนกระทั่ง ปีพ.ศ.2545 จึงได้มืการโอนไปงานคุมประพฤติผู้ได้รับพักการลงโทษ (และลดวันต้องโทษ) ไปร่วมอยู่ กับกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ในเวลาต่อมาเช่นเดียวกับ กองฝึกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์ ก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็น สถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์มาจนถึงปัจจุบัน

การเป็นกองฝึกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์ มีสถานีฝึกอบรมเป็นเอกเทศแยกออกมาจากตัวกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ได้ก่อสร้างอาคารปัจจุบัน ทำให้ “ครูฝึก” และ “ผู้รับการอบรม” มืความใกล้ชิดในการฝึกภาคปฏิบัติ และภาควิชาการตลอดจน การชี้แนวทางและปลูกฝังให้ ข้าราชการใหม่ซึมซับความเป็นคนราชทัณฑ์ จนเกิดเป็นเรื่องราวของจดหมายเหล่านี้

“ผอ. กองฝึก” ขออุทิศเรื่องนี้ให้กับ “หนุ่มดอยเต่า” ซึ่งถ้าไม่มีเขา เรื่องนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

-------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 643134เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2017 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2017 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การเรียนรู้ตามสายงาน เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ "ผู้บริหาร" ได้มีสถานภาพเป็น "ผู้นำ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท