จาก - ความรู้เปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ไหม? ถึง - ความรู้คืออะไร?


ข้อสังเกตที่ว่า "ลำพังการให้ความรู้ไม่อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้" เป็นความจริงหรือไม่?

หัวข้อชวนคิดข้างต้น ได้มาจากการอ่านเรื่อง ความรู้สำคัญนะ (Khowledge matters) ของคุณ  Jeremy Solin เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ

ข้อสังเกตที่ว่า "ลำพังการให้ความรู้ไม่อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้" เป็นความจริงหรือไม่? ปัญหาที่แท้จริงน่าจะมาจากความสับสนระหว่างคำว่าข้อมูลข่าวสาร (Information)  กับคำว่าความรู้ (Knowledge) 

ข้อมูลข่าวสารคือ ข้อมูลทุกชิ้น สิ่งที่สังเกตเห็น ข้อเท็จจริง เรื่องราวต่างๆ ฯลฯ ที่มีอยู่ในโลกนี้

ข้อมูลข่าวสารจะเปลี่ยนมาเป็นความรู้ก็ต่อเมื่อเรานำมาคิดต่อ หรือเขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์ได้ว่า 

          ความรู้ = ข้อมูลข่าวสาร x การคิด

การคิดทำให้เราเข้าใจเรื่องราวต่างๆในโลกนี้ แล้วเก็บเป็นความรู้ไว้ในสมอง ในรูปแบบที่เรียกว่า Mental model เป็นตัวแทน "ความเป็นจริง (Reality)" ที่เราเข้าใจในขณะนี้ และเมื่อเราได้รับข้อมูลข่าวสารใหม่เราก็นำมาคิดและเกิดการเรียนรู้เพิ่มเติม ทำให้เราสามารถปรับ Mental model ของเราให้เข้าใกล้ " ความเป็นจริง"  ยิ่งขึ้น 

ลำพังข้อมูลข่าวสารคงไม่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ ถ้าข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ถูกเปลี่ยนเป็นความรู้ ถ้าเป็นความรู้จริงน่าจะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เช่น ตัวอย่างต่อไปนี้     

ท่านคงรู้ว่า น้ำที่ไหลออกมาจากก๊อกน้ำที่บ้านของท่านมีความสัมพันธ์กับน้ำอื่นๆในโลกนี้ และมาจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียง (น้ำผิวดินหรือน้ำใต้ดิน) และหลังจากท่านใช้แล้ว น้ำนั้นก็จะไหลต่อไปพาสิ่งที่ท่านเติมให้ไปด้วย ใน Mental model เกี่ยวกับเรื่องน้ำในบ้านของท่าน ท่านมีความรู้เกี่ยวกับน้ำโดยทั่วไปอยู่ด้วย ท่านรู้ดีว่าน้ำมีประโยชน์ เช่น ใช้แปรงฟัน ล้างอ่าง ท่านใช้ Mental model ของท่านทุกครั้งที่แปรงฟัน ท่านคงจะปิดก๊อกทุกครั้งที่หยุดใช้น้ำ คงไม่ปล่อยให้น้ำไหลตลอดเวลาที่ท่านแปรงฟันอยู่   Mental model มีอิทธิพลโดยตรงต่อพฤติกรรมของท่าน ไม่มีใครมาบอกให้ท่านปิดก๊อก ท่านตัดสินใจทำเช่นนั้นด้วยความรู้ที่ท่านมีอยู่

สรุปว่า  สิ่งที่เราให้กันโดยคิดว่าเป็นการให้ความรู้นั้น เป็นเพียงข้อมูลข่าวสาร จะเป็นความรู้ก็เมื่อเรานำไปคิดจนเข้าใจแล้วจึงเป็นความรู้ และพร้อมจะนำไปใช้ได้ ยิ่งได้ทดลองใช้แล้วและเห็นผลด้วยก็ยิ่งดี (การจัดการเรียนการสอนจึงควรคำนึงถึงประเด็นนี้)

หมายเหตุ

  1. อ่านเรื่องข้างต้นแล้ว น่าจะซาบซึ้งยิ่งขึ้นเมื่ออ่าน  การคิดอย่างมีวิจารณญาณในกาลามสูตร เข้าใจดีขึ้นว่า "อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา ...ด้วยการถือสืบๆกันมา ....เพราะนับถือว่าท่านสมณนี้เป็นครูของเรา " เพราะนั่นเป็นเพียงข้อมูลข่าวสาร (Information) " เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึง(ธรรมเหล่านั้น)อยู่ ........." นั่นคือ คิดอย่างมีวิจารณญาณแล้วจึงเป็นความรู้ (Knowledge) ของเรา (เราจึงนำไปใช้ได้)
  2. เรื่อง Mental model ก็เป็นแนวคิดทำนองเดียวกับ Cognitive structure ในทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ ของ David Ausubel

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

17 พ.ย. 60

หมายเลขบันทึก: 641559เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2017 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2021 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท