การคิดอย่างมีวิจารณญาณในกาลามสูตร



การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ถูกระบุว่าเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับคนในศตวรรษที่ 21 ทำให้คิดว่าน่าจะเขียนถึงการคิดอย่างมี วิจารณญาณในกาลามสูตร

เมื่อกล่าวถึงกาลามสูตรคนส่วนใหญ่จะนึกถึงเรื่องอย่าเชื่อ หรือ สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ (ลอง Google ด้วยคำว่า กาลามสูตร ก็จะเห็นอย่างที่ว่านี้) ทั้งๆที่หัวใจของเรื่องน่าจะเป็นเรื่อง เมื่อไรจึงควรจะเชื่อ (หรือไม่เชื่อ) คิดให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยสรุปว่าควรเชื่อ หรือไม่ควรเชื่อ หรือเรียกว่า การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ดังที่พระพุทธเจ้าสรุปเป็นหลักการไว้ว่า

"เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทาน ให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย " นั่นคือ ไม่ควรเชื่อ และ

"เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ " นั่นคือ ควรเชื่อ

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ ไม่ใช่แค่ให้หลักการ มีตัวอย่างการใช้จริงด้วย โดยพระองค์ทรงชวนชาวกาลามะให้คิดตามหลักการที่แสดงไว้ ดังต่อไปนี้ :

พระพุทธเจ้า: ...ความโลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์

กาลามะ: เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ...บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ

กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

จากนี้พระองค์ก็ทรงชวนให้คิดถึงบุคคลผู้โกรธ และบุคคลผู้หลง ในทำนองเดียวกัน แล้วชวนให้พิจารณาตามหลักการต่อไปว่า :

พ. ...ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯ

กา. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า ฯ

พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ ฯ

กา. มีโทษ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ฯ

กา. ท่านผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า ฯ

พ. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์หรือหาไม่ ในข้อนี้ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ฯ

กา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ ในข้อนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้ ฯ

พระองค์ทรงสรุปตามหลักการไม่ควรเชื่อว่า "... เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควร ละธรรมเหล่านั้นเสีย"

แล้วทรงชวนชาวกาลามะพิจารณา อโลภะ อโทสะ อโมหะ ในทำนองตรงข้ามกับกรณีข้างต้น แล้วสรุปตามหลักการควรเชื่อว่า "เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ "

การคิดอย่างมีวิจารณญาณตามกาลามสูตรจึงมิใช่เรื่องลึกลับอะไร โลภะโทสะโมหะเป็นเรื่องที่ทุกคนเคยมีประสบการณ์ตรง ชาวกาลามะ จึงคิดได้ตอบได้ เราก็น่าจะคิดได้ตอบได้เช่นกัน พระพุทธองค์ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ต่อไปเราก็ถามเองตอบเองได้ ถ้าเป็นเรื่องที่ เกินกว่าประสบการณ์ของเรา เราก็ต้องเพิ่มด้วยการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร เมื่อได้มาก็นำมาคิดและตอบตามหลักการเดียวกันนี้ การคิดอย่างมีวิจารณญาณตามกาลามสูตรจึงประกอบด้วยหลักการและการคิดและตอบตามหลักการนั้น

นอกจากเรื่องการคิดอย่างมีวิจารณญาณแล้ว ในกาลามสูตร (ชื่อจริงคือเกสปุตตสูตร) ยังมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจคือ วิธีเจริญเมตตาจิต และเรื่องนับถือพระพุทธศาสนาแล้วจะได้อะไร (อริยสาวกย่อมมีความอุ่นใจ 4 ประการ) ซึ่งเป็นเหตุให้จบลงด้วยชาวกาลามะยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา จึงน่าจะเป็นพระสูตรที่ชาวพุทธสมควรอ่านอย่างยิ่ง

(อ่านได้ที่ www.84000.org ค้นด้วยชื่อพระสูตรว่า เกสปุตตสูตร)

หมายเหตุ - ผมได้ข้อคิดเรื่องนี้มาจากปกด้านในของหนังสือเรื่อง การตรวจและการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับประชาชนไทย ผู้เขียนคือ คุณหมอสุรจิต สุนทรธรรม ได้อัญเชิญข้อความในกาลามสูตร จากหนังสือพุทธธรรม ของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ มาแสดงไว้ เห็นแล้วคิดได้ว่า ผู้เขียนต้องการเตือนให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณ ไม่ด่วนเชื่อหรือไม่เชื่อจากการอ่านเนื้อหาในหนังสือ ทั้งๆที่หนังสือ เล่มนั้นได้เลือกใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในระดับที่ค่อนข้างจะสูง การตรวจสุขภาพต้องใช้วิจารณญาณ การทำบุญก็ต้องใช้วิจารณญาณ การใช้วิจารณญาณเป็นทักษะที่จำเป็นของชีวิตมากว่า 21 ศตวรรษแล้ว เพียงแต่อาจจะใช้น้อยไปหน่อย

หมายเลขบันทึก: 584760เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2015 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2017 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท