บันทึกเตรียมตัวตายของใครคนหนึ่ง


การได้เจอคนไข้คนนั้น เธอทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่า ความตายก็ไม่ได้น่ากลัวนัก 


จริงหรือ?


“เธอรู้ไหม ทำไมหมอศัลย์เขาจึงส่งเธอให้มาเจอผม” นี่คงเป็นวิธีที่เริ่มทำความรู้จักกันระหว่างผมกับคนไข้ ที่ผมหยิบเอามาใช้บ่อยๆ เพื่อต้องการประเมินว่า คนไข้มีความรับรู้เรื่องโรคของตัวเองมากน้อยแค่ไหน


“หมอศัลย์อยากให้หมอตัดรังไข่ให้ดิฉันค่ะ” เอาล่ะ ถ้าเธอตอบได้อย่างนี้ แสดงว่าผมน่าจะคุยกับเธอง่ายขึ้น


“ดิฉันเป็นมะเร็งเต้านม หมอบอกว่ารักษาไม่ได้แล้ว” เธอบอกออกมาในขณะที่ผมเริ่มจะพิมพ์ประวัติ และแน่นอน เพียงเท่านี้ ผมจึงหยุดพิมพ์ หยุดมองจอคอมพิวเตอร์ และหันมาทั้งตัวเพื่อรับฟังต่อไปอย่างไร้พันธนาการ (อุ๊ย...ขอโทษที ติดมาจากเพลงประกอบละคร ฟ้าจรดทราย)


“ยังไงเหรอ” ผมถาม

“หมอเค้าบอกว่ารักษาไม่ได้แล้ว มะเร็งมันกลับมา และตอนนี้มันไปที่ปอดค่ะหมอ” 

น่าแปลกใจนัก เพราะทุกขณะที่เธอคนนี้เล่ามาอย่างต่อเนื่อง แววตาของเธอกลับไม่ได้ส่องแววของความกลัวหรือท้อแท้ต่อการเป็นโรคร้ายออกมาเลย


“หมอยังไม่ได้คิดว่า โรคของเธอรักษาไม่ได้แล้วหรอกนะครับ แต่มันยังรักษาไม่จบต่างหาก ไม่งั้นหมอศัลย์จะส่งมาที่นี่ทำไมกันเขาน่าจะวางแผนให้ยาบางอย่าง จึงต้องตัดรังไข่ออกไปก่อน” ผมแย้งแบบเย้าๆ 


เธอดูนิ่งไปเพียงอึดใจ ผมจึงถามต่อ

“แล้วเธอรู้ไหม ว่าจะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่” 

เฮ้ย...นี่ผมถามมันออกไปอย่างนี้ได้อย่างไร ผมคิดในใจ 

แต่เอาเหอะ ผมประเมินแล้วว่า กับเธอคนนี้ เราคงใช้การพูดคุยกันแบบนี้แหละ และที่สำคัญ ผมมีคำถามเด็ดๆอีกหลายคำถามเรียงคิวอยู่ในหัวอยู่แล้ว


“ก็ไม่รู้สิคะหมอ หมอเค้าไม่เคยบอก” เธอบอกมา

“เอ้า ไม่บอกก็ถามเค้าสิ เธออยากรู้ไหมล่ะ ๖ เดือน ๑ ปี ๒ ปี หรือ๕ ปี มันไม่เหมือนกันเลยนะ การเตรียมตัวก็ไม่น่าจะเหมือนกันด้วยและที่สำคัญ คำถามนี้ห้ามถามผม เพราะผมไม่รู้ ผมทำงานกับจิ๋มมาเกือบตลอดชีวิต เรื่องนม ผมคืนครูไปนานมากแล้ว” ผมยังไม่หยุดแหย่เธอเรื่องความตาย


เธอยิ้มตอบกลับมาครับ

เชื่อผมเถอะ ในแววตาคู่นั้น ผมรับรู้ได้ถึงความกล้าหาญจริงๆ


“จริงด้วยค่ะหมอ ทำไมดิฉันจึงไม่เคยคิดจะถามนะ” เธอตอบ


“เอาล่ะ นุกนิก ผมขอถามหน่อยเถอะ ตอนนี้เธอรู้สึกยังไงกับเรื่องโรคและความร้ายแรงของมัน” เอิ่ม...อันที่จริง นุกนิก คือชื่อที่ผมอุปโหลกขึ้นมาเองหรอก ด้วยจรรยาบรรณแพทย์ ผมจึงไม่สามารถเอ่ยชื่อจริงของเธอออกมาได้ ๕๕๕


“หมอรู้ไหม ตอนที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง ชีวิตมันเศร้ามาก หดหู่และท้อแท้เป็นที่สุด กินไม่ได้นอนไม่หลับ น้ำหนักลดไปเกือบ ๑๐กิโลเลย” เธอย้อนความหลังให้ผมฟัง และที่เป็นความจริงก็คือเรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้วเอง เหตุการณ์มันเกิดขึ้นขณะที่ลูกคนเล็กของเธอยังมีอายุไม่ถึง ๓ ขวบด้วยซ้ำ


“เธอเคยรู้สึกไหม ว่ามันเป็นเรื่องไม่จริง” นี่ผมกำลังทดสอบทฤษฎีของการรับรู้ข่าวร้ายและกลไกการตอบสนองตามตำราที่เคยเรียนมา

“ค่ะหมอ ช่วงหนึ่งดิฉันพยายามคิดเข้าข้างตัวเองว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง ชิ้นเนื้ออาจจะอ่านผิด มันอาจจะเป็นความฝัน” ตามทฤษฎีแล้ว ช่วงนี้น่าจะเป็นการปฏิเสธสินะ


“แต่มันก็ไม่ใช่ฝันนะ” ผมช่วยเธอเล่าเรื่องไปด้วยพร้อมๆกัน


“ค่ะหมอ มันเป็นเรื่องจริง ดิฉันเป็นมะเร็ง และมันก็ลุกลามไปมากแล้วเสียด้วย” ถึงตอนนี้ ผมก็เตรียมหากระดาษซับน้ำตา เผื่อไว้ว่าผู้เล่าจะเริ่มมีอาการเศร้าเสียใจและเสียน้ำตา แต่เปล่าเลย ผมยังคงไม่เห็นแม้แต่การเปลี่ยนสีหน้าหรือแววตาของเธอแต่อย่างใด


“แล้วเธอเคยรู้สึกโกรธบ้างไหม” บางครั้งผมก็สงสัยตัวเองเหมือนกัน ว่าจะสงสัยอะไรกันนักหนา แต่เอาเถอะ ตามตำราเขาบอกว่าเมื่อถึงจุดนี้ คนไข้จะมีความรู้สึกโกรธ

“ไม่นะคะ ไม่รู้จะโกรธใคร ก็มันเป็นโรคของเรา เราเป็นมะเร็งก็มะเร็งของเรานี่นา จะมีบ้างก็อาจจะโกรธโชคชะตาของตัวเอง รู้สึกน้อยใจว่าทำไมต้องเกิดกับเรา ลูกก็ยังเล็ก อยากอยู่ดูเค้าเติบโต”

เอิ่ม...อันนี้ ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนักนะครับ ว่านี่คือ “โกรธ” ตามตำราไหม


“แล้วทำไมตอนนี้หมอถึงรู้สึกว่า เธอดูเข้มแข็งจัง” 


“เวลามั้งคะหมอ เวลาช่วยให้ได้คิดค่ะ เพราะท้ายที่สุด มันก็เป็นเรื่องจริง เราต้องรักษา เรายังต้องสู้ และถ้าสู้ไม่ได้ ก็ถึงเวลาต้องจากไป”


“แล้วเธอพร้อมจะไปรึยัง” หลังจากที่คุยกันมาระยะหนึ่ง ผมก็คิดว่า คำถามเช่นนี้ น่าจะใช้กับนุกนิกได้


“ค่ะ พร้อมทุกเวลาเลย เพราะถ้าดิฉันต้องไปตอนนี้ ลูกและสามีก็จะอยู่กันได้ เรามีเงินพอจะให้ลูกเรียนจนจบได้ พ่อดูแลลูกได้ เค้ารักลูกทั้ง ๒ คนมาก ดูแลลูกดีมากเลยนะคะหมอ” ผมเชื่อตามนั้นเพราะแววตาของเธอดูลุกวาว


“แต่ที่เธอเล่ามา มันคือเรื่องของคนที่ยังอยู่ทั้งนั้นเลยนี่นา แล้วเรื่องของเธอล่ะ”

“ยังไงคะหมอ” คงเป็นครั้งแรกที่เธอถามผมบ้าง 


“เอิ่ม...ยังไงดีล่ะ” ผมหยุดนึดหนึ่ง

“เธอจะใช้รูปไหนวางไว้หน้าโลงศพ” ผมใช้น้ำเสียงที่ค่อนข้างระมัดระวัง และคนตรงหน้าคงจะรู้สึกแปลกใจ จึงตอบคำถามโดยการส่ายหน้าปฏิเสธ


“เธอลองคิดดูนะ เราน่ะเป็นคนตาย ตายแล้วจะไปรู้อะไร คนข้างหลังต่างหากที่ต้องวุ่นวายกับการจัดงานให้เรา มันจะดีแค่ไหน ที่เค้าไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะเอารูปไหนมาวางหน้าโลง มีงานตั้งมากมายที่เค้าต้องทำ และที่สำคัญ เราน่าจะออกแบบงานเราได้นะ” มาถึงตรงนี้ เธอยิ้มส่งมาให้

“น่าจะจริงนะหมอ ถ้าดิฉันเตรียมไว้ ตัวก็จะเบาไปอีกเรื่อง” 


เพียงแวบหนึ่ง ผมก็นึกรูปแบบงานของตัวเองบ้าง

ผมจะเตรียมรูปเอาไว้ตั้งหน้าโลงศพตัวเองไว้ ๔ รูป

รูปตัวเองสมัยจบ ป.๖ เด็กชายหัวเกรียนสวมแว่นกรอบหนา

รูปตอนเรียบจบ ม.๖ อันที่เอาติดในใบ รบ.

รูปตอนเรียนจบหมอ ที่ใส่ชุดรับปริญญา

ทั้ง ๓ รูป คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตทั้งนั้น

และรูปที่ ๔ คงเป็นรูป ณ ปัจจุบันก่อนตาย แต่ต้องหาไอ้ที่ดูหล่อๆหน่อย

งานผม น่าจะจัดเป็นนิทรรศการได้ มีรูปติดแสดงในช่วงวาระต่างๆของชีวิต เอาไว้ให้แขกได้เดินดู หากขี้เกียจฟังพระสวด


ผมคิดอย่างนี้จริงๆนะ


เราคุยกันถึงเรื่องการผ่าตัดที่กำลังจะเกิดขึ้น รอยแผลและการพักฟื้น 


“ขอบคุณนะคะหมอ หมอรู้ไหม เป็นมะเร็งมาเกือบปี ไม่เห็นจะมีใครพูดเรื่องแบบนี้กับดิฉันสักคน ได้พูดเรื่องแบบนี้แล้ว รู้สึกตัวเบาขึ้นเยอะ ขอบคุณนะคะ” เธอคงรู้สึกอย่างนั้น เพราะรอยยิ้มที่แสดงออกมามันไม่ได้แสร้งทำ


“ผมก็ขอบคุณเธอเช่นกันนะ เธอคงไม่รู้หรอก ว่าวันนี้เธอก็ได้สอนฉันหลายเรื่อง ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้นะ” ผมปิดการสนทนาด้วยการจับมือของเธอและบีบเบาๆ


...................................


ผมคิดถึงการสนทนาระหว่างหมอและคนไข้นุกนิก ที่พูดคุยกันถึงเรื่องความตาย การเตรียมตัวตาย การจัดการต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อทราบข่าวร้ายของชีวิต แล้วนำมาไตร่ตรองอยู่หนึ่งคืน


รู้สึกเป็นกุศลที่ได้เป็นหมอและได้ทำหน้าที่แบบนี้

แม้นผมไม่ได้เป็นหมอรักษาโรคมะเร็ง แต่การได้เป็นหมออย่างที่เป็นอยู่ ผมได้เยียวยาคนไข้แบบนี้อยู่หลายครั้ง

(อย่าเพิ่งคิดชม เพราะหลายครั้ง หลังจากพูดคุย ผมก็อาจจะรู้สึกแย่ หรือรู้สึกผิดที่พูดหรือให้คำแนะนำที่อาจจะเป็นการทำร้ายคนไข้มากขึ้นก็มี)


เอาเป็นว่า การเป็นหมอ คงต้องเรียนรู้เรื่องการสื่อสารแบบนี้ไปตลอดชีวิต


ผมเดินออกจากคลินิก ฝนเพิ่งสร่างเม็ด อากาศเย็นกำลังดี ผมถามใจตัวเอง

“ผมไม่กลัวตายหรือ”

เปล่าเลย ผมยังกลัวตายอยู่ เพียงแต่ผมเตรียมตัวเตรียมใจไว้ตลอดเวลา ความตายมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ได้

และผมยังกลัวเล็กน้อย ว่าตายไปแล้ว ผมจะยังกลัวผีอยู่อีกไหม


คิดไปเพลินๆ

ผมปิดประตูรถและเตรียมสตาร์ทเครื่อง 

และฉับพลันทันใดก็เกิดอาการขนลุกซู่



มีคนมองผมอยู่ เขานั่งอยู่ในรถ ผมรีบหันกลับไปมองที่เบาะหลัง 


ไม่มีคน


ผมหันกลับมา

บ้าเอ้ย มันยังอยู่ มันอยู่ข้างผม


ขนลุก ใจเต้นรัว ผมคงเจอของดีเข้าแล้ว เทวดาคงอยากลองใจเห็นมันอวดดีพูดเรื่องความตาย เลยส่งใครไม่รู้มาทักทาย


ตัดใจหันไปมองให้เต็มตา ผีก็ผี ดีเหมือนกัน จะได้หายแคลงใจ

และผมก็เจอเขา


เชี่ย....กระจกรถมันพับอยู่ แท้จริงแล้วเขาคนนั้น ก็คือฉันเอง 

เงาในกระจก

เชี่ยเอ๊ย ตกใจหมด เยี่ยวเกือบแตก


ธนพันธ์ ชูบุญยังไม่หายกลัวผี

๑๕ พย ๖๐

คำสำคัญ (Tags): #ความตาย#มะเร็ง
หมายเลขบันทึก: 641557เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2017 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2017 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

       ตัวเองก็กลัวเป็นมะเร็งเต้านมเหมือนกันค่ะหมอ

       ชีวิตนะชีวิต

อาจารย์ ถอดบทเรียนได้น่าติดตามมากเลยนะครับ..ขอบพระคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท