ความรู้ที่ชอบและความคิดที่ได้ ในงานเสวนา “โตไม่ตี...ตีไม่โต”


งานเสวนา”โตไม่ตี  ตีไม่โต” นี้จัดขึ้นวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ณ The connection จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล 

วิทยากรมีดังนี้ 

1.นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ พูดในหัวข้อ ความรุนแรงในเด็กกับข้อกฎหมายคุ้มครองเด็กและสิทธิ์เด็ก 

2. ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา พูดในหัวข้อ ความรุนแรงในโรงเรียนกับเทคนิคการใช้วินัยเชิงบวก  

3. ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร พูดในหัวข้อ ความรุนแรงในบ้านกับเทคนิคการใช้วินัยเชิงบวก 

4. นางชฏาพร รัตนาวิวัฒน์พงศ์ แชร์ประสบการณ์คุณแม่ที่ใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก 

บรรยายกาศอบอุ่นเป็นกันเอง ผู้เข้าร่วมฟังเสวนามีทั้ง พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เจ้าของโรงเรียน รวมไปถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน  

+++ 

ในส่วนของเนื้อหาที่พูดคุยนั้นมีรายละเอียดเยอะค่ะ (สามารถดูคลิปย้อนหลังได้ที่ เพจ KidsDrive ใน Facebook)  บันทึกที่นำมาแบ่งปันนั้น เป็นการจดบันทึกเนื้อหาที่ชอบไว้เตือนตัวเอง โดยถ่ายทอดจากความเข้าใจและความรู้สึกส่วนตัวด้วยส่วนหนึ่ง

  • 3 สิ่งที่พ่อแม่ควรมีให้มากพอในการเลี้ยงลูกให้ได้ดี คือ ความผูกพัน (Attachment), ความไว้วางใจ เชื่อใจ (Trust) และ ความใส่ใจ ความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย (Empathy)  ชวนกันสำรวจตัวเองว่า ณ วันนี้เรามีมากพอหรือยัง ถ้ายังก็ชวนกันซ่อมและสร้างมันขึ้นมานะคะ วิธีการนั้นก็ไม่ง่ายแต่ไม่ยากเกินความสามารถมนุษย์พ่อแม่นั้นคือการเลี้ยงลูกโดยการสร้างวินัยเชิงบวก
  • วินัยเชิงบวก คืออะไร  วินัย  คือ การสอนและการฝึกฝน  ส่วนคำว่า เชิงบวก คือ การใช้ความรัก ความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงลูก โดยไม่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะจากการกระทำหรือคำพูด  ดั้งนั้นวินัยเชิงบวกจึงหมายถึงการที่เราสอนและฝึกฝนด้วยการใช้ความรัก ความรู้ความเข้าใจ โดยไม่ใช้ความรุนแรง
  • หลัก 5 T  ในการสร้างวินัยเชิงบวก เป็นหลักของผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกรที่แนะนำ  คือ
    • Teach  การสอน ให้ความรู้แนะแนวทาง
    • Train  การฝึกฝน การทำซ้ำๆ
    • Target Behavior  การกำหนดเป้าหมายพฤติกรรมที่เราต้องการที่ชัดเจน  ยกตัวอย่าง เป้าหมายที่ไม่ค่อยชัดเจน “เป็นเด็กดี” พฤติกรรมแบบไหนที่ทำแล้วจะเป็นเด็กดี ??? พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กควรตั้งเป้าหมายตรงนี้ให้ชัดเจน จะได้ง่ายขึ้นในการหาวิธีการนำมาใช้สอน  ขอยกตัวอย่างเป้าหมายที่ชัดเจนซึ่งแม่ดาวลอกมาจากหมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน คือ “ต้องการให้ลูกคิดเป็น มีความนับถือตัวเอง และมีความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิต”  ใครคิดไม่ออก ลอกเป้านี้ก็ได้นะคะ หมอโอ๋คงไม่สงวนสิทธิ์5555  
    • Trust  ความเชื่อใจ ไว้ใจ ว่า “ทุกคนสามารถพัฒนาได้”  รวมตัวเองเข้าไว้ใน “ทุกคน”ที่ว่านี้ด้วยนะคะ หลายคนมักลืมตัวเอง
    • Time  เวลา  ค่ะทุกๆ อย่างที่งดงามแข็งแรง ไม่ได้สร้างได้ง่าย ๆในวันเดียวทุกอย่างต้องใช้เวลาอาจนานสักหน่อย และโปรดใช้เวลาคุณภาพในการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้าง 3 สิ่งที่พ่อแม่ในข้อ 1 แม้บางท่านอาจมีเวลาน้อยนิดก็ตาม “อดทน” คาถาที่ควรท่องวนไว้ 
  •  พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กควรมีความรู้ในเรื่องพัฒนาการเด็กและจิตวิทยา เราควรรู้ทั้งเรื่องสมองและหัวใจไปด้วยกัน ใครไม่รู้ ก็ไม่ยากค่ะ ความรู้ฟรี ๆ ดี ๆ มีเพียบ ความรู้อยู่ที่ปลายนิ้ว หรือจะซื้อหนังสือมาอ่านก็ได้ หรือถามจากผู้มีความรู้มีประสบการณ์ก็ได้เนาะ   คุณรู้มั้ยสมองมีกี่ส่วน แต่ละส่วนทำงานอย่างไร การทำงานของสมองนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมารู้ยัง ถ้ายังไม่รู้ ก็ไม่ผิดค่ะ แต่ก่อนแม่ดาวนั้นก็ไม่รู้เช่นกัน   สั้น ๆ เนาะ สมอง มี 3 ส่วน คือ
  • +สมองส่วนล่าง (สมองส่วนสัญชาติญาณ) สมองส่วนนี้มีพัฒนาที่ดีตั้งแต่แรกเกิด และมักทำงานร่วมกันกับสมองส่วนอารมณ์ กระตุ้นให้มนุษย์เอาตัวรอดจาก “ความรู้สึกไม่ปลอดภัย”  ซึ่งการเลี้ยงดูด้วยเชิงลบนั้นมักก่อให้เกิดความเครียดความรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ง่าย ๆ เมื่อเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยสมองส่วนนี้จะตอบสนองตามสัญชาตญาณอาจ “สู้ หรือ หนี หรือยอม”  หากตอบสนองแบบสู้บ่อย ๆ ซ้ำ ก็จะกลายเป็นคนก้าวร้าว รุนแรง  หากตอบสนองแบบหนีบ่อยๆ ก็จะทำให้วิตกกังวล หวาดกลัว หากตอบสนองแบบยอมบ่อยๆ ก็จะทำให้สิ้นหวัง ท้อถอย   

    +สมองส่วนกลาง (สมองส่วนอารมณ์) เป็นสมองส่วนที่ทำงานแบบอัตโนมัติ ถูกกระตุ้นตลอดเวลาในการใช้ชีวิตประจำวัน (ว่าแต่ในแต่ละวันเรากระตุ้นอารมณ์แบบไหนลูกกันบ่อย ๆ ค่ะ) ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวว่า อารมณ์ก็เหมือนเราปวดฉี่ หากเราปวดมาก ๆ ทนไม่ไหวเราจึงต้องระบายอารมณ์นั้นออกมาเป็นพฤติกรรม เช่น เสียใจมากก็ร้องไห้ โกรธมาก ก็อาจพูดจาไม่ดี ต่อยตี  อารมณ์ไม่ดีไม่เป็นปัญหา เป็นธรรมดาที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญคือเราต้องสอนลูกให้จัดการระบายอารมณ์ที่ไม่ดีนั้นให้เหมาะสมได้อย่างไร หรือบริหารจัดการอารมณ์ไม่ดีให้ดีขึ้นได้อย่างไร อันนี้ต้องฝึกฝน 

    +สมองส่วนบน (สมองส่วนคิด) เป็นสมองส่วนที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อื่น ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องเหตุผล ตรรกะ เรียนรู้ถูกผิด รู้จักวิเคราะห์แยกแยะแก้ปัญหา ตัดสินใจ เข้าใจสิ่งที่ซับซ้อน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมไปถึงการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นสมองส่วนที่พัฒนาช้าที่สุด กว่าจะพัฒนาเต็มที่ก็เกือบอายุ 25 ปี (ซึ่งทบทวนตัวเองแล้วนั้นสมองส่วนนี้นั้นยังไม่ค่อยพัฒนาได้ดีเท่าที่ควร)  

    ดังนั้นเมื่อพอจะเข้าใจ(แล้วใช่มั้ยคะ) ว่าสมองนั้นทำงานอย่างไร ครั้งต่อไปเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จงตั้งสติและตั้งคำถามว่า ตอนนี้ลูกเราเขากำลังใช้สมองส่วนไหนทำงานน้า จะได้จัดการได้ถูกจุด ถูกใจและถูกต้อง  อ้อ…โปรดจัดการสมองตัวเองให้อยู่ในโหมดอารมณ์ปกติ เพื่อสมองส่วนหน้าจะได้ทำงานได้ดีนะคะ กับลูกก็เช่นอัน ในยามที่ลูกมีอารมณ์ไม่ปกติ อย่าเพิ่งเข้าไปสอนอะไร ให้จัดการหัวใจลูกให้อยู่ในความเป็นปกติสมองประมวลผลอยู่ในโหมดปลอดภัย สบายใจก่อน แล้วค่อยสอนเนาะ  ให้ความรักก่อนแล้วค่อยให้ความรู้ (ในส่วนของเนื้อหาเรื่องสมองนั้นส่วนใหญ่นำมาจากหนังสือ เลี้ยงบวก ลูกบวกนะคะ) 

    +++

    เก็บตกเล็กๆ ไว้เตือนใจ 

  • โตไม่ตี...ตีไม่โต  คาถาท่องไว้ข่มใจเวลาที่โกรธ เราเป็นผู้ใหญ่โตๆ กันแล้วสมองส่วนหน้าควรพัฒนาสมบูรณ์แล้วไม่ตีกันแล้ว  เด็ก ๆ นั้นสมองและจิตวิญญาณกำลังเจริญเติบโตอย่าทำร้ายทำลายพัฒนาการนั้นด้วยความโมโห ทุบตี เหล่านี้มีงานวิจัยมากมายออกมาว่าทำลายพัฒนาการและจิตใจเด็กอย่างมาก  
  • ในแต่ละวันลองถามตัวเองนะคะว่าเรา “สั่ง” หรือ “สอน” มากกว่ากัน  เราควรสอน มากกว่าสั่งนะคะ ถ้าอยากให้ลูกเรามีพัฒนาการที่ดีและมีสุขภาพจิตที่ดี
  • สมองคนเรานั้นไม่สามารถคิดอะไรได้ นอกเหนือจากสิ่งที่เราเคยได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสมา ดังนั้นอย่าแปลกใจที่เราคิดอะไรบวก ๆ ไม่ค่อยออก เพราะประสบการเดิมๆ ของเรามักเคยชินกับคำพูดลบๆ การกระทำร้ายมาเยอะกว่าประสบการณ์บวก ๆ (ก็คงไม่ทุกคนเนาะ) ดังนั้นอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคุณแม่พลังบวก เลี้ยงลูกสร้างวินัยเชิงบวก ก็เอาน้ำดีไล่น้ำเสียออกไป ใส่ความรู้ใหม่ ๆ ใส่ประสบการ์ดี ๆ เติมเข้าไปในสมองและหัวใจทุก ๆ วันนะ
  • ครั้งใดที่เจอลูก กรี๊ด โมโห โวยวาย ร้องไห้ ให้ยิ้มไว้และบอกตัวเองว่า ลูกเราเป็นเด็กปกติ สมองส่วนอารมณ์ของลูกกำลังทำงานเป็นปกติ เป็นหน้าที่เราที่จะสอนให้เขาสามารถจัดการสมองส่วนอารมณ์ให้เป็นปกติ และสอนวิธีการระบายอารมณ์ที่เหมาะสมให้เขา โดยตัวเราต้องมีอารมณ์ปกตินะจ๊ะ 
  • อยู่ข้างลูกเสมอ  การอยู่ข้างลูก มิได้หมายถึงการทำทุกอย่างตามใจลูกนะคะ แต่หมายถึงการแสดงออกว่าเราเป็นพวกเขา เข้าใจความรุ้สึกเขา ลูกอาจแสดงพฤติกรรมไม่ดี ทำไม่ถูกก็จริง แต่ให้เราเอาใจเขามาใส่ใจเรา หากเป็นเราในวัยเท่าเขา นิสัยแบบเขา เจอเหตุการณ์เช่นนี้เราก็คงทำแบบนี้ได้เหมือนกัน แล้วค่อยสอนทีหลังจากที่เราได้ใจเขา
  • อย่าหมกมุ่นกับตัวเองจนลืมลูก เช่น มุ่งทำงานหาเงินจนลืมหน้าที่การเลี้ยงลูก
  • เรียนรู้ทักษะการสื่อสารอย่างสันติเอาไว้ รับฟัง พูดคุย ตกลง ต่อรอง
  • โปรดระวัง “เป้าหาย”  หลายครั้งเราตั้งเป้าหมายเอาไว้ แล้วก็ทำเป้าหายไประหว่างวัน เช่น ตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้ลูกคิดเป็น  แต่ในระหว่างวันก็คิดแทนและสั่งการลูกตลอดเวลา(ลูกจะคิดเองเป็นมั้ย)  อยากให้ลูกอดทนใจเย็น แต่ตัวเองก็เร่งลูกทั้งวัน  อยากให้ลูกมีความรับผิดชอบ  ลูกลืมเอาของที่ครูสั่งไปโรงเรียน ก็กระหืดกระหอบวิ่งรี่ถือเอาไปให้  ตั้งสติก่อน Start นะคะ คิดดี ๆ สิ่งที่เราทำนี้ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกเราไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า  
  • เมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือมีปัญหาบางอย่าง จงตั้งสติ ค้นหาสาเหตุ รับรู้อารมณ์ความรุ้สึกของลูก ทำใหัลูกรู้สึกดีขึ้นแล้วค่อยสอน อย่าด่วนตัดสินจากสิ่งที่เราเห็นหรือได้ยิน ณ ขณะนั้น หรือได้ยินมา 
  • คนเรามีความเชื่อต่างกัน โปรดระวังในการส่งต่อความรุ้ดี ๆ นี้ไปให้ผู้อื่น ถ้าเขาไม่ขอความช่วยเหลือจากเราอย่ารีบไปเสนอ  จงใช้หัวใจที่เปี่ยมเมตตา รอเวลา รอจังหวะ หรืออาจสร้างโอกาสอย่างมีศิลปะ ไม่ใช่โผล่เข้าไปพูดๆๆๆๆนะจ๊ะ เตือนไว้  มิเช่นนั้น พูดไป เขายิ่งปิดกั้นต่อต้านมากขึ้น ความเชื่อของเราแม้มันจะถูก หากเราไปยึดไว้มันก็ผิด (ข้อนี้อยากบอกเอง) เรามีความเชื่อและความศรัทธาต่อแนวทางการสร้างวินัยเชิงบวกนั้นดีแล้ว แต่อย่าไปยึดมั่น ถือมั่น จนต้องทะเลาะก่อทุกข์
  • หมายเลขบันทึก: 641550เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2017 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2017 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท