ค่ายสืบศาสตร์สานศิลป์ : ชมรมรักษ์ทางไทยกับการเรียนรู้ในแบบบันเทิงเริงปัญญา


การจัดกระบวนการเรียนรู้ในทำนองนี้ จึงไม่ใช่แค่การสอนเสริมความรู้และทักษะผ่านการบรรยายและทำแบบฝึกหักในชั้นเรียน หรือห้องเรียนเท่านั้น ทว่ายังเปิดพื้นที่ออกสู่การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเป็นฐานๆ ที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านคิดวิเคราะห์และลงมือทำร่วมกัน ฝึกแก้ปัญหาและทำงานแข่งกับเวลาร่วมกัน มิใช่เรียนรู้ในเชิงปัจเจกบุคคล ซึ่งกระบวนการเช่นนี้มีกลิ่นอายของการบ่มเพาะความเป็นสังคม หรือการอยู่ร่วมกันอย่างน่าชื่นใจ


จะว่าไปแล้ว  ผมแทบไม่ได้เขียนถึง “ชมรมรักษ์ทางไทย”  เท่าใดนัก  ทั้งๆ ที่หลายปีที่ผ่านมา  ผมติดตามกิจกรรมของพวกเขาต่อเนื่องอย่างเงียบๆ  

ยอมรับว่าสี่ห้าปีที่ผ่านมา  องค์กรดังกล่าวมีกระบวนการทำงานที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง  แถมยังให้ความร่วมมือกับกิจกรรมในภาพรวมของมหาวิทยาลัยฯ  อยู่เนืองๆ   รวมถึงการเป็นต้นแบบที่ดีในการประเมินโครงการ  อันหมายถึงรวดเร็ว ถูกต้อง 

ทว่าปีการศึกษา 2559  ที่ผ่านมา  ผมเริ่มสังเกตเห็นอาการบางอย่างส่อเค้ามาเงียบๆ จึงเริ่มขยับเข้าไปใกล้ชิดมากกว่าเดิม   ซึ่งมันก็จริงใน 2 กิจกรรมหลังสุดนั้น  เรียกได้ว่า “ล้มลุกคลุกคลาน”  อยู่มากโขเลยทีเดียว  ถึงขั้นผมต้องลงไปคลี่คลายในระยะประชิดเกี่ยวกับ “ทางออก”  รวมถึงการ “เสริมพลังใจ”  ผ่านแกนนำบางคน  เพื่อให้ไม่ท้อที่จะ “เดินหน้าต่อไป”



รักษ์ทางไทย :  ว่าด้วย ศศ.บ.ภาษาไทย และ กศ.บ ภาษาไทย


ชมรมรักษ์ทางไทย  สร้างตัวมาจากนิสิตในกลุ่มที่เรียนหลักสูตรภาษาไทย  ทั้งที่เป็น ศศบ.ภาษาไทย (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)  และ กศ.บ ภาษาไทย (คณะศึกษาศาสตร์)  

ด้วยเหตุนี้กิจกรรมของชมรมฯ  จึงแอบอิงอยู่กับ “วิชาชีพ” เป็นหลัก  กิจกรรมนอหลักสูตรที่จัดขึ้นในแต่ละภาคเรียน  จึงยึดโยงอยู่กับเรื่องของการพัฒนาศักยภาพอันเป็นความรู้-ทักษะ-ทัศนคติในทางวิชาชีพเป็นหัวใจหลัก 


กิจกรรมหลักๆ ที่จัดขึ้น เช่น  กิจกรรมการเรียนรู้  “ความงดงามของภาษาไทย”  ผ่านการฝึกฝนทักษะในเรื่องของร้อยกรอง หรือวรรณศิลป์   โดยนิสิตมักจะเรียกเป็นวาทกรรมเชิงกิจกรรมว่า “ขับขานท่วงทำนองไทย”  ซึ่งจัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยและผูกโยงเป็นหนึ่งเดียวกับรายวิชาใดวิชาหนึ่งนั่นเอง

ส่วนอีกกิจกรรมจะออกไปในทาง “ค่ายอาสาพัฒนา”  ที่เน้นการบริการสังคม  ด้วยการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยไปพัฒนาศักยภาพนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ   ล่าสุดก็คือ  โครงการ “ค่ายสืบศาสตร์สานศิลป์ ครั้งที่ 4”  ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-28  พฤษภาคม 2560  ณ  โรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม ตำบลบ้านโนน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น  ซึ่งเป็นกิจกรรมอกหลักสูตรในรูปลักษณ์ของค่ายอาสาพัฒนาที่มุ่งไปในด้านวิชาการ  พัฒนาความรู้และทักษะของนักเรียนควบคู่กับการพัฒนาตัวตนของนิสิตไปพร้อมๆ กัน



มองโดยองค์รวมแบบยังไม่เจาะเชิงลึก  ก็พอจะเห็นภาพอยู่บ้างว่าชมรมรักษ์ทางไทย  มีความเป็น “ไทย” ที่เด่นชัดในเรื่องของการอนุรักษ์และสืบสาน “ภาษาไทย”  ในฐานะมรดกของชาติผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรจากกลุ่มที่เรียนเจาะลึกเรื่องความงามอันเป็นสุนทรียะของภาษา (ศศ.บ.ภาษาไทย)  และกลุ่มที่เจาะลึกไปในทางของการเป็น “ครูสอนภาษา” (กศ.บ.ภาษาไทย)

และด้วยความที่ว่าโครงสร้างของสมาชิกหลักๆ มาก 2 คณะ ชมรมรักษ์ทางไทย  จึงปักหมุดเป็นชมรมในสังกัดส่วนกลางของมหาวิทยาลัย  มิใช่ชมรมในสังกัดคณะใดคณะหนึ่ง  หากแต่กิจกรรมก็ยังยึดโยงอยู่กับนิสิตทั้ง 2 กลุ่มเป็นหัวใจหลัก  ซึ่งนี่คือ “โจทย์” อันเป็น “สถานะ” ที่ชวนคิดและเฝ้ามองว่าจะเดินต่ออย่างมั่นคงได้อย่างไร -



รักษ์ทางไทย :  ว่าด้วย Hard skills & Soft skills  และการบ่มเพาะความเป็นชาติผ่านภาษาประจำชาติ


จากทั้งปวงที่ผมกล่าวถึงข้างต้น  อาจกล่าวได้ว่าชมรมรักษ์ทางไทยคืออีกหนึ่งองค์กรนิสิตในสังกัดส่วนกลางที่จัดกิจกรรมนิสิตในแบบบูรณาการวิชาชีพ (กิจกรรมในวิชาชีพ)  สู่กิจกรรมนอกหลักสูตรที่มีทั้งในชั้นเรียน (ในมหาวิทยาลัย) และนอกชั้นเรียนที่มุ่งไปให้บริการด้านวิชาการแก่โรงเรียนในจังหวัดต่างๆ  




โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชมกิจกรรมการออกค่ายของชมรมรักษ์ทางไทยเป็นอย่างมาก  เพราะนิสิตได้นำองค์ความรู้ในวิชาชีพไปประยุกต์ใช้ด้วยการบริการสังคม  สอดรับกับอัตลักษณ์นิสิตที่กล่าวไว้ว่า “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน” 

คำว่า “ชื่นชม”  ในที่นี้  ไม่ใช่ชื่นชมเพราะสัมพันธ์กับอัตลักษณ์การเป็นนิสิต  หากแต่ชื่นชมเพราะกิจกรรมที่จัดขึ้นก่อให้เกิดความสมดุลของ Hard skills & Soft skills  อย่างน่าสนใจ  ได้ประโยชน์ทั้ง “นักเรียน” ในฐานะ “ผู้รับ” และ “นิสิต”  ในฐานะ “ผู้ให้”  แถมยังเชื่อมโยงถึงหลักคิดของการปลูกจิตสำนึกความเป็นชาติ หรือการบ่มเพาะให้นักเรียนและนิสิตตระหนักในคุณค่าและมูลค่าของภาษาประจำชาติไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ –

 



รักษ์ทางไทย :  กระบวนการเรียนรู้ผ่านฐานการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา


โดยปกติแล้วชมรมรักษ์ทางไทยมักเลือกไปออกค่าย ณ  โรงเรียนที่ขาดโอกาสในทางวิชาการ เช่นเดียวกับล่าสุดก็วิเคราะห์แล้วว่าโรงเรียนดังกล่าวยังไม่เคยมีใครไปจัดค่ายเกี่ยวกับภาษาไทยให้เลยก็ว่าได้  จึงปักธงสร้างฐานการเรียนรู้กันที่โรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคมฯ

ค่ายครั้งนี้ออกแบบ “ฐานการเรียนรู้”  ทั้งภาคกลางวันและกลางคืน  แต่ที่แน่ๆ ถึงแม้จะเป็นค่ายอาสาพัฒนาในแบบวิชาการ  แต่กระบวนการทั้งปวง คือ “บันเทิงเริงปัญญา” อย่างไม่ต้องสงสัย 


ผมชื่นชอบกระบวนการจัดการเรียนรู้ของพวกเจาเป็นอย่างมาก  ก่อนเข้าสู่กระบวนการมีกิจกรรมละลายพฤติกรรมนักเรียนกับพี่ๆ นิสิต  เพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อนเรียนรู้ร่วมกัน  

จากนั้นก็แบ่งน้องออกเป็นกลุ่มต่อเนื่องด้วยการ “ทดสอบ” (ประเมินผล)  ความรู้ของนักเรียนเกี่ยวกับพื้นฐานของภาษาไทย  สอบเสร็จก็ประมวลผลในทันที   ต่อด้วยการชวนให้นักเรียนได้ทบทวนภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง  โดยให้นักเรียนระดมความคิดในหัวข้อ “ของดีเมืองขอนแก่น”

เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่เน้นวิชาการในตำราเรียนเท่านั้น  แต่ไม่ลืมที่จะชักชวนให้นักเรียนได้เรียนรู้ชีวิตจากสังคมอันเป็น “บ้านเกิด” ของพวกเขาเอง  

เสมือนการบอกย้ำให้นักเรียนได้ทบทวน “ทุนทางปัญญา”  หรือ “ทุนทางสังคม”  ไปในตัวนั่นเอง


แต่ที่แน่ๆ ฐานการเรียนรู้ทั้งภาคกลางวันและกลางคืนนั้น  ชมรมรักษ์ทางไทยออกแบบการเรียนรู้อย่างชาญฉลาด  เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการจริงร่วมกันอย่างเป็นทีม  โดยสอดแทรก หรือนำเอาความเป็นภาษาไทยมาบรรจุไว้ในฐานต่างๆ  อย่างหลากรูปรส  เช่น  

  • ฐานตำนานและนิทานพื้นบ้าน  
  • ฐานร้อยกรอง  
  • ฐานสรภัญญะ 
  •  ฐานพระรามเดินดง  
  • ฐานจิ๊กซอต่อวรรณคดี 
  • ฯลฯ


นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่นๆ มาหนุนเสริมการเรียนรู้ให้หลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่การสอนเสริมความรู้ในเรื่องภาษาไทยและวรรณคดีเท่านั้น  เช่น กีฬาฮาเฮระหว่างพี่กับน้อง  งานวัด  ละครค่ายที่ผูกโยงกับวรรณคดีหรือเรื่องเล่าพื้นบ้านที่ทรงพลังทั้งภาษาและปรัชญาชีวิต   อาทิ ...

  • พระยากงพระยาพาน  
  • สินไซ 

ดังนั้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ในทำนองนี้  จึงไม่ใช่แค่การสอนเสริมความรู้และทักษะผ่านการบรรยายและทำแบบฝึกหักในชั้นเรียน  หรือห้องเรียนเท่านั้น  ทว่ายังเปิดพื้นที่ออกสู่การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเป็นฐานๆ  ที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการคิดวิเคราะห์และลงมือทำร่วมกัน  ฝึกแก้ปัญหาและทำงานแข่งกับเวลาร่วมกัน  มิใช่เรียนรู้ในเชิงปัจเจกบุคคล  ซึ่งกระบวนการเช่นนี้มีกลิ่นอายของการบ่มเพาะความเป็นสังคม  หรือการอยู่ร่วมกันอย่างน่าชื่นใจ

 



รักษ์ทางไทย :  ไม่มีการเรียนรู้ใดปราศจากอุปสรรคและปัญหา


ถึงแม้ค่ายสืบศาสตร์สานศิลป์ฯ  จะจัดกิจกรรมหลักๆ อยู่แต่ในเฉพาะโรงเรียน  แต่ก็มีแกนนำชุมชนแวะเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด  รวมถึงการสังเกตการณ์  หรือแม้แต่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นกันเอง –

ย้อนกลับไปยังอุปสรรคและปัญหาดังที่ผมเกริ่นออกตัวไว้ตั้งแต่ต้น –


ค่ายครั้งนี้ถือว่าขลุกขลักพอสมควร   เพราะนิสิตมาจากสองกลุ่มวิชาชีพ  จึงเห็นความพยายามที่จะหลอมรวมเข้าเป็นนึ่งเดียวกัน  กอปรกับตารางการเรียนและการสอบที่เลื่อนไหลเป็นจังหวะๆ ยังผลให้กำหนดห้วงวันเวลาในการออกค่ายค่อนจ้างลำบาก  ที่สุดก็กลายเป็นการขออนุมัติโครงการฯ แบบเร่งด่วน ...

ครั้นถึงเวลาจริงๆ กลับต้องขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวันเวลาแบบด่วนดิบกันอีกรอบ  เรียกได้ว่า “แทบหายใจไม่ทัน” เลยทีเดียว  ซึ่งเข้าใจว่าเป็นปัญหาของการสื่อสารและประสานงานระหว่างนิสิตกับทางโรงเรียนฯ

ต่อเมื่อลงพื้นที่จัดกิจกรรมจริงๆ  สถานที่จัดกิจกรรมในแต่ละฐานก็มีระยะห่างกันพอสมควร  ทำให้บริหารจัดการเวลาได้อย่างยากลำบาก  พลอยให้เวลา หรือกำหนดการลื่นไหลไปเรื่อยๆ ... 


โดยส่วนตัวแล้ว  ผมมองอุปสรรคและปัญหาเหล่านี้แสนธรรมดามาก   จึงได้แต่บอกกับนิสิตที่เป็นแกนนำว่าให้ใจเย็นๆ  ตั้งสติให้ดี  มีสมาธิกับการทำงาน  ทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด  ปรับทุกอย่างให้สอดคล้องกับบริบทของตรงนั้น ….  

รวมถึงการบอกย้ำว่า “กลับมาค่อยว่ากัน”

ครับ – คำว่า “กลับมาค่อยว่ากัน”  หมายถึงกลับมาแล้วค่อยมาสรุปบทเรียนร่วมกัน  เพราะผมไม่อยากไปเคร่งครัดอะไรมากในตอนนั้น  มันเหมือน “ผีถึงป่าช้า”  ยังไงๆ ก็ต้อง “เผา” หรือ “สวดส่งวิญญาณ” ให้เสร็จสิ้นไปเสียก่อน

นี่คืออีกหนึ่งความจริงอันแสนงามท่ามกลางอุปสรรคอันเป็นมิตรของการเรียนรู้ที่อดที่จะนำมาบอกเล่าย้อนหลังไม่ได้ –

 


หมายเหตุ
เขียน : วันที่ 12  พฤศจิกายน 2560  (กรุงเทพฯ)

ภาพ : ชมรมรักษ์ทางไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 641222เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2017 01:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2017 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

จากฐานการคิดคือ นำสิ่งที่มีไปแลกกับสิ่งที่ชุมชนรู้ ต่างคนต่างเป็นครู โดยมีนักเรียนและโรงเรียนเป็นสื่อกลาง รักษ์ทางไทย เกิดจากความเป็นคนภาษาไทยเมื่อ ปี 2548 ตอนนั้นเราต่างหาแนวทางของตน จึงมาลงตัวที่ ภาษาไทย ทั้งมนุษยศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ถือว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ที่พยายามทำค่ายด้วยการเอาวิชาการไปแลกเปลี่ยนกับชุมชน ปัจจุบันคงมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ผมเชื่อว่าอุดมการณ์บางอย่างยังคงอยู่

จากฐานการคิดคือ นำสิ่งที่มีไปแลกกับสิ่งที่ชุมชนรู้ ต่างคนต่างเป็นครู โดยมีนักเรียนและโรงเรียนเป็นสื่อกลาง รักษ์ทางไทย เกิดจากความเป็นคนภาษาไทยเมื่อ ปี 2548 ตอนนั้นเราต่างหาแนวทางของตน จึงมาลงตัวที่ ภาษาไทย ทั้งมนุษยศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ถือว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ที่พยายามทำค่ายด้วยการเอาวิชาการไปแลกเปลี่ยนกับชุมชน ปัจจุบันคงมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ผมเชื่อว่าอุดมการณ์บางอย่างยังคงอยู่

-สวัสดีครับอาจารย์

-"กลับมาแล้วค่อยว่ากัน"สะท้อนได้ถึงการให้โอกาสได้เรียนรู้ด้วยตนเองนะครับ

-แฝงไปด้วยความเมตตาในความเป็นครู/ผู้ปรึกษา

-อิงแอบไปด้วยการไม่ได้ปล่อยให้ผ่านเลยไป...

-ได้เคยมีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตแบบนี้มาบ้าง...

-ขอบคุณ/ชื่นชม/ให้กำลังใจ น้องๆ ครับ..

เป็นชมรมที่ดีมาก

ชอบใจกิจกรรม

มีฐานจำนวนหลายฐานมากๆ

ฐานตำนานและนิทานพื้นบ้าน  

ฐานร้อยกรอง  

ฐานสรภัญญะ 

 ฐานพระรามเดินดง  

ฐานจิ๊กซอต่อวรรณคดี ฯลฯ

ขอชื่นๆชมน้องๆในชมรมครับ

สวัสดีครับ อ.สมปอง

ไปสอนหนังสือที่จันทบุรี มีชมรมในลักษาณะณะนี้เหมือนกันบ้างไหม ครับ..ไม่มีก็ลองผลักหนุนให้นักศึกษาตึ้งชมรม หรือชุมชนุมขึ้นมาก็น่าจะดี นครรัฐ


สำรับหรับรักษ์ทางไทย ข้อเท็จจริงคือเรอ่มอ่อนแรงอิ่มตัว รวมถึงความเป็นตัวตนของสองขาที่าวสาสาขาที่ต่างคณะกันและนับวันการเรียการวอนก็สอนก็อาจแตกต่างไปจากอดีต หนือแม้แต่เวลาก็ไม่ค่อยสัมพันธ์กัน..เช่นเดียวกับชมรมในสังกัดศึกษาศาสตร์ก็มีหลากชมรมให้สาย กศน.บภาษาไทยได้เข้าร่วม  สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยของการคงอยู่ หรือยุบเลิกไปตามสภาพ

บันทึกนี้จึงเขียนใาปลุกกำลังใจให้น้องนิสิตได้ทบทวนและมีกำลังใจในการกำหนดทิศทางตนเอง ครับ

สวัสดีครับ อาจารย์เพชรน้ำหนึ่ง

กรณีที่ผมกล่าวถึงมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ  กว่าจะอนุมตัิโครงการก็ลุ่มๆดอนๆ พออนุมัติแล้วก็เลื่อนเป็นการภายใน  มารู้อีกทีก็จวนเจียนจะออกไปเยี่ยมค่ายอยู่แล้ว เลยต้องร่วมแก้ปัญหาและผ่อนคลายความเครียดให้น้องนิสิต...

เชื่อเหลือเกินว่าบทเรียนที่ว่านั้นจะเตือนใจและเตือนองค์กรของเขา  และเรียนรู้ที่จะไม่ให้ปัญหาเก่าเกิดซ้ำรอยอีกในปีนี้...

ปีนี้รอลุ้นว่าน้องนิสิตจะข้ามพ้นปัญหานี้หริอไม่..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ดร.ขจิต

จริงๆแล้วมีฐานการเรียนรู้มากกว่าทีายกตัวอย่างนะครับ  ที่ยกมาเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับวรรณคดีไทยเท่านั้นเอง


การผสมผสานระหว่างวิชาชีพในทางภาษา กับวิชาชีพครูในแบบฉบับบชมรมนี้ผมว่าน่าสนใจมาก มองอีกทีเหมือนวิทย์กับศิลป์มาผสมกัน เหมือนจุดลงตัวของศาสตร์และศิลป์ ดีๆ นั่นเอง


ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท