KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 213. นวัตกรรม


         นวัตกรรม (innovation) เป็นทั้ง เครื่องมือ (means) และ เป้าหมาย (end) ของ KM  

          เรามุ่ง "เรียนลัด" ความรู้ (ปฏิบัติ) จากผู้มีนวัตกรรม     พูดง่ายๆ ว่าเรียนวิธีทำงานแบบแปลกใหม่ ได้ผลดี จากคนที่คิดทดลองขึ้นเอง     เรียนแล้วเอาไปทดลองปรับใช้กับงานของตนเอง

         อุปสรรคในการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน KM ก็คือ เรามักจะตีความคำว่านวัตกรรมผิด      ในการทำ KM เราต้องตีความนวัตกรรมว่าเป็นวิธีการแปลกใหม่ในงานเล็กๆ       อย่าไปหลงว่าต้องเป็นเรื่องที่ให้ผลยิ่งใหญ่      นักทำ KM ในมุมหนึ่งต้องเป็นนักมุ่งอนาคต     คือมองออกว่านวัตกรรมเล็กๆ ที่ยังไม่ส่งผลต่อวิสัยทัศน์ขององค์กร      แต่ถ้ามีนวัตกรรมเล็กๆ เช่นนั้นมากมายทั่วองค์กร  และขยายรูปแบบ  พัฒนาต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร

        KM คือเครื่องมือ "พัฒนานวัตกรรมใหญ่" จากนวัตกรรมเล็กๆ      โดยคนเล็กคนน้อยภายในองค์กร 

        KM เน้นการ ลปรร. ความรู้ปฏิบัติที่อยู่ในความสำเร็จเล็กๆ หรือนวัตกรรมเล็กๆ     แล้วเอาไปขยายนวัตกรรมต่อโดยการทดลองใช้วิธีการแปลกใหม่นั้นกับงานในบริบทอื่น      เป็นการทดลองโดยมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบทใหม่     ได้ผลอย่างไร เอามา ลปรร. กัน     แล้วเอาไปทดลอง ปรับปรุงวิธีการใหม่อีก เป็นวงจรไม่รู้จบ     นวัตกรรมเล็กๆ ก็จะค่อยๆ ขยายและ "รวมตัวกันเอง" (self-organize) กลายเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่      และมีผลกระทบต่อวิสัยทัศน์ขององค์กร

        ในองค์กรที่ทำ KM เป็น     ผู้ปฏิบัติงานทุกคนคือ "วิศวกรนวัตกรรม"

        ในการทำ KM เรามองนวัตกรรมเป็นของเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่     ที่กระบวนการ KM ทำให้ "สะเก็ดนวัตกรรม" รวมตัวกันเองในลักษณะที่เรียกว่า self-organization เกิดเป็นนวัตกรรมแบบก้าวใหญ่ได้

วิจารณ์ พานิช
๑๒ พย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 63746เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมรบกวนขอ comment เรื่อง จาก จิบกาแฟฯ ถึง MSU-KM ด้วยครับ

ขอบคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ

วิชิต ชาวะหา
ม.มหาสารคาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท