ชื่นชมโครงการภูมิภาคศึกษา ม.วลัยลักษณ์


ชื่นชมโครงการภูมิภาคศึกษา ม.วลัยลักษณ์

        2 พ.ย.48   ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือก (ระดับประเทศ) ผู้สมัครรับทุน API (Asia Public Intellectuals) Fellowships ซึ่งผมเคยแนะนำไว้แล้ว (click)   เราได้รับทราบจากผู้สมัครคนหนึ่งว่า มวล. มีหลักสูตรภูมิภาคศึกษาระดับปริญญาตรีที่เน้น Southeast Asian Studies โดยมี Dr. Patrick Jory เป็นผู้ประสานงานโครงการ   จุดเด่นอยู่ที่นักศึกษาในหลักสูตร (60 คน) พูดภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia) และภาษามาเลเซีย (Bahasa Malaysia) กันในชั้นเรียน

        ผมขอแสดงความชื่นชมต่อ ดร. อุทัย ดุลยเกษม  คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ผู้ริเริ่มโครงการ   และ ดร. สุพัฒน์  พู่ผกา อธิการบดีที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จัดอาจารย์จากประเทศที่ต้องการเรียนรู้มาสอน   ผมพยายามเข้าเว็บไซต์ www.wu.ac.th เข้าไปดูหลักสูตรแต่เข้าไปในหน้าหลักสูตรไม่ได้   จึงไม่รู้ว่ามีการพานักศึกษาไปเรียนรู้ในประเทศเหล่านี้บ้างหรือไม่

วิจารณ์  พานิช
 2 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 6361เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2005 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 08:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นักศึกษาภูมิภาคค่ะ

สำหรับหลักสูตรนี้ ในปีที่3เทอม3มีการส่งนักศึกษา เพื่อศึกษาภาษามาเลเซียหรืออินโดนีเซียตามประเทศทางสาขาที่ตนเลือกเรียนค่ะ

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา

(หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2549)

ชื่อหลักสูตร

ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา

Bachelor of Arts Program in Regional Studies

ชื่อปริญญา

ภาษาไทย ชื่อเต็ม : ศิลปศาสตรบัณฑิต (ภูมิภาคศึกษา)

ชื่อย่อ : ศศ.บ.(ภูมิภาคศึกษา)

ภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม : Bachelor of Arts(Regional Studies)

ชื่อย่อ : B.A.(Regional Studies)

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

หลักการและเหตุผล

1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา

ในฐานะที่เป็นอาณาบริเวณของการศึกษาประวัติศาสตร์ของการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียถูกครอบงำอยู่โดยนักวิชาการและสถาบันทางวิชาการของมหาอำนาจที่เคยเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือกระทั่งออสเตรเลีย เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอบเขตของการศึกษาจึงมักจะสะท้อนถึงทัศนะของคนนอก “คนนอก” เป็นหลัก คำถามหลักๆเกี่ยวกับภูมิภาคจึงถูกตั้งขึ้นโดย คนนอก ซึ่งมักจะสะท้อนความสนใจของคนนอกเป็นหลักมากกว่าปัญหาของคนที่อยู่ข้างในเอง นอกจากนี้แม้ว่าสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในภูมิภาคจะได้รับการ “พัฒนา” เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศและเพื่อที่จะศึกษาสังคมการเมืองในภูมิภาค ด้วยตนเองให้มากขึ้นแทนที่รับเอาความเข้าใจตัวเองจากภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่กล่าวได้ว่าโครงการ ดังกล่าวก็ยังตกอยู่ภายใต้แนวคิดแบบตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งนักวิชาการชาวเอเชียที่เคยไป ฝึกฝนวิชาความรู้ทางวิชาการอยู่ในมหาวิทยาลัยของตะวันตกหรือญี่ปุ่น พร้อมกับนำเอาวุฒิบัตรทาง การศึกษาในระดับปริญญาในสาขาวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา หรือ สังคมวิทยา เพื่อกลับมาพัฒนาและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาค ดังจะเห็นได้จาก การที่นักวิชาการเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้นักวิชาการชาวเอเชียและสถาบัน ระดับอุดมศึกษาในเอเชียเองกลับมีบทบาทยิ่งขึ้นอย่างมากในการผลิตความรู้เกี่ยวกับเอเชีย ในช่วงไม่กี่ ทศวรรษมานี้ โครงการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Studies) ได้ถูกจัดตั้งขึ้น เป็นจำนวนมากในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งโครงการแลกเปลี่ยนการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภูมิภาค (Southeast Asian Studies Regional Exchange Program หรือ SEASREP ) เมื่อ ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) นั้นประกอบด้วย สมาชิกที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้เองเป็นหลัก แม้กระนั้นก็ตาม แต่ก็ยังสามารถกล่าวได้ว่าแนวคิด ทัศนคติ และมุมมองแบบตะวันตกก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากในการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงกระบวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ สังคมการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังดำเนินอยู่และพัฒนาการของการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภูมิภาคก็อาจทำให้มองเห็นได้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรจะเข้ามามีบทบาทหลักสำคัญในการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แทนที่จะมอบบทบาทนี้ให้กับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ) เพราะการให้ความหมาย คุณค่า และสร้างความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรจะเกิดจากความรู้ความเข้าใจและความต้องการของ “คนใน” ภูมิภาคเอง

2. เกี่ยวกับโครงการภูมิภาคศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้กำหนดนโยบายอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการจัดตั้งโครงการ “ภูมิภาคศึกษา” (Regional Studies) ในแผนแม่บทของมหาวิทยาลัยโดยมีเป้าหมายหลักอยู่ในการศึกษา เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเนื่องจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศ ทั้งสองในทางภูมิศาสตร์และการที่แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสองจะมีความสำคัญอย่างสูงในกระบวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเชียน แต่ก็กล่าวได้ว่า ประเทศมาเลเซียกับอินโดนีเซียนั้นได้ถูกละเลยและถูกมองข้ามจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยมาเป็น เวลานาน อย่างไรก็ตามมีความหวังอย่างหนึ่งว่าในอนาคตนั้นโครงการภูมิภาคศึกษานี้จะช่วยทำให้ สามารถขยายขอบเขตออกไปให้ความสำคัญกับการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้โดยเฉพาะต่อประเทศไทยในอนาคต ในช่วงแรกของโครงการภูมิภาคศึกษาจะได้จัดตั้งปริญญาตรี “ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา” และพร้อมกันนั้นก็ได้ดำเนินโครงการจัดพิมพ์เอกสาร การศึกษาและการวิจัยที่เกี่ยวกับภูมิภาคศึกษา ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (เนื่องจากความขาดแคลนในการผลิตผลงานศึกษาและการวิจัยที่เกี่ยวกับภูมิภาคศึกษาในภาษาไทย) เพื่อที่จะสนับสนุนและส่งเสริมงานศึกษาและวิจัยของนักวิชาการไทยให้ออกไปสู่ชุมชนวิชาการทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับชาติ ส่วนในช่วงที่ 3 นั้น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนโยบายที่จะจัดตั้งโครงการภูมิภาคศึกษาในระดับหลังปริญญาตรี และในช่วงที่ 4 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับภูมิภาค (โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซีย) เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐและรวมทั้งความสนใจของชุมชนทั่วไป

3. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา

โครงการภูมิภาคศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความได้เปรียบหลายด้านซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการเปิดโครงการภูมิภาคศึกษาต่อไปในอนาคต

1) ในยุคของการกระจายอำนาจและบูรณาการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค ซึ่งตั้งอยู่ในภาคใต้นั้น ย่อยจะได้เปรียบในการพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของไทย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งอยู่ใกล้กับนครศรีธรรมราชยิ่งกว่ากรุงเทพฯ

2) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งอยู่ในภูมิภาคซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมไทย-พุทธกับวัฒนธรรมมลายู-มุสลิม ซึ่งทำให้ภูมิภาคแถบนี้มีสำนึกที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

3) บูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยกลุ่ม ASEAN นั้นน่าจะก่อให้เกิดการกระตุ้นอุปสงค์ ของตลาด จำนวนหนึ่งต่อผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่มีความรู้อย่างรอบด้านเกี่ยวกับภูมิภาคจึงจะก่อให้เกิดแนวโน้มอย่างสูงที่จะมีการเติบโตของตลาดขนาดใหญ่ในแง่ของจำนวน นักศึกษาที่ต้องการเข้ามาเรียนเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อเปรียบเทียบ กับสถาบันอุดมศึกษาในตะวันตกหลายแห่งแล้วสาขาวิชาด้านเอเชียศึกษากำลังถูกลดความสำคัญลงไปทุกขณะ

4) แนวโน้มของการขยายของตลาดดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักศึกษาที่จะมาจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยในตะวันตกทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ซึ่งน่าจะเป็นกลไกสำหรับการก่อตั้งโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เป็นศูนย์การศึกษาระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ต่อไปในอนาคต

5) นักศึกษาไทยน่าจะมีข้อได้เปรียบมากกว่านักศึกษาตะวันตกในการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากความคล้ายคลึงในกันทางภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคเดียวกัน

6) การเพิ่มขึ้นของแหล่งทุนต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่หันมาให้การสนับสนุนภูมิภาคศึกษา

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

หลักสูตร “ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา” มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เหล่านี้คือ

1) มีความรู้อย่างรอบด้านแบบสหวิทยาการเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในด้านวัฒนธรรม สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และเข้าใจประเด็นสำคัญและข้อถกเถียงหลักๆ เกี่ยวกับภูมิภาคศึกษาในวงวิชาการร่วมสมัย

2) สามารถที่จะพูดและอ่านภาษาในเอเชียได้อย่างน้อยภาษาใดภาษาหนึ่ง (นอกเหนือจากภาษาไทย)

3) มีทักษะในการทำวิจัยด้วยตนเองเกี่ยวกับภูมิภาคศึกษา

4) มีความรู้และความเข้าใจอย่างลุ่มลึกและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับทฤษฎีและวิธีวิทยาด้านภูมิภาคศึกษาร่วมสมัย

5) มีความรู้และความเข้าใจอย่างวิพากษ์วิจารณ์ต่อมุมมองของกลุ่มชนต่างๆ ในภูมิภาค

6) มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาร่วมสมัยหลักๆ ที่ภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่

7) มีทักษะความคล่องแคล่วในการใช้ภาษาอังกฤษในทุกด้าน

8) มีทักษะด้านวิชาชีพ (เช่น การค้าในระบบอิเลคทรอนิคส์ (e-Commerce) และการจัดการด้าน การท่องเที่ยว เป็นต้น) เนื่องจากหลักสูตรฯ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายสูงสุดที่จะผลิตนักวิชาการด้าน

ภูมิภาคศึกษา แต่ต้องการผลิตบัณฑิตที่สามารถใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนในสาขาวิชา ภูมิภาคศึกษาเพี่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ

9) มีทักษะความสามารถที่จะใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีพื้นฐานทางวัฒธรรมแตกต่างกันในภูมิภาคเอเชีย

10) มีความรู้ในระดับชำนาญเกี่ยวกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย

คณาจารย์

อาจารย์ประจำหลักสูตร

Dr.Patrick Jory Ph.D.(Southeast Asian History)

อาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม อ.ม.(ประวัติศาสตร์)

อาจารย์อรอนงค์ ทิพย์พิมล ศ.ม.(ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

อาจารย์ไพลดา ชัยศร อ.ม.(ประวัติศาสตร์)

อาจารย์อับดุลรอยะ ปาแนมาแล M.A.(Malay Literature)

อาจารย์ผู้สอน

Dr.Patrick Jory Ph.D.(Southeast Asian History)

อาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม อ.ม.(ประวัติศาสตร์)

อาจารย์อรอนงค์ ทิพย์พิมล ศ.ม.(ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

อาจารย์ไพลดา ชัยศร อ.ม.(ประวัติศาสตร์)

อาจารย์อับดุลรอยะ ปาแนมาแล M.A.(Malay Literature)

http://arts.wu.ac.th/

เป็นนักศึกษารุ่นแรกสาขาภูมิภาคของที่นี่ค่ะ สำหรับหนักสูตรภูมิภาคนั้นนอกจากจะมีการให้ไปเรียนในประเทศที่เลือกเรียนเรียนหนึ่งเทอมแล้ว ทางอาจารย์ยังมีการสนับสนุนให้นักเรียนขอทุนจากรัฐบาลอินโดนีเซียด้วยนะค่ะ ซึ่งทุนที่ได้นี้ก็จะได้ไปเรียนภาษาอินโดนีเซียเป็นเวลาหนึ่งปีค่ะ

เข้าไปดูหลักสูตรได้ที่นี่ค่ะ http://reg-seas.wu.ac.th/

เป็นนักศึกษารุ่นแรกค่ะจบปี 49 ค่ะ อยากบอกว่าการได้เรียนหลักสูตรภูมิภาคศึกษา ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้อารัยหลายอย่างมากมายเลยค่ะ ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งประสบการณ์ที่ดี ตอนนี้สามารถประสบผลสำเร็จได้ระดับหนึ่งก็ต้องขอขอบคุณ อาจารย์เต้ อาจารย์อร อาจารย์แพทริค อาจารย์เดีย อาจารย์ลิน่า พี่แมว และอาจารย์อีกหลายๆ ท่านที่พร้อมจะสนับสนุนให้ลูกศิษย์เป็นคนเก่ง และเป็นคนดี ปลื้มมากค่ะ มีโอกาสจะไปต่อปริญญาโทสาขานี้อีกค่ะ...รุ่นแรกแรกรุ่น สู้ๆๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท