คติการสร้างเจดีย์บนเรือจำลอง


#ศิลปะในประเทศไทย #คติการสร้างเจดีย์บนเรือจำลองโดย วาทิน ศานติ์ สันติ (4/9/2560)

หากกล่าวถึงการสร้างเจดีย์ไว้บนเรือจำลอง ทุกๆ ท่านคงจะต้องคิดถึงเจดีย์บนเรือสำเภาจำลองที่วัดยานนาวาเป็นชั้นต้น วัดนี้สร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 การสร้างเรือสำเภาจำลองนั้นเนื่องจากพระองค์ทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปคนไทยจะไม่ได้เห็นเรือสำเภาอีกแล้ว เพราะต่อจะนิยมใช้เรือกำปั่นใบแบบตะวันตก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จำลองเรือสำเภาแบบจีนที่มีรูปแบบและสัดส่วนที่เคยใช้งานจริงในสมัยนั้นขึ้นมาให้ลูกหลานชาวไทยได้ชม ดั่งที่ทรงมีพระราชดำริตอนหนึ่งว่า "คนภายหน้าอยากจะเห็นว่าเรือสำเภาเป็นอย่างไรจะได้มาดู"

จากนัั้นประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 บนเรือ 2 องค์ มีลักษณะคือ มีชุดฐานสิงห์ 3 ฐาน มีบัวทรงคลุ่มรองรับองค์ระฆังเพิ่มมุมไม้ 20 สำหรับเจดีย์องค์ใหญ่ และเพิ่มมุมไม้ 16 สำหรับเจดีย์องค์เล็ก ส่วนยอดเป็นทรงคลุ่มเถา องค์ใหญ่อยู่ตรงกลางลำเรือ องค์เล็กอยู่ที่หัวเรือ (รูปที่ 1)

นอกจากนี้ การสร้างเจดีย์ไว้บนเรือยังมีความหมายถึงการข้ามโอฆสงสารด้วย สันนิษฐานได้จากที่ห้องบาหลีประดิษฐานรูปหล่อของพระเวสสันดรกับกัญหาและชาลี อันเป็นเรื่องราวของทศชาติชาดกชาติสุดท้าย ก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้า รูปหล่อดังกล่าวสอดคล้องกับข้อความในมหาชาติคำหลวง กัณฑ์กุมาร พระเวสสันดรกล่าวโน้มน้าวใจพระโอรส พระธิดาหลักจากทั้งสองพระองค์หนีไปซ่อนในสระบัว ให้อุทิศตนไปอยู่กับชูชก เป็นการสร้างมหากุศลอันยิ่งใหญ่เสมือนเรือสำเภาใหญ่พามนุษยชาติข้ามโอฆสงสารไปสู่พระนิพพาน ความว่า

"พระลูกเอ่ย เจ้าไม่รู้ฤาคือพระบิตุรงค์บรรจงรักพระโพธิญาณ หวังจะยังสัตว์ให้ข้ามห้วงมหรรณพภพสงสารให้ถึงฝั่งฟาก เป็นเยี่ยงอย่างยอดยากที่จะข้ามได้ สำเภาลำใดของพานิช ซึ่งตกแต่งต่อติดเป็นกงวานประกอบประกับกระดานตอกตึง ตะปูตะปริงยิงกรึงกระชับชิด พืดเหล็กตีติดตอกหมันโซมน้ำมันชันเคี่ยวแล้วเยียวยา กระดานดาดเป็นดาดฟ้าจังกอบกว้านสมอขัน เสากระโดงยืนยันยึดด้วยพืดพวนผูกขึงรัดรึงตายติดกับเสารอกดูนี่เรี่ยวแรง เสากระโดงสายระโยงรยางค์แย่งอยู่มั่นคง... ครั้นเวลาวายุพัดมาเฉื่อยฉิว สำเภาทองก็จะล่องลิ่วไปตามลม สรรพสัตว์ก็จะชื่นชมโสมนัส ถึงจะเกิดลมกาฬพานกระพือพัดคือโลโภ ถึงจะโตสักแสนโตตั้งตีเป็นลูกคลื่นอยู่ครื้นโครมโถมกระแทก สำเภานี้ก็มิได้วอกแวกวาบหวั่นไหว ก็จะแล่นระรี่เรื่อยเฉื่อยไปจนถึงเมืองแก้ว อันกล่าวแล้วคือพระอมตมหานครนฤพาน พระลูกเอ่ย เจ้าจะนิ่งนานอยู่ไยในสระศรี จงขึ้นมาช่วยยกยอดปิยบุตรทานบารมี แต่ในครั้งเดียวนี้เถิด..."

ที่วัดฉิมพลีสุทธาวาส เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วัดสร้างอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏการณ์การสร้างเจดีย์ 3 องค์ไว้บนฐานทรงเรือ (รูปที่ 2) เนื่องจากปัจจุบันมีการยกพื้นให้สูงขึ้นจึงเห็นส่วนของเรือเพียงเล็กน้อย ไม่ทราบว่าเจดีย์ 3 องค์นี้บรรจุอัฐิของผู้ใด แต่เชื่อได้ว่ามีคติในการสร้างเพื่อให้วิญญาณของผู้วายชนม์ ล่องเรือข้ามโอฆสงสารไปสู่พระนิพพาน

นอกจากนี้ยังพบการสร้างเจดีย์ 3 บรรจุอัฐิ 3 องค์บนฐานรูปเรือ ที่วัดศรีรัตนาราม (บางพัง) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (รูปที่ 3) วัดสร้างอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ทราบแน่ชัดว่าเจดีย์ทั้ง 3 บรรจุอัฐิของผู้ใด แต่เชื่อได้ว่า มีคติในการสร้างเพื่อให้วิญญาณผู้วายชนม์ล่องเรือข้ามโอฆสงสารไปสู่พระนิพพานเช่นกัน

ข้อสังเกตบางประการคือ ด้วยการที่วัดทั้งสามที่ผู้เขียนยกมานั้นสร้างอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นจึงเหมาะกับการสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นรูปเรือ เพื่อเชื่อมโยงคติเรื่องการร่องเรือข้ามโอฆสงสาร ซึ่งเป็นความเชื่อสูงสุดของชาวพุทธที่จะเข้าสู่การหลุดพ้นหรือการไปสู่นิพพานนั้นเอง

หากผู้อ่านท่านใดเห็นการสร้างเจดีย์บรรดาจากวัดหรือศาลที่ใด สามารถแนะนำเข้าไม่ได้จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

รูปประกอบรูปที่ 1 เจดีย์วัดยานนาวา ถ่ายเมื่อ พ. ศ. 2560รูปที่ 2 วัดฉิมพลีสุทธาวาส ถ่ายเมื่อ พศ 2560รูปที่ 3 เจดีย์วัดศรีรัตนาราม ถ่ายเมื่อ พ. ศ. 2560

เอกสารประกอบการเขียนศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2556). พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ พัฒนาการของงานช่าง และแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

วชิรญาณ.(2560). http://vajirayana.org/มหาชาติคำหลวง/กัณฑ์กุมาร. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2560.


วาทิน ศานติ์ สันติ


หมายเลขบันทึก: 636038เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2017 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2017 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท