ประชุม ชมรมผู้ป่วยเบาหวานธาตุพนม (3)


กินอะไร กินเท่าไหร่ และกินอย่างไร

             เล่ากิจกรรมที่ทำต่อจากเมื่อวาน นะครับทั้ง ตอนที่1  และตอนที่2

          ช่วงเวลาประมาณ หนึ่งชั่วโมงครึ่ง ตั้งแต่ สิบโมงครึ่ง- เที่ยง ทางทีมกำหนดให้เป็นช่วง ให้ความรู้แก่ผู้ที่มาร่วมประชุม โดยเริ่มจากผม (ภก.เอนก)ใช้เวลาประมาณ 20 นาที พูดถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน ในปัจจุบัน  ยาที่มีใช้ในโรงพยาบาล ข้อพึงปฏิบัติของการใช้ยา อาการข้างเคียงของยา  

  
            จากนั้น คุณประเพิญศรี เนตรไลย์ พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งวันนี้ปรับบทบาทจากพยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วยดึก มาเป็นพยาบาลผู้ให้ความรู้เรื่องอาหาร หลังจากไปฝึกอบรม ของ สปสช. ที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์มาเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน  วันนี้ประเด็นหลักคุณประเพิญศรีเน้นให้เห็นถึงอาหารของผู้ที่เป็นเบาหวาน กับคนปกติที่ไม่ป่วย ว่าไม่แตกต่างกัน ยังกินได้เหมือนกัน แต่อาจต่างกันที่ปริมาณเท่านั้นเอง ส่วนอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง หรือเค็ม เป็นอาหารที่ควรกินให้พอเหมาะ หรือควรหลีกเลี่ยง ซึ่งทั้งคนป่วย และไม่ป่วยก็ต้องปฏิบัติตัวเช่นกัน วันนี้คุณประเพ็ญศรีเริ่มแนะนำตั้งแต่อาหาร 5 หมู่ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง โดยใช้ประเด็น กินอะไร กินเท่าไหร่ และกินอย่างไร มาเป็นประเด็นหลักในการสอน  และในตอนสุดท้าย ก็ลองเปรียบเทียบโดยใช้อาหารพื้นบ้านที่กินประจำมาสาธิตการตักให้ดูว่าควรกินได้ประมาณไหน รวมทั้งส่งต่อข้อมูลไปที่อาหารกลางวันที่ทำเลี้ยงในวันนั้น ซึ่งมีอาหารที่เน้นผักมากหน่อย เลี่ยงจากการทอด มาเป็นปิ้งหรือย่าง ใช้เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน วันนั้นก็เลยมีเมนู เมี่ยงปลาเผากับผักสด  น้ำพริกมะกอกผักนึ่ง อ่อมเห็ดแบบอิสาน และลาบปลาตอง(ปลากราย) กินกับข้าวเหนียวใหม่ อีกคนละ 1 กระติ๊บ ที่ทางทีมโรงพยาบาลได้เตรียมการให้คนทำใส่เข้าเหนียวไปประมาณ 1ทัพพีประมาณ 3 ขีด  ต่อหนึ่งกระติ๊บน้อยต่อมื้อ ที่สำคัญเมื่อทานแล้ว ให้ถือกระติ๊บน้อยกลับบ้าน เป็นที่ละลึกได้เลย และให้ใช้เป็นปรัโยชน์ในการใส่เข้าเหนียวบ้านว่า ไม่น่าจะกินเกินนี้  หลังจากพูดเรื่องอาหารไปประมาณ 11.40 น. ทางทีมงานก็มีความเห็นว่า น่าจะพักรับประทานอาหารก่อน เนื่องจากยังมีเวลาพอ สำหรับเรื่องการออกกำลังกาย และการปฏิบัติตัว ในช่วงบ่าย

 กระติ๊บน้อย ที่เขียนติดว่า "กินอยู่แต่พอดี ชีวีมีสุข"
        วันนี้อาหารที่เตรียมมาอร่อยถูกใจมาก และทุกคนยอมรับว่า ข้าวเหนียวกระติ๊บเล็ก ก็ทำให้อิ่มได้เหมือนกัน โดยเน้นไปที่กับและผักให้มากขึ้น และสามารถใช้กระติ๊บน้อยในวันนี้ แทนการจก(หยิบ)โดยตรงจากกระติ๊บข้าวใหญ่ๆ ที่มีกันทุกบ้าน

 อาหาร แซบหลายๆครับ

         ช่วงบ่ายโมง คุณหงา  พเยาว์ ปิยะไพร  นักกายภาพบำบัด มาพูดถึงการออกกำลังกายในผู้เป็นเบาหวาน โดยเลือกให้เหมาะกับอายุ สภาพร่างกาย โรคแทรกซ้อน และปิดท้ายโดยการบริหารร่างกาย และบริหารเท้า อย่างง่าย โดยให้ผม และคุณอุทัยวรรณช่วยสาธิตอีก2 แรง(คนสอนที่กำลังท้องได้ 6 เดือน )  

 บริหารแก้ง่วงนอน ยามบ่าย

            หลังจากลองบริหารร่างกายในห้องพอสมควร คุณอุทัยวรรณ ก็แนะนำถึงการปฏิบัติตัวในโอกาศต่างๆ  การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การตรวจตามนัด การทำจิตใจให้สบาย ไม่มีความเครียด และก็มาสรุปในตอนท้ายว่า ปัจจุบันอาจใช้คำว่า ผู้เป็นเบาหวานแทนผู้ป่วยเบาหวานได้เลย เนื่องจากผู้เป็นเบาหวานถ้าสามารถควบคุมได้ ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยให้เห็นแต่อย่างไร

รองเท้า ผู้เข้าประชุมครับ

ติดตามผลการประกวดชมรมนะครับ (4) 

ภก.เอนก  ทนงหาญ ผู้เล่าเรื่อง

คำสำคัญ (Tags): #ชมรมเบาหวาน
หมายเลขบันทึก: 63590เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เวลาไปธาตุพนมมักได้กินผักสดสด ชอบมากครับกับน้ำพริกแบบพื้นบ้าน แซบหลาย
ขอชื่นชมทีมเบาหวาน รพร.ธาตุพนมอีกครั้ง เห็นการทำงานแล้วประทับใจจริงๆ คิดถึงทุกๆ คน

ขอโทษนะครับ คืออยากทราบปริมาณสัดส่วนข้าวเหนียวที่ทานจากกระติบข้าว ว่ามีกี่ส่วนในหนึ่งกระติบ และทานได้กี่ส่วนในผู้เป็นเบาหวานอะครับ สนใจอยากจะลองทำอะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท