ชีวิตที่พอเพียง : 2998. พุทธศาสนาสายผูกพันกับสังคม



ชื่อของบันทึกนี้มาจากภาษาอังกฤษว่า Engaged Buddhism    เป็นคำที่ท่าน ว. วชิรเมธีเอ่ยขึ้นที่ห้องวีไอพี ของท่าอากาศยานเชียงราย เช้าวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ กับคณะของคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ที่ติดต่อขอไป กราบท่านที่ไร่เชิญตะวัน ในวันนั้น    แต่ท่านติดกิจนิมนต์ต้องขึ้นเครื่องบินไปหาดใหญ่ตอน ๑๐ น.   เราจึงต้อง กราบท่านที่ห้องรับรอง   

ตอนแรกท่านเล่าให้เราฟังเรื่องโรงเรียนชาวนาที่ท่านสนับสนุน ให้ทำนาอินทรีย์และได้รับการรับรอง คุณภาพโดยประเทศไทย จีน และอียู    เป็นเกษตรอินทรีย์วิถีพุทธ    ใช้เศรษฐกิจดึงคนเข้าหาธรรมะ     ท่านกล่าว ติดตลกว่าคนทำนาก็ต้องอินทรีย์ด้วย  คือปลอดอบายมุข 


เมื่อทราบว่าเราอยู่ระหว่างเดินทางไปดูงานโรงเรียนฉือจี้ที่ฝาง    ท่านก็บอกว่าเหตุที่ท่านกลับบ้านเกิด ที่เชียงราย  ก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากการไปเยือนสำนักพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน    ได้คิดว่าการที่ท่านเป็นนักเทศน์ โด่งดัง เกิดผลต่อสังคมน้อย    จะให้ได้ผลต้องเอาหลักศาสนาเข้าสู่วิถีชีวิตชาวบ้านโดยตรง  แบบเดียวกันกับฉือจี้  ที่เป็นพุทธแบบผูกพันกับสังคม (Engaged Buddhism)     หรือที่ท่านเรียกว่าพุทธศาสนาเพื่อสังคม    เริ่มด้วยการ ตั้งสถาบันวิมุตยาลัย    ต่อด้วยการทำเพื่อสังคม    ให้ศาสนากับผู้คนใกล้ชิดกัน  

ฟังแล้วผมตีความว่าท่านทำหน้าที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำการเกษตรแบบใช้ความรู้หลากหลายด้าน  ทั้งด้านการผลิต และการตลาด    เริ่มด้วยการทำนาข้าวไร้ซเบอร์รี่อินทรีย์ ที่ทางประเทศจีนรับซื้อหมด    ท่านเอ่ย ถึงการส่งเสริมการปลูกไผ่  พันธุ์ไผ่ซาง  เพื่อทำเฟอร์นิเจอร์     ซึ่งผมฝาก ดร. กวิชช์ไว้ว่า ให้หาทางศึกษาจากญี่ปุ่น ในการทำให้ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่มีมูลค่าเพิ่มสูง  

นี่คือพุทธศาสนาเชิงรุก รุกเข้าสู่ชีวิตผู้คน   ไม่ใช่แบบตั้งรับ ที่ผมเคยเอ่ยในวง retreat ของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ที่บันทึกไว้ ที่นี่    พุทธศาสนาเชิงรุกแบบนี้ ต้องใช้ความรู้สำหรับการทำมาหากิน ของชาวบ้านนำ     แล้วแฝงคุณธรรมศีลธรรมเข้าไป    ซึ่งผมมีความเห็นว่า ความซื่อสัตย์ ไม่โกง  รู้จักเห็นแก่ผู้อื่น สำคัญที่สุด  


วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.ค. ๖๐

ห้อง ๒๓๑  โรงแรมแทนเจอรีน  อ. ฝาง  จ. เชียงใหม่

 


 

หมายเลขบันทึก: 635873เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2017 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2017 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Namasakaara to the Rev Vajiramethī and sadhu to his work.

Buddhism is a universal way of life for those who strive to be better human. In this 21c we need Buddhism - real Buddhism to counter extremism and greed.


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท