ความสุขจากการอ่านหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอดและสายตาฝ้าฟางของผม


เสียงของคุณคือดวงตาของเขา

      ปกติผมจะแวะเวียนมาบริจาคปัจจัยที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด   มูลนิธิเด็กพิการบ้านนนทภูมิ และมูลนิธิสงเคราะห์เด็กอ่อนพิการทางสมองและปัญญา(บ้านเฟื่องฟ้า) ที่ปากเกร็ดบ่อยๆ   พอดีเห็นป้ายศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด  ของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระราชินูปถัมภ์ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านเดียวกัน  ทำให้นึกถึง บทความที่ผมเคยเขียนเรื่อง ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ : ชีวิตและการต่อสู้ของคนพิการผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาผู้ริเริ่มก่อตั้งห้องสมุดเสียงเพื่อคนตาบอดคนแรกของประเทศไทย เลยแวะเข้ามาเยี่ยมดูงานและร่วมบริจาคเงินสนับสนุนกิจการด้วย   ได้คุยกับท่านผอ.ชนิดาภา เพ็ชรรักษ์ผู้อำนวยการศูนย์ฯคนปัจจุบันและคุณวิจิตร  บุตรสุนทร เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตหนังสือเสียง  เกี่ยวกับกิจกรรมของศูนย์ฯในปัจจุบัน  ก็ได้รับการต้อนรับและคำแนะนำที่ดีเยี่ยม  พอดีได้พบข้อความหนึ่งที่มีความหมายลึกซึ้งและโดนใจผมมากๆคือ “เสียงของคุณคือดวงตาของเขา”  เลยตัดสินใจทันทีและนัดวันเวลามาขออ่านหนังสือ บันทึกเสียงลงแผ่น CD ด้วยไฟล์ MP3 เพื่อให้คนตาบอดจากทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกของห้องสมุดเสียงฯ หยิบยืมไปฟังกัน(ซึ่งทางศูนย์ฯได้ผลิตและให้บริการไปแล้วเป็นจำนวนมาก)      

      งานที่ผมทำแล้วมีความสุขมากๆได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว   โดยผมได้นัดหมายมาอ่านหนังสือเล่มแรกที่ผมเขียนไว้นานแล้วคือ “โลกในใจของบุญถึง”  และได้บันทึกเสียงไปเรียบร้อยแล้วเ  ต่อมาตั้งใจจะอ่านอีกเล่มคือหนังสือ “จี้ใจได้แง่คิด” ที่ผมเขียน  แต่ก็ทราบว่ามีผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ของผมไปแล้ว  เลยต้องอ่านหนังสือเรื่อง “จี้ใจได้สาระ” ที่ผมเขียนอีกเล่มหนึ่ง  และตอนนี้ได้อ่านหนังสือไปอีกหลายเล่มแล้ว  โดยเฉพาะได้อ่านหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ชั้น ม.1 -6 ทุกเล่ม จบแล้ว  กำลังอ่านหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษา ม.1-6 ต่ออีก  จากนั้นก็จะอ่านหนังสือเรียน ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ต่ออีก  โดยสัปดาห์หนึ่งไปอ่าน 3 วัน คืออังคาร  พุธ และศุกร์(8.30-12.00น) 

      พอพูดถึงห้องสมุดเสียงในศูนย์ฯแห่งนี้ ทำให้นึกถึงอาจารย์ณรงค์ที่ท่านเคยบันทึกถึงแรงบันดาลใจของเขาในการก่อตั้งห้องสมุดคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด(แห่งนี้) ไว้ตอนหนึ่งว่า “...ข้อหนึ่ง ผมเองก็มีใจรักในการอ่านหนังสือ สอง มีความสามารถในการพิมพ์หนังสือเบรลล์ สาม ผมมีความรักในตัวคนตาบอด ผมได้รู้อะไรสนุกๆหรือได้ความรู้จากการอ่านหนังสือ วรรณกรรม ผมก็อยากจะให้คนตาบอดมีความสุขอย่างนั้นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กตาบอดที่อยู่รอบๆตัวผมนี่ อยู่ว่างๆผมก็พิมพ์หนังสืออักษรเบรลล์ให้อ่าน...ผมเลยคิดตั้งห้องสมุดของศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดขึ้นมา ต่อมาเทคโนโลยีการบันทึกเทปแพร่หลาย ต้นทุนถูกลง จนกระทั่งวันหนึ่งผมคิดว่าถ้าเราจะทำหนังสือเสียง ส่งให้คนตาบอดทั่วประเทศอ่าน น่าจะอยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้ หากเป็นหนังสือเบรลล์นี่ ทำได้ copyเดียว เหมือนกันกับวรรณกรรมพิมพ์ดีด สมัยก่อนก็ผลัดกันยืมให้อ่านได้ ทีนี้ผมเกิดใจใหญ่ขึ้นมาว่า น่าจะตั้งห้องสมุดของคนตาบอดขึ้นมาเป็นแห่งแรกในประเทศไทย...”      
        ในที่สุดความตั้งใจจริงของเขาก็ประสบผลสำเร็จ และตั้งชื่อว่า ห้องสมุดคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด(คำว่าคอลฟิลด์ มาจากชื่อของ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์สุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้นำอักษรเบรลล์มาเผยแพร่แก่คนตาบอดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก) โดยเริ่มดำเนินการก่อตั้งใน พ.ศ.2520 ห้องสมุดเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ใน พ.ศ.2524 โดยมีอาคารส่วนตัวแยกออกมาเป็นเอกเทศ แต่กว่าจะเป็นห้องสมุดที่สมบูรณ์แบบ อาจารย์ณรงค์ต้องวางแผนและใช้ความอดทนพยายามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงบประมาณในการดำเนินงาน เนื่องจากมีกิจกรรมถึง 5 กิจกรรมที่อยู่ภายใต้สังกัดของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยที่ต้องดูแล คือ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดปากเกร็ด ห้องสมุดคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดหญิงสามพราน และโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ จังหวัดปทุมธานี        อาจารย์ณรงค์ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องสมุดคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอดเป็นคนแรก ต้องริเริ่มและรับผิดชอบงานทุกอย่างเองทั้งหมด ห้องสมุดเริ่มเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น สื่อมวลชนต่างๆนำผลงานของเขาไปเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง มีอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานเพิ่มมากขึ้น และสามารถให้บริการคนตาบอดได้ทั่วประเทศ และพัฒนามาเป็นศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ที่ก้าวหน้ามากขึ้นในปัจจุบัน     

หมายเลขบันทึก: 635870เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2017 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2018 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท