๒๓๘. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน


ผมเป็นครู..โรงเรียนมีครูมีนักเรียนและผู้ปกครอง..มันไม่มีอะไรยากหรอก..ถ้าคิดจะทำ..และถ้าจะทำ ก็ต้องทำให้จริงจัง ทำให้ยั่งยืน..มันจะทำให้เกิดความดีงามติดตัวคนที่กระทำ.และความดีนั้นมันจะอยู่บนแผ่นดินนี้..ใครไม่เห็นมันไม่ใช่ประเด็น..คนที่ทำนั่นแหละจะรู้ดีว่าทำอะไรอยู่..

ผมเขียนเรื่องนี้ครั้งใด..ก็จะรู้สึกมีความสุขทุกครั้ง เพราะเขียนจากเรื่องจริง จากภาพเชิงประจักษ์ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๙..ในโรงเรียนบ้านหนองผือ โรงเรียนขนาดเล็กที่สุดในเวลานั้น....

วันเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน..๑๑ ปี แล้ว..ติดตราตรึงใจ เหมือนทุกช่วงเวลา ยังใหม่ในความทรงจำ และจำได้ทุกเหตุการณ์ นับแต่ก้าวย่างเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียน แม้จะมองไม่เห็นแหล่งเรียนรู้นอกอาคารเลยแม้แต่น้อย..แต่ผมเห็นสระน้ำ..ของโรงเรียน  เห็นต้นไม้และใบหญ้า..ผมบอกกับตัวเองว่า..ผมมีงานทำแล้ว..

แต่ผมก็ไม่ได้ลงมือทำทันที..อดทนและรอคอย.ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จากโครงการพระราชดำริ ที่พระองค์ทรงศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำตามลำดับขั้นตอนและ ไม่ติดตำรา ตลอดจนประหยัด เรียบง่าย และได้ประโยชน์สูงสุด..

ณ เวลานั้น..ต้นสังกัด..ยังไม่ได้เผยแพร่แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..แต่ผมเห็นช่องทางแล้ว..ขั้นตอนแรกต้องศึกษาว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน..ใครจะช่วยได้ ผมไม่มีความรู้ด้านอาคารสถานที่ ไม่มีตำราวิชาเกษตร..แต่ที่พิเศษสุด..ผมมีนักการภารโรงที่เก่ง ....

ด้วยเหตุและผล ..ผนวกกับการประมาณตน..ที่ผมมีอยู่เต็มเปี่ยม..ผมตั้งใจจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนทั้งหมด ๔๘ คนเพื่อสร้างศรัทธา และหาเวลาศึกษาเรียนรู้..จากภารโรง จดและจำ ทำงานร่วมกันทุกขั้นตอน บางสิ่งบางอย่าง ต้องลงมือทำทันที เพราะภารโรงจะเกษียณในปี ๒๕๕๑...

๒ ปีแรก..ภารโรงบอกว่า..อย่าปลูกพืชผักสวนครัวอะไรเลย เพราะดินปนทรายปลูกอะไรก็ไม่งาม..แต่ภารโรงเป็นช่างปูน ผมจึงให้ก่ออิฐเป็นแปลงเกษตรสำเร็จรูป บนเนินดินที่น้ำท่วมไม่ถึง..ขุดดินในนามาใส่ คลุกเคล้าด้วยมูลวัว..ตากดินไว้แล้วค่อยลงมือปลูก..จากนั้นก็ปลูกเรื่อยมา..เห็นผลงอกงามทุกปี..

ใบไม้มากมายในแต่ละวัน..ให้ภารโรงช่วยก่ออิฐบล๊อคเป็นบ่อเก็บใบไม้..ทำปุ๋ยหมัก..เมื่อได้ดินจากการหมักใบไม้ที่เน่าเปื่อย ก็นำไปใส่แปลงเกษตร ใส่กระถางต้นไม้ และใส่เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้แทนปุ๋ยเคมี..

ผมทำแค่นี้เอง..แล้วภารโรงก็เกษียณ..แต่ความรู้ของท่านยังอยู่กับผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัดแต่งต้นไม้ การทำอาคารให้สะอาดร่มรื่น และการตรงต่อเวลา ตลอดจนความขยันหมั่นเพียรที่ผมไม่เคยลืมเลือน..

วันนั้น..วันที่ไม่มีภารโรง ผมกับครู ๓ คน..ก็ยังทำงานได้อย่างต่อเนื่อง..ปุ๋ยหมัก..ยังมีไว้ให้ใช้ ต้นไม้ยังปลูกได้เป็นปกติ โรงเรียนร่มรื่นมีห้องเรียนธรรมชาติ..ที่ปราศจากมลพิษ มีป้ายคำขวัญสอนใจ โรงเรียนเหมือนบ้านเล็กในป่าใหญ่..ที่ใครๆก็อยากมาดู..

เมื่อไม่มีภารโรง..ผมทำวิกฤติให้เป็นโอกาส..รีบสร้างภูมิคุ้มกันให้โรงเรียนทันที โดยจัดจ้าง รปภ.ที่ชุมชนผู้ปกครองไว้วางใจ ให้นอนโรงเรียนและเปิดประตูอาคารเรียนในตอนเช้า..ให้ความสะดวกแก่ครูและนักเรียน ผมให้ค่าตอบแทนเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ด้วยทุนส่วนตัว ( ปัจจุบัน ๒,๕๐๐ บาท) นับถึงวันนี้ผมจ่ายไปแล้ว ๒๖๔,๐๐๐ บาท..คุ้มค่าเหลือเกิน..กับการใช้ชีวิตราชการ...

ปี ๒๕๕๔..เขตพื้นที่การศึกษาฯ เริ่มต้นเสาะหา..โรงเรียนต้นแบบการเรียนการสอนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..บ้านหนองผือ..เป็นโรงเรียนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อ..กรรมการดูเนื้องานและแหล่งเรียนรู้..ไม่ได้ดูเอกสารมากมายเหมือนปัจจุบัน แต่ที่สำคัญ..นักเรียนของผมทำงานเป็น เน้นกระบวนการ มีจิตอาสาและร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง..แม้ว่าจะผ่านการประเมินและได้โล่รางวัลแล้วก็ตาม...

โรงเรียนเริ่มมั่งคั่งเป็นลำดับ...ทั้งๆที่อาคารเรียนก็เก่ามาก มีเพียงหลังเดียว อาคารประกอบและห้องน้ำห้องส้วมก็มีน้อย..ห้องสมุดก็ยังไม่มี นักเรียนเริ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เหมือนกับคณะที่มาศึกษาดูงานก็เริ่มมามากมาย ปีละหลายคณะ มากขึ้นเรื่อยๆ..ผมถามว่า..มาดูอะไร..ทุกคนตอบเหมือนกันว่า..ไม่มีภารโรง..แต่ทำไมโรงเรียนสะอาดร่มรื่น  มีครูไม่มากอาคารเรียนไม่พร้อม..ทำไมเด็กอ่านคล่องลายมือสวยผลสัมฤทธิ์สูง..

ผมก็บอกว่า..ผมเป็นครู..โรงเรียนมีครูมีนักเรียนและผู้ปกครอง..มันไม่มีอะไรยากหรอก..ถ้าคิดจะทำ..และถ้าจะทำ ก็ต้องทำให้จริงจัง ทำให้ยั่งยืน..มันจะทำให้เกิดความดีงามติดตัวคนที่กระทำ.และความดีนั้นมันจะอยู่บนแผ่นดินนี้..ใครไม่เห็นมันไม่ใช่ประเด็น..คนที่ทำนั่นแหละจะรู้ดีว่าทำอะไรอยู่..

ผมยังนับว่าโชคดี..ที่ไม่เคยท้อต่ออุปสรรคและความขาดแคลน มีโอกาสทำงานและประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อยมา จนบังเกิดผลเป็นรูปธรรม นำส่งให้ได้พบกับ "กัลยาณมิตร" ที่มีจิตเมตตา "คุณบุญชู ลิ่มอติบูลย์" ช่วยสร้างห้องสมุดให้ และช่วยจ้างครูพิเศษตลอดปี ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจ..ที่จะไปต่อ..เพื่อนำโรงเรียนขนาดเล็ก..มุ่งสู่คุณภาพอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนสืบไป...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓๑  สิงหาคม  ๒๕๖๐







หมายเลขบันทึก: 635494เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2017 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2017 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ร่วมภาคภูมิกับความสำเร็จค่ะ อาจารย์

แน่นอนสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง ย่อมเกิดขึ้นในตัวผู้กระทำเสมอ

โดยความเคารพอย่างสูง

คุณลิขิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท