ทฤษฎี "ภูเขาน้ำแข็ง"


ผมเรียนรู้ว่า การทำงานด้านการศึกษาจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัย ๓ ประการ ได้แก่ ๑) มีครูเพื่อศิษย์ ๒) ทำอย่างต่อเนื่อง และ ๓) ความร่วมมือจากนอกโรงเรียน  ในความพยายามทำหน้าที่ข้อที่ ๓) ผมพบว่า หากนำเอาทฤษฎี "ภูเขาน้ำแข็ง" มาใช้ จะสามารถอธิบายและขยายความเข้าใจให้คุณครูสามารถแก้ปัญหาของนักเรียนได้ดีมากขึ้น  จึงขอนำเอา "ภูเขาน้ำแข็ง" มาแลกเปลี่ยนในบันทึกนี้ครับ 

๑) ภูเขาน้ำแข็ง แสดง ความรู้ฝังลึกในตน (Tacit Knowledge)

ความรู้ที่จะช่วยครูให้สามารถช่วยนักเรียนได้ ไม่ใช่ความรู้ในตำรา หนังสือ ทีวี วีดีโอ คำสั่ง วารสาร หรือสิ่งที่นักวิชาการนำมาบอก  แต่เป็นความรู้ฝังลึกในตนของครูท่านนั้น ๆ เองเท่านั้น (ดูรูปด้านล่าง) ดังนั้นบุคคลภายนอกโรงเรียน ที่มุ่งไปพัฒนาชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC) ต้องให้ความสำคัญกับความรู้ส่วนนี้มาก ๆ .... วิธีการคือ ต้องสร้างกระบวนการรเรียนรู้ให้ครูถอดบทเรียนตนเองให้เป็น 

๒) ภูเขาน้ำแข็ง แสดงรากเหง้าของพฤติกรรมนักเรียน 

ยอดภูเขาน้ำแข้งที่เห็น เป็นเพียงพฤติกรรมของนักเรียนเท่านั้น รากเหง้าของพฤติกรรมโดยทั่วไป (แบบไม่มีสติรู้ตัว ทำเป็นอัตโนมัติ) ส่วนใหญ่มาจาก ลำดับขั้นกระบวนการดังนี้ 

  • "ศรัทธา" หรือความเชื่อ เชื่อว่าทำแล้วดีมีสุขจึง "อยากได้" เพราะชอบ(ฉันทะ) จึงอยากดี เพราะมีแรงบันดาลใจจึงลุกขึ้นมาทำ ... ขั้นนี้หากเปรียบกับหลักพุทธ น่าจะตรงกับ "ความเห็น" (ทิฐิ) 
  • ศรัทธากำหนด "วิธีคิด" มีความเชื่ออย่างไรก็จะมีวิธีคิดหรือ (Mindset) แบบนั้น  เช่น เชื่อว่า นักเรียนทุกคนสามารถพัฒนาได้ถ้าพัฒนาอย่างเหมาะสม ครูก็จะไม่เลิกความพยายามที่จะหาวิธีการ ... ขั้นนี้หากเปรียบกับหลักพุทธน่าจะตรงกับ "ดำริ" 
  • วิธีคิดกำหนด "ท่าที" ในการตอบสนองทางใจ เช่น ยินดี ชอบ อิจฉา โกรธ ฯลฯ และแสดงออกมาทางร่างกาย สีหน้า แววตา วาจา ฯลฯ ... ทางธรรมะน่าเปรียบได้กับ "สังขาร" คือจิตปรุงแต่งแล้ว 
  • ท่าทีนำมาสู่ "การกระทำ" 
  • ทำบ่อย ๆ จะเกิด "ความเคยชิน" 
  • เมื่อเคยชินก็กลายเป็น "นิสัย" หรือ "วิถี" ของใจ 
  • จากนิสัย พัฒนาไปสู่ "อุปนิสัย" ติดใจข้ามภพชาติ ... พ่อแม่ครูอาจารย์บางท่านบอกว่า จิตใจคนหมื่นปีก็ไม่เปลี่ยน ... ภาษาทะเลาะของคำว่าอุปนิสัยคือ "สันดาน" 
  • "พฤติกรรม" ส่วนใหญ่จึงมาจากอุปนิสัยนี้เอง  

ดังนั้น หากจะเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน จึงต้องสร้างแรงบันดาลใจหรือศรัทธา หากระบวนการฝึกด้วยการจัดกิจกรรมให้ทำต่อเนื่องจนเกิดความเคยชิน เกิดเป็นนิสัย สร้างอุปนิสัยที่ดีให้เขา  โดยต้องยึดหลักการสำคัญ คือ การพัฒนาทั้งสามฐาน 



๓) ภูเขาน้ำแข็ง แสดงวิธี "ฟัง"

ปัญหาผู้เรียนอาจแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ ความรู้ ทักษะ และลักษณะนิสัย  ในมุมมองผู้บริหารมักมองแต่ปัญหา ความรู้และทักษะ แต่ในมุมมองของครู จะรู้ว่าปัญหาด้านความรู้และทักษะของนักเรียน มาจากลักษณะนิสัย "ไม่สนใจเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ขยัน ไม่อดทน ฯลฯ " ของนักเรียน   วิธีแก้ปัญหาจึงพยายามจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ด้วยวิธี "ควบคุม บังคับ นับจำนวน" ...  ทั้ง ๆ ที่วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีจึงไม่ได้ผล ครูหลายคนถึงกับท้อแท้และมีบางกรณีที่ "ทอดทิ้ง" ไป 

ผมเสนอว่า เพื่อนครูต้องฝึก "ฟัง"  ไม่รีบด่วนตัดสิน  ฟังให้เห็นความคิดหรือวิธีคิดของผู้เรียน ฟังให้เห็นความรู้สึก พิจารณาถึงความต้องการที่แท้จริงของเขา และเห็นศรัทธาที่อยู่เบื้องลึกที่สุด  สังเกตและค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้เรียนรายบุคคล เช่น ชีวิตครอบครัว ความชอบ ความถนัด ฯลฯ  ... หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ใส่ใจผู้เรียนรายบุคคล นั่นเอง 


ตัวอย่างเช่น คุณครูท่านหนึ่งบอกว่า พบปัญหาในการทำกิจกรรมในชั้นเรียนคือ นักเรียนไม่ตอบคำถาม ไม่กล้าพูด ไม่สนใจเรียน   ผมวิเคราะห์ว่า ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะ เขาตอบไม่ได้ ทำไม่ได้ เพราะคำถามยากไป ไม่เข้าใจ ทำให้รู้สึกไม่ชอบ ไม่ชอบครู ไม่ชอบวิธีการของครู เพราะไม่ชอบจึงไม่อยากรู้ ไม่อยากเรียน  ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ไม่เห็นความสำคัญ ไม่มีเป้าหมาย ไม่เห็นประโยชน์ ขาดแรงบันดาลใจที่จะเรียน ... หากครูมีความเห็นดังนี้แล้ว  ครูก็จะไม่เพียงแค่ออกแบบกระบวนการต่าง ๆ เพื่อดึงความสนใจให้กล้าพูดเท่านั้น แต่ครูจะต้องสร้างความเข้าใจในเป้าหมายในการเรียนนั้น ๆ ด้วย 



ผมพบว่า "ภูเขาน้ำแข็ง" นี้ใช้อธิบายเหตุการณ์ได้หลากหลายยิ่่ง ... ผมนึกถึงทฤษฎีพาเรโต้ที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์แม่ รศ.ดร.นารีรัตน์ และผมบันทึกไว้ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 635154เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you.

Among Buddhists, the 'right view' is the foundation of good 'kamma' (both action and intention). The right view can be cultivated by building (repeating/practicing) simple habits such as 'mingle with good friends', 'keep siila (disciplinary conducts - especially the 5th one that helps us keep the other siila), 'practice the right path',... That is we have an all-round principle that we all have already learned 'in words' but we have not applied! 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท