เรียนรู้ 7 Habits กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


ปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จคือการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง และการเรียนรู้ 7 อุปนิสัยของผู้ทรงประสิทธิภาพสูงจะเป็นแนวทางที่นำเราไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

สวัสดีครับชาว Blog และคณะผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เคารพรักทุกท่าน

             ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มีโอกาสจัดโครงการพัฒนาผู้นำและผู้บริหารของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หลักสูตร "การเพิ่มประสิทธิภาพขั้นสูงในการทำงานและการสร้างภาวะผู้นำ กรณีศึกษา Covey's 7 Habits Workshop The 7 Habits of Highly Effective People" ระหว่างวันที่ 25 - 28 พฤศจิกายน 2549

              หลักสูตรนี้มีประโยชน์มากสำหรับการนำหลักคิดไปสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเองและองค์กรและเป็นหลักสุตรที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากที่ผ่านมา

              ผมขอถือโอกาสเปิด Blog นี้ เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างกันและหวังว่า Blog นี้จะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ น่าสนใจแก่ผู้อ่านต่อไป ขอบคุณครับ

                                                      จีระ  หงส์ลดารมภ์

คำสำคัญ (Tags): #7#habits#ที่อุบลฯ
หมายเลขบันทึก: 63515เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
เข้ามาติดตามครับอาจารย์

การสัมมนา ยังมีอยู่จนถึงวันที่ 28 พ.ย. นี้

ขอบคุณครับ

     วันที่ 28  พ.ย. 49  ผมได้มีโอกาสรับเชิญจาก ศ.ดร.จีระ ฯ    ไปร่วมสรุปและการนำไปใช้ในการจัดอบรมฯ ครังนี้  

         ขอชมว่าจากการแบ่งกลุ่มสรุป    บุคลากรระดับผู้บริหารและผู้เข้ารับการอบรมฯ ม.อุบลฯ  มีการเปิดรับและนำไปสร้างานขยายผลหลายๆอย่างไม่ว่า  จะเป็นการทบทวนฝึกฝนตนเองสิ่งที่อรมไป  การนำไปจัดทำแผนงานให้เกิดประสิทธิภาพ   การหาจุดอ่อนจุดแข็งในองค์กร

       การให้โอกาสหัวหน้างานได้รับการอบรมฯ  การสร้างวิทยากรตัวคูณและนำเสนอในวิทยุชมชน และการทำKM  การสร้างสังคมการเรียนรู้ 

        และโชคดีสำหรับรุ่นนี้ที่ได้เรียนรู้เรื่อง Innovation          และพร้อมแบ่งกลุ่มคิดสร้าง Innovation  ขึ้นมา

      แต่อยากจะให้สิ่งที่เราพูดกัยในห้องประชุมเหลี่ยมโต๊ะกลม   ออกมาเป็น Action Plan  และมีSustainabillity Capital ทุนแห่ง8;k,ยั่งยืนและต่อเนื่อง

       มิฉะนั้น สิ่งที่ทุกท่านลงทุนก็จะไม่เกิดมูลค่าเพิ่ม  และทุกอย่างก็จะหยุดนิ่งอยู่กัยที่เหมือนสูญเปล่า  พร้อมนี้ขอให้กำลังใจทุกท่าน

ชำนาญ   บัวทวน

08-1965-7562

ประธานรุ่น 3   7 Habits ม,ขอนแก่น

 

เรียน ท่านสมาชิกทุกท่านผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องของการที่เราได้ฝึกอบรมที่ผ่านมานะครับ ขณะที่ผมนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ต่อไปนี้ เป็นเวลา 04.30 น. (วันที่ 29 พฤศจิกายน 2549) และคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราน่าจะเริ่มได้คือ สัญญากับตัวเองเราจะเริ่มแล้วนะ  ครับ ผมคิดว่าสิ่งที่ทุกท่านได้รับเหมือนกันและคิดว่าท่านจะนำไปปฏิบัติจากที่เราฝึกอบรมมาน่าจะได้รับเหมือนกัน  สำหรับตัวผมเองผมได้คิดว่าสิ่งแรกที่ผมจะเปลี่ยนแปลงและเลือกแล้วและรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งโดยปกติที่ผ่านมาผมนั้นจะถึงที่ทำงานประมาณ 8.00 น. สิ่งแรกที่ทำคือ อ่าน e-mail และอ่านข่าวจาก Web site แต่สิ่งที่คิดว่าจะต้องเปลี่ยนคือ จะอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับงานการเรียนการสอนแล้วนำงานของมหาวิทยาลัยที่สำคัญในวันนั้นมาทำก่อน  และทบทวนงานที่ได้ทำไปแล้วว่ามีอะไรบ้างที่ยังไม่สมบูรณ์                  โดยการฝึกปฏิบัตินิสัยที่ 1 นั้น ทำให้ผมนึกถึงคุณพ่อของผม ซึ่งจริงๆ แล้วท่านเรียนหนังสือเพียงชั้น ป.1 เท่านั้น แต่สิ่งที่ท่านทำให้ผมนึกถึงท่านนั้น ท่านไม่ได้รู้เรื่อง  7 Habits แต่ท่านก็สามารถทำได้และทำได้ดีและดีกว่าผมด้วย (ผมคิดอย่างนั้น) เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว (ปัจจุบันท่านอายุ 79 ปี) พ่อบอกว่าจะเลิกสูบบุหรี่และตื่นเช้าของอีกวันหนึ่งท่านก็เลิกสูบบุหรี่ได้จริงๆ  ทุกคนที่อยู่รอบข้างถามท่านว่า เลิกได้อย่างไร ท่านตอบเพียงว่าไม่ยาก คือ เพียงแต่บอกตัวเองว่า จะไม่สูบอีกต่อไปแล้วและท่านก็ทำได้จริงๆ ดังนั้น ผมคิดว่าสำคัญที่สุดนิสัยที่ 1 ที่เราจะทำได้คือ ตัวเรา ใจเรา และอนาคตของเรา เอาชนะใจตัวเอง                 และอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อของผมได้สอนได้บอกผมได้นานแล้ว คือ เรื่องของ ในหลวงของเรา คือ เมื่อตอนพ่อผมเป็นหนุ่ม ท่านเป็นกรรมกรสร้างถนนจากสุรินทร์ไปโคราช โดยตอนกลางคืนเพื่อนท่านรวมทั้งตัวท่านกลัวผีมาก แล้วคืนหนึ่ง กลุ่มคนงานทั้งหมดก็รวมกันบอกกับผีป่านางไม้ว่า ที่ดินที่จะทำถนนนี้เป็นของในหลวงของเรา เรามาทำงานให้ในหลวงนะ ดังนั้น พวกท่านทั้งหลายอย่างได้มารบกวนเลยและนำภาพฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปตั้งไว้เพื่อแสดงความเคารพ หลังจากนั้น ตอนกลางคืน ทุกคนก็ไม่มีความรู้สึกกลัวผี และก็ไม่มีผี อีกต่อไป ดังนั้น ทุกวันนี้ ที่บ้านคุณพ่อ (ที่ร้อยเอ็ด) และที่บ้านของผม (ที่อุบลราชธานี) มีพระฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเต็มไปหมดเลย  และที่สำคัญที่คุณพ่อได้บอกผมอยู่ตลอดเวลาว่า ทำงานอะไรก็แล้วแต่ ขอให้นึกถึงแผ่นดิน นึกถึงในหลวงให้มากที่สุด และเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ คุณพ่อผมถ้าหากเห็นในหลวงของเราในโทรทัศน์ พ่อของผมมีความสุขมากและมีน้ำตาไหลออกมา  จากที่กล่าวมานั้น ทำให้ผมนึกถึง การที่เราจะทำอะไรนั้น ขอให้มีเป้าหมายว่าเพื่ออะไร ถ้าหากเราทำเพื่อมหาวิทยาลัย เพื่อแผ่นดิน เพื่อในหลวงของเรา ผมคิดว่าเราจะมีความสุขที่จะทำ และเมื่อนั้น ผมคิดว่า เราจะมีความสุขและพร้อมที่จะร้องให้เมื่อเห็นมหาวิทยาลัยของเรามีความเจริญก้าวหน้า เห็นประเทศของเรามีความเจริญก้าวหน้า  ซึ่งน่าจะเป็นนิสัยที่ 2 (ใช่หรือไม่ โปรดกรุณาเสนอข้อคิดเห็นด้วยนะครับ)                ดังนั้น การลงมือทำเป็นสิ่งที่สำคัญ การคิดว่าจะทำ การพูดว่าจะทำนั้นไม่สำคัญ บางคนมีแต่พูดและพูดในสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่จริง พูดเพื่อความสะใจ เพื่อความมันส์ มีความสุขที่จะพูด เมื่อพูดถึง การพูดทำให้ผมนึกถึงท่าน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  ในทฤษฎี 2 R  R ตัวที่ 1 คือ Reality ความจริง  โดย ความจริง นั้น มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น มันสัมพันธ์กับการพูดอย่างไร ถ้าหากเราพูดแต่ความจริงกันทุกคนในมหาวิทยาลัย ผมเชื่อว่าเราสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทุกวันนี้อย่างที่เราได้ทราบ มีบางเรื่องในมหาวิทยาลัย ที่คนพูดไม่รู้จริง ผมเน้นนะครับ ไม่รู้จริงเมื่อไม่รู้จริงและพูดออกไปนั้น มันเป็นสิ่งเร้า และสิ่งที่ทำให้เกิดปัจจัยอื่นๆ มากระทบต่อการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ อย่างมหาศาล อนุญาตยกตัวอย่างเช่น  เมื่อมีคนพูด การที่มหาวิทยาลัยจะปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ นั้น รัฐบาลจะไม่ให้งบประมาณแล้วนะ มหาวิทยาลัยจะต้องหาเงินเองจากการพูดดังกล่าว ท่านคิดว่ามีสิ่งเร้าอะไรเกิดขึ้นบ้าง และใครที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง  ซึ่งผมคิดว่า แน่นอน ท่านอธิการบดีอาจจะต้องออกมาอธิบาย พนักงานลูกจ้างออกมาถามว่าเขาจะถูกจ้างต่อหรือไม่ รวมทั้ง นักศึกษาจะต้องถามว่าแล้วมหาวิทยาลัยจะขึ้นค่าเทอมหรือไม่  ดังนั้น จะเห็นว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการพูดดังกล่าวต่างกังวลและคิดว่าจะทำอย่างไร  แต่ถ้ามีคนที่รู้จริงในเรื่องนั้น ออกมาพูดความจริงที่เป็นหนึ่งเดียว ผมเชื่อว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องก็จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง  ด้วยเหตุนี้ ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องลงมือทำ ทำในที่นี้ คือ การหาข้อมูลที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยจะปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เพราะความจริงมีเพียงอย่างเดียวหนึ่งเดียวเท่านั้น  ผมคิดว่า ความจริง และ การพูดความจริง เป็นสิ่งมีความสำคัญและสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไรก็ตาม ที่เรารู้ความจริงแล้วค่อยพูด น่าจะดีกว่า การพูดแล้วค่อยมารู้ความจริงทีหลัง บางคนนั้น เป็นคนที่สร้างสรรค์มาก คือ พูดก่อนแล้วค่อยหาความจริงภายหลังด้วยเหตุนี้ สังคมของเราจะมีความสุข ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สร้างสิ่งที่มีประโยชน์ร่วมกันได้ น่าจะเริ่มตั้งแต่ การหาความจริงก่อน แล้วค่อยพูด และลงมือปฏิบัติ  ดังนั้น ถ้าหากเราทุกคนชาว ม.อุบลฯ น่าจะลองค้นหาความจริง พูดแต่ความจริง และลงมือทำให้สิ่งที่ถูกต้องตามเป้าหมายที่ได้ตั้งใจร่วมกัน เชื่อว่า ม.อุบลฯ จะสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วกว่านี้ และขอฝากไว้อีกสักอย่างคือ การคิดก่อนพูด พูดออกไปแล้วต้องมีความรับผิดชอบในคำพูดของตนเอง                ในวันนี้ คงจะขอรบกวนเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ และหวังว่าท่านสมาชิกทุกท่านจะได้ร่วมใจกันทำงาน 7 Habits ประสบความสำเร็จสำหรับตนเอง มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ                                ด้วยความเคารพอย่างสูง                                มนูญ ศรีวิรัตน์
                                อาจารย์ตุ้ย
อจต. (อุ่นใจตลอดกาล)

สวัสดีครับท่านสมาชิกทุกท่าน 7 Habits ม.อุบล

วันนี้ขออนุญาตเพิ่มเติมจากวันก่อนในเรื่อง การเลือกทำในสิ่งใดก่อนและหลัง (นิสัยที่ 3 ?) แต่ขอเป็นของส่วนรวม คือ มหาวิทยาลัย อยากจะเรียนสอบถามท่านสมาชิก 7 Habits ม.อุบลว่า มหาวิทยาลัยของเราในสถานการณ์อีก 6 เดือนข้างหน้า เราจะทำหรือพัฒนาสิ่งใดก่อนเป็นสำคัญและเร่งด่วน เพราะบางครั้งเราไม่อาจจะเลือกได้ว่า อะไรสำคัญและเร่งด่วน ดังนั้น ขอความกรุณาทุกท่านได้แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย ในการก้าวเดินไปข้างหน้า

ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เรื่องที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2549 เป็นวันพระราชทานปริญญาบัตร หลังจากที่ส่งเสด็จแล้วเวลา 11.30 น กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ (ศ.ดร.กนก วงศ์คชตระหง่าน) จะบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การเตรียมพร้อมมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐภายใต้การเปลี่ยนของโลก" (ถ่ายทอดเสียงผ่านคลื่นวิทยุ ม.อุบล FM 91.75 Mhz) และเวลา 13.00 น. เริ่มประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย และมีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยเข้าร่วม  คาดว่าจะดำเนินการประชุมเสร็จเวลาประมาณ 16.00 น. หากท่านใดสนใจจะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับท่านกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ขอเชิญได้ที่ตึกอธิการบดี ซึ่งท่านอาจจะได้พบกับท่าน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ อีกครั้ง แล้วรับรองได้ว่าท่านสมาชิกทุกท่านจะได้ความรู้เพิ่มเติมอย่างแน่นอน 

ขอกลับมาเรื่องสำคัญและด่วนนะครับ วันนี้ผมได้ดำเนินการในส่วนของผมเช่นเดียวกัน คือ ตอนเช้าได้ทำเรื่องที่สำคัญและคิดว่าเร่งด่วนเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ดังนั้น ก็ขอเป็นกำลังใจให้สมาชิกทุกท่านได้ปฏิบัติให้ได้เช่นกัน

 ด้วยความเคารพ

อจต.

ยม ""การเพิ่มประสิทธิภาพขั้นสูงในการทำงานและการสร้างภาวะผู้นำ กรณีศึกษา Covey's 7 Habits Workshop The 7 Habits of Highly Effective People" ระหว่างวันที่ 25 - 28 พฤศจิกายน 2549"
สวัสดีครับ ศ.ดร.จีระ/ ผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก ม.อุบลฯ และท่านผู้อ่านทุกท่าน
  

ผมต้องขอขอบคุณ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เป็นอย่างสูง ที่เปิดโอกาสให้ผมติดตามไปร่วมกิจกรรม สัมมนาสร้างผู้นำ การเพิ่มประสิทธิภาพขั้นสูงในการทำงานและการสร้างภาวะผู้นำ กรณีศึกษา Covey's 7 Habits Workshop The 7 Habits of Highly Effective People" ระหว่างวันที่ 25 - 28 พฤศจิกายน 2549 ให้กับผู้บริหารระดับสูง ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ณ แก่งสะพือริเวอร์ไซด์รีสอร์ท จ.อุบลราชธานี 

อาจารย์ให้ความรู้ ให้โอกาส ให้อภัย กับศิษย์เสมอมา เป็นการให้ที่สอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีทางพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็น ครูที่ยิ่งใหญ่ และ ผู้นำที่เป็นเลิศ สมควรที่บรรดาศิษย์ทั้งหลายนำเป็นแบบอย่าง

  

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มีโอกาสได้รู้จัก พบปะกับอธิการบดี รองอธิการบดี คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

และโชคดีมากที่ได้พบเพื่อนเก่า ที่เคารพรักกันมานาน ดร.อุทิศ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ซึ่งเคยรู้จักกันสมัยที่ท่านได้ทุนและเตรียมตัวไปเรียนต่างประเทศ ครั้งนั้น ดร.อุทิศไปทบทวนภาษาอังกฤษที่สถาบันสอนภาษา เอ.ยู.เอ. ในหลักสูตร Intensive course  จากนั้นท่านก็ไปเรียนต่างประเทศ และได้เขียนจดหมายคุยกัน  ผมสัมผัสได้ถึงความดี ความจริงใจจาก ดร.อุทิศ เพื่อนรักกันสมัยนั้น  ขอแสดงความยินดีกับ ดร.อุทิศ ที่มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ มาโดยตลอด

  

การสัมมนา วันที่ 25-28 พ.ย.ทีผ่านมา ผมประทับใจ ทีมงานของ ศ.ดร.จีระ ที่ตั้งใจทำงานขยันขันแข็ง  ในวันแรก เห็นดาวเด่น คุณแหม่ม สุภาพเรียบร้อย ขยัน ขันแข็ง อดทน ประสานงานได้โดดเด่น มีน้ำใจไมตรี คอยดูแลเอาใจใส่งานได้ดี  

คุณเอไม่ประหม่าเวลาจับไมค์ มั่นใจ คล่อง ว่องไว บุคลิกภาพมีแววเป็นวิทยากรได้ดี 

คุณรัตน์สุภาพเรียบร้อย มีความตั้งใจเมื่อได้รับมอบหมายงานประสานได้ดี

คุณปิง ทำงานแบบเฉียบคม เน้นเป้าหมายเป็นสำคัญ ไม่เน้นพิธีรีตองมาก ถึงเวลางานทำได้เร็ว รับงานจากอาจารย์ไปคิดต่อได้ดี

คุณปิ๋ม เป็นผู้ใหญ่สมวัย สมกับเป็นผู้นำทีม สุขุม สุภาพ น่าเลื่อมใส คบหา บุคลิกภาพดี ควบคุมทีมงานด้วยความสงบนิ่ง น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  

  

นอกจากนี้ ได้พบ วินัย น.ศ. ป.เอก ด้วยกัน มาคอยต้อนรับดูแลอาจารย์ เหมือนคุณชำนาญ เอาใจใส่ดูแลอาจารย์ที่ขอนแก่น ส่วนดีของวินัยที่พบเห็นคือ ความสนใจ ใส่ใจ เอาใจใส่ต่ออาจารย์ และทีมงาน เป็นอย่างดี

ส่วนคุณชำนาญถึงแม้จะตามมาสมทบภายหลัง ก็ยังคงเป็นทองแท้ มีความดีต่ออาจารย์และทีมงานเสมอต้นเสมอปลาย อย่างนี้เรียกว่า มีความดีดุจดังเกลือรักษาความเค็ม อย่างนี้เป็นของแท้ ครับ

 ผมได้เห็นความโดดเด่นของวิทยากรแต่ละท่าน สุขุม ลุ่มลึก มีการวางแผนเตรียมการสอนมาอย่างดี มีลีลาการสอนที่แตกต่างกัน มีจังหวะ มีสาระที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ขอชื่นชมในความดีของทุกๆ คนที่ผมพบเห็น ซึ่งไม่สามารถที่จะเขียนบรรยายให้หมดได้ในโอกาสนี้   

การสัมมนา ในเรื่อง ภาวะผู้นำ ของ ศ.ดร.จีระ กระชับแต่ลึก ทุกประโยคที่ฉายบนจอ มีความหมาย อาจารย์ได้บรรยายเรื่อง LEADERSHIP ให้กับหลายองค์การ ผมขอแนะนำให้ผู้อ่าน ติดตามได้จาก Blog ของโรงแรมโอเรียนเต็ล  ของ ธนชาติ ของกระทรวงศึกษาฯ ของ ม.รามคำแหง ม.อุบลฯ ม.ขอนแก่น และของลาดกระบังฯลฯ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความรุ้เกี่ยวกับเรื่อง LEADERSHIP ไว้มากในแต่ละ blog

  

การไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ ศ.ดร.จีระ เปิดโอกาสให้ผมไปร่วมด้วย แต่เป็นครั้งแรกทีได้มีโอกาสเห็นการสัมมนาเกี่ยวกับ 7 Habits ที่อาจารย์จัดให้กับ ม.อุบลฯ

  

ผมได้เขียนสรุปสาระ เกี่ยวกับ 7 Habits ไว้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับทุกท่าน ดังมีสาระดังต่อไปนี้..................................

   

“The 7  habits  of  highly  effective  people” 

  

การเพิ่มประสิทธิผล  (effective)  ในการใช้ชีวิต  เป็นมุมมองที่ได้มีการให้ความสำคัญมากขึ้น  เพราะการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  (efficiency)  เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามรถทำให้เราปรับตัวในการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่สลับซับซ้อนขึ้นได้  ดังคำกล่าวที่ว่า  “We  need  to  balance  between  do  the  right  things    and  do  the  thing  right”

   Steven Covey  นักเขียนชื่อดัง  ซึ่งแต่งหนังสือ  “The  7  habits  of  highly  effective  people”  ซึ่งเป็น  best  seller  ได้ให้แนวความคิดและแนวปฏิบัติไว้ว่า  เราจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาและใช้ชีวิตประจำวัน ได้เป็นอย่างดี  ถ้าเราสามารถที่จะบริหารอุปนิสัยที่สำคัญ  7  อย่างได้อย่างสอดคล้องกัน  Steven Covey ได้แบ่ง 3 อุปนิสัยแรก ได้แก่ Be Proactive, Begin with the End in Mind, Put First Thing First เป็นอุปนิสัย เพื่อที่จะรู้จักและเอาชนะตัวเอง ในการวางแผนชีวิตและดำเนินชีวิตไปตามมุมมองของคุณค่าที่เรากำหนดให้กับชีวิตเรา   และอีก  3 นิสัยถัดไป ได้แก่ Think Win-Win, Seek First to Understand, Then to Be Understood, Synergize เป็นอุปนิสัย ที่เป็นแนวทางเพื่อที่จะทำให้เกิดชัยชนะร่วมกัน ทั้งตัวเราเองและผู้ที่เราใกล้ชิดและใช้ชีวิตประจำวันด้วย   สำหรับอุปนิสัยสุดท้าย ได้แก่ Sharpen the Saw เป็นอุปนิสัยที่จะช่วยให้เราได้ปรับปรุง และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กับชีวิตอยู่ตลอดเวลา ทั้ง 7 อุปนิสัยมีรายละเอียดโดยย่อดังต่อไปนี้  

1.  Be  Proactive คิดก้าวหน้าสร้างสรรค์ เรามีสิทธิที่จะเลือกทำในสิ่งที่เราคิดว่าเหมาะสมกับคุณค่า  และแนวทางการดำเนินชีวิตของเรา  บางท่านอาจจะคิดว่าเราเกิดมาแล้ว  ไม่มีสิทธิที่จะเลือกทางเดินของเราเอง  เนื่องจากอยู่เติบโตมาในครอบครัว  หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่  ซึ่งในการปฏิบัติแล้วเรามีสิทธิที่จะเลือกสิ่งที่เราจะทำตามความคิดของเราเองได้  อยู่ที่มุมมองของเราว่าจะเน้นจุดที่เรามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้  (circle  of  influence) 

  

เราคงได้ยินคำพูดว่า  ก็เขาบอกมาอย่างนั้นหรือมันคงแก้ไขไม่ได้        เสมอ ๆ คำพูดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในมุมมองซึ่ง reactive ต่อปัญหาซึ่งมีผลมากระทบกับเรา คำถามที่เราควรจะถามตนเองก็คือว่า เราจะดำเนินชีวิตตามบทบาทที่เราจะเลือกเดินเพื่อให้สอดคล้องถึงคุณค่าชีวิตที่เรามองเห็นสำคัญ หรือว่าขึ้นอยู่กับอารมณ์ ความรู้สึก หรือสิ่งแวดล้อมที่มากระทบเรา ...........

   

2.  Begin  with  the  end  in  mind  เริ่มต้นทุกอย่างด้วยภาพหรือเป้าหมายที่เราคิดว่าจะให้เกิดความสำเร็จขึ้นก่อน  ก่อนที่จะก้าวลงไปในรายละเอียด  เราควรจะพิจารณาให้ดีว่าควรจะมีเป้าหมายอะไรบ้างในชีวิตที่เป็นหลักฐานสำคัญแก่เรา  มีคุณค่าและ  แนวทางที่เป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต  การดำเนินชีวิต กิจประจำวันของเราก็จะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับมุมมองดังกล่าว.......

   

ถ้าเรามองบทบาทของเราในการทำงาน  เราอาจจะมองถึงว่าเราอยากจะเป็นมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จในสายงานที่เราทำอยู่  เรามีเป้าหมาย  และหลักยึดในแนวทางที่เรามุ่งหน้าไปโดยที่เรามี  deal  resume ของเราในอนาคต  หรือ  personal  mission  ใน  2  หรือ 3  ปีข้างหน้า  ซึ่งเราอยากจะให้เกิดขึ้นแล้วใช้มันเป็นภาพที่เรามุ่งปฏิบัติ  เพื่อให้เกิดความสำเร็จ......

  คนทั่วไป มักจะมีการเอาวิธีปฏิบัติ และภาพของความสำเร็จไปปนกัน  และอาจจะสับสนในบางครั้งของการทำงาน  อาจทำให้เราหลงทางได้เหมือนกับเราขับรถ  ถ้าเราไม่ได้มีจุดหมายปลายทางที่แน่นอนเสียก่อน  เราอาจเสียเวลาอยู่บนถนนได้นาน  

3. Put  first  things  first  ทำในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญก่อน ทำสิ่งที่จะมาสอดคล้อง  และสนับสนุนกับเป้าหมายของเราก่อน  เราไม่ควรจะรอให้สิ่งนั้น  กลายเป็นสิ่งที่เร่งด่วนเพราะเราจะ  react  กับสิ่งนั้นมากกว่าที่จะ  proactive  ที่จะวางแผนล่วงหน้า  เพื่อที่เราจะมีบทบาทที่จะ  มีบทบาทในการบริหารเหตุการณ์เหล่านั้น  แทนที่จะรอให้มันมากระทบเรา

 

ถ้าเรามองการนำเอา  3  อุปนิสัยนี้ไปประยุกต์ใช้  กับการที่เราจะประสบความสำเร็จ  ในการเป็นมืออาชีพในการทำงานเราควรจะใช้การ  proactive  ในการเลือกสายอาชีพแล้ววาดภาพของ ideal  resume หรือ  end  in  mind  ของเราว่า  จะเป็นมืออาชีพด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง  ถ้าเรามีภาพนั้นแจ่มชัดแล้ว  หนทางที่จะไปตรงนั้นก็ไม่ยาก การเพิ่มความรู้ ทักษะการเข้า  class  หรือการทำ  project   เพื่อที่จะสอดคล้องกับภาพความสำเร็จนั้นจะอยู่ในมือของเรา ที่จะทำให้มันเกิดในเวลาที่เราสามารถจะวางแผนชีวิตกับมันได้

  Steven Covey  ได้ให้แนวคิดว่า  ถ้าเราสร้างและบริหาร  3  อุปนิสัยแรกได้ดี เราจะมี  private  victory  แก่ตัวเราเอง มีอิสระ  (independence)  สร้างและบริหารในการเลือกแนวทาง  และใช้เวลาในการปฏิบัติ ชีวิตให้มีค่าและท้าทายมากขึ้น  

4.  Think win-win มุมมอง และแนวความคิดในอันที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น  มีความสำคัญในการดำเนินชีวิต  ถ้าเราเลือกแนวความคิด 

  • win-lose  :  ชนะเสมอ  หรือ 
  • lose-win :  ยอมเขาเสมอหรือแม้แต่ว่า 
  • lose – lose :  เราไม่ได้เธอก็ไม่ได้ด้วย

แนวความคิดดังกล่าว เป็นมุมมองในการอยู่ร่วมกันและการใช้ชีวิตหรือการทำงานที่ไม่เกิดประสิทธิภาพ

   เราควรจะรักษาจุดยืนของเรา  (end-in mind) ในขณะเดียวกันก็ประสานมุมมองกับคนอื่นเพื่อทำให้เกิดแนวความคิดร่วมกันที่สร้างสรรค์กว่าเดิม  (interdependence)  การจะเดินในแนว  win-win  เราจำเป็นที่จะต้องมีความกล้าขึ้นในการรักษาจุดยืน ในขณะเดียวกันกับการยอมรับและพยายามเข้าใจแนวทางของผู้ที่เราจะประสานความคิดด้วย  แล้วหามุมมองที่ทำให้เกิดภาพแห่งชัยชนะ หรือความพึงพอใจร่วมกันร่วมกัน  5. Seek first to understand, then to be understood การที่เราจะประสานชัยชนะร่วมกันโดยพยายามเข้าใจแนวความคิดของคนอื่นด้วย เป็นศาสตร์ที่สำคัญเรามักจะมีความโน้มเอียงในการให้แนวทางและ ความคิดของเรา ลืมสังเกต และพยายามฟังความรู้สึก  และต้องการของผู้ที่เราจะประสานความคิดด้วย  Steven Covey  ให้คำแนะนำว่า  เราควรจะฟังไม่เพียงแต่หูแต่ด้วยการสังเกตจากท่าทางด้วย  (Listen  not  by  your  ears  but  also  by  your  eyes)  การสังเกต  และรับฟังผู้อื่นอย่างถ่องแท้ถ้วนถี่ก่อนที่จะด่วนสรุปในแนวความคิดของเราเป็นอุปนิสัยสำคัญที่จะช่วยเสริมเพื่อสร้างให้เกิดชัยชนะร่วมกัน  (Win-Win)  ได้   

6.  Synergize  การผนึกกำลังและประสานแนวความคิดกัน  เพื่อสร้างพลังที่มากกว่าที่เราแยกกันทำอยู่  ดังข้อเปรียบเทียบที่ว่า  1+1>2  เป็นสิ่งที่สร้างความได้เปรียบในการรวมพลังกัน  การประสานกำลังและแนวความคิดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ  ในการรวมความสามารถที่มีความแตกต่างกันในแต่ละแนวทาง  ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ, ทักษะหรือ  แนวความคิดให้พลังใหม่ในทางประสานกัน  ดุจดังความไพเราะของเครื่องดนตรีในวง  orchestra  แต่ละเครื่องดนตรีมีเสียง  และให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกันและถ้าเอาเครื่องดนตรีเหล่านี้  มาประสานกันเล่นในจังหวะ  แนวบทเพลงที่เหมาะสมสามารถจะบรรเลง  และให้ความไพเราะได้มากขึ้น

  

ถ้าเราสามารถจะบริหารอุปนิสัย  1,2,3  ของเราให้ดี  แล้วประสานกันด้วยมุมมองของอุปนิสัย  4,5,6  จะเกิดมุมมองของการรวมพลัง  ในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง หน่วยงาน  หรือองค์กรที่เราใช้ชีวิตอยู่  เราจะเป็นผู้ช่วยปรับปรุงและสร้างระบบใหม่ที่ทำให้เหมาะสมมากขึ้น

  7. อุปนิสัยสุดท้าย  Sharpen the saw  เป็นสิ่งที่เราต้องหาเวลาและวิธีการที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขในการใช้ชีวิตไม่ว่าทั้งในแง่ของร่างกาย, จิตใจ  ตลอดจนแนวความคิดเพื่อสร้างทั้งแนวทางใหม่ขณะเดียวกัน  ถ้าเราอยากได้ไข่ที่มีคุณภาพเราก็ต้องทำนุบำรุง  แม่ไก่ให้มีชีวิตที่ดีด้วย  ดังนั้น  หากพนักงาน ผู้บริหาร ทั้งองค์การสามารถบริหารอุปนิสัยต่าง ๆ  ทั้ง  7  ของตนให้สอดคล้องกัน  จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน  และการใช้ชีวิตประจำวันตลอดจนการปรับตัวในการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่สลับซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น  

Steven Covey  ยกตัวอย่างไว้หลายเรื่อง  เช่นเรื่องของโจเซฟที่เมื่ออายุ  17  ปี  ถูกขายเป็นทาสในประเทศอียิปต์  ก็ไม่ท้อแท้ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม  แต่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง  ก้าวหน้าสร้างสรรค์  จนภายหลังกลายเป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดเป็นที่สองรองจากฟาโรห์เท่านั้น

   

หรือเรื่องของพยาบาลที่ต้องดูแลคนที่จุกจิกจู้จี้มาก  แต่พยาบาลผู้นั้นสร้างนิสัยก้าวก้าวหน้าสร้างสรรค์ขึ้นมาทำให้อดทนต่อสถานการณ์แวดล้อมได้  และทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

  

ผู้มีนิสัยก้าวหน้าสร้างสรรค์จะดำรงตนอยู่ในแนวทาง  3  ประการ  คือ

  1. ยึดเอาธรรมจริยาเป็นหลัก  ในการคิดการทำเรื่องราวต่าง ๆ เช่น  ความซื่อตรง  ความอดทน
  2. เอาชนะใจตนเอง  ฝืนใจตนเองไม่ปล่อยตนให้เลื่อนลอยไปตามอำนาจของกิเลส
  3. ริเริ่มทำแต่สิ่งที่ก้าวหน้าสร้างสรรค์ไม่งอมืองอเท้า  ทำงานในเชิงรุกมากกว่าเชิงรบ

        ใครอยากจะสร้างนิสัยเช่นนี้  จะต้องมีทฤษฎี 3 ต. อย่างที่ ศ.ดร.จีระ กล่าวไว้ คือ ต่อเนื่อง ๆ ๆ หมายถึง มีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมต้องมีวิริยะอุตสาหะสูงอย่างต่อเนื่อง  ต้องใฝ่เรียนรู้ อย่างต่อเนื่อง และต้องฝึกหัดปฏิบัติบ่อย ๆ  อย่างต่อเนื่อง

  

Steven Coveyได้แนะนำว่า ให้ทดลองฝึกตนเองว่าภายใน 30 วัน จะกระทำสิ่งดังต่อไปนี้ได้มากน้อยเพียงใด  คือ

  1. ให้คำมั่นสัญญาไว้อย่างไรแล้วปฏิบัติและรักษาสัญญานั้น
  2. ทำตนเป็นแสงสว่างนำทางผู้อื่นไม่ใช่พิพากษาความผิดผู้อื่น
  3. ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ใช่เป็นนักวิพากษ์วิจารณ์
  4. เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา  ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการก่อปัญหา
  5. ทำอะไรผิดแล้วยอมรับผิด  แก้ไขสิ่งที่ผิด  เรียนรู้จากความผิด
  6. ไม่โทษโน่นโทษนี่  ไม่กล่าวร้ายกล่าวหา
  7. พิจารณาจุดอ่อนของตน และของบุคคลอื่นด้วยเมตตาธรรม  ไม่ใช่กล่าวโทษ
  8. หยุดคิดว่าปัญหาอยู่ที่นั่นที่นี่  ไม่ใช่อยู่ที่ตน เพราะแท้ที่จริง ปัญหาสามารถแก้ไขที่ตัวเราได้

 Steven Covey ได้แนะนำให้ผู้เข้าอบรม อดทนฝึกปฏิบัติตามนี้ให้สมบูรณ์ครบถ้วน เมื่อทำได้จะมีเสน่ห์และเป็นที่รักใคร่นับถือของคนเพิ่มขึ้นอีกมาก 

  • จงฝึกตนมนัสพร้อม   กายา
  • ให้ท่วงทีวาจา   เรียบร้อ
  • บุคคลฝึกกิริยา   แลจิต
  • เรืองรุ่งจักไม่ด้อย  ต่ำล้ำราศี
 ชีวิตคือการเดินทาง  กาลเวลาพาเราเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง  เพื่อประโยชน์สุข  และความสำเร็จของตนเอง  Steven Covey จึงแนะนำให้กำหนดเป้าหมายชีวิตเราว่าจะเดินทางไป    จุดใด  กล่าวโดยสรุป  นิสัยประการแรก Be Proactive ที่ Steven Covey แนะนำให้ฝึก คือ  การสร้างความเชื่อมั่น  และมีสติระลึกไว้เสมอว่าว่าคนเรานั้นสามารถ  ปั้น  ตนเองให้เป็นคนก้าวหน้าสร้างสรรค์ได้   

นิสัยประการที่สอง Begin with the end in mind คือ  การกำหนดเป้าหมายว่าจะปั้นตัวเองให้เป็นอะไรดี  เขาให้วาดภาพว่าคุณกำลังจะไปงานศพตัวคุณเอง  และมีคนรู้จักคุณ 3-4 คนกำลังจะกล่าวคำไว้อาลัย  ในการนี้ถ้าคุณเลือก  คุณอยากให้เขาพูดถึงคุณในลักษณะอย่างไร

  

คนเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อเสียชีวิตลงแล้ว  มิได้ทิ้งความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันไว้ในโลกเหลือไว้แต่ความโลเลเหลวไหลต่าง ๆ  ที่เป็นเช่นนี้  เพราะไม่ได้ตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้ ปล่อยให้ล่องลอยไปตามยถากรรม 

  

บางคนมีภาระมากแต่ภาระนั้นกลับไม่มีสาระและเต็มไปด้วยความไม่สงบวุ่นวาย  ยิ่งอายุมากก็ยิ่งพยายามมากขึ้น  เพื่อปีนป่ายบันใดแห่งความสำเร็จของชีวิต  จึงเปรียบเสมือนกับหนูถีบจักร  ไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไรมากนัก

  

เราจึงต้องวางจุดหมายปลายทางของชีวิตไว้แต่เนิ่น ๆ และที่สำคัญคือจุดหมายนั้นจะต้องอิงอยู่กับหลักธรรม  เราควรใช้หลักธรรมเป็นเข็มทิศแห่งชีวิต  เพราะย่อมเป็นธรรมชาติที่หลักธรรมจะนำพาความสำเร็จและความดีงามมาสู่ผู้ประพฤติปฏิบัติ  ถ้าบันใดชีวิตของเราพักพิงไว้กับกำแพงแห่งหลักธรรมแล้ว  การปีนป่ายบันใดจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นอย่างแน่นอน

  วิธีกำหนดเป้าหมายจะต้องทำอย่างไร  Steven Covey แนะนำให้เริ่มด้วยการมีเป้าหมายไว้ในใจว่าในแต่ละบทบาทของชีวิต และฐานะต่าง ๆ  ของเรา  เช่น  บทบาทเป็นพ่อ  เป็นแม่  เป็นคนทำงาน  เป็นเพื่อนนั้น  

เราจะสร้างนิสัยอะไรขึ้นมา  เพื่อให้พฤติกรรมของเราในแต่ละบทบาทเป็นพฤติกรรมที่ประสานสอดคล้องกับการดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับหลักธรรม หรือคุณค่าอันประเสริฐ  ที่ประสานสอดคล้องกับการดำรงชีวิต

  

แล้วให้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าการกระทำของเราแต่ละครั้ง  การตัดสินใจแต่ละเรื่องล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมและค่านิยมที่กำหนดไว้ท

ยม "ต่อเนื่องจาก Blog ข้างต้น" "การเพิ่มประสิทธิภาพขั้นสูงในการทำงานและการสร้างภาวะผู้นำ กรณีศึกษา Covey's 7 Habits Workshop The 7 Habits of Highly Effective People" ระหว่างวันที่ 25 - 28 พฤศจิกายน 2549"

เนื่องจากข้อจำกัดของระบบ จึงไม่สามารถวางข้อความได้ทั้งหมด จึงได้วางข้อความต่อมาไว้ใน Blog นี้ครับ...............................

แล้วให้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าการกระทำของเราแต่ละครั้ง  การตัดสินใจแต่ละเรื่องล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมและค่านิยมที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น 

เราควรกำหนด ปณิภาณและเป้าหมายเหล่านั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  ดังนั้น  เพื่อนคนหนึ่งของเขาเขียนไว้ดังนี้

  • เรื่องภายในบ้านหรือครอบครัวต้องจัดการให้สำเร็จเรียบร้อยเป็นอันดับแรก
  • แสวงหาเชื่อมั่นในความช่วยเหลือของสิ่งศักดิ์สิทธิ
  • จะอย่างไรก็จะไม่ยอมเบี่ยงเบนไปจากความซื่อสัตย์สุจริต
  • จดจำผู้คนที่เกี่ยวข้องไว้เสมอ
  • ฟังความทั้งสองข้างก่อนลงความเห็น
  • ปรึกษาหารือผู้อื่น
  • ต้องต่อสู่ป้องกันให้แก่ผู้ซึ่งมิได้อยู่ที่นั้น
  • ซื่อตรงจริงใจไม่โลเล  ลังเล
  • ทุก ๆ ปีจะต้องพัฒนาความรู้ความสามารถในเรื่องใหม่ ๆ ให้สำเร็จให้ได้หนึ่งเรื่องเป็นอย่างน้อย
  • วางแผนสำหรับพรุ่งนี้  ทำงานตามแผนวันนี้
  • ระหว่างที่รอเรื่องอะไรอยู่ก็ตาม  อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
  •  คิดอะไรในทางบวกไว้เสมอ  
  •  ต้องมีอารมณ์ขัน
  •  ฝึกให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการดำรงตนและในการทำงาน
 ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในชีวิต  จะมีนิสัยทำในสิ่งซึ่งผู้ที่ล้มเหลวไม่ชอบทำ  คำพูดนี้  Steven Coveyนำขึ้นมาอ้างในการแนะนำให้ฝึกนิสัยประการที่สาม    คนเป็นจำนวนมาก รู้อยู่ว่าอะไรเป็นสิ่งดีกับตัว และควรประพฤติอย่างไร  เช่น  อยากมีสุขภาพดีต้องออกกำลังกาย การพูดต้องรักษาคำพูด  การทำดีต้องไม่ท้อถอยในการทำความดีต้องมีนิสัยก้าวหน้าสร้างสรรค์  ต้องมีจริยธรรม  แต่ทั้ง ๆ ที่รู้ก็ทำไม่ได้  เพราะไม่ชอบทำกลับไปชอบทำเรื่องที่ก่อปัญหา  ก่อความทุกข์หรือความล้มเหลวแทน  คือใจไม่แข็งพอที่จะทำความดีนั่นเอง   เทคนิคการปลูกนิสัย   

การปลูกนิสัยเหมือนกับการปลูกต้นไม้ใหญ่ต้องออกแรงรดน้ำพรวนดิน  1. ต้องใช้เวลาให้รากงอก  มีรากแล้วจึงจะผลิดอกออกผลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกหัดไว้และเชื่อว่าฝึกได้จริง ๆ  ถ้าเรามีใจเข้มแข็งพอ  2. ต้องตั้งเป้าหมายให้ละเอียดชัดเจนว่าจะฝึกนิสัยอะไร  3.(คือนิสัยที่สาม) ต้องตั้งใจและแข็งใจฝึกนิสัยตามที่ตั้งเป้าไว้

นิสัยประการที่สาม  เป็นนิสัยบริหารตนเอง  ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่การใช้เทคนิคการบริหารเวลาของตน  เรื่องนี้มีขั้นตอนเริ่มจาก

  •  การกำหนดภารกิจที่จำเป็นในแต่ละวัน  และช่วงเวลาที่จะใช้เวลาปฏิบัติภารกิจแต่ละอย่าง  เพื่อพัฒนาตนเองและนำไปสู่เป้าหมายปลายทางของชีวิต
  • ใช้หลัก  อะไรที่สำคัญกว่าต้องทำก่อน  กล่าวคือ ต้องเจียดเวลาทำเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าเรื่องที่มีความสำคัญน้อยลงไปตามลำดับ
  • กำหนดภารกิจโดยแบ่งตามบทบาทหน้าที่พึงปฏิบัติ  เช่น  บทบาทการศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตน  บทบาทของสมาชิกในครอบครัว  บทบาทเพื่อน  บทบาทพนักงานองค์กร  เป็นต้น
  • การกำหนดบทบาทหน้าที่เช่นนี้  ต้องสอดคล้องกับคุณค่า  หลักธรรม  และเป้าหมายที่พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จ  ในบทบาทนั้น ๆ
  •  ต้องกำหนดภารกิจล่วงหน้าทุกวันของแต่ละอาทิตย์ และต้องติดตามประเมินทุกอาทิตย์  เพื่อนำผลประเมินมาปรับปรุงการกำหนดภารกิจของอาทิตย์หน้าให้เหมาะสมต่อไป
 

เมื่อกำหนดภารกิจของแต่ละวันไว้เช่นนี้แล้ว  ก็ต้องมีวินัยและความซื่อสัตย์ต่อตนเองที่จะฝืนใจพัฒนาและปฏิบัติภาระหน้าที่และคุณธรรมตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดไม่สยบยอมต่อความเย้ายวน  ไม่ใช้เวลาไปในเรื่องอื่นเป็นอันขาด  เช่น  กำหนดไว้ว่า  ช่วงเวลา  05.00-06.00 .  จะใช้เวลาทบทวน หรือฝึกนิสัย  7 ประการ  ตามคำแนะนำของ Steven Covey โดยการอ่านหนังสือและทำแบบฝึกหัด  ก็ต้องทำเช่นนั้นทุกวัน  ถ้ามีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถฝึกได้ในช่วงเช้าก็ต้องหาเวลาชั่วโมงอื่นมาฝึกทดแทนให้ได้

  

Steven Covey แนะนำว่า  ถ้าจะให้มีเวลาบริหารและการพัฒนาตนในบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น  งานอะไรที่ควรมอบหมายให้คนอื่นทำแทนตน  ได้ต้องตัดใจมอบออกไป  เพื่อเอาเวลามาใช้ในเรื่องที่สำคัญกว่าคือ การพัฒนาตน  พร้อมนี้ได้แนะนำไว้เสร็จสรรพว่า  เทคนิคการมอบหมายงานอย่างมีประสิทธิภาพให้ผู้อื่นทำแทนนั้น  มีวิธีการที่จะต้องคำนึงถึงอย่างไรบ้าง

  นิสัยประการที่ 4  ที่Steven Covey แนะนำให้ฝึก คือ  ให้รู้จัก  คิดแบบชนะ/ชนะ  คำอธิบายคงจะเริ่มต้นด้วยคำถามว่า  ชีวิตคืออะไร ?  ตอบว่า  ชีวิตคือความสัมพันธ์กับคนอื่น  เพราะคนเราย่อมจะมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายไม่ได้  ต้องพบปะพูดจาแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นอยู่เสมอ  ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว  เพื่อนฝูง  เพื่อนร่วมงาน  ลูกค้า  หรือใครก็ตาม 

ถ้าความสัมพันธ์นั้น  ราบรื่นเหมาะสม  ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จ  ถ้าความสัมพันธ์ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เต็มไปด้วยปัญหาขัดแย้ง  ชีวิตก็จะประสบแต่ความทุกข์ความล้มเหลว

  

ความสัมพันธ์จะราบรื่นหรือขัดแย้ง  ส่วนใหญ่มิได้ขึ้นอยู่กับผู้อื่นหรือสถานการณ์แวดล้อม  แต่ขึ้นอยู่กับนิสัยของเราเอง  ถ้าเรารู้จักเพาะบ่ม  หรือ  ปั้น  นิสัยของเราให้เป็นที่ยอมรับนับถือ  เป็นที่ไว้วางใจของผู้อื่น  รวมถึงรู้จักรักษาน้ำใจและสะสมเพิ่มเติมสิ่งที่ Steven Covey เรียกว่า บัญชีธนาคารแห่งน้ำใจ  กับผู้อื่นไว้อย่างถูกต้องแล้ว  ความสัมพันธ์นั้นย่อมส่งผลดีให้อย่างมิต้องสงสัย

  

Steven Coveyเสนอในอุปนิสัยประการที่ 4  ว่าให้สร้างนิสัยเป็นมิตรไมตรีเชิงรุกกับผู้อื่นแต่ละคน  ด้วยการสะสมเพิ่มเติมบัญชีธนาคารแห่งน้ำใจ  ไว้ให้มาก  โดยให้มีนิสัยไม่เห็นแก่ตัวจัด  ไม่ฉกฉวยประโยชน์เป็นของตน  แต่ฝ่ายเดียว 

  

เป็นการคิดอ่านไปในทางที่จะเกิดผลได้ร่วมกัน WIN WIN ทั้งสองฝ่าย ในความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย  คนที่คิดแบบนี้ได้ต้องเป็นคนที่มีจิตใจสูง มีเมตตา กรุณา  มีสติปัญญา มีอายุสมองเป็นผู้ใหญ่และมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าประโยชน์ต่าง ๆ  ย่อมมีมากพอที่จะแบ่งสรรปันส่วนให้แก่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้

  

คนเป็นจำนวนมากมีทัศนคติว่าต้องชนะ ต้องทำตามที่ฉันต้องการ อยากให้ผู้อื่นแพ้ตนไปเสียทุกเรื่อง  แม้เพียงแต่คนอื่นประสบความสำเร็จก็ยังขัดข้องใจ  เขาเห็นว่าผู้ชนะควรได้ทุกอย่าง  ผู้แพ้ควรเสียสละทุกสิ่ง  ทัศนคติอย่างนี้เองที่ก่อให้เกิด  ปัญหาขัดแย้ง  ความเกลียด  ความกลัว  ความริษยาอาฆาต  ความเก็บกด  ความขัดแย้งหมองใจ  การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย  รวมทั้งความวุ่นวายอื่นที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุขขึ้นในครอบครัว  ในองค์กร  และในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

  

คนที่มีนิสัยเช่นนี้  ลึก ๆ ลงไปจะเป็นผู้ที่จิตใจคับแคบ  เครียด  และหวาดกลัวมันสมองจะทำงานปกติและเสื่อมสั้นลง  เพราะคิดแต่เรื่องหาประโยชน์ใส่ตนตลอดเวลาเป็นผลให้ร่างกายอ่อนแอมีโรคมาก  อายุสั้น

  เราจึงควรบ่มเพาะจิตใจให้มีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  เห็นใจผู้อื่น  กล้าที่จะเสียสละให้ผู้อื่นมีโอกาสชนะบ้างตามสมควร  อดทนและตั้งใจรับฟังเหตุผลและความจำเป็นของฝ่ายอื่นรวมทั้งนิสัยเกี่ยวกับความซื่อตรงจริงใจด้วย  นิสัยเหล่านี้เอื้ออย่างยิ่งต่อการคิดแบบชนะ/ชนะและต่อความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น   

Steven Coveyกล่าวว่า การคิดแบบชนะ/ชนะ  ในการติดต่อเจรจาหรือทำความตกลงกับผู้อื่นเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ นั้น  มีขั้นตอนอยู่  4  ขั้นดังนี้

  1. ให้พิจารณาประเด็นสำคัญของการเจรจาจากมุมของฝ่ายตรงกันข้าม  โดยคำนึงถึงความต้องการและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของเขา
  2.  เจรจารับฟังกันให้ละเอียดชัดเจนถึงผลประโยชน์ที่สำคัญทั้งสองฝ่ายหวังว่าจะได้รับ
  3. หาข้อยุติว่าอะไรคือผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายพอจะรับได้
  4. กำหนดหนทางที่จะบรรลุผลตามข้อยุติดังกล่าวนั้น
  

การติดต่อตกลงกันนั้น  ถ้าหาหนทางที่จะให้ทั้งสองฝ่ายชนะด้วยกันไม่ได้  ก็ให้พัก เลิกตกลงกันจะชั่วคราวหรือถาวร ขึ้นอยู่กับเรื่องที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน  เพราะถ้าฝืนใจทำต่อไปอาจมีผู้แพ้  ผู้ชนะหรือแพ้ทุกคน  ซึ่งจะก่อให้เกิดความตึงเครียดบาดหมางเกิดความเสียหายตามมาภายหลังได้

  

ในการยุติข้อขัดแย้งหรือแสวงหาข้อตกลงต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นระหว่างตนเองกับผู้ร่วมงาน  คู่ครอง  ลูก  ลูกค้า  หรือคนอื่น  เราควร แสวงหาความเข้าใจฝ่ายเขาก่อนแล้วทำให้เขาเข้าใจเรา  นั่นคือ การใช้อุปนิสัยที่  5 นั่นเอง 

  

การแสดงหาความเข้าใจกับคู่สนทนา เริ่มด้วยการตั้งใจฟัง เหตุใดจึงฟังเขา ?  ก็เพื่อจะได้รับข้อมูลครบถ้วน  เพื่อรู้ถึงปมขัดแย้งหรือความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่าย  การฟังดี ๆ  จะเป็นผลให้เข้าถึงแก่นของปัญหาได้ง่ายขึ้น  รวดเร็วขึ้น  สมบูรณ์ขึ้น

  

ทำไมจึงต้องฟังคนอื่นก่อน? ก็เพื่อให้เกียรติเขา  ให้ความสำคัญแก่เขาทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีค่า  ซึ่งการให้ความสำคัญแก่คนอื่นอย่างจริงใจนั้น  มีหรือที่เขาจะไม่ชมชอบเรา  และการชมชอบ  การเอื้ออาทร การแสดงความมีน้ำใจ การผูกมิตร สร้างไมตรี นั้นก็เป็นวิธีสำคัญอีกวิธีหนึ่ง  ของการสะสมเครดิตของเราใน  บัญชีธนาคารแห่งน้ำใจ 

  การฟังอย่างตั้งใจและถูกวิธี  จะทำให้เราสามารถสัมผัสถึงจิตใจลึก ๆ ของผู้พูดได้ซึ่ง Steven Coveyเชื่อว่า  การสัมผัสให้ถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ได้  คือการเดินอยู่บนพื้นดินอันศักดิ์สิทธิ์  อันเป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์อันอุดม  มีประโยชน์และยั่งยืน  

การ  แสวงความเข้าใจฝ่ายเขาก่อน  ก็เหมือนกับ  การขายสินค้าคนขายสมัครเล่นคือคนที่สักแต่ว่าเอาของไปขาย  แต่คนขายมืออาชีพจะเข้าถึงส่วนลึกของใจของลูกค้า  จะรู้รายละเอียดว่าลูกค้าชอบสินค้าชนิดใด  ถ้าต้องการบริการอย่างไร  เขาจะรู้แจ้งถึง สูตรซึ่งแก้ปัญหาและสนองความต้องการของลูกค้า  นอกจากนี้เขายังกล้าที่จะพูดกับลูกค้าว่า  สินค้าและบริการชนิดนี้ของเรา  ไม่ตรงกับความต้องการของท่าน และแนะนำสินค้าที่ดีกว่าให้

  แม้กระนั้นคนส่วนใหญ่มักจะไม่ฟังคนอื่นพูด  หรือฟังบ้างไม่ฟังบ้าง  พอเขาเปิดปากพูดก็คิดไปแต่เรื่องที่ตัวจะพูด  จะฉกฉวยประโยชน์  จะได้ตอบเขาเสียแล้ว  จึงไม่เข้าใจเพียงพอว่าผู้พูดมีเจตนาอย่างไร  ต้องการอะไร  มีจุดยืนอยู่ตรงไหน  การฟังครึ่ง ๆ  กลาง ๆ  อย่างนี้เปรียบเหมือนคนขายสมัครเล่น  

จากการได้ชม CD ภาพยนตร์ Steven Coveyสอนว่า  เราควรฟังแบบ  เข้าไปนั่งในหัวใจ  ของคนพูด  คือ  ฟังโดยเจตนาจะค้นหาความหมาย  ข้อมูล  ความต้องการ  ความรู้สึกหรืออารมณ์ของผู้พูด  พยายามล้วงเอาความจริง  พยายามทำความเข้าใจว่า เขาสมองโลกอย่างไร  เขากลัว  เขาอยาก  เขาอยู่ในอารมณ์อะไรขณะที่ฟังอยู่ต้องอดทน  ไม่รีบตัดสิน  ไม่ด่วนประณาม  ไม่เอาแต่ค้าน  ไม่คล้อยตามมากเกินไป  ไม่คิดฟุ้งซ่าน ไปเรื่องอื่น  ฟังเพื่อให้ได้ข้อมูลโดยละเอียด ฟังให้เข้าใจอย่างถ่องแท้

  ควรฟังโดยใช้เทคนิค  เปลี่ยนคำพูดเสียใหม่  สะท้อน  ความรู้สึกของผู้พูด  เช่นลูกพูดว่า  พ่อ  ผมไม่ไหวแล้ว  ไม่รู้จะเรียนไปทำไม  (เจตนาของลูกคืออยากพูดกับพ่อ  อยากให้พ่อรู้เรื่องนี้) พ่อที่ฉลาดก็ควรตอบว่า  ลูกเบื่อโรงเรียนหรือ?” (ความรู้สึกของลูกหลังจากฟังลูกพูดอย่างนี้แล้วคือใช่แล้ว ! ผมรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ  ) การฟังเช่นนี้  เปรียบเสมือนค่อย ๆ  ลอกหอมหัวใหญ่ออกทีละชั้น  จนถึงไส้ใน  ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่า  เราตั้งใจดีต่อเขา  พยายามที่จะเข้าใจและเห็นใจเขา  เป็นผลให้ผู้พูดไว้ใจผู้ฟัง  เปิดใจให้แก่ผู้ฟัง ความเชื่อถือไว้วางใจนั้น  ก็คือ  แก่นแท้ของความสำเร็จในความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันก็จะเป็นบันใดขั้นแรกของการนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบชนะ/ชนะ  แสวงหาความเข้าใจฝ่ายเขาก่อน  ข้างต้น  เป็นครี่งแรกของนิสัยที่  5  ครึ่งหลังคือ  แล้วทำให้เขาเข้าใจ อันได้แก่  การสื่อถึงจุดยืน  ความคิดเห็น  ข้อเสนอของฝ่ายเราให้เขาเข้าใจ  ซึ่งก็เป็นเรื่องง่ายกว่าครึ่งแรก  เพราะเราครองใจเขาเสียแล้ว  อยู่ที่จังหวะ  ความแนบเนียน  คำพูด  ความจริงใจในการพูดของเรา  และบางสถานการณ์เราต้องกล้าที่จะพูดความจริง  กล้าที่จะยอมเสียสละประโยชน์ระยะสั้นเพื่อประโยชน์ที่ดีกว่า  ยั่งยืนกว่าในระยะยาว  เช่น  กล้าที่จะสื่อว่า  ถ้าตกลงกับแบบชนะ/ชนะ  ไม่ได้  ก็ขอยกเลิกทำความตกลงในเรื่องนี้ไว้เจรจากันใหม่  ผมเคยศึกษาประวัติของ Steven Covey จึงทราบว่า Steven Covey นั้นเคยสอนวิชา  ปรัชญาเกี่ยวกับผู้นำในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  พอเริ่มสอนไม่นาน  นักศึกษาก็รู้สึกตื่นเต้นอยากรู้มาก  มีการเปิดใจอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวางทำให้เกิดญาณทัศนะใหม่ ๆ  หลายประการ  ในที่สุด  นักศึกษาทั้งชั้นตกลงกันว่า  เวลาเรียนที่เหลือสำหรับวิชานี้  จะไม่ใช้หลักสูตรและวิธีการเดิม  ไม่เรียนตามตำราที่เพิ่งซื้อมาไม่ทำการบ้านตามวิธีเก่า  โดยนักศึกษาได้ร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์หลักสูตรและวิธีการศึกษาวิชานี้ขึ้นใหม่  และทุ่มเทให้แก่การเล่าเรียนและการทำงานในชั้นอย่างเต็มที่ทุกคนและท้ายที่สุดก็ได้ร่วมกันเขียนตำราขึ้นใหม่อีกเล่มหนึ่ง  เป็นผลงานอันเกิดจาก  พลังร่วม  ของนักศึกษาทั้งชั้น  พลังร่วม  เป็น  นิสัยที่ควรฝึกประการที่  6  ที่Steven Coveyแนะนำ  ใครอยากเป็นผู้นำที่โดดเด่น  ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวคนนั้นจะต้องมีนิสัยเป็นนักสร้างพลังร่วม นักสร้างพลังร่วมคือ  ผู้ซึ่งเมื่อติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นแล้ว  สามารถดึงเอาพลังสร้างสรรค์หรือความต้องการหรือจุดแข็งของอีกฝ่ายหนึ่งมาผสมผสานกับจุดแข็งของเราจนทำให้เกิดจุดร่วมหรือหนทางใหม่ที่เพิ่มพูนประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี   นักสร้างพลังร่วมเชื่ออย่างสนิทใจในหลักที่ว่า  ผลลัพธ์ของส่วนร่วมย่อมมีมากกว่าผลของส่วนย่อยแต่ละส่วนบวกกัน  กล่าวคือ 1+1  ไม่เท่ากับ  2  แต่เท่ากับ  3  หรือมากกว่านั้น  เช่น  ถ้าคุณเอาไม้สองท่อนมาบวกกัน  หรือ  เหมือนกับเอาโน๊ตเพลงมาประสมประสานจนเกิดเป็นบทเพลงไพเราะ  เป็นต้น   

แล้วทำอย่างไรจึงเป็นนักสร้างพลังร่วมได้ ?  Steven Covey สอนว่าก่อนอื่นต้องตั้งใจฝึกนิสัยให้ก้าวหน้าสร้างสรรค์ดังกล่าวในนิสัยที่  1  โดยเฉพาะต้อง  สร้างความมั่นใจแก่ตัวเอง  ว่านิสัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ฝึกได้  ขั้นต่อไปเป็นการตั้งเป้าหมาย(ตามวิธีฝึกนิสัยที่ 2)   ว่าจะฝึกเรื่องอะไรอย่างไรบ้าง  ซึ่งอย่างน้อยที่สุด  ต้องฝึกให้ตนเองมีสัจจะ  พูดอย่างไรทำอย่างนั้น  ซื่อตรงต่อตนเองและต่อผู้อื่น  เพื่อปูทางให้คนอื่นเชื่อถือไว้วางใจเรา  ต้องฝึกให้มีนิสัยคิดแบบชนะ/ชนะ  ฝึกวิธีการฟังและวิธีสร้างความเข้าใจ  (นิสัยที่ 4 และที่ 5  ซึ่งเป็นพื้นฐานอันจำเป็นต้องให้ความสำคัญสูงสุดในเป้าหมายนี้  โดยจัดเวลาไว้เพื่อฝึกนิสัยนักสร้างพลังร่วมพร้อมทั้งตั้งใจอย่างแน่วแน่เด็ดเดี่ยวที่จะฝึกเรื่องนี้อย่างจริงใจต่อเนื่อง  (วิธีการตามนิสัยที่3)

  Steven Coveyกล่าวว่านิสัยที่ 6  มีประโยชน์สูงสุดในการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นเพราะพลังร่วมของ 1+1  อาจให้ผลเป็น  8  หรือ  16  หรือแม้แต่  1,600  ก็ได้ ถ้าคุณเข้าไปในป่า  พบชายคนหนึ่งกำลังเลื่อยต้นไม้อยู่อย่างสุดแรงเหงื่อโทรมตัว  คุณถามคนเลื่อยไม้ว่าเหนื่อยไหม  เลื่อยมานานแล้วหรือ  คนเลื่อยไม้ตอบ ว่า “4-5  ชั่วโมงแล้ว เหนื่อยเหนื่อย  ต้นไม้มันใหญ่มาก พักเสียหน่อยซีครับ คุณชี้นำ พักลับเลื่อยให้คมพักยังไม่ได้ ผมยังตัดไม่เสร็จคุณว่าคนตัดต้นไม้ฉลาดหรือไม่  ที่ไม่หยุดเพื่อลับเลื่อย  แล้วจะตัดไม้ได้เร็วขึ้น  เบาแรงขึ้น    Steven Coveyแนะนำว่า    คนเราต้องหมั่น ลับเลื่อยให้คม  คือนอกจากจะฝึกนิสัยประการที่ 1  ถึงที่ 6  ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ยังต้องฝึกให้มี  นิสัยประการที่ 7  ได้แก่การเป็นนักพัฒนาตนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องด้วย  เพราะถ้าไม่หมั่นฝึกทบทวนและเพิ่มเติมหรือไม่ปฏิบัติตนตามที่ฝึกไว้  ก็จะเกิดแรงเฉื่อยซึ่งจะดูดให้กลับไปสู่นิสัยไม่ดีได้ Steven Coveyเสนอให้ ลับเลื่อย  ใน  4  ด้าน คือ  1.   บำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ  2.   เพิ่มเติมความรู้ความฉลาดอย่างไม่หยุดยั้ง  3.   พัฒนาจิตให้มีคุณธรรมและสมรรถภาพและ 4.   สร้างทักษะเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์  เพื่อความสำเร็จในการติดต่อกับผู้อื่น การออกกำลังกายนั้น  ต้องทำติดต่อกันทุกวัน  วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที  ต้องออกกำลังกายให้ถูกหลักวิชาและพอเหมาะกับสภาพร่างกายของแต่ละคนแต่ละวัย  การกิน  การดื่ม  การนอนต้
ยม "ต่อเนื่องจาก Blog ข้างต้น" "การเพิ่มประสิทธิภาพขั้นสูงในการทำงานและการสร้างภาวะผู้นำ กรณีศึกษา Covey's 7 Habits Workshop The 7 Habits of Highly Effective People" ระหว่างวันที่ 25 - 28 พฤศจิกายน 2549"
 เนื่องจากข้อจำกัดของระบบ จึงไม่สามารถวางข้อความได้ทั้งหมด จึงได้วางข้อความ ตอนที่ 3 มาไว้ใน Blog นี้ครับ...............................  

Steven Coveyเสนอให้ ลับเลื่อย  ใน  4  ด้าน คือ 

  1. บำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ  
  2.  เพิ่มเติมความรู้ความฉลาดอย่างไม่หยุดยั้ง 
  3. พัฒนาจิตให้มีคุณธรรมและสมรรถภาพและ 
  4.  สร้างทักษะเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์  เพื่อความสำเร็จในการติดต่อกับผู้อื่น
 การออกกำลังกายนั้น  ต้องทำติดต่อกันทุกวัน  วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที  ต้องออกกำลังกายให้ถูกหลักวิชาและพอเหมาะกับสภาพร่างกายของแต่ละคนแต่ละวัย  การกิน  การดื่ม  การนอนต้องปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะ 

 

ต้องหมั่นเพิ่มเติมความรู้ด้วยการอ่าน  ฟัง  เขียน  ถาม  สังเกต  ฝึกปฏิบัติ  และศึกษาต่อเนื่อง  ต้องปลูกความฉลาดด้วยวิธีต่าง ๆ   ต้องศึกษาหลักศาสนาสวดมนต์ภาวนาทำกรรมฐาน  ฟังเทศน์  ฟังธรรม  ฝึกสติและสมาธิเพื่อพัฒนาสมรรถภาพจิต  และต้องฝึกกิริยามารยาท  รวมทั้งทักษะในการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

  

การมีกำลังกายแข็งแรงเป็นเหตุให้สามารถทำงานได้ทนทานและนาน  กายแข็งแรงย่อมเอื้อต่อการเพิ่มพูนความรู้ความฉลาด  อันจะเป็นปัจจัยให้ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพการมีสมรรถภาพจิตสูงจะเพิ่มความรวดเร็วและความสามารถในการทำงานได้มากยิ่งขึ้นอีกนอกจากนี้จะเป็นเสมือน  หางเสือ  คัดท้ายให้ทำงานได้อย่างถูกทำนองคลองธรรม  และท้ายที่สุด 

  

มนุษยสัมพันธ์ดีจะช่วยให้ผู้คนชมชอบไว้วางใจเรามากขึ้น  งานจะสำเร็จได้ผลยิ่งใหญ่ขึ้นร่างกายและ/จิตใจที่อ่อนแอ  ย่อมเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการทำงาน  และเป็นผลให้มันสมองเสื่อม  มนุยสัมพันธ์ไม่ดีย่อมยากที่จะพบกับความสำเร็จราบรื่น  ผู้ใดก็ตามที่ขยันขันแข็งมันสมองดี  มีคุณธรรม  ผู้คนชมชอบ  ครบถ้วนทั้ง  4  ประการแล้ว  ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้นั้นจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต

  

เราจึงต้องบริหารเวลาของเรา  โดยให้ความสำคัญเป็นอันดับที่ 1  แก่การพัฒนาตนเองทั้ง 4 มิติ และ 7 นิสัยดังกล่าวข้างต้น

  ชีวิตนั้นมากไปด้วยปัญหา  ทั้งปัญหาของตนเอง  และที่ตนเองไปก่อให้กับคนอื่น  ยิ่งแก่ตัวปัญหายิ่งมาก  จึงจำเป็นต้องเอาจริงเอาจังกับชีวิตด้วยการ ลับเลื่อยให้คม ไว้เสมอเพื่อใช้ตัดใช้ทอนปัญหาต่าง ๆ  ท้ายนี้ สรุปเรื่อง 7 Habits ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดของโลกปัจจุบันเป็นเหตุให้เกิดความแตกต่าง  วุ่นวาย  สับสน  อย่างมากในหมู่มนุษย์  นักคิดชาวตะวันตก  โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา  มีความวิตกร้อนใจในปัญหานี้  จึงได้พยายามแสวงหาแนวทางต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้   แนวทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นคือข้อเสนอของ Steven Covey  ในหนังสือซึ่งพิมพ์ออกจำหน่ายในปี  .. 2532  ชื่อ  นิสัย  7  ประการของผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง  หนังสือเล่มนี้เชื่อกันว่า  ถ้าปฏิบัติตามวิธีการที่เสนอไว้แล้ว  อาจแก้ปัญหาข้างต้นได้จึงเป็นเหตุให้Steven Coveyและคณะของเขามีชื่อเสียงโด่งดัง  ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาขององค์กรและบริษัทชั้นนำนับพันบริษัท  มีศูนย์ฝึกนิสัย  7  ประการ  กว่า  300  แห่งทั่วโลก

        นิสัย 7 ประการที่Steven Coveyเสนอได้แก่

  1. นิสัยก้าวหน้าสร้างสรรค์  โดยเสนอให้สร้างความเชื่อว่า  มนุษย์นั้นเลือกกำหนดชะตาชีวิตของตนเองให้มีความสำเร็จมีศักดิ์ศรีได้  ด้วยการฝึกนิสัยให้คิด  พูด  และทำเรื่องราวต่าง ๆ อย่างถูกหลักคุณธรรม  ฝึกไม่ให้คิดโทษคนอื่น  ให้เปลี่ยนนิสัยตนเองให้เป็นคนดีเสียก่อนเพื่อที่จะได้มีอิทธิพลเหนือคนอื่นโดยเฉพาะฝึกให้รักษาคำพูด  รักษาเกียรติเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อถือไว้วางใจ
  2. นิสัยเป็นผู้กำหนดเป้าหมายแห่งชีวิตของตน  โดยกำหนดว่า  ในแต่ละบทบาท เช่น  เป็นพนักงาน  ผู้ปกครอง  บุตร  เพื่อน  นั้น  จะต้องมีพฤติกรรมอย่างไรจึงจะถูกทำนองคลองธรรมและเหมาะสมกับกาลเทศะ  โดยกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  รวมทั้งเป็นพันธกรณีที่จะต้องถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นนิสัย
  3. นิสัยนักบริหารเวลา  โดยจัดทำรายงานที่จะต้องทำแต่ละวัน  พร้อมทั้งระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการทำงานแต่ละรายการไว้  ทั้งนี้ให้จัดลำดับ  ความสำคัญของงานและให้ถือว่างานพัฒนานิสัย  7  ประการ  เป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุด  ซึ่งต้องกันเวลาแต่ละวันไว้สำหรับใช้พัฒนาตนในเรื่องนี้           Steven Coveyกล่าวว่า  การพัฒนานิสัยประการที่ 1,2,3  เป็นการฝึกเพื่อให้มีชัยชนะต่อตนเองและเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะเอื้อให้พัฒนานิสัยอีก  4  ประการ  อันจะทำให้มีชัยชนะหรือมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น
  4. นิสัยนักคิดแบบชนะ/ชนะ  โดยฝึกตนให้มีจิตใจเมตตา  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีใจกว้างและให้เชื่อว่า  ในความสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น  จะต้องแสวงหาช่องทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์  คือเป็นผู้ชนะทุกฝ่าย
  5. นิสัยเป็นผู้แสวงหาความเข้าใจของผู้อื่นก่อน  โดยพยายามทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในคำพูด  ท่าทาง  ความคิด  ข้อมูล  ความรู้สึก  ความต้องการสิทธิประโยชน์ความวิตกกังวลและอารมณ์ของฝ่ายที่ติดต่อสัมพันธ์ด้วย  แล้วจึงหาวิธีทำให้ฝ่ายเขาเข้าใจเราฃ
  6. นิสัยนักสร้างพลังร่วม  โดยสามารถดึงเอาพลังสร้างสรรค์หรือจุดแข็งของฝ่ายที่เราติดต่อด้วยมาผสมผสานกับจุดแข็งของเรา  จนทำให้เกิดพลังร่วมที่เพิ่มพูลผลประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี
  7. นิสัยนัก ลับเลื่อย  คือหมั่นฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่องใน  4  ด้าน  ได้แก่  ด้านความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย   ด้านความรู้ความเฉลียวฉลาด  ด้านสมรรถภาพจิตและด้านทักษะเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์

        ผู้ใดสามารถฝึกนิสัยตามที่Steven Coveyแนะนำได้ ย่อมจะเกิดคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อตนเองแก่ครอบครัว  แก่ผู้ที่ติดต่อเกี่ยวข้องด้วย  และองค์กร

  ผมขอเชิญชวน ท่านผู้บริหารระดับสูง คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้สนใจทุกท่าน ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น เป็นวิทยาทาน การให้ความรู้ ให้ธรรมทาน เป็นการให้ที่สูงค่ายิ่ง ร่วมกันสร้างสรรค์สังคมการเรียนรู้ ช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมไทย ด้วยการเขียนแชร์ความรู้ประสบการณ์ใน blog นี้    

สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.จีระ อกีครั้งหนึ่ง ที่ได้ให้โอกาสที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้แก่ผม ขอบคุณทีมงาน ศ.ดร.จีระ และเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มีโอกาสรู้จักวิทยากร คณะผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ขอความสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน

 

   

สวัสดีครับ

  

ยม

  

081-9370144

  [email protected]
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท