การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ในคนตาบอด


(ร่าง) โครงการขยายบริการการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว สู่คนตาบอดในจังหวัดพัทลุง

     เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2548 ตามที่ผมได้ไปพบกับลุงช่วง  เรืองจันทร์ นายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดพัทลุง เพื่อพูดคุยหารือกันถึงเรื่องการสนับสนุนคนพิการฯ ท่านก็ได้ให้ (ร่าง) โครงการขยายบริการการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว สู่คนตาบอดในจังหวัดพัทลุง มาเพื่อช่วยดูและช่วยปรับให้เหมาะสม ผมก็รับมาดูและเห็นว่าโครงการนี้จะเริ่มประมาณเดือนมีนาคม 2549 จึงเพิ่งนำมาดูคืนนี้ พร้อมทั้งเปิดแผ่น VCD O&M ที่ไดรับมาด้วย ซึ่งเรื่องสาระที่ได้จาก VCD ผมจะเขียนเล่าไว้อีกครั้งหนึ่ง แล้วค่อยโยงเข้าหากันนะครับ ลองมาดูโครงการต้นฉบับที่ท่านยกร่างก่อน เป็นดังนี้ครับ

1. หลักการและเหตุผล
    การนำอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ มาช่วยให้คนพิการสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีความสะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นแนวทางที่สามารถช่วยเหลือคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพแนวทางหนึ่ง และจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 ทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการให้บริการกายอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับคนพิการ อย่างไรก็ตามสำหรับคนตาบอด สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญเท่าเทียมกับการให้บริการเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับคนพิการก็คือ บริการการฟื้นฟูสมรรถภาพด้าน การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้คนตาบอดมีทักษะการช่วยเหลือตนเองทำกิจวัตรประจำวันและการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นอิสระปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้าน การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว แก่คนตาบอด ซึ่งแม้จะมีการให้บริการเครื่องช่วยความพิการให้แก่คนตาบอดมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี แต่ก็มักจะปรากฎว่าคนตาบอดที่ได้รับการบริการนั้น ๆ ไม่สามารถใช้หรือใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ในหลายกรณีการขาดความรู้และทักษะที่เหมาะสม ยังนำไปสู่การใช้ที่ไม่ถูกต้องและนำมาซึ่งความไม่สะดวกตลอดจนอันตรายทั้งตนเองและผู้อื่น

2. วัตถุประสงค์
    2.1 ขยายการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้าน การสร้างความคุ้นกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ทั้งในด้านรูปแบบของการให้บริการและปริมาณผู้รับบริการ
    2.2 ขยายความร่วมมือและการบริการมีส่วนร่วมด้านการให้การบริการไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งองค์กรในท้องถิ่น
    2.3 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ให้เป็นระบบที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
    2.4 ติดตามประเมินผล รวมทั้งศึกษาและจัดข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง และตอบสนองต่อความต้องการของคนตาบอดในจังหวัดพัทลุง

3. กลุ่มเป้าหมาย
    คนตาบอดในจังหวัดพัทลุง จำนวน 10 คน

4. กิจกรรมการดำเนินการ
    ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดพัทลุงและโรงพยาบาลจังหวัดพัทลุง เพื่อจัดทำข้อตกลงด้านความร่วมมือในการขยายการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้าน การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว

5. ระยะเวลาการดำเนินโครงการ
    มีนาคม ถึง เมษายน 2549

6. สถานที่ สมาคมคนตาบอดจังหวัดพัทลุง

7. หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ
    สมาคมคนตาบอดจังหวัดพัทลุง ที่อยู่ 3 / 9 ถ.ดิสราสาครินทร์ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง 93000 โทรศัพท์ 0-7461-7708 , 0-1598-7282

8. งบประมาณ
    ค่าใช้จ่ายในการให้บริการเฉลี่ยรายละ 9,000 บาท โดยกำหนดให้บริการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 10 คน คิดเป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท โดยรายละเอียดของค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ ดังนี้
    - ค่าใช้จ่ายด้านการอำนวยความสะดวกผู้รับบริการเช่น ค่าอาหาร และค่าสาธารณูปโภค 31,500  บาท
    - ค่าใช้จ่ายด้านการเรียนการสอน เช่น ค่าอุปกรณ์ในการทำแผนที่นูน ตลอดจนค่าบริการต่าง ๆ ในการฝึกปฏิบัติ 4,500  บาท
    - ค่าตอบแทนบุคลากรผู้ให้บริการ 19,800  บาท
    - ค่าใช้จ่ายด้านการติดตามประเมินผล การบริการจัดการระบบและการเสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของระบบในระยะยาว 12,600  บาท
    - ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการการให้บริการขององค์กรผู้ให้บริการ 21,600  บาท
      รวมทั้งสิ้น 90,000  บาท    
               
9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
    9.1 มีการวางระบบการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ที่เอื้อต่อการเข้าถึงของคนตาบอดจากทั่วจังหวัดพัทลุง ซึ่งทำให้คนตาบอดสามารถพึ่งพาตนเองและมีความพร้อมเพิ่มมากขึ้นต่อการพัฒนาสังคมในฐานะทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ โดยเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานของโครงการจะทำให้คนตาบอดได้รับการบริการดังกล่าวเพิ่มขึ้นจำนวน 10 คน
    9.2 เกิดเครือข่ายความร่วมมือของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการขยายการดำเนินงานด้านการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้าน การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ซึ่งเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดระบบบริการที่มั่นคงและยั่งยืน
    9.3 มีการพัฒนาการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้าน การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง

หมายเลขบันทึก: 6347เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2005 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท