จดหมาย...KM ..นี้ มีความหมายกับงานการศึกษานอกโรงเรียน


กศน. ต้องเปลี่ยน กระบวนทัศน์ จากTraining เป็น Learning..แม้ ขาว กศน.ชุมพรไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย..แต่เราก็โชคดี ที่ได้เรียนรู้ KM จากจังหวัดชุมพร/และทุกหน่วยงานในจังหวัดชุมพร

KM การศึกษานอกโรงเรียน


          ผมเขียนบันทึกนี้เพื่อส่งการบ้านให้ รมต. ช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ดร. รุ่ง  แก้วแดง   เป็นทำนองร่างความคิด   ว่า KM จะเข้าไปเป็นเครื่องมือของ กศน. สำหรับเข้าไปส่งเสริมการเรียนรู้ของชาวบ้านอย่างไร   และควรเริ่มต้นอย่างไร
          ท่านรัฐมนตรีอยากให้เริ่มที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน   หรืออาจจะรวม จ.สงขลา  เป็น 4 จังหวัดก็ได้
  

       
หลักการ
          หัวใจก็คือ   กศน. ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์จาก Training เปลี่ยนไปเป็น Learning
          แทนที่ กศน. จะเน้นที่การจัดการฝึกอบรมให้แก่ชาวบ้าน   กศน. ควรเปลี่ยนไปเน้นที่การจุดประกาย,  ส่งเสริม,  หนุน   และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของชาวบ้าน   โดยเน้นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม   ในเรื่องการงานอาชีพหรือกิจกรรมที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยตรง   กิจกรรมนั้น ๆ ควรเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นเวลานานอย่างน้อย 2 – 3 ปีหรือทำตลอดไป   ในลักษณะที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาอยู่ตลอดเวลา   โดยชาวบ้านที่มารวมกลุ่มนั้นเองร่วมกันตัดสินใจ   เจ้าหน้าที่หรือครู กศน. ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (Knowledge Facilitator)   คือช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้   ไม่ใช่ “คุณอำนาจ” ที่เป็นผู้กำหนดเป้าหมายหรือกติกาตายตัว
          ถ้าความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ กศน. ตรงกัน   ก็ปรึกษาหารือเพื่อเตรียมการ Workshop ครั้งที่ 1 ได้   ถ้าไม่ตรงกันก็ต้องคุยกันใหม่หรือยกเลิก
 

        
Workshop ครั้งที่ 1
          มีประเด็นสำคัญและแนวทางดำเนินการดังนี้
1.      กระทรวงศึกษาธิการ (กศน.?) เป็นผู้รับผิดชอบการจัด workshop   รวมทั้งค่าใช้จ่ายทั้งหมด   และรับผิดชอบการดำเนินการต่อเนื่องหลัง workshop    สคส. ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการด้าน KM   และแนะนำวิทยากรที่จะมาเล่าเรื่องราวของการจัดการเรียนรู้ให้ชาวบ้านผ่านกระบวนการ KM    โดยที่วิทยากรจำนวนหนึ่งจะเป็นตัวชาวบ้านที่ได้ผ่านกระบวนการมาแล้ว
2.      วัตถุประสงค์ของ workshop คือ   ให้ผู้บริหารและครู กศน. ใน 3 (4) จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทำความเข้าใจวิธีทำงานแบบใหม่ตามหลักการข้างต้น   โดยการรับฟังกรณีตัวอย่างการรวมตัวกันเรียนรู้ของชาวบ้านที่เป็นเรื่องที่ดำเนินการอยู่แล้ว   และได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการแบบใหม่
3.      กรณีตัวอย่างที่ผมแนะนำมี 3 กรณี   ได้แก่
·       การประชุมกลุ่มสัจจะวันละบาท   ของมูลนิธิ ดร. ครูชบ – ปราณี  ยอดแก้ว   ที่ อ.เมือง จ.สงขลา   ทุกวันที่ 16 ของทุกเดือน   ควรเชิญวิทยากร 3 คนคือ (1) ครูชบ  ยอดแก้ว   (2) ชาวบ้าน   (3) นักวิชาการที่มาร่วมโครงการ   โดยให้ครูชบเป็นผู้กำหนดตัว  
ติดต่อได้ที่มูลนิธิฯ   โทรศัพท์ 074-326-818   หรือมือถือ 01-128-2933
·       โรงเรียนชาวนา   มูลนิธิข้าวขวัญ  สุพรรณบุรี   ควรเชิญวิทยากร 6 คนคือ (1) คุณเดชา ศิริภัทร  ประธานมูลนิธิฯ   (2) “คุณอำนวย” ของ มขข. 2 คน   (3) นักเรียนโรงเรียนชาวนา 2 คน   (4) รศ. ดร. เนาวรัตน์  พลายน้อย   คณะสังคมศาสตร์  ม.มหิดล ศาลายา
หมายเลข 2&3   รวม 4 คนให้คุณเดชาเป็นผู้กำหนดตัว  
ติดต่อที่ มขข.   โทรศัพท์ 035-597-193  หรือมือถือ 04-646-5903 (คุณจันทนา  ผู้จัดการมูลนิธิ)
·       โครงการแผนที่คนดี   ที่ อ.เกาะลันตา  จ.กระบี่   ควรเชิญวิทยากร 4 คน   ได้แก่ (1) รศ. ประภาภัทร  นิยม  ผอ. รร. รุ่งอรุณ  และเป็นผู้อำนวยการโครงการ   (1) คุณมิรา  ชัยมหาวงศ์  ผู้ช่วยนักวิจัย   (3) ผู้ร่วมงานชาวบ้านที่เกาะลันตา 2 คน  ให้ อ. ประภาภัทรเป็นผู้เลือก
ติดต่อได้ที่ 02-728-5123 ต่อ 139 (รร. รุ่งอรุณ)
4.      การประชุมใช้เวลา 2 วัน  ที่จังหวัดปัตตานี   โดยมี session กลางคืนด้วย   ดังนี้
วันแรก
          ช่วงเช้า          กรณีศึกษาที่ 1
          ช่วงบ่าย         กรณีศึกษาที่ 2
          ช่วงกลางคืน     กรณีศึกษาที่ 3
วันที่ 2
          ระดมความคิด (ประชุมกลุ่มย่อย) แนวทางดำเนินการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อย   สรุปแนวทางดำเนินการต่อไป
5.      ผู้จัดการประชุมซื้อหนังสือ “การจัดการความรู้  ฉบับมือใหม่หัดขับ”   แต่งโดย ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด   และซื้อ CD Narrated Ppt. เรื่องการจัดการความรู้   โดย ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด (ซื้อได้จาก สคส.)  แล้วนำไป Copy แจกผู้เข้าร่วมประชุม   โดยกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมต้องอ่านหนังสือและ Narrated Ppt. ก่อนมาประชุมทุกคน   ต้องกำชับว่าใครยังไม่ได้อ่าน   อย่ามาประชุม
6.      คาดว่าหลัง workshop แล้ว   จะมีการดำเนินการเพื่อฝึกทักษะด้านการจัดการความรู้ให้แก่ “คุณอำนวย” ของ กศน. ใน 3 (4) จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป   สคส. ยินดีจัดวิทยากร   หรือแนะนำวิทยากรให้   โดยทาง กศน. เป็นผู้รับผิดชอบจัดการประชุมเอง
7.      ถ้าเห็นด้วยกับร่างความคิดนี้   ทางกระทรวงศึกษาธิการ (กศน.?) จะต้องกำหนดตัวผู้รับผิดชอบงาน   แล้วติดต่อไป สคส. เพื่อหารือรายละเอียดต่อไป   ผู้ประสานงานของ สคส. คือคุณอุรพิณ  ชูเกาะทวด   02-098-0664 – 8 ต่อ 199


วิจารณ์  พานิช
   18 ก.ย.48

ข้อคิดเห็น

วิจารณ์ เมื่อ พฤ. 22 ก.ย. 06:50:58 2005 เขียนว่า:

ผมได้รับแจ้งจาก อ. จิรัชฌา วิเชียรปัญญา ว่าได้ไปเป็นวิทยากรให้แก่ กศน. อุบลฯ มีความก้าวหน้าที่ประทับใจมาก ผมกำลังขอให้ อ. จิรัชฌาเขียนเล่าสู่กัน นอกจากนั้น จากกิจกรรม "จับภาพ KM" ของ สคส. เรายังพบการทำงานของ กศน. หลายแห่ง ที่ทำแนวใหม่ ภายใต้แนวคิด Learning ไม่ใช่ Training แล้วเราจะเล่าลง บล็อก ต่อไปครับ คุณอ้อโปรดรีบเขียนเรื่อง กศน. ลงบล็อก ด้วยนะครับ

อ้อ_สคส. เมื่อ พฤ. 22 ก.ย. 10:24:44 2005 เขียนว่า:

          ที่ จ. นครศรีธรรมราช    กศน. เป็นหน่วยงานหนึ่งใน 9 หน่วยงานราชการ ที่ร่วมทำโครงการพัฒนาองค์กรการเงิน 3 ตำบล  โดยมี ครูจำนง  หนูนิล เป็น "คุณเอื้อ" ใน กศน. และมี ครูสาว กับ ครูแต้ว (แล้วจะหาชื่อจริงมาให้ค่ะ) เป็น "คุณอำนวย" ร่วมกับ "คุณอำนวย" จากหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น พัฒนากรอำเภอ (พี่จุรี  บรรเทิงจิตร์), ธกส., ออมสิน  จัดตลาดนัดความรู้พัฒนาองค์กรการเงินตำบล  (วันที่ไปดูเป็นตลาดนัดความรู้ ต. บางจาก  มี  11 หมู่บ้าน)  โดยจัดกระบวนการกลุ่มให้ตัวแทนชาวบ้านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน/ กลุ่มออมทรัพย์, การทำบัญชี, บทบาทของคณะกรรมการกลุ่ม, การให้สินเชื่อ และการติดตามตรวจสอบการเงิน  โดยกลุ่ม "คุณอำนวย" เล่าว่าก่อนจัดตลาดนัดฯ ก็ต้องประชุมกันก่อน ทั้ง กศน., พัฒนากร, ธกส. ฯลฯ ว่าจะจัดรูปแบบอย่างไร ใครต้องทำอะไรแค่ไหน    พอจัดเสร็จก็ต้องมาสรุปคุยกันว่า ผลเป็นอย่างไร ยังขาดอะไร ชาวบ้านต้องการอะไรเพิ่ม จะได้เตรียมแผนจัดครั้งต่อไป หรือหาคนมาสอนสิ่งที่ชาวบ้านต้องการเรียนรู้    ซึ่งตลาดนัดฯ ของ ต. บางจาก ทำมา 2 ครั้งแล้วค่ะ  รู้สึกว่าชาวบ้านต้องการเรียนรู้พัฒนาเรื่อง "การทำบัญชี"  อันดับ 1 ในตอนนี้  เลยมีการปรึกษากันว่า ธกส. กับ ออมสิน จะลองเอาระบบการทำบัญชีมาดูกัน  แล้วให้ชาวบ้านลองปรับพัฒนาให้ทำง่าย และถูกต้อง และส่งให้ราชการดูได้

           นอกจากนี้ในการพูดคุยกับครูจำนง และครูสาว ครูแต้ว ยังพบว่า  กศน. นครศรีธรรมราช ก็มีการพัฒนาอาชีพให้ชาวบ้านโดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ด้วยเหมือนกัน  เช่น กลุ่มอาชีพทำปุ๋ยหมัก 9 กลุ่ม, กลุ่มเลี้ยงโค, และอื่นๆ   โดยครู กศน. จะทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้กลุ่มคิดเองว่าต้องการเรียนทำอะไร แล้วจัดกระบวนการส่งเสริมให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจะได้ช่วยกัน (บางกลุ่มเขามีการลงหุ้นกัน)  และ กศน. ยังจัดให้นักเรียนอาชีพมีสมุดแบบบันทึกการเรียนรู้จากกลุ่มด้วย

           พอเดินทางไป จ. ชุมพร  ก็ได้คุยกับคุณสุรีย์  จาก กศน. จังหวัดชุมพร ว่าได้นำการจัดการความรู้ที่เคยมาเรียนรู้ไปใช้อย่างไร  คุณสุรีย์ เล่าให้ฟังว่าการจัดการความรู้ เหมาะกับ กศน. มากนะ  เพราะ กศน. นำไปใช้กับกลุ่มการเรียนรู้ของนักเรียนของ กศน. ได้โดยตรง   และที่ กศน. ต้องทำเองด้วย (กำลังเริ่มทำค่ะ) คือ บุคคลากรใน กศน. เอง มีการทำ Competency หลักของ กศน. และลองประเมินหา gap ความสามารถกันอยู่ เพื่อช่วยกันพัฒนาคน กศน. ต่อไป   กศน. ชุมพรนั้นติดตาม Blog ของ gotoknow ตลอดค่ะ  พอทราบข่าวว่า สคส. ไปทำ Workshop ให้ สพบ. ก็รู้สึกดีใจว่าวงการศึกษาจะทำ KM แล้ว  แต่ยังนึกอยู่ว่ากว่าจะลงมาถึง กศน. คงนาน  แต่ กศน. ชุมพร โชคดีที่ได้เรียนรู้กับจังหวัดก่อนเลยได้ใช้ก่อนค่ะ

           เดินทางไปจับภาพ KM ครั้งนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก ไม่เฉพาะ กศน. ค่ะ  แล้วจะเขียนเล่าให้ฟังอีกทีนะคะ

                                                    วรรณา (อ้อ)

                 

เขียนข้อคิดเห็น

 
ที่มาจาก : Blog : ศจ.นพ.วิจารณ์ พานิช
ชื่อ : suree    nakniyom
อีเมล์ : [email protected]   เบอร์ติดต่อ : 077-511982
>>
คำสำคัญ (Tags): #เวทีแลกเปลี่ยน
หมายเลขบันทึก: 6346เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2005 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
    เรียนรู้จากการปฏิบัติงาน..................ดีที่สุด
  • "ความรู้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ" คือ หัวใจสำคัญของ KM
  • ติดตามงานของ กศน.ชุมพร มาโดยตลอด ขอเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป

 

นี่คือแหล่งเรียนรู้ที่หนึ่งสำหรับคนที่ชอบไขว่คว้า.....ขอบคุณ..KM......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท