การใช้ random word เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์


ต้องทำให้เกิดความคิดแบบ "ปิ๊งแว๊บ"

การทดลองใช้ Creativity Tools ทีละน้อยชิ้น จะได้ผลดีกว่าความพยายามที่จะให้ใช้ Creativity Tools หลายๆ ชิ้นในวันเดียว  ในการประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร HA สำหรับผู้บริหารเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 จึงได้แนะนำให้ใช้ tools เพียง 3 อย่าง คือ random words, การใช้มุมมองของคนอื่น และการแหกกฎ  โดยให้ทำกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อ “การคิดนอกกรอบ” ซึ่งเกริ่นนำมาด้วยการถากกระพี้หาแก่น การทบทวนเป้าหมายและหาทางเลือกที่กว้างกว่าประเด็นที่สงสัยหรือประเด็นที่ขัดแย้ง การทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐาน และตามด้วยการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

          เทคนิค random words คือการสุ่มคำที่อยู่ในบัญชีรายการซึ่งอาจจะเป็นคำประเภทใดก็ได้ หรืออาจจะสุ่มจากพจนานุกรมก็ได้  แต่คำที่ใช้กระตุ้นได้ชัดเจนมักจะเป็นคำนาม  แล้วนำคำที่สุ่มได้มาพิจารณาคุณลักษณะของคำคำนั้น เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์

          ในการฝึกใช้ random words พบว่าโดยทั่วไปกลุ่มมักจะเสียเวลาในการคิดถึงคุณลักษณะของคำที่สุ่มมาได้ค่อนข้างมาก แต่กลับไม่เกิดความคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะเหล่านั้นอย่างไร  หลังจากพักเบรก มีผู้เข้าประชุมท่านหนึ่งเข้ามาถามว่าเมื่อได้ random word แล้วจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร  จึงได้ถามกลับไปว่าสุ่มได้คำอะไร และเลือกที่จะแก้ปัญหาอะไร  ปรากฏว่าสุ่มได้คำว่า “นางฟ้า” และเป้าหมายคือการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้  จึงคิดดังๆ ออกมาว่า “คำว่านางฟ้าทำให้นึกถึงนางฟ้าผู้สวยงาม ตัวเล็กๆ มีมนตร์วิเศษ เมื่อใดที่มีใครอธิษฐานก็สามารถไปหาได้ทันที”  พอคิดดังๆ ออกมาถึงตรงนี้ก็เกิดคำตอบแว๊บขึ้นมาว่า บรรยากาศของการเรียนรู้ที่ดีน่าจะสร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เมื่อต้องการ ไม่ว่าจะเป็นที่หน่วยงาน ที่ห้องพัก ที่กินข้าว ที่ห้องสมุด ฯลฯ

          และเมื่อขอให้กลุ่มนำเสนอผลงาน ปรากฏว่ากลุ่มหนึ่งสุ่มได้คำว่า “แชมเปญ” ก็คุยกันสนุกสนานว่า แชมเปญทำให้คิดถึงรสชาดอร่อย มีความซู่ซ่า การเฉลิมฉลอง  แต่ทีมหยุดอยู่เพียงคุณลักษณะ ไม่มีการเชื่อมต่อไปสู่โอกาสที่จะนำคุณลักษณะดังกล่าวไปใช้กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์  ซึ่งถ้าทีมจะเชื่อมต่อกับเป้าหมายของทีมที่ต้องการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ  ก็สามารถใช้การเฉลิมฉลองเมื่อประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จเล็กๆ หรือความสำเร็จใหญ่ๆ 

          จากประสบการณ์นี้ทำให้เกิดข้อแนะนำสำหรับการใช้ random words ในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ดังนี้ 

          1. แบ่งสมาชิกในทีมเป็นสองกลุ่ม  กลุ่มหนึ่งทำหน้าที่พรรณนาถึงคุณลักษณะของคำที่สุ่มมาได้  อีกกลุ่มหนึ่งคอยฟังอย่างตั้งใจ และตระหนักในเป้าหมายของทีมอยู่ในใจว่าจะหาวิธีการที่สร้างสรรค์เพื่อทำอะไร

          2. เมื่อไรก็ตามที่กลุ่มที่สองฟังแล้วเกิดอาการ “ปิ๊งแว๊บ” ขึ้นมาในใจว่าคุณลักษณะที่เพื่อนกำลังพูดถึงนั้นน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้  ให้รีบจดบันทึกไว้  และนำเสนอต่อที่ประชุมเมื่อกลุ่มแรกพรรณนาคุณลักษณะทั้งหลายหมดสิ้นแล้ว

          3. ความคิดที่ปิ๊งแว๊บขึ้นมา เป็นเพียงความคิดเบื้องต้น เป็นเพียงแนวทาง เช่น การเฉลิมฉลอง การเรียนได้ทุกที่ ทุกโอกาส  ทีมจะต้องช่วยกันคิดต่อว่าจะออกแบบระบบหรือกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าวอย่างไร  เพื่อให้เกิดความชัดเจน สามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และพัฒนาความคิดต่อไปได้

หมายเลขบันทึก: 6345เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2005 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
กรุณาเล่าวิธีใช้เครื่องมืออีก ๒ ชิ้นด้วย ได้ไหมครับ

1.เเม็กเย็บกระดาษ2.การเรียนออนไลน์(กระดาษ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท