จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

วนให้รอบ PLC แล้วจะเจอความต่าง


ความตั้งใจเดิมคือจะเขียนถึงโรงเรียนวรพัฒน์เป็นตอนที่ 3 นั่นแหละครับ แต่บังเอิญทิ้งช่วงไปนานเลยเปลี่ยนชื่อใหม่อีกว่า และจริงๆ ประเด็นที่จะเขียนนี้น่าจะเป็นรากฐานจุดเริ่มของความสำเร็จที่โรงเรียนวรพัฒน์ทำออกมาให้ผมได้เขียนไปแล้วใน 2 ตอนที่ผ่านมา และเป็นเจตนารมย์แรกที่ผมอยากเขียนเล่าให้ฟัง (คือจริงๆ สองตอนแรกเป็นเพียงเกริ่นนำนั่นแหละครับ)

การเปลี่ยนการสอนจากการสอนที่เน้นเนื้อหาไปสู่การสอนที่เน้นกระบวนการ พัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นเรื่องที่ไทยคุยมาหลายสิิบปีแล้วครับ ส่วนในต่างประเทศก็ต้องบอกว่าเป็นร้อยปีไปแล้วครับ (ฮา ขอหัวเราะให้กับความเป็นคนอนุรักษ์นิยมของไทยจริงๆ) คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษาจะได้เรียนจิตวิทยาการเรียนรู้กันมาเยอะครับ เรียนทฤษฎีสารพัดทฤษฎี แต่พอเอามาสอนจริง เราก็สอนเป็นฐานความเชื่อเดิมในยุคหลายร้อยปีที่ผ่านมาครับ เอาง่ายๆ อย่างสกินเนอร์ที่ทุกคนรู้จัก ทฤษฏีบอกว่า ครูวางเงื่อนไข เด็กลงมือทำลองถูกลองผิดไปจนได้ทางออกได้ข้อสรุปนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมใหม่ แต่ในห้องเรียนบ้านเรา เงื่อนไขเดียวของการเรียนรู้ของเด็กคือ นั่งฟังครู อ่านตามครู จดตามครูบอกให้จด อยากบอกว่ามันไกลมากจากทฤษฎีที่เขาสอนกันมาครับ ไม่ว่าจะมีกี่ทฤษฎีใหม่เข้ามาบอกว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น เอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง แต่สุดท้ายครูก็ยังคงใช้รูปแบบเดิมในการสอน ซึ่งความจริงก็กล่าวโทษครูอย่างเดียวก็ไม่ได้ครับ เพราะความจริงผู้ปกครองเองยังคงมีความเชื่อเดิมๆ ฝังลึกว่าการเรียนให้รู้ต้องเน้นเนื้อหา จำเยอะๆ อ่านตามครู ฟังตามครูเยอะๆ เดี๋ยวก็เก่งเอง ทั้งๆ ที้ "โลก"เปลี่ยนไปเยอะแล้วครับ แต่แนวคิดคนไทยยังคงหยุดความเปลี่ยนแปลงนี้ไว้

ดังนั้นการเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนที่เป็นโลกการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างแท้จริงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่มีครูที่มีความสามารถในการสอนในรูปแบบใหม่มาสอนแล้วจะเกิดขึ้นได้ เพราะแน่นอนครับกระแสสังคมส่วนใหญ่จะกดดันโรงเรียนลงไปถึงในห้องเรียนให้วนกลับไปสู่การสอนแบบเดิมๆ ได้เสมอ ยิ่งการสอนแบบเดิมคือวิธีที่ง่ายและถนัดของครูอยู่แล้ว ถูกกระแสแค่ลมพัดผ่านก็สามารถผลิกการสอนเป็นรูปแบบอนุรักษ์นิยมได้ทันตาเห็นครับ ด้วยเหตุนี้ความสำเร็จที่ผมได้เห็นจากการเปลี่ยนห้องเรียนของโรงเรียนวรพัฒน์จึงเป็นเรื่องของการสร้างระบบที่เข้มแข็งเพื่อการพัฒนาจริงๆ ผมเลยอยากเล่าถอดบทเรียนว่ามีอะไรบ้างที่จะเป็นกุญแจสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่วรพัฒน์ได้ทำไป

ก่อนจะเข้าเรื่อง (ยังไม่เข้าประเด็นอีกครับ ฮา) หลังจากผมได้รับประสบการณ์จริงในประเทศไทยที่โรงเรียนวรพัฒน์ (ที่แต่เดิมเจอแต่ในตำราเรียนกับดูงานต่างประเทศ) ผมได้มีโอกาสไปคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ปกครองเด็กท่านหนึ่ง ซึ่งเคยเข้าไปดูโรงเรียนวรพัฒน์เพื่อตัดสินใจส่งลูกไปเรียน แล้วก็เปลี่ยนใจส่งไปโรงเรียนอื่นด้วยเหตุผลว่าวิชาการไม่เข้มข้น ผมเลยได้แลกเปลี่ยนความเห็นอยู่นานครับ จนกระทั่งผู้ปกครองท่านนี้เห็นเหมือนผมว่า นิยามคำว่า วิชาการที่เรามีมันหลงยุคไปแล้ว ความจริงเด็กเก่งในยุคนี้คือเด็กที่มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะการคิด ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช่ว่าอ่านหนังสือคล่อง เขียนหนังสือได้ จำเนื้อหาเยอะๆ เหมือนยุคที่พ่อแม่เราเรียน เมื่อผมยกภาพของห้องเรียนที่ผมเจอที่วรพัฒน์มาเล่า ผู้ปกครองท่านนี้ได้สรุปให้ผมฟังว่า "จริงด้วย เราอยากได้แบบนี้ เพราะแบบนี้แหละที่เหมาะกับโลกในยุคปัจจุบัน" ที่สำคัญคือ การสอนรูปแบบเดิมตอบโจทย์นี้ได้ยากมาก จำเป็นต้องเปลี่ยนการสอนเท่านั้นจึงจะได้ผลแบบที่อยากเห็น

(เข้าเรื่องละ) ผมสะดุดกับคำพูดของผอ.โรงเรียนวรพัฒน์สองประเด็นครับ หนึ่งคือ เราคือโรงเรียนทางเลือก ไม่ได้เดินตามกระแส (ผมเติมว่ากระแสเดิมที่ไม่ยอมเปลี่ยน) กับสองคือ PLC ที่เป็นนโยบายให้มีการใช้ในโรงเรียนรัฐมีโอกาสสำเร็จน้อยมากเหตุผลเพราะจะทำได้ก็ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ทำให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สองประเด็นนี้แหละครับเป็นหัวใจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารจัดการได้

ข้อที่หนึ่งนั้นเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนครับ เป็นการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียนในการจัดการศึกษา เมื่อผู้บริหารพูดแบบนี้นั้นหมายถึงโรงเรียนจะพร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างนวัตกรรมเพื่อการจัดการศึกษา และเห็นโจทย์การพัฒนาที่ชัดเจนว่าจะต้องเกิดแก่เด็กนักเรียน เมื่อเป้าหมายชัดการทำงานก็จะเกิดกลไกขึ้นมาครับ ส่วนตัวของผมๆ เชื่อว่าวิสัยทัศน์ผู้บริหารบอกถึงรูปแบบการบริหารจัดการและความเป็นไปของโรงเรียนได้ครับ (และมีไม่กี่คนที่ผมชื่นชมในเรื่องนี้) เมื่อวิสัยทัศน์ ทิศทางการพัฒนาโรงเรียนชัด การบริหารจะมุ่งหาเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการครับ และถ้ามองย้อนกลับด้านกันก็จะเจอว่า "ถ้าผู้บริหารไม่มีเครื่องมือใหม่ๆ ในการจัดการ ก็บอกได้ว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหารก็น่าจะไม่มีอะไรที่จะแตกต่างหรือโดดเด่น" จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารนำไปสู่การถ่ายทอดไปยังทีมงานครับ สร้างให้เห็นภาพอนาคตที่อยากได้ นั่นหมายถึงทุกคนในโรงเรียนรู้ว่าเราอยากจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน ซึ่งขั้นตอนนี้หากทำสำเร็จก็เห็นเส้นชัยแล้วครับ (ทุกคนพูดถึงภาพฝันได้เหมือนกัน)

PLC (Professional Learning Community) เป็นเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมายครับ ดังนั้นโรงเรียนไหนบอกว่าโรงเรียนเราจะต้องมี PLC นั่นก็ผิดแล้วครับคำว่า เครื่องมือหมายถึงวิธีการที่จะนำไปสู่การสร้างฝันให้เป็นจริง ถ้าจะทำเพื่อให้มี PLC ขึ้นในโรงเรียนเฉยๆ ก็เหมือนไปซื้อจอบ เสียม มีดมาเก็บไว้เฉยๆ ครับ ไม่รู้จะทำอะไร 

ดังนั้น PLC เรามีไว้เพื่อการทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนโรงเรียนไปสู่การสร้างฝันให้เป็นจริงครับ เมื่อทุกคนในโรงเรียนมีภาพฝันร่วมกันแล้ว PLC จึงเป็นพื้นที่กลางเพื่อการแชร์ความคิดความเห็น ออกแบบการทำงานสู่เป้าหมายร่วมกัน จากนั้นก็เอาปัญหา เอาความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อขยับการทำงานต่อไป อย่างขั้นต่ำสุดๆ ของ PLC คือ ทำให้ครูหรือคนทำงานไม่รู้สึกว่า กำลังทำงานแบบหัวเดียวกระเทียมลีบครับ อย่างน้อยก็มีคนคอเดียวกันทำงานไปด้วยกัน

จะตั้งกลุ่ม PLC ยังไงให้ยั่งยืนเป็นโจทย์สำคัญอีกโจทย์ครับ เพราะถ้ากลุ่มไม่เหนียวแน่น ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำกลุ่มแป๊บเดียววงก็แตกแล้วครับ ผมได้คำตอบมาว่า 

  • ขนาดของกลุ่มมีความสำคัญ น้อยไปก็ไม่สนุก ไม่เกิดพลัง แต่มากไปก็หลากหลายเกินไป ขาดความร่วมมือจริงๆ แค่มานั่งฟังไม่ได้คุยไม่ได้พูดก็เสียเวลาเปล่าๆ ครับ 
  • ความหลากหลายของสมาชิก คือถ้าเอาคนแบบคิดเหมือนกันเลยมาอยู่ด้วยกันบางทีหาวิธีการใหม่ๆ ยากครับ ดังนั้นทำไงให้กลุ่มมีคนที่หลากหลายประสบการณ์ได้มาร่วมกันสร้างมุมมองประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่กัน
  • ต้องมีหนึ่งคนที่เป็นหัวหน้าทีมที่มีทักษะการรับฟัง และนำเสนอต่อผู้บริหารระดับบนขึ้นไปได้

หลังจากได้กลุ่มแล้ว ก็สร้างงานให้กับกลุ่มครับ ทุกกลุ่มทำหน้าที่ทำฝันให้เป็นจริง โดยเอาโจทย์ความต้องการของโรงเรียนมาหาวิธีการทำงาน คิดวิธีการใหม่ ลองใช้ในสิ่งที่คิดว่าน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ แล้วก็คุยกันเรื่องที่ทำครับ ได้ผลไหม ถ้ายังไม่ได้ผลปรับอะไรแก้ไขอะไรดี ลองใหม่จนกระทั้งได้ผลความสำเร็จ

หน้าที่สำคัญของกลุ่มคือ ร่วมกันคิดวางแผน ร่วมกันทำงาน ร่วมกันแก้ปัญหาครับ ดังนั้นนอกจากที่ครูคนเดียวคิดเรื่องว่าจะสอนอย่างไร ก็กลายเป็นว่าครูหลายคน (ทั้งกลุ่ม) มาช่วยกันวางแผนให้หนึ่งคนว่าจะต้องสอนแบบไหน ครูทุกคนทำงานแบบที่มีเพื่อนช่วยคิด คิดแบบนี้ก็สร้างให้เห็นความแตกต่างแล้วกัน และบทบาทของกลุ่มถัดมาคือ ไปติดตามให้กำลังในตอนที่สมาชิกในกลุ่มลงมือสอนจริงครับ แล้วเอามานั่งคุยกันว่าอะไรดีแล้ว อะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เรียนรู้และแก้ไขไปด้วยกัน กระตุ้นกันเพื่อหาสิ่งใหม่ๆ มาทดลองใช้

การพบปะคุยกันในกลุ่มจำเป็นต้องมีการจัดการที่เป็นระบบ โดยเฉพาะเรื่องเวลาที่จะต้องเอื้อให้สมาชิกกลุ่มมานั่งคุยกันได้จริง อาจจะจำเป็นต้องกำหนดเวลาที่ชัดเจน มีความถี่ที่เหมาะสมในการพบปะครับ ถ้านานๆ ครั้งเจอกันที ยากจะเกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือ การพูดคุยคือพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นครับ

อันนี้เป็นบทบาทวงเล็กครับ วงที่ใหญ่กว่านั้นคือหัวหน้ากลุ่มทำผลที่ได้ของแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนกันสร้างให้เป็นแนวปฏิบัติที่ดีของโรงเรียน ซึ่งในระดับงานนี้ผู้บริหารจำเป็นต้องมีส่วนร่วมมากๆ ผู้บริหารผลักดันความสำเร็จของกลุ่มย่อยมาสู่การกำหนดเป็นนโยบาย แล้วก็เรียกหาวิธีการใหม่ๆ จากกลุ่ม PLC ต่อไป เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่สำเร็จครั้งเดียวแล้วจะจบการทำงานกลุ่มครับ กลุ่มแต่ละกลุ่มต้องสร้างงานใหม่อยู่ตลอดครับ

ความสำเร็จของกลุ่มย่อยนอกจากจะนำไปสู่การขยับเชิงนโยบายของโรงเรียนแล้ว ยังต้องตรึงความสำเร็จนี้ให้เป็นแบบฉบับของโรงเรียนครับ วิธีการมีหลายแบบครับ เช่น การยกย่องครูหรือกลุ่มที่ทำสำเร็จ การเผยแพรความสำเร็จสื่อสารไปยังสาธารณะ อันนี้นอกจากจะเป็นการให้กำลังใจคนทำงานแล้วยังเป็นการประกาศถึงความเป็นเจ้าของความสำเร็จด้วยครับ และอีกวิธีหนึ่งที่ผมชอบก็คือ การเปิดห้องเรียน เชิญผู้ปกครอง เชิญโรงเรียนอื่นมาชมการสอนครับ แน่นอนกิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่เป็นการประกาศความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนะครับแต่ยังเป็นข้อยืนยันว่าปีหน้าโรงเรียนจะต้องมีโจทย์ใหม่ๆ เพื่อให้ทุกท่านมาชมอีก และเชื่อว่าวิธีการนี้จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้ครับ และสักนิดอาจจะช่วยให้สังคมเปลี่ยนแนวคิดเก่าๆ ไปบ้างครับ

ผู้บริหารอย่าได้เมินเฉยต่อความสำเร็จเล็กๆ ที่ครูทำนะครับ เพราะความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ในครั้งแรกอาจจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างให้เกิดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต เช่นเดียวกันกับการขับเคลื่อน PLC ที่จำเป็นต้องค่อยเดิน ค่อยๆก้าว แค่ไม่หยุดการทำงานกลุ่มร่วมกัน สักวันความสำเร็จจะเกิดขึ้นครับ และถึงแม้ทำครั้งแรกไม่เห็นผลความเปลี่ยนแปลงอะไรเลยก็อย่าได้หยุดครับ  ถ้าความสำเร็จเป็นเรื่องง่ายๆ มันคงไร้ค่ามากๆ ครับ 

คำสำคัญ (Tags): #plc#การบูรณาการ
หมายเลขบันทึก: 633977เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2017 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2017 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท