United Nation Convention Against Corruption อนุสัญญาองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รับชั่น Part II


อนุสัญญาขององค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทในสังคมโลกมากที่สุด และเป็นอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตที่อาจกล่าวได้ว่าครบถ้วนที่สุด

 United Nation Convention Against Corruption อนุสัญญาองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รับชั่น ที่มา หลักการ และวัตถุประสงค์

                อนุสัญญานี้มีที่มาจากอนุสัญญาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต โดยสหประชาชาติได้นำหลักการของอนุสัญญาต่างๆมาพิจารณา แล้วร่างออกมาเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รับชั่น

                 หลักการที่สำคัญของอนุสัญญานี้ คือ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่น การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าว เนื่องจากคดีทุจริตส่วนใหญ่จะมีมูลค่ามหาศาล และสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติทำลายเสถียรภาพทางการเมือง ทำลายคุณค่าของความยุติธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ รวมทั้งหลักการแห่งกฎหมาย

                วัตถุประสงค์แห่งอนุสัญญาฉบับนี้ ตามความในมาตรา ๑ คือ เพื่อพัฒนามาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่น พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศและให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งการนำกลับคืนมาซึ่งทรัพย์สินที่ประเทศชาติต้องสูญเสียไป ส่งเสริมคุณธรรม ความรับผิดชอบ ในการดำเนินการของรัฐ และทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน

มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการทุจริต

                - มาตรการป้องกันและปราบปราม ( Prevention )ตามมาตรา ๒ มีการกำหนดคำนิยามต่างๆ โดยส่วนที่สำคัญ ได้แก่การกำหนดคำนิยามเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายภายในของรัฐสมาชิก  ซึ่งหมายถึง  เจ้าหน้าที่ที่ทั้งที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ  บริหาร ปกครอง และตุลาการ ของรัฐ ไม่ว่าจะได้รับตำแหน่งหน้าที่นั้นมาโดยการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานของหน่วยงานรัฐ ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยรวมทั้งระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่น หรือปฏิบัติตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือให้บริการสาธารณะ ตามที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายภายในของรัฐภาคีนั้น

                ในส่วนของการกำหนดคำนิยามของคำว่าเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาตินั้น มีการกำหนดคำนิยามในลักษณะเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพียงแต่เพียงกำหนดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างชาติเท่านั้น โดยมีลักษณะคำนิยามในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติเหมือนกับคำนิยามในเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ

                 หลักการสำคัญในรื่องการป้องกันและปราบปราม ได้แก่ มาตรการในการป้องกัน การสืบสวนสอบสวน การพิจารณาคดีการทุจริต  การยึดและ/หรืออายัดทรัพย์สิน การริบทรัพย์ การดำเนินการฟ้องร้องกับผู้กระทำความผิดตามอนุสัญญานี้ 

                  หลักการที่ได้รับการกล่าวถึงในมาตรา ๗ คือเรื่อง หลักผลประโยชน์ขัดกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการทุจริตคอร์รับชั่น โดยจะเห็นได้ว่ามักมีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการ จะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เป็นหุ้นส่วน เป็นกรรมการของหน่วยทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งที่มาจากหลักเรื่องผลประโยชน์ขัดกันนี้เอง  เพราะอาจมีการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เข้าไปจัดการเอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจของตน ซึ่งจะอาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ของรัฐได้

                      ตามมาตรา ๙ จะเป็นการกำหนดเกี่ยวกับหลักในการตรวจสอบเกี่ยวกับการเงินของหน่วยงานของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ และต้องมีการรายงานตามมาตรา ๑๐ โดยหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องรายงานเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน

                     ในส่วนของภาคเอกชน ตามมาตรา ๑๒ โดยกำหนดเป็นหลักการกว้างๆเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถตรวจสอบได้ โดยยังมีการย้ำในหลักการเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน และมีการขยายความรวมถึงผู้ที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ลาออก หรือเกษียณอายุราชการ เข้ามาเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐที่ผู้นั้นเคยมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ก่อน

                    มาตรการที่สำคัญอีกอย่างที่กำหนดในอนุสัญญานี้ คือ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ และการดำเนินการต่างๆตามอนุสัญญานี้ ซึ่งกำหนดเป็นหลักการ และให้ประเทศภาคีนำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายภายในต่อไป

                   - บทลงโทษ ( Sanction )

                     อนุสัญญานี้กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ที่กระทำผิดตามอนุสัญญานี้ และต้องกำหนดโทษที่มิใช่ทางอาญาให้แก่นิติบุคคล และยังต้องมีมารตราการการลงโทษเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือทางการเงิน การยึดและ/หรืออายัดทรัพย์สิน การริบทรัพย์สิน โดยการกำหนดบทลงโทษต่างๆให้เป็นการกำหนดโดยรัฐภาคีเองเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญานี้,กฎหมายภายในของรัฐสมาชิก และตามอนุสัญญาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตตามที่กล่าวถึงในอนุสัญญาฉบับนี้

หมายเลขบันทึก: 63363เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2006 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท