OECD Convention on Combating Bribery of Foreign Public Officials in International Business Transactions Part I


อนุสัญญาของกลุ่ม Rich Men Club ที่ประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าเป็นสมาชิก

 OECD Convention on Combating Bribery of Foreign Public Officials in International Business Transactions

ที่มา หลักการ และวัตถุประสงค์

            ในปี ๑๙๗๐ การให้สินบนเพื่อชักจูงใจรัฐบาลต่างชาติ ได้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายสำหรับการดำเนินธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี ๑๙๗๖ องค์การร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ( OECD ) ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งร่วมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศ และการดำเนินธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งของความตกลงที่ไม่มีผลผูกพันนี้ได้มีการกล่าวถึงการประณามบริษัทที่มีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าหน้าที่ที่พยายามแสวงหาประโยชน์

                  ต่อมาสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับร่างกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนที่เข้มงวดขึ้น เพื่อทำให้ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการให้สินบนเป็นที่สนใจของนานาประเทศมากขึ้น และได้มีการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการทุจริตระหว่างประเทศ ( Foreign Corrupt Practices Act 1977 ) โดยกลายเป็นแกนหลักของกฎหมายเกี่ยวกับการให้สินบนของประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นต้นแบบให้แก่อนุสัญญาของ OECD

                 OECD จึงพิจารณาเห็นว่าการแก้ไขปัญหาสินบนในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศนี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆจึงได้มีการร่างอนุสัญญานี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดขวาง ป้องกัน และต่อต้าน การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างชาติจะเรียกรับสินบนจากการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้การกระทำเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ เป็นความผิดทางอาญา

                  นอกจากความร่วมมือของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญานี้แล้ว OECD ยังมีความร่วมมือในการต่อต้านการให้สินบน โดยร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ อย่างเช่น ธนาคารโลก IMF WTO  สหภาพยุโรป องค์กรความร่วมมืออเมริกา และองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศที่มิใช่ในระดับรัฐบาล

                มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการทุจริต

               - มาตรการป้องกันและปราบปราม ( Prevention )

                มีการกำหนดคำนิยามของเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ ไว้ใน มาตรา ๑ ดังนี้  เจ้าหน้าที่ที่ทั้งที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ  บริหาร ปกครอง และตุลาการ ของรัฐต่างชาติ ไม่ว่าจะได้รับตำแหน่งหน้าที่นั้นมาโดยการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานของหน่วยงานรัฐ ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยรวมทั้งระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่น  หรือเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ  โดยในส่วนของการกระทำ ซึ่งแสดงออกถึงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐของตน ต้องเป็นในลักษณะที่มีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือใช้อำนาจหน้าที่ในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องตามตำแหน่งก็ตาม

                 ประเทศภาคีจะต้องมีการกำหนดให้การให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติเป็นความผิดอาญา ซึ่งรวมทั้งผู้ให้ ,สัญญาว่าจะให้ หรือการให้สิ่งตอบแทน หรือผลประโยชน์อย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยตรง หรือโดยอ้อม และไม่ว่าจะให้แก่เจ้าหน้าที่นั้นโดยตรง หรือให้แก่บุคคลที่สามก็ตาม โดยการให้สินบนนั้นให้เพื่อให้เจ้าหน้าที่กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการตามอำนาจหน้าที่ของตน หรือเพื่อเป็นการรองรับผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือผูกขาดการดำเนินธุรกิจ หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ถูกต้องจากการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ

                   นอกจากนี้ยังต้องกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้สมรู้ร่วมคิด,ผู้สนับสนุน,ช่วยเหลือ , ส่งเสริม แก่การให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างชาติในการใช้บังคับนั้น

                   ในส่วนของการสืบสวนสอบสวน และการพิจารณาคดี จะต้องดำเนินไปตามหลักกฎหมายภายในของรัฐสมาชิกและหลักกฎหมายทั่วไป โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่เป็นไปโดยการถูกชักจูง บีบบังคับ โดยพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ หรือผลกระทบซ้อนเร้นที่เกี่ยวกับกับการดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ หรือชื่อเสียงของบุคคลธรรม หรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวกับการฟอกเงินในการป้องกันและปราบปรามในเรื่องของการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างชาตินี้ด้วย           

                   - บทลงโทษ ( Sanction )               

                   รัฐภาคีจำเป็นที่จะต้องกำหนดบทลงโทษที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้สมน้ำสมเนื้อกับการกำหนดให้ความผิดนี้เป็นความผิดทางอาญา และเพื่อเป็นการยับยั้งมิให้มีการกระทำความผิดเช่นนี้อีกต่อไป ซึ่งการกำหนดโทษนี้จะต้องเปรียบเทียบกับการกำหนดโทษในกรณีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐของประเทศภาคีนั้นๆด้วย  ในส่วนของบุคคลธรรมดาโดยจะต้องมีการกำหนดเป็นโทษจำคุก รวมทั้งการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศภาคีสมาชิกด้วยกัน               

                   ในกรณีที่กฎหมายภายในของรัฐภาคีมิได้มีการกำหนดความผิดและโทษเอาไว้สำหรับนิติบุคคล รัฐภาคีนั้นจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเพื่อกำหนดโทษอย่างมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้แก่นิติบุคคล ซึ่งมิใช่เป็นมาตรการทางอาญา โดยอาจเป็นมาตรการลงโทษที่เกี่ยวกับการเงินแทน เช่น การปรับ          

                    โดยในส่วนของเงินสินบน หรือทรัพย์สินอื่นๆที่ตระเตรียมไว้สำหรับการให้สินบน จะต้องมีการกำหนดมาตรการในการยึดและ/หรืออายัด หรือริบ ทรัพย์สินนั้น และยังต้องกำหนดให้มีมาตรการทางแพ่งและมาตรการทางปกครองเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของการกำหนดโทษในการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติด้วย

หมายเลขบันทึก: 63361เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2006 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอรบกวนนำข้อมูลไปทำรายงานได้ไหม

จะอ้างอิงอย่างไรดีคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท