ความเป็นมาของคำว่า ‘เรือน’ ของ ‘คนพูดไท’


 

เรือนทรงไทยประยุกต์

คำเรียกที่อยู่อาศัยในหมู่ ‘คนพูดไท’ สายลุ่มเจ้าพระยานั้น ใช้กันติดปากทั่วไปว่า ‘บ้านเรือน’ ซึ่งประกอบด้วยคำสองคำคือ ‘บ้าน’ และ ‘เรือน’ โดยคำว่า ‘บ้าน’ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าหมายถึงบ้านเป็นหลังๆ เท่านั้น หากกินความถึงชุมชนที่ประกอบไปด้วยบ้านหลายๆ หลัง พวกไท-ไตสายอื่นก็เรียกใช้ไม่ต่างกันในความหมายว่า ‘village’ เช่นพวก Sapa, Bao Yen, Cao Bang, Lungchow, Shangsi และ Saek เรียกเหมือนกับพวกไทยสยามว่า ba:nC1 (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์, พ.ศ. 2009) ในขณะที่คำว่า ‘เรือน’ หมายถึงสิ่งปลูกสร้างที่เป็นเอกเทศ คือเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัยแต่เพียงหลังเดียว ในภาษาของทางลานนา, ลานช้าง และถิ่นอีสาน ก็เรียกหาแทบไม่ต่างจากพวกลุ่มเจ้าพระยา โดยเปลี่ยนแค่เสียงขึ้นต้น ร.เรือ ไปเป็นเสียง ฮ.นกฮูก แทน แล้วเรียกใช้กันทั่วไปว่า ‘เฮือน’

ผู้เขียนได้เคยตีความคำเรียกที่อยู่อาศัยว่า ‘เรือน’ (และรวมไปถึงคำว่า ‘ร้าน’ ที่หมายถึงเพิงพัก, ที่พักรองรับชั่วคราว, ลานเวทียกพื้น, นั่งชั้น เป็นต้น) ไว้ว่า มีความเป็นมาร่วมกับภาษา ‘รัง/รุง’ หรือ ‘รวง’ จากรากเหง้าของพี่น้องออสโตรนีเซียนและไท-กะไดในยุคต้นแบบดึกดำบรรพ์ชนิด ‘ยกพื้นเสาสูงมีใต้ถุนด้านล่างและรูปทรงโค้งเว้าโอบล้อมโดยรอบ’ และถือว่าเป็นคำเรียกที่อยู่อาศัยที่ถูกพัฒนาขึ้นมาภายในกลุ่มไท-กะไดในภายหลังเป็นการเฉพาะ (ดูเพิ่มเติมในเรื่อง “รัง” กับแนวคิดเรื่องการสร้างบ้านแปงเฮือนครั้งแรก, คำว่า “รวง” กับ “ruang” และ ความสัมพันธ์ระหว่าง “เรือน” และ “*rumaq) แต่ที่ยังเป็นประเด็นค้างคาไม่หายสงสัยเรื่อยมาคือ เรื่องลำดับของการเกิดรูปคำ เพราะจะตีความว่า ‘เรือน’ ที่ถูกสืบสร้างเป็นภาษาโบราณว่า *hra:n1, *kran A, *rɤ:n A และ *rɯ:n/*arɨ:n A เกิดมาจากภาษา ‘รัง/รุง’ *raŋ/ruŋ หรือ ‘รวง’ *ruaŋ โดยตรงก็ดูกระไร เพราะเสียงลงท้ายคำนั้นแตกต่างกันคนละแม่สะกด จากแม่กงให้กลายข้ามมาเป็นแม่กนดูลักลั่นไม่เข้าท่าเข้าที   

ถึงปัจจุบันขณะผู้เขียนคิดว่าทางหนึ่งที่อาจไขข้อสงสัยคือ การเลื่อนจาก *raŋ/ruŋ หรือ *ruaŋ ไปเป็นคำสืบสร้างโบราณของ ‘เรือน’ นั้นเกิดจากการนำปัจจัย (suffix) *-an เข้ามาต่อเติมเป็น *raŋ-an/ruŋ-an หรือ *ruaŋ-an โดยปัจจัย *–an เป็นที่รับรู้ในแวดวงออสโตรนีเซียนว่ามีความเก่าแก่มากขึ้นถึงชั้นต้นแบบ (proto-form) ใช้สำหรับการระบุตำแหน่งแหล่งที่ เช่นคัดส่วนหนึ่งจากหนังสือเรื่อง The Austronesian languages, revised edition 2013 หัวข้อ 6.3.3.1 *-an ‘locative voice’ หน้า 394-395 เขียนโดยศาสตราจารย์ Robert A. Blust ผู้เลื่องลือนามแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย-อิ ดังนี้

This probably is the most widespread suffix in AN languages. In Philippine-type languages either singly or in combination with other affixes it has a number of distinct functions, but it is most commonly used to mark the location of an action in relation to the ‘focused’ NP, as with Ilokano sagád-an ‘to sweep the floor’ (with focused location) next to sagád-en ‘to sweep dirt’ (with focused object). Schachter and Otanes (1972:314) list five actor voice affixes and their locative voice counterparts for Tagalog: 1) ma- : ka-X-an or pag-X-an 2) maka- : ka-X-an, 3) -um- : pag-X-an, 4) mag- : pag-X-an, 5) maŋ- : paŋ-X-an, as in ma-matáy ‘die’ : ka-matay-án ‘die in/on’, ma-túlog ‘sleep’ : pag-tulúg-an ‘sleep Morphology 395 in/on’, maŋ-isdáʔ ‘go fishing’ : paŋ-isdaʔ-án ‘go fishing in/on’. This reduces to three affix combinations with a common element -an. In addition to verbal functions -an (often with final stress) creates nouns of location in Philippine-type languages as in Tagalog hábi ‘texture; woven pattern on fabric’ : habih-án ‘loom’, títis ‘cigar or cigarette ash’ : titis-án ‘ash tray’. In non-Philippine-type languages reflexes of *-an often function exclusively to derive nouns of location, as in Kelabit guta ‘wade across a river’ : gəta-an ‘fording place’, irup ‘drink’ : rup-an ‘watering hole (where animals drink)’, tələn ‘to swallow’ : tələn-an ‘throat’, or Makasarese -aŋ ‘formative for locative nouns’, as in əntəŋ ‘stand’ : əntəŋ-aŋ ‘place where one stands’. In a few languages a reflex of *-an that derives locative nouns is fossilised or rare, as with Roviana huve ‘bathe’ : hu-huve-ana ‘bathing place, bath’.  

แปลโดยสรุปคือเป็นตัวปัจจัยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพวกออสโตรนีเซียน เช่นในภาษาของพวกฟิลิปปินส์มักใช้แสดงตำแหน่งของการกระทำใดๆ เช่น พูดว่า sagád-an (to sweep the floor) จะหมายถึงกวาดพื้นบ้าน หรือพูดว่า paŋ-isdaʔ-án (go fishing in/on) หมายถึงไปตกปลาที่นั่นที่นี่ หรือใช้ในความหมายว่าสถานที่ เช่น hábi (texture; woven pattern on fabric) หมายถึงลายทอผ้า เมื่อเติม *-an เข้าไปข้างท้ายเป็น habih-án (loom) จะแปลว่าหูกทอผ้า หรือ títis (cigar or cigarette ash) หมายถึงบุหรี่ เมื่อเติม *-an เข้าไปข้างท้ายเป็น titis-án (ash tray) จะแปลว่าที่เขี่ยบุหรี่แทน แม้แต่ในพวกที่ไม่ใช่ฟิลิปปินส์ก็มักใช้ไม่แตกต่าง เช่น irup (drink) แปลว่าดื่มน้ำ พอเติม *-an เข้าไปข้างท้ายเป็น rup-an (watering hole) จะแปลว่าแอ่งน้ำ หรือ tələn (to swallow) แปลว่าสวาปามกลืนกิน (คำเดียวกับคำควบกล้ำไท-กะไดว่า ‘กลืน’ จนถึงคำโดดหดสั้นว่า ‘ลื่น’ และ ‘คืน’) พอเติม *-an เข้าไปข้างท้ายเป็น tələn-an (throat) จะแปลว่าลำคอทันที เป็นต้น

ดังนั้นก็อาจเป็นไปได้ที่พวกไท-กะไดนำตัวปัจจัย *-an เข้ามาใช้บ้าง โดยการเติมเข้ากับท้ายคำรากแก้ว *raŋ/ruŋ หรือ *ruaŋ ในฐานะของอาการ ‘โค้งเว้าและโอบล้อมรอบ’ หรืออาการ ‘แบ่งซอยแยกย่อย’ แล้วแปลงร่างเป็นเรื่องของสถานที่พักอาศัยไปเฉกเช่นเดียวกับคำพูดของพวกฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นคำว่า *ruaŋ นี้ ในภาษาอินโดนีเซียปัจจุบันก็ยังมีการใช้ตัวปัจจัย *-an ต่อท้ายเป็น ‘ruang-an อ่านว่า รุอังงัน’ เป็นคำนามแปลว่าโรงที่ประกอบไปด้วยห้องแยกย่อยจำนวนมาก หรือห้องโถงขนาดใหญ่ เป็นต้น

แต่ถึงอย่างไร แนวทางไขข้อสงสัยข้างต้นก็ยังไม่ใช่ข้อยุติเสียทีเดียว เพราะยังมีอีกแนวทางที่เป็นไปได้และอาจเป็นไปได้มากกว่า คือแนวทางของภาษา ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ (a cross-correlated monosyllabic root) ในคำว่า *lan และ *ran ซึ่งเป็นรากเก่าแก่ร่วมโคตรเหง้าของทั้งทางออสโตรนีเซียนและไท-กะได โดย ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ นี้เป็นคำชนิดแก่นแกนที่คงทนต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการกัดเซาะใดๆ ไม่ว่าเวลาจะดำเนินผ่านพ้นไปนานสักเท่าใดก็ยัง ‘ยืนเด่นโดยท้าทาย’ หรืออาจเรียกในอีกชื่อว่า ‘living fossil’ ก็ได้ ซึ่งผู้เขียนได้ทำการศึกษาสอบค้นไว้จำนวนหนึ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมอยู่ในหนังสือเรื่อง คนพูดไท (The story of people who speak Tai-Kadai), พ.ศ. 2560 และในบทความเรื่อง The monosyllabic roots of Austronesian and Tai-Kadai: a proof for Austro-Tai ซึ่งเป็นบทสรุปของหนังสือเรื่องดังกล่าว ได้ถูกเขียนบทคัดย่อไว้ดังนี้

This paper is the conclusion of the historical and comparative linguistics studies on the relationship between Tai-Kadai and Austronesian under the name of คนพูดไท khonA2 phu:tD2 thajA2 ‘The story of people who speak Tai-Kadai’. The studies have been made thorough Tai and Indonesian languages and mainly focused on the etymological point of view, in particular, the correlation of subsurface etyma, of which may be different from the mainstream studies. However, the subsurface etyma has provided the interesting results; at least 32 “cross-correlated monosyllabic roots” have been identified. These roots are interpreted as very ancient as the proto-form of Austronesian and Tai-Kadai or even the earlier date. They are, in fact, considered as the grandparent of disyllabic words in Proto-Austronesian as well as in Proto-Tai-Kadai. They are the roots that can explain the history of Tai-Kadai and Austronesian very well and the most interesting is that they are the strong evidence in proving the existence of Austro-Tai.

แปลได้ว่า บทความนี้เป็นข้อสรุปของการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลภาษาไท-กะไดและออสโตรนีเซียน ผ่านคำพูดของไท-ไตและอินโดนีเซียเป็นหลัก ผ่านการค้นหาและเปรียบเทียบเหง้าคำและความหมายดั้งเดิมที่ลงลึกถึงรากแก้วเป็นการเฉพาะ ซึ่งเข้าใกล้กับ ‘ศัพทมูลวิทยา’ มากกว่าศาสตร์แขนงอื่น อันเป็นเส้นทางสาขาที่ค่อนข้างแตกต่างจากแนวทางการศึกษากระแสหลักในปัจจุบัน หากการศึกษาและตีความจากมุมมองดังกล่าว ได้แสดงผลลัพธ์ที่ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะสามารถจัดจำแนกคำโดดที่เรียกว่า ‘cross correlated monosyllabic root’ ออกมาได้อย่างน้อยถึง 32 ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ โดยเป็นรากคำเก่าแก่ขนาดต้นโคตรของทั้งออสโตรนีเซียนและไท-กะได ก่อนจะพัฒนาลงมาเป็นคำสองพยางค์ในภายหลังอย่างมากมาย เป็นรากคำที่สามารถใช้ตอบคำถามเรื่องที่มาของ ‘คนพูดไท’ (The story of people who speak Tai-Kadai) ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลในอีกแนวทางหนึ่งและยังใช้เป็นหลักฐานบ่งชี้ชั้นดีต่อการพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของแนวความคิด ‘ออสโตร-ไท’ ตั้งแต่ครั้งบรรพกาลได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

คำต้นราก *lan และ *ran ถือเป็นคู่ขวัญ ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ คู่ผัวตัวเมียที่สำคัญ เพราะแตกตัวออกลูกหลานไปมากมายหลายสิบคำทั้งสองฟากฝั่งทะเล มีความหมายนามธรรมร่วมกันว่า ‘บางสิ่งแสดงลักษณะเป็นทาง เป็นเส้น เป็นความยาว เป็นช่วงระยะ มีการเชื่อมต่อถึงกันและกัน มีส่วนหัวและส่วนหาง มีทิศทาง มีพื้นที่ประกอบ และมีการเคลื่อนตัวไปมาไม่หยุดอยู่นิ่งเฉย’ สามารถจัดแบ่งบทบาทต่างๆ กันได้ถึง 6 บทบาทหน้าที่ ตั้งแต่เรื่องของการเป็นสิ่งกีดกั้นขัดขวางเส้นทางเดิน การเป็นความยาวรองรับแบกน้ำหนัก การเป็นร่องรอยแตกระแหงจากการสั่นสะท้าน การเป็นคลื่นขึ้นลงเข้าออกและกลืนกลาย การเป็นเส้นทางลานวิ่งโลดแล่นไปมา จนถึงการล่องลอยค่อยเคลื่อนคล้อยไปตามเส้นทางอย่างนุ่มละมุนยิ่ง โดยคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง *l คือ *lan มักทำหน้าที่ของเพศผัว ส่วนคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง *r คือ *ran มักทำหน้าที่ของเพศเมีย หากภายหลังเมื่อวิวัฒนาการผ่านพ้นการสลับขั้วข้ามเพศก็ปรากฏให้เห็นอย่างสามัญ โดยเฉพาะในหมู่ ‘คนพูดไท’ ดังตัวอย่างของคำชั้นลูกหลานต่อไปนี้  

การเป็นสิ่งกีดกั้นขัดขวางเส้นทางเดิน:   

คำอินโดนีเซีย:  ‘balan’ –กีดขวางทางน้ำ, ‘belan’ –ขัดขวาง, ‘curan’ –ขัดแย้ง ต่อสู้, ‘keran’ –จุกกลั้น, ‘rantas’ –บั่น ทำให้สั้นลง และ ‘rancak’ –โค่น ฟัน

คำไท-ไต:       ‘กาน’, ‘กัน’, ‘กั้น’, ‘กลั้น’, ‘ขั้น’, ‘คัน’, ‘คั่น’, ‘คร้าน’, ‘ค้าน’, ‘ชาน’, ‘ชั้น’, ‘บั่น’, ‘บั้น’, ‘ปัน’, ‘พาน’, ‘พัน’, ‘ฟัน’, ‘ราน’, ‘ลั่น’, ‘สั้น’, ‘หั่น’ และ ‘หลั่น’

การเป็นความยาวรองรับแบกน้ำหนัก:   

คำอินโดนีเซีย:  ‘garan’ –ด้าม หรือก้านยาว, ‘gelanting’ –แขวนห้อย, ‘jaran’ –ม้า, ‘landing’ หรือ ‘landur’ –โค้งห้อย ย้วยยาว, ‘lanjang’ –เรียวยาว, ‘lanjung’ –สูงเรียวปลาย, ‘lantar’ –ม้านั่งยาว, ‘lentur’ –โค้งงอ, ‘paran’ –คาน, ขื่อ, อเส, ‘peran’ –เครื่องโครงหลังคาบ้าน, ‘rancang’ –ไม้เรียวแหลม, ‘ranjang’ –ที่นอน, ‘ranjau’ –ซี่เล็กๆ และ ‘seran’ –รอยขีดข่วนเป็นทางยาว

คำไท-ไต:       ‘ก้าน’, ‘คาน’, ‘คัน’, ‘ป่าน’, ‘ป้าน’, ‘ยาน’, ‘ย่าน’, ‘สาน’, ‘อาน’

การเป็นร่องรอยแตกระแหง:               

คำอินโดนีเซีย:  ‘deran’ –สั่นไหว, ‘lanyak’ และ ‘lenyak’ –หน้าดินแห้งจับตัวแข็ง จึงต้องพรวนดินให้ร่วนซุยก่อนการเพาะปลูก, ‘lanyau’ –ดินโคลนระเหยแห้งตัว, ‘ranyau’ –เร่ร่อน, ไม่อยู่เป็นที่, หลงลืม

คำไท-ไต:       ‘กร้าน’, ‘คัน’, ‘ครั่น’, ‘พรั่น’, ‘ยั่น’, ‘ราน’, ‘ลั่น’, ‘สั่น’, ‘หวั่น’

การเป็นคลื่นขึ้นลงเข้าออก:                

คำอินโดนีเซีย:  ‘delan’ –คลื่น ริ้วรอย, ‘deran’ –การสั่นไหว, ‘kelanjar’ –เด้งขึ้นลง ย้อนกลับคืน, ‘lancap’ –ลื่น เรียบ, ‘lantun’ –ยกขึ้น ย้อนกลับคืน, ‘lenja’ –ไหลย้อย ไม่เป็นระเบียบ, ‘telan’ –กลืน

คำไท-ไต:       ‘กลืน’, ‘คลื่น’, ‘คืน’, ‘ลื่น’

การเป็นเส้นทางลานวิ่งโลดแล่นไปมา:   

คำอินโดนีเซีย:  ‘elan’ –มุ่งไปข้างหน้า, ‘gelandang’ –วิ่งไปทางนั้นทางนี้, ‘jalan’ –ทางวิ่ง ถนน, ‘lancang’ –วิ่งเร็วแรง มุทะลุ, ‘lancar’ –คล่องตัว ไม่ติดขัด, ‘lancut’ –ไหลพุ่งไปข้างหน้า, ‘landa’ –ไหลลงไปทางที่ต่ำ, ‘landai’ –ที่ราบเอียงเทน้อยๆ, ‘lanja’ –ไปนั่นไปนี่, ‘lanjar’ –ยืดยาว คล่องตัว, ‘lantai’ –ชั้น ขั้นบันใด, ‘lantam’ –หุนหัน พลันแล่น, ‘lantas’ –ทางด่วน สายตรง, ‘pelan’ –ทำให้ช้าลง วิ่งช้าๆ , ‘randah’–ไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ , ‘randai’ –ลุยผ่านไป, ‘rendah’ –ต่ำเรี่ยดิน, ‘rantau’ –ชายหาด ชายทะเล, ‘randak’ –เคลื่อนตัวช้าๆ, ‘randuk’ –ข้ามน้ำข้ามทุ่ง, ‘randung’ –วิ่งชน และ ‘saran’ –ชี้แนวทาง

คำไท-ไต:       ‘คลาน’, ‘ถลัน’, ‘ป่าน’, ‘ผ่าน’, ‘พล่าน’, ‘พลัน’, ‘ย่าน’, ‘ร่าน’, ‘ลาน’, ‘ลั่น’, ‘เล่น’, ‘แล่น’, ‘หว่าน’

การล่องลอยค่อยเคลื่อนคล้อย:            

คำอินโดนีเซีย:  ‘pulen’ –บางเบา, ล่องลอย, นุ่มนวล, ‘pulan’ –ข้าวสุกนุ่มกำลังดี และ *bulaN –ผู้ผุดโผล่ขึ้นท่ามกลางทะเลแห่งความมืด และล่องลอยออกไปอย่างอ่อนละมุน ซึ่งเป็นคำเดียวกับ ‘เบลือน’ และ ‘เดือน’ ของพวกไท-กะได

คำไท-ไต:       ‘เขยื้อน’, ‘เคลื่อน’, ‘เดือน’, ‘เบือน’, ‘เพลิน’, ‘เยือน’, ‘เลือน’, ‘เลื่อน’ เป็นต้น (ดูรายละเอียดในเรื่อง ล้อ “เล่น” ให้ถึงใจ โลด “แล่น” ให้ถึงชีวิต)

ซึ่งจะสังเกตว่าคำที่ยกมามีความสอดคล้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ยิ่งขยับลงไปในระดับนามธรรมยิ่งเห็นถึงความพัวพันโยงใย โดยคำอินโดนีเซียยังสามารถรักษารูปลักษณ์ในแบบคำสองพยางค์ไว้ได้เป็นอย่างดี เป็นคำสองพยางค์ที่ประกอบขึ้นจากกระพี้บวกคำรากแก้ว หรือจากคำรากแก้วสองคำบวกกันก็ได้ ในขณะที่คำไท-ไตเป็นคำควบกล้ำพยางค์ครึ่ง (sesquisyllable) หรือเป็นคำพยางค์เดียว (monosyllable) ที่อาจเกิดจากการควบรวมหดสั้นคำสองพยางค์เก่าเดิม หรือแม้แต่เป็นคำที่สร้างขึ้นภายหลัง บนฐานคำควบกล้ำหรือคำพยางค์เดียวก็เป็นได้

กลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับการเรียกขานนาม ‘เรือน’ และ ‘ร้าน’ มากที่สุดคือคำในกลุ่มย่อยที่เกี่ยวกับการเป็นความยาวรองรับแบกน้ำหนัก เป็นกลุ่มคำย่อยที่เน้นเรื่องของหลักการวิศวกรรม ‘คานรองรับน้ำหนัก’ (beam) ของโครงสร้างมากกว่าอื่นใด ซึ่งตรงกับคำอินโดนีเซียปัจจุบันว่า ‘paran’ –คาน, ขื่อ, อเส และ ‘peran’ –เครื่องโครงหลังคาบ้าน และคำไท-ไตว่า ‘ก้าน’ และ ‘คาน’ และถ้าสืบสาวไปในหมู่ ‘คนพูดไท’ จะพบความน่าสนใจเป็นอย่างมาก คัดจากเรื่องเดียวกัน เช่น

คำว่า “ก้าน” (stem) รูปร่างยาวๆ เป็นคำควบรวมหดสั้นปรุงจนสุกได้ที่แล้ว พจนานุกรมไทยฯ ให้ความหมายบางส่วนไว้ว่า “น. ส่วนที่ต่อดอก หรือใบ หรือผล กับกิ่งไม้, เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ก้านตุ้มหู ก้านไม้ขีด; กระดูกกลางแห่งใบไม้บางอย่าง เช่น มะพร้าวจาก.” ซึ่งคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตสืบค้นไว้ว่าเรียกกันอยู่สามสี่พวก ได้แก่ ไทยสยาม, Sapa, Yay และ Saek ว่า “ka:nC1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*ka:nC
ซึ่งตรงกับคำของพวก Kam-Sui ที่รวบรวมไว้โดย Ilya Peiros,ค.ศ. 1998 เช่น พวก Yanghuang เรียก “kan.3” และ Maonan เรียก “kan.6 [*v] และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Kam-Sui ว่า “*ka:n.C”
ถ้าก้านนั้นแข็งแรงและใหญ่โตเพียงพอ ก็อาจใช้เป็น “คาน” (beam) อีกหนึ่งคำรวมหดสั้น เพื่อเอาไว้แบกหาม ตั้งแต่ไม้คานหาบสาแหรก คานกระดก ครกกระเดื่อง จนถึงคานบ้านคานเรือน ที่แปรเปลี่ยนคำเรียกไปเป็น “ขื่อ” สำหรับรองรับโครงหลังคาบ้าน และคานอำนาจเพื่อการถ่วงดุลใดๆ ในคำจำกัดความว่า “น เครื่องเรือนที่ยึดเสาและรองตง ทำด้วยไม้เป็นต้น, ไม้ทำอย่างรอดเพื่อรองรับของหนัก เช่น คานเรือ; ไม้สำหรับหาบหรือหามสิ่งของต่างๆ เรียกว่า ไม้คาน. ก. รองรับหรือเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งรองรับของหนักขึ้นไว้, ถ่วงน้ำหนัก เช่น อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติกับอำนาจของฝ่ายบริหารคานกัน, โดยปริยายหมายความว่า ค้านกัน ยังตกลงกันไม่ได้.”
คำศัพท์ไท-ไตพื้นฐานสืบค้นคำว่า “คาน” (carrying pole) ไว้ดังนี้ ไทยสยาม เรียก “kha:nA2”, พวก Sapa, Bao Yen และ Lungchow เรียกว่า “ka:nA2”, Shangsi กับ Yay เรียก “ha:nA2” และ Saek เรียก “ɣa:nA2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*ԍa:nA
คำของพวก Kam-Sui ที่สืบค้นไว้โดย Ilya Peiros ก็เรียกไม่แตกต่าง เช่น Kam (Southern Dong) เรียก “la:n.2”, Then เรียก “ʔa:n.1”, Yanghuang เรียก “ɣan.1”, Maonan เรียก “ŋga:n.1”, Standard Sui และ Lingam Sui เรียก “Ra:n.1”, Mak และ Jinhua เรียก “ga:n.1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Kam-Sui ว่า “*Ra:n.A”
หากถ้าเรียวเล็กไม่พอใช้ค้ำยัน ก็อาจทำเป็น “คัน” (handle, rod) ไม้หวายยาวเรียว หรือด้ามจับ เช่น คันเบ็ดตกปลา คันร่ม กับความหมายในอีกบางส่วนว่า “น. สิ่งที่มีลักษณะยาวทำด้วยไม้เป็นต้น สำหรับถือหรือปัก เช่น คันเบ็ด คันไถ คันธง; ลักษณะนามเรียกรถหรือของที่มีด้ามถือบางอย่าง เช่น รถ 3 คัน ช้อน 4 คัน เบ็ด 5 คัน.”
พวกไท-ไต เช่น ไทยสยาม เรียก “khanA2”, Shangsi เรียก “khanA1”, Yay เรียก “kanA2” และ Saek เรียก “khalA2” และสืบสร้างคำ Proto-Tai ว่า “*galA
หรือนำมาเป็นคันว่าวผูกสาย “ป่าน” (hemp) ผู้มีความหมายในสองสามนัยยะ ทั้งชื่อของต้นปอป่าน, สายป่าน และการเดินทางของเวลา โดยความหมายว่าปอป่านและสายป่านนั้น พวกไท-ไต เช่น ไทยสยาม, Sapa, Bao Yen, Cao Bang และ Lungchow  เรียกเหมือนกันว่า “pa:nB1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*pa:nB
คำพวก Kam-Sui ของ Ilya Peiros ก็เรียกใช้คล้ายๆ กัน เช่น Mulam เรียก “ŋha:n.1”, Kam (Southern Dong) เรียก “ʔa:n.1”, Yanghuang เรียก “ɣan.1”, Maonan เรียก “ŋga:n.1”, Standard Sui เรียก “Ra:n.1”, Mak และ Jinhua เรียก “ga:n.1”
เหลาดัดโครงเคราให้ออกแนว “ป้าน” (obtuse) พุ่งชันขึ้นรับลมบนไม่มีแส่ส่าย กับความหมายตรงตัวว่าไม่แหลม, รูปร่างโค้งมน หรือมุมป้านก็ว่าได้ ตรงกับคำพจนานุกรมไทยฯ ว่า “ว. ทู่, ไม่แหลม, เช่น เสื้อคอป้าน ถากเสาเข็มให้ป้านๆ.” และควรเป็นคำเก่าแก่อีกคำของพวก “คนพูดไท”
ลมลงพัดตึงส่งว่าวขึ้นเริงสำราญ ควงมือปล่อยเชือกปอยาวเร็วอย่ารั้งรอ ถึงลมชั้นค้างฟ้าจึงหาหลักผูก แหงนมองว่าวตามความ “ยาน” (flabby) ของสายป่านทิ้งท้องช้าง ที่ไม่ใช่คำเดียวกับ “ยาน” ของทางพระเวท เป็นคำเรียกอาการหย่อนยาน กับนิยามอย่างเป็นทางการว่า “ว. อาการที่หย่อนลงหรือห้อยลงกว่าระดับที่ควรมีควรเป็นตามปรกติ.” แม้จะไม่พบในคำศัพท์พื้นฐานของไท-ไตแบบตรงๆ หากลากไปทางเรื่องสายป่าน ก็อาจรู้สึกได้ถึงความนัยที่ห้อยโยงกันอยู่ ยิ่งเทียบกับคำเรียกปอป่านของพวก Kam-Sui ยิ่งเห็นถึงความใกล้ชิด 
หากลมบนเกิดอาการหมุนวนปั่นป่วน ก็อาจถึงคราวกล่าวลาโครงว่าวแสนรัก ผู้จากไปพร้อมกับ “ย่าน” (climber) ป่านว่าว ซึ่งมีการใช้ในสองสามนัยยะ เช่นนัยยะหนึ่งเป็นชื่อเรียกของเถาไม้ หรือพืชเลื้อยพันธุ์ต่างๆ ในภาษาไทยว่า ย่านลิเภา ย่านไทร เป็นต้น มีคำจำกัดความตรงนี้ว่า “น. เครือเถา เช่น ย่านวันยอ ย่านลิเภา, เรียกรากไทรที่ห้อยย้อยลงมาว่า ย่านไทร.”  
คงได้แต่ก้มหน้าคอตกกลับบ้านไปนั่งจัก “สาน” (weave) ขึ้นโครงว่าวตัวใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับเครื่องจักสานต่างๆ แต่ในอดีต สืบต่อลงมายังการสอดประสานงานเช่นในปัจจุบัน บนคำจำกัดความว่า “ก. อาการที่ใช้เส้นตอกทำด้วยไม้ไผ่ หวาย กก ใบลาน เป็นต้น ขัดกันให้เป็นผืน เช่น เสื่อ หรือทำขึ้นเป็นวัตถุมีรูปร่างต่างๆ เช่น กระบุง กระจาด.”
เป็นคำเก่าของพวกไท-ไตทั้งหลาย เช่น ไทยสยาม, Sapa และ Saek เรียก “sa:nA1”, พวก Bao Yen เรียก “tha:nA1”, พวก Cao Bang, Lungchow และ Shangsi เรียก “ɬa:nA1” และ Yay เรียก “θa:nA1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ได้ว่า “*sa:n”
พวก Kam-Sui เรียก “สาน” (weave, plait) คล้ายกับพวกไท-ไต เช่น พวก Kam (Southern Dong), Mak และ Jinhua เรียก “sa:n.1”, Then เรียก “tha:n.1”, Maonan เรียก “ta:n.1” และ Standard Sui เรียก “ha:n.1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Kam-Sui ว่า “*s(r)a:n.1”
และพวก Hlai บนเกาะไหหลำหลายกลุ่ม เช่น Bouhin,Ha Em,Lauhut, Tongzha, Zandui และ Baoting มีคำเรียกที่หลับที่นอน (mattress) ซึ่งสืบค้นไว้โดย Peter Norquest ในท่วงทำนองเหมือนกันอย่างน่าสนใจว่า “ka:n1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า “*ka:n”

เป็นกลุ่มคำในภาษาคู่ขวัญ *lan และ *ran ที่พัวพันกันแต่ครั้งแรกเริ่มและพัฒนาลงมาเป็นคำเรียกบ้านเรือนของพวกไท-กะไดในชั้นหลัง ดังคำพูดที่พบได้ในพจนานุกรม Austronesian Basic Vocabulary Database ปี ค.ศ. 2008 ซึ่งต่างเรียกด้วยรูปคำที่คลับคล้าย โดยส่วนใหญ่ใช้อักษรเสียงนำทั้ง ร.เรือ และ ล.ลิง หรือเสียงต้นที่มีความสั่นไหวสอดแทรกอยู่ในตัว มีเพียงบางส่วนที่เป็นเสียงไร้ซึ่งการสั่นไหว และสระใช้ปะปนกัน ทั้ง ‘อะ-อา’, ‘อึ-อือ’, ‘อู’, ‘เออะ-เออ’ และ ‘เอือ’ เช่น

พวกก้ำ-สุย (Kam-Sui):          Dong-Southern เรียกว่า jan212, Ai-Cham (Diwo), Ai-Cham (Taiyang), Mak (Laliu) และ Maonan เรียกว่า ja:n1, Chadong เรียกว่า hja:n1, Then เรียกว่า ra:n2, Sui เรียกว่า ɣaan2, Mulam (Dongmen) และ Mulam (Siba) เรียกว่า ɣa:n2, Mak (Yangfeng) เรียกว่า ra:n1, Dong–Northern เรียกว่า jan22, แล้วสืบสร้างเป็นคำ Proto-Kam-Sui ว่า *hra:n1

พวกลักเกีย (Lakkja):              Ong Be (Lincheng) เรียกว่า lan2

พวกกระ (Kra):                     Paha เรียกว่า qaan322, Laha (Noong Lay) เรียกว่า lon33, สืบสร้างเป็นคำ Proto-Kra ว่า *kran A (พวกกระเกือบทั้งหมดจะเรียกด้วยคำอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปมาก)

พวกไหล (Hlai):                    Bouhin เรียกว่า rɯ:n1 (Peter Norquest, ค.ศ. 2007), สืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *rɯ:n (Norquest) และ *arɨ:n A (Ostapirat) (พวกไหลส่วนใหญ่จะเรียกด้วยคำเช่นว่า luŋ3, ploŋ3, poŋ3 เป็นต้น)

และพวกไท-ไต (Tai):             Proto-Tai สืบสร้างได้ว่า *rɤ:n A

พวกไท-ไตสาขาเหนือ:            Bouyei (Wangmo) เรียกว่า ða:n31, Saek เรียกว่า ra:n4, Zuang (Wuming) และ Laibin เรียกเหมือนกับพวก Mulam ว่า ɣa:n2, Shanglin เรียกว่า hja:n2, Guigang เรียกเหมือนกับ Then ว่า ra:n2, Lianshan เรียกว่า ja:n2, Qinzhou เรียกว่า la:n2, long’an เรียกว่า hla:n2, และ Fusui (Central) เรียกว่า lɯ:n2

พวกไท-ไตสาขากลาง:             Tày (Cao Bằng) เรียกว่า rɯən5, Shangsi และ Chongzuo เรียก lu:n2, Ningming เรียกว่า lɯ:n2, Longzhou เรียกว่า ɬə:n2, Daxin เรียกว่า ɬɯ:n2, Debao และ Jingxi เรียก ru:n2,  Guangnan Nong เรียกว่า lo:n2 และ rɯən2, Yanshan Nong เรียกว่า rɯn2, และ Wenma Tu เรียกว่า zun2

พวกไท-ไตสาขาตะวันตกเฉียงใต้:         Shan เรียกว่า hɤn4, Dehong และ Tai Phake เรียกว่า hən2,

จะสังเกตว่าคำเก่าที่สืบสร้างโดยนักภาษาศาสตร์นั้นแสดงรูปคำที่ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน คือขึ้นต้นด้วยเสียง ร.เรือ หรือควบกล้ำ ร.เรือ ตามด้วยสระ 4 รูปแบบ อาทิ ‘อะ’ หรือ ‘อา’ หรือ ‘อือ’ หรือไปถึง ‘เออ’ หากลงท้ายคำด้วยเสียง น.หนู และสำเนียงออกโทนต่ำเหมือนๆ กัน ได้แก่ Proto-Kam-Sui - *hra:n1, Proto-Kra - *kran A, Proto-Tai - *rɤ:n A และ Proto-Hlai โดย Peter Norquest - *rɯ:n และโดยอาจารย์วีระ โอสถาภิรัตน์ - *arɨ:n A ซึ่งผู้เขียนตีความว่าคำสืบสร้างในระดับนี้เป็นตัวชี้นำชั้นดีถึงการสืบสายถ่ายทอดลงมาจากคำดั้งเดิมแรกสุดชนิด Proto-Tai-Kadai ในรูปแบบของคำสองพยางค์ ที่มี ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ เป็นแก่นแกนหลัก และถ้าหากมองจากคำสืบสร้างที่มีแต่เสียง ร.เรือ เท่านั้น ก็อาจเป็นได้ว่ามาจาก *ran มากกว่า *lan แต่ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปแบบเต็มร้อย เพราะภาษาตั้งต้นนั้นมีทั้ง *lan และ *ran ซึ่งมีความหมายใกล้ชิดสนิทแนบกันแบบไม่ธรรมดา และกว่าจะลงมาถึงคำเรียกบ้านว่า ‘เรือน’ ของพวกไท-กะได ทั้งคู่ก็อาจพัวพันป่ายไขว้กันไปมาจนยากที่จะแยกออกได้ว่าใครเป็นใครกันแน่ ดังเช่นคำเรียกชื่ออื่นๆ ในกลุ่มคำย่อยของ *lan และ *ran ของพวกไท-ไต ที่ปรากฏร่องรอยของการใช้เสียงนำทั้ง ร.เรือ และ ล.ลิง ปะปนกันอย่างคลุมเครือ จนไม่สามารถแยกคำตัวผู้และคำตัวเมียออกจากกันได้ แม้แต่คำในภาษาอินโดนีเซียที่จัดว่าอนุรักษ์นิยมมากกว่าก็ยังจำแนกได้ยากเย็นเต็มที  

ซึ่งอาจเป็นที่สรุปได้ว่า คำเรียกที่อยู่อาศัยว่า ‘เรือน’ และ ‘ร้าน’ นั้น ควรมีลำดับพัฒนามาจากภาษา ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ ในคำว่า *lan และ *ran ที่สอดคล้องทั้งรูปคำและความหมายเบื้องหลัง โดยเฉพาะการถ่ายเทคำเรียกจากโครงสร้างคานรองรับน้ำหนัก ขึ้นมาเป็นที่อยู่อาศัยในพวกไท-กะไดเป็นการเฉพาะ ซึ่งแตกต่างไปจากคำเรียกเก่าก่อนว่า ‘รัง/รุง’ หรือ ‘รวง’ หากยังสัมพันธ์ถึงกันเป็นอย่างดีผ่านรูปทรงและโครงสร้างเก่าแก่ในแบบ ‘ยกพื้นเสาสูงมีใต้ถุนด้านล่างและรูปทรงโค้งเว้าโอบล้อมโดยรอบ’   

จึงเป็นสองแนวทางที่ใช้อธิบายความเป็นมาของคำเรียกบ้านว่า ‘เรือน’ ในหมู่ ‘คนพูดไท’ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเติมตัวปัจจัย *-an หรือแนวทางที่พัฒนามาจาก ‘คาน’ รองรับน้ำหนัก และอยากขอเสนอเพื่อการถกเถียงไว้ ณ ที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560    

หมายเลขบันทึก: 631856เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2017 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2017 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท