บทบาทภาคธุรกิจกับการต้านทุจริตติดสินบน ปัจฉิมบท : การพัฒนาเครือข่าย...เพื่อความยั่งยืน???


เราไม่ได้เดินโดดเดี่ยว แต่มีคนเดินไปยังเป้าหมายเดียวกัน แค่อาจใช้ถนนคนละสาย หากวันใดเหนื่อยล้า หาโอกาสพาคนเหล่านั้นมาพบปะกัน เติมกำลังใจให้กัน แล้วก็กลับไปทำหน้าที่ต่อไป


บทบาทภาคธุรกิจกับการต้านทุจริตติดสินบน ปัจฉิมบท : การพัฒนาเครือข่าย...เพื่อความยั่งยืน???

 

ผมบันทึกการไปทำหน้าที่วิทยากรผู้ดำเนินรายการบนเวทีเสวนาและอภิปราย “บทบาทภาคธุรกิจกับการต้านทุจริต” ในบันทึก https://www.gotoknow.org/posts/630951 และ  https://www.gotoknow.org/posts/630975 แต่เป็นการบันทึกเสียมากกว่าการแสดงทัศนะส่วนตน จึงคิดว่า น่าจะแสดงทัศนะแห่งตนเอาไว้บ้าง บวกหลักการบางอย่างให้พอได้อรรถ ไว้ว่าเผื่อในอนาคตจะได้นำไปใช้ประโยชน์ เพราเกรงความความทรงจำจะค่อยๆเลือนไปตามวัย ผมทำลายสมองมากไปเกินวัย....ในห้วงที่ผ่านมา

ผมผ่านงานสร้างเครือข่ายมาบ้าง ไม่มาก  ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและทายท้าเหล่านักจัดการเครือข่ายเสมอคือ จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายชุมชน  เครือข่ายนิสิตนักศึกษา  เครือข่ายธุรกิจขายตรง เครือข่ายศิษย์เก่า เครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ หลายครั้งเราทุ่มทรัพยากรลงไปเพื่อการสร้างเครือข่ายหรือการทำเครือข่ายให้ยั่งยืน.......แล้วมันไม่ยั่งยืนอย่างใจเราต้องการ  ผมได้บทเรียนราคาแพงจากการสร้างเครือข่ายต้านคอรัปชั่นของนิสิตนักศึกษาที่เราทำงานร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่เราสร้างเครือข่ายร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ 90 กว่าสถาบัน ต้องให้เครดิตคุณขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ และทีมงาน

ที่ผมว่าได้บทเรียนราคาแพง ไม่ใช่จะหมายถึงความล้มเหลวแต่เพียงถ่ายเดียว หากจะบอกว่าเราลงทุนงบประมาณไปมากเหมือนกันที่จะสร้างเครือข่าย ผนวกกับเวลาและกำลังคนที่ใช้ในการทำงานสร้างเครือข่าย เพราะถือเป็นต้นทุนที่เราใช้ไป...แต่ถามว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่???? คงตอบได้ยาก หากวัดค่าความสำเร็จที่ปริมาณ เรามีนิสิตนักศึกษาจาก 90 ถาบัน ร่วม 1,500 คนเป็นเครือข่ายที่อย่างน้อยๆก็เคยมาร่วมกิจกรรม เรา(เคย)มีร้านกาแฟคอรัปชั่นฉันไม่ขอรับที่พัฒนาขึ้นจากคำว่า “สภากาแฟ” ของน้องๆนักศึกษาในค่าย ที่แม้ตอนนี้มันจะล้มลงไปแล้วและเงียบไปตามกาล เรามีกิจกรรมและกลไกที่ทำให้ที่ประชุมเศรษฐกิจโลกยกให้เป็น Beat Practice by World Economic Forum 2013 เป็นต้น แล้วแบบนี่เป็นการสร้างเครือข่ายที่ยั่งยืนหรือไม่? ผมไม่แน่ใจว่า UNDP ได้ถอดบทเรียนการสร้างเครือข่ายแล้วสรุปไว้ว่าอย่างไร ส่วนผมเองก็ยังไม่เคยถอดบทเรียนเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย

ทัศนะของการสร้างความยั่งยืน ผมมองว่ารูปแบบการจัดกิจกรรมของ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงอุตสาหกรรม (ศปท.) ที่จัดสัมมนา เสวนาหรืออภิปราย โดยให้ผู้ประกอบการสมัครและมานั่งรับฟัง(เฉยๆ) คงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ดีที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวสำคัญๆภายใต้บทบัญญัตและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่หากจะสร้าง “เครือข่าย” ให้ยั่งยืน คงต้องใช้ “กระบวนการการมีส่วนร่วม” ให้มากขึ้น

เวทีของการ “รับฟัง” เรื่องราวที่แต่ละสถานประกอบการไปประสบพบเจอถือเป็น “ประสบการณ์ตรง” ที่ช่วยเป็นข้อมูล/สถิติที่นำไปทำงานแก้ปัญหา การระดมความเห็นในแบบพื้นฐานที่เราคนไทยชอบทำอยู่ก็อาจเป็นกลไกหนึ่งที่น่าจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนารู้สึกได้รับความสำคัญมากกว่าการมานั่งฟัง

บทเรียนที่ผมได้จากเครือข่ายนิสิตนักศึกษาคือ การให้แต่ละพื้นที่ได้ทำงานในแบบฉบับของเขาเอง ตามข้อจำกัดที่แตกต่าง หลากหลาย แต่ส่วนกลางหรือคนกลาง มีหน้าที่สนับสนุน งบประมาณ กำลังคน หรือการกระตุ้นการทำงานในพื้นที่ แล้วสร้างเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อรับฟังเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ รับฟังข้อจำกัด ปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือเหตุของความล้มเหลว แล้วทำหน้าที่เติมกำลังใจกันในเวทีกลาง... เพราะงานเหล่านี้เป็นงานอาสา... แม้กฎหมายจะบอกว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะต้อง “ทำ” หรือ”สร้างกลไก” เพื่อเป็นการป้องกันภายใน... แต่รูปแบบหรือต้นแบบอาจจะยังมีน้อย การเฟ้นหาต้นแบบที่ดีแล้วนำมาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน จะช่วยให้แต่ละหน่วยเล็กๆได้ทำหน้าที่เพื่อสร้างความเข้มแข็ง....หน่วยงานกลางอย่าง ศปท. ต้องเป็นหน่วยงานที่เชื่อมผสาน ติดตาม ให้กำลังใจ แล้วสร้างเวที “รวมพล” มาเล่าให้กันฟัง.... เพราะการจะไปสร้างรุปแบบเดียวกันจากส่วนกลาง แล้วให้ปฏิบัติตาม ดูจะเป็นรูปแบบของภาคราชการ ยกตัวอย่างอย่าง การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย ส่วนกลางที่มีหน้าที่ประเมินใช้เกณฑ์เดียวกันในการทำงาน ไม่ได้จำแนกแยกแยะ มหาวิทยาลัยไทยมีหลายรูปแบบ มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ที่เขาเรียก ม.นอกระบบ) มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันเฉพาะทาง วิทยาลัยชุมชน ฯ แต่หลายตัวชี้วัด(ความสำเร็จและความล้มเหลว) ใช้เกณฑ์กลางเป็นมาตรวัด.... ก็จะเห็นความล้มเหลวอยู่มากมายจากเกณฑ์ดังกล่าว

 

การสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ่อยๆ จะช่วยกระตุ้นการทำหน้าที่ในแต่ละพื้นที่...เพื่อเติมกำลังใจให้กันและกัน เพื่อเรียนรู้ความต่างในเป้าหมายร่วมกันคือ การจัดการกับ “คอรัปชั่น”

 

เราไม่ได้เดินโดดเดี่ยว แต่มีคนเดินไปยังเป้าหมายเดียวกัน แค่อาจใช้ถนนคนละสาย หากวันใดเหนื่อยล้า หาโอกาสพาคนเหล่านั้นมาพบปะกัน เติมกำลังใจให้กัน แล้วก็กลับไปทำหน้าที่ต่อไป

 

มอดินแดงแห่งความหวัง

12 กรกฎาคม  2560

 





หมายเลขบันทึก: 630990เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2017 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2017 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับครู

-"เราไม่ได้เดินโดดเดี่ยว แต่มีคนเดินไปยังเป้าหมายเดียวกัน แค่อาจใช้ถนนคนละสาย"

-ขอบคุณครับ

ถ้าเราคิดว่าเราเดินแบบโดดเดี่ยวก็จะเปลี่ยนวเหงา ใจห่อเหี่ยว ท้อถอย แต่หากมองว่าโลกนี้มันสวยงาม มีแง่งามตามทาง มีเพื่อนๆที่ทำเรื่องดีๆมากมาย กำลังใจก็จะชุ่มชื่น ชูใจ ให้ทำดีต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท