ข้อผิดพลาดของการจัดทำบทความวิชาการ : หลักฐานเชิงประจักษ์จากการสำรวจวารสารวิชาการในประเทศไทย


ข้อผิดพลาดของการจัดทำบทความวิชาการ : หลักฐานเชิงประจักษ์จากการสำรวจวารสารวิชาการในประเทศไทย


Errors of academic article edition : Empirical evidence from exploration of academic journals in Thailand

การเผยแพร่ผลงานวิชาการ (Academic publication) มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของการวิจัยและองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เนื่องจากการเผยแพร่ผลงานวิชาการช่วยให้เกิดการแพร่กระจายขององค์ความรู้ (Knowledge distribution) ไปสู่คนอื่นๆ ในวงกว้างและเป็นภาพเชื่อมต่อ (Jigsaw) ที่ช่วยให้สร้างความเข้าใจในองค์ความรู้ (Knowledge comprehension) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้สมบูรณ์มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นฐานให้เกิดการขยายขอบเขตการวิจัยและองค์ความรู้ (Research and knowledge expansion) ให้มีความกว้างขวางและลึกซึ้งได้มากยิ่งขึ้นต่อไปอีก เพราะงานวิชาการที่ถูกเผยแพร่จะช่วยให้นักวิจัยและนักวิชาการได้รับรู้และเข้าใจว่าองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว มีประเด็นใดที่ถูกค้นพบหรือรู้กันแล้ว และมีอะไรที่ยังไม่ถูกค้นพบหรือยังต้องการการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปอีก ซึ่งช่วยให้คนอื่นๆไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรมาทำการศึกษาหรือวิจัยซ้ำในเรื่องที่ถูกศึกษาไปแล้ว อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างเครือข่ายทางวิชาการให้เกิดขึ้น โดยเกิดการติดต่อเพื่อสร้างความร่วมมือหรือรวมกลุ่มกันของนักวิชาการที่สนใจในเรื่องเดียวกัน นอกจากนี้การเผยแพร่ผลงานวิชาการยังมีความสำคัญต่อความสำเร็จของบุคคล เช่น ผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาโทหรือเอกที่เงื่อนไขหลักสูตรกำหนดให้ผลงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ เป็นต้น และยังมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าในอาชีพของบุคคลที่ทำงานด้านการวิจัยหรือวิชาการ เช่น นักวิจัย อาจารย์ในสถาบันการศึกษา เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เนื่องจากการเผยแพร่ผลงานวิชาการนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ (Academic rank promotion) การจ้างงานหรือการต่อสัญญาจ้างงาน (Employment contract extension) การขอรับทุนวิจัย (Research fund) การรับเชิญจากหน่วยงานต่างๆ เช่น เป็นวิทยากรพิเศษ (Guest lecturer) เป็นนักวิชาการรับเชิญ (Visiting scholar) รวมทั้งเป็นชื่อเสียง (Reputation) และเกียรติภูมิ (Honor) ของเจ้าของผลงานวิชาการรวมทั้งสถาบันของเจ้าของผลงานอีกด้วย การเผยแพร่ผลงานวิชาการแต่ละเรื่องต้องผ่านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การวิเคราะห์ การสรุปและอภิปรายผลมาอย่างดี โดยมีเหตุผลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ ก่อนจะนำมาสังเคราะห์เพื่อเขียนเป็นบทความวิชาการแต่ละเรื่องได้ ดังนั้นผลงานวิชาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงถึงความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิชาการในสาขาเฉพาะของเจ้าของผลงานได้เป็นอย่างดี


การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มักเผยแพร่ในวารสารวิชาการ (Academic journal) หรือการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ (Academic conference) ที่มีการทำรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceeding) ด้วย ในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการหรือในรายงานสืบเนื่องดังกล่าวต้องมีการเตรียมต้นฉบับผลงานทางวิชาการเพื่อตีพิมพ์ (Manuscript) ซึ่งในการเตรียมต้นฉบับนี้ นอกจากการทบทวน ค้นคว้าข้อมูล และการทำวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลแล้ว การเขียนเนื้อหาบทความเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการเผยแพร่นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการแต่ละเรื่อง ซึ่งการเขียนผลงานวิชาการให้ได้รับการตอบรับเพื่อตีพิมพ์ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การฝึกฝนในการเขียนเพื่อให้เกิดความสละสลวยและความถูกต้องทางภาษา การเรียบเรียงลำดับของเนื้อหาเพื่อให้มีความสัมพันธ์ของเนื้อหาภายในบทความและความสมบูรณ์ของเนื้อหา ความอดทนและความพยายามในการเขียนและการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาตามที่ได้รับการเสนอแนะจากบุคคลต่างๆ เช่น อาจารย์ที่ปรึกษา (Advisor) ผู้มีส่วนร่วมในการเขียนบทความ (Article authorship contributors) บรรณาธิการวารสาร (Editor) รวมทั้งกองบรรณาธิการ (Editorial board) และพิชญพิจารญ์หรือผู้พิจารณาบทความ (Peer reviewer) เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเขียนให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้เพื่อให้ได้รับการพิจารณายอมรับให้เผยแพร่ในวารสารวิชาและเพื่อให้ผู้ที่อ่านผลงานได้เข้าใจเนื้อหา อ่านแล้วรู้สึกลื่นไหล ไม่สะดุด ซึ่งผู้อ่านเองสามารถรับรู้ได้จากการอ่านบทความวิชาการว่าผลงานดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ความน่าเชื่อถือของผลงานวิชาการนอกจากจะสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของเจ้าของผลงานวิชาการเองแล้วยังสามารถสะท้อนถึงสิ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของผลงานอีกด้วย เช่น คุณภาพของสถาบันของเจ้าของผลงาน คุณภาพของอาจารย์ที่ปรึกษา คุณภาพของการเรียนการสอนในหลักสูตร เป็นต้น นอกจากนี้ความน่าเชื่อถือของผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการย่อมสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือและคุณภาพของวารสารวิชาการ รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาบทความ ซึ่งได้แก่ บรรณาธิการวารสาร รวมทั้งกองบรรณาธิการ และผู้พิจารณาบทความ (Peer reviewer) ด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณภาพและความน่าเชื่อถือนี้ย่อมส่งผลต่อชื่อเสียง (Reputation) ของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งส่งผลต่อการตัดสินใจของคนอื่นๆที่จะนำไปใช้อ้างอิง (Citation) และการส่งบทความมาให้ทางวารสารพิจารณาตีพิมพ์ในอนาคตอีกด้วย

ความน่าเชื่อถือของบทความวิชาการมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้อ่าน เนื่องจากหากผู้อ่านไม่เชื่อถือในบทความวิชาการที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการนั้นๆแล้ว ผู้อ่านมักจะตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือในแง่อื่นๆตามมาด้วย เช่น ความน่าเชื่อถือของเจ้าของผลงานและสถาบันของเจ้าของผลงาน ความน่าเชื่อถือของเนื้อหาในบทความ ความน่าเชื่อถือของวิธีวิจัยและผลการวิจัย ความน่าเชื่อถือของบทความวิชาการอื่นๆในวารสารนั้นๆ ความน่าเชื่อถือของกระบวนการพิจารณาบทความเพื่อตีพิมพ์ ซึ่งหมายถึงความน่าเชื่อถือของตัวบรรณาธิการวารสาร รวมทั้งกองบรรณาธิการ และผู้พิจารณาบทความนั่นเอง ซึ่งหากผู้อ่านเกิดความรู้สึกไม่เชื่อถือ อาจส่งผลต่อชื่อเสียงของเจ้าของผลงานและวารสารวิชาการรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการเผยแพร่บทความวิชาการทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของบทความวิชาการทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ผู้อ่านสามารถสังเกตเห็นความผิดพลาดได้อย่างชัดเจนจากการอ่าน

ความผิดพลาดที่ผู้อ่านพบในการอ่านบทความทางวิชาการ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อถือของผู้อ่าน เช่น การสะกดคำผิด การแปลภาษาผิด การเขียนไม่ถูกหลักไวยากรณ์ ขาดการเรียบเรียงลำดับเนื้อหาและเนื้อหาไม่มีความสอดคล้องกัน เช่น เนื้อหาไม่มีความสอดคล้องกับหัวข้อหรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และประเด็นวิจัย รวมทั้งเนื้อหาภายในบทความไม่มีความสอดคล้องกันเอง ซึ่งมักเกิดการขาดการฝึกฝนในการเขียนและขาดความสามารถในการสังเคราะห์เชื่องโยงองค์ความรู้ หรือขาดการแนะนำจากเชี่ยวชาญในการเขียนบทความวิชาการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวิธีการวิจัยที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง การสรุปและอภิปรายผลที่ใช้เหตุผลไม่ชัดเจนหรือขาดเหตุผลมาสนับสนุน รูปแบบการเขียนที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของวารสาร การใส่อ้างอิงไม่ถูกต้องครบถ้วน ขาดความคงเส้นคงวาในการจัดรูปแบบบทความ เป็นต้น ซึ่งหากผู้อ่านพบความผิดพลาดในประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้ผู้อ่านลดความน่าเชื่อถือหรือตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบทความได้ อย่างไรก็ตามความสามารถของผู้อ่านในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของบทความวิชาการอาจมีความแตกต่างกัน เนื่องจากผู้อ่านมีภูมิหลังทางวิชาการและความเชี่ยวชาญด้านทางภาษาที่แตกต่างกันไป ผู้อ่านบางคนจึงอาจไม่สามารถรับรู้ถึงข้อผิดพลาดในบางประเด็นที่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญหรือความรู้ในด้านนั้นๆพอสมควร เช่น หลักไวยากรณ์ วิธีการวิจัย เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความผิดพลาดเพียงบางประเด็นเท่านั้นที่ผู้อ่านส่วนใหญ่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน เช่น การสะกด การแปลภาษา การเรียบเรียงลำดับเนื้อหา การใส่อ้างอิงครบถ้วน เป็นต้น

ความถูกต้องของบทความวิชาการเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียน (Author) ที่เป็นเจ้าของบทความ (Article authorship) เป็นลำดับแรกในการตรวจสอบต้นฉบับที่จะส่งให้พิจารณาให้เรียบร้อย โดยอาจได้รับคำแนะนำหรือการตรวจทานจากอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ร่วมเขียนบทความ ก่อนส่งให้วารสารพิจารณา ซึ่งเมื่อมีการส่งบทความวิชาการมาให้วารสารพิจารณาแล้ว บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ และผู้พิจารณาบทความจะต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของบทความ หากพบว่ามีความผิดพลาดปรากฎในบทความ ควรแจ้งและให้คำแนะนำแก่เจ้าของบทความเพื่อกลับไปปรับปรุงแก้ไขเนื้อหา (Revision) ก่อนจะตอบรับเพื่อตีพิมพ์ต่อไป ทั้งนี้หากพิจารณาแล้วพบว่าไม่ควรรับบทความไว้ตีพิมพ์ ควรแจ้งให้เจ้าของบทความทราบพร้อมเหตุผล การตรวจทานบทความวิชาการก่อนการตีพิมพ์จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยลดความผิดพลาดที่อาจปรากฎให้ผู้อ่านเห็น ซึ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บทความวิชาการ และยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับบทความและวารสารวิชาการนั้นๆอีกด้วย อย่างไรก็ตามการขาดการตรวจทานที่เข้มงวดย่อมส่งผลให้มีความผิดพลาดปรากฎสู่สายตาผู้อ่านได้ โดยพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดบางประเด็นที่เป็นความผิดพลาดที่เห็นได้ชัด ซึ่งเจ้าของบทความ บรรณาธิการและกองบรรณาธิการ รวมทั้งผู้พิจารณาบทความต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของตนเองและวารสารวิชาการ


ถึงแม้วารสารวิชาการจะมีการแจ้งกฎเกณฑ์ รูปแบบการเขียน กระบวนการในการพิจารณาบทความและเงื่อนไขในการตีพิมพ์  เพื่อทรงไว้ซึ่งคุณภาพและความน่าเชื่อถือของวารสารวิชาการก็ตาม แต่ที่ผ่านมาผู้เขียนพบว่ามีความผิดพลาดที่พบในบทความวิชาการที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งความผิดพลาดบางอย่างเป็นความผิดพลาดที่ชัดเจน และไม่น่าเชื่อว่าจะหลุดรอดจากการตรวจสอบโดยเจ้าของบทความ บรรณาธิการและกองบรรณาธิการ รวมทั้งผู้พิจารณาบทความมาได้ จนบางครั้งต้องตั้งคำถามว่าทางบรรณาธิการและกองบรรณาธิการได้ตรวจทานบทความจริงหรือไม่ หรือมีการส่งบทความให้ผู้พิจารณาบทความได้พิจารณาตรวจสอบจริงหรือไม่ นอกจากนี้ที่ผ่านมาไม่ค่อยพบงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการจัดทำบทความวิชาการที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการในประเทศไทยมากนัก การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่มักศึกษาในประเด็นการหลักภาษาในการเขียนบทความวิชาการ แต่ประเด็นอื่นๆยังไม่ค่อยมี ทำให้ผู้ที่จะเขียนบทความวิชาการ บรรณาธิการและกองบรรณาธิการ รวมทั้งผู้พิจารณาบทความ ขาดความระมัดระวังในการตรวจทานในขั้นตอนการจัดทำบทความวิชาการ ผู้เขียนจึงต้องการนำความผิดพลาดต่างๆที่พบเห็นได้ชัดเจนจากการอ่านบทความวิชาการในวารสารวิชาการหลายฉบับของไทยมาเผยแพร่เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้แก่ผู้ที่จะเขียนบทความวิชาการ บรรณาธิการและกองบรรณาธิการ รวมทั้งผู้พิจารณาบทความได้ทราบ เพื่อจะได้เพิ่มความรอบคอบในการตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเพื่อพัฒนาการดำเนินการจัดทำวารสารวิชาการของไทยให้มีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพดียิ่งขึ้น


ตัวอย่างความผิดพลาดที่พบในการจัดทำบทความวิชาการในวารสารวิชาการไทยมีดังนี้


- ชื่อบทความภาษาไทยและภาษาอังกฤษไม่ตรงกัน

- การใช้ย่อหน้าไม่สม่ำเสมอ

Description: D:\My picture\Picture3.png

- การแปลประโยคในบทคัดย่อจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษไม่ถูกต้อง เช่น

“เก็บข้อมูลโดยการแจกแบบสอบถาม โดยผู้ศึกษาเป็นผู้เก็บด้วยตัวเอง” แปลเป็น “This study is collective data on distribution questionnaire, this researcher are coach of Thailand”

Description: D:\My picture\Picture2.png

- การสะกดคำไม่ถูกต้อง

Description: D:\My picture\Picture1.png

- รูปแบบการเขียนไม่สม่ำเสมอและไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของวารสาร เช่น

1. ในวารสารเดียวกันชื่อบทความบางบทความมีแต่ภาษาไทยแต่ไม่มีภาษาอังกฤษ

2. ในวารสารเดียวกัน บางบทความมีบทคัดย่อภาษาไทย แต่ไม่มีบทคัดย่อภาษาอังกฤษ

ตัวอย่างบทความที่มีทั้งบทคัดย่อภาษาไทย และบทคัดย่อภาษาอังกฤษ

 

ตัวอย่างบทความที่มีแต่บทคัดย่อภาษาไทย

 

ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน

- ใส่อ้างอิงท้ายบทความไม่ครบ

Description: D:\My picture\Picture5.png

- ข้อเสนอแนะไม่สอดคล้องกับบทความ

Description: D:\My picture\Picture4.png

จะเห็นได้ว่า ตัวอย่างความผิดพลาดที่ผู้เขียนนำมาแสดงให้เห็น เป็นความผิดพลาดที่ผู้อ่านทั่วไปสามารถเห็นได้ชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการเขียน ด้านภาษา หรือวิธีวิจัยก็ได้ ซึ่งเกิดจากการขาดความรอบคอบในการเขียนบทความ และขั้นตอนการตรวจทานที่ไม่เข้มงวดเพียงพอจนปล่อยให้มีความผิดพลาดที่เห็นได้ชัดปรากฎในบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการตรวจทานเป็นอย่างดี แต่อาจมีความผิดพลาดที่หลุดรอดจากขั้นตอนการตรวจทานได้ หากพบว่ามีความผิดพลาดในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารควรรีบดำเนินการแก้ไข เช่น การแจ้งแก้ไขข้อผิดพลาดให้บรรณาธิการทราบ เพื่อให้บรรณาธิการดำเนินการแก้ไขต่อไป


ความผิดพลาดที่ปรากฎในวารสารวิชาการไทยมักไม่ค่อยได้รับการแก้ไขเท่าใดนัก หากเป็นวารสารวิชาการต่างประเทศที่มี impact factor สูงจะมีนโยบายในการแก้ไขความผิดพลาดที่ปรากฎในบทความวิชาการในวารสารวิชาการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและคุณภาพของวารสารเอง ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันพบว่าวารสารวิชาการไทยยังไม่มีการเผยแพร่ออนไลน์ล่วงหน้าหรือ Advance Online Publication (AOP) ก่อนการตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม (Printing publication) เหมือนกับวารสารวิชาการหลายๆรายของต่างประเทศ ซึ่งการเผยแพร่ออนไลน์ล่วงหน้าจะมีโอกาสให้ผู้ที่อ่านบทความเห็นข้อผิดพลาดและแจ้งให้มีการแก้ไขก่อนที่จะตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม เช่น การแจ้งแก้ไขจากความผิดพลาดที่เกิดจากผู้เขียน (Corrigendum) การแจ้งแก้ไขจากความผิดพลาดที่เกิดจากวารสาร (Erratum) การแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทควาทที่ถูกตีพิมพ์ไปแล้ว (Addendum) รวมทั้งการถอดบทความออกจากการเผยแพร่ของวารสารวิชาการ (Retraction) เป็นต้น วารสารวิชาการไทยส่วนมากมักเผยแพร่ในรูปแบบการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มเลยโดยไม่มีการเผยแพร่ออนไลน์ล่วงหน้า ซึ่งหากพบความผิดพลาดของบทความวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มแล้วจะแก้ไขได้ยาก ดังนั้นวารสารวิชาการไทยจึงควรพัฒนาให้มีรูปแบบเผยแพร่ออนไลน์ล่วงหน้า เพื่อเพิ่มการร่วมตรวจสอบโดยผู้อ่านก่อนการตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดที่จะปรากฎในเวอร์ชั่นที่พิมพ์เป็นรูปเล่มแล้ว (Print version) อย่างไรก็ตามแม้ทางวารสารวิชาการจะมีเพียงแค่การตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม แต่ไม่ควรปล่อยปะละเลยความผิดพลาดของบทความวิชาการที่ปรากฎในฉบับที่ตีพิมพ์ไปแล้ว ทั้งนี้ทางวารสารวิชาการควรพิจารณาสื่อสารเพื่อแจ้งความผิดพลาดและแก้ไขจุดที่ผิดพลาดของบทความในฉบับที่ตีพิมพ์ไปแล้วในวารสารฉบับต่อมาหรือแจ้งผ่านเวบไซต์ของวารสาร (หากมี) ทั้งนี้เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นว่าทางวารสารไม่ได้ละเลยความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ช่วยให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อความน่าเชื่อถือและคุณภาพของวารสารวิชาการนั้นๆ

 

หมายเลขบันทึก: 630765เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2017 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2017 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท