เยี่ยมค่าย : มีความหมายใดในการเยี่ยมค่าย


ถึงแม้เราจะไม่ใช้วาทกรรมว่า “นิเทศค่าย” ก็เถอะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจริงๆ มันก็มีความหมายในทำนองนั้นอยู่ในที เพียงแต่เราขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ อย่างละมุนละม่อน เรียบง่าย เป็นกันเอง มิใช่ไปในแบบผู้ตรวจการณ์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิมาประเมินผลงานของนิสิตชาวค่าย



ผมมีความสุขที่จะเรียกว่า “ไปเยี่ยมค่าย” มากกว่าเรียกว่า “ไปนิเทศค่าย”

ค่ายในที่นี้ครอบคลุมถึงกิจกรรมนอกหลักสูตรในรูปลักษณ์ของ “ค่ายอาสาพัฒนา” ที่เน้นการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนตามครรลอง “เรียนรู้คู่บริการ” (อัตลักษณ์นิสิต : ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) และการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ในรูปแบบต่างๆ เช่น อบรม สัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ ศึกษาดูงาน เป็นต้น

เหตุที่เรียกเช่นนี้ ไม่มีอะไรในกอไผ่มากมายเลยสักนิด  เรียกเช่นนี้เพราะจะได้รู้สึกว่า “เป็นกันเอง” เสมือนกัลยาณมิตรที่สัญจรไปเยี่ยมญาติ  ถามทักสารทุกข์สุขดิบมากกว่าการไปตรวจสอบ กะเกณฑ์ หรือประเมินผลสัมฤทธิ์ของการจัดกิจกรรม


ทบทวนอดีต : แก้อดีตบนความเป็นปัจจุบัน

ก่อนการออกค่ายของนิสิต  ผมและทีมงานได้ทบทวนบทเรียนตามแนวคิด PDCA อันเป็นระบบและกลไกในการปฐมนิเทศค่ายในรอบหลายปี -

เราประเมินว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมาการปฐมนิเทศค่ายมักจัดขึ้นก่อนการออกค่ายเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซ้อนทับกับหลายองค์กรที่กำลังเตรียมตัวไปค่าย หรือแม้แต่การไปค่ายแล้วก็ไม่ผิด

ระบบและกลไกเช่นนั้นส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายหลักไม่สามารถเข้าร่วมได้ ตลอดจนเป็นการยากที่จะนำเอาแนวคิดบางอย่างไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง  เพราะทุกอย่างขับเคลื่อนไปไกลสุดกู่แล้ว เข้าครรลอง “ผีถึงป่าช้า” หรือ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อกระบวนการทั้งปวงอยู่อย่างมากโข

ฉะนี้แล้ว ผมและทีมงานจึงปักหมุดปฐมนิเทศกลุ่มองค์กรที่จะออกค่ายอาสาพัฒนา หรือจัดกิจกรรมนอกสถานที่ล่วงหน้าร่วมๆ 2 เดือน โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 ประกอบด้วยประเด็นสำคัญๆ เช่น 

  • แนวทางการบริหารจัดการค่าย  
  • กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม 
  • แนวคิดของการจัดกิจกรรมในมิติเรียนรู้คู่บริการ  
  • การประเมินผลโครงการ 
  • ฯลฯ



เยี่ยมค่าย : การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้นำองค์กรนิสิต

การเยี่ยมค่ายอาสาพัฒนาและการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ในห้วงเดือนพฤษภาคม 2560 ผมหวนกลับมาใช้แนวคิด “ความเป็นหนึ่งเดียว” เหมือนในอดีตกาล กล่าวคือ จัดตั้งทีมเยี่ยมค่ายในแบบบูรณาการ ผสมผสานระหว่างผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่-ผู้นำนิสิตเข้าด้วยกัน แบ่งกันออกเป็นเส้นทางต่างๆ ครอบคลุมการเยี่ยมค่ายองค์กรนิสิต ทั้งที่สังกัดส่วนกลางและสังกัดคณะ

และนั่นยังรวมถึงการผสานกำลังคนจากงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต เพื่อหนุนเสริมการบันทึกข้อมูลผ่านภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหว เพื่อนำมาขยายผลเป็นสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ 



กรณีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่นั้นอธิบายได้ไม่ยาก เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้นำนิสิต ได้แก่ องค์การนิสิต และสภานิสิต หรือแม้แต่ผู้แทนชมรมนั้น  ผมชัดเจนว่าต้องการสร้างเวทีให้ผู้นำเหล่านี้ได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัสจริงในงานภาคสนาม มิใช่ทำงานอยู่แต่เฉพาะภายในรั้วมหาวิทยาลัย จนไม่เข้าใจว่านาฏการณ์ หรือชะตากรรมนักกิจกรรมที่ทำงานนอกสถานที่นั้นเป็นเช่นใดกันแน่ –

เช่นเดียวกับการพยายามสื่อสารกรายๆ ให้พวกเขาเข้าใจว่า การเยี่ยมค่ายถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของพวกเขาที่ต้องดูแลองค์กรบริวารของตนเอง  จะได้รู้ว่าแต่ละองค์กรทำงานอย่างไร มีปัญหาอะไร มีจุดแข็งอย่างไร งบประมาณที่จัดสรรให้ไปสมดุลเหมาะสมแค่ไหน  ควรต่อการตัดทอนหรือเพิ่มขึ้นในวาระถัดไป ฯลฯ



นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้พวกเขาไปรับรู้ด้วยตนเอง มิใช่มานั่งรอพิจารณาและทำความเข้าใจจากเอกสารรูปเล่มรายงานการจัดกิจกรรม ซึ่งบางทีมันอาจไม่เห็น “ความจริง” อัน “เป็นจริง” เท่าใดนัก

ด้วยเหตุนี้วิธีคิดของผมจึงมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาภาวะผู้นำแก่ผู้นำองค์กรนิสิตเหล่านี้อยู่ในตัวอย่างเนียนๆ เป็นการ "สอนแบบไม่สอน" แต่เน้นให้เขาทั้งหลายได้สัมผัสจริงบนสถานการณ์จริงด้วยตนเองเสียมากกว่า โดยมีเจ้าหน้าที่และผู้บริหารคอยทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” อยู่ใกล้ๆ



เยี่ยมค่าย : อีกหนึ่งรูปแบบของการสังเกตการณ์และประเมินผลการเรียนรู้

ถึงแม้เราจะไม่ใช้วาทกรรมว่า “นิเทศค่าย” ก็เถอะ  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจริงๆ ก็มีความหมายในทำนองนั้นอยู่ในที เพียงแต่เราขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ อย่างละมุนละม่อน เรียบง่าย เป็นกันเอง มิใช่ไปในแบบผู้ตรวจการณ์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิมาประเมินผลงานของนิสิตชาวค่ายฯ

เราออกแบบกิจกรรมการเยี่ยมค่ายในแบบเรียบง่าย  มีข้าวของที่เกี่ยวพันกับวิถีชาวค่ายไปฝากชาวค่าย บ้างเป็นพืชผัก อาหารแห้ง ขนมนมเนย หรือแม้แต่ทุนทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ โดยวิเคราะห์ว่าค่ายไหนควรหนุนเสริมเติมรักด้วยกระบวนการใดเป็นที่ตั้ง

ก่อนการเดินทางก็จะมีเวทีเล็กๆ อย่างไม่เป็นทางการในการทำความเข้าใจต่อทีมงาน  ทั้งในเรื่องการถามทักสารทุกข์สุขดิบ  การเก็บรายละเอียดเรื่องกระบวนการและผลลัพธ์ของการทำงานอย่างเนียนๆ  หรือแม้แต่การมอบหมายภารกิจว่าใครต้องทำอะไรบ้าง ใครต้องสัมภาษณ์พูดคุย ใครต้องมอบสิ่งของ ใครต้องเลาะล่องสำรวจพื้นที่ -

สิ่งเหล่านี้ คือแนวปฏิบัติง่ายๆ ที่ไม่ถึงกับเคร่งเครียด แต่ก็เกริ่นกล่าวพอเป็นพิธี



การไปเยี่ยมค่ายครั้งนี้ ผมให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบหลักทำหน้าที่เป็นคนออกแบบเองว่าต้องแบ่งเส้นทางการเยี่ยมค่ายกี่เส้นทาง เดินทางวันไหน ใครเหมาะที่จะเดินทางในเส้นทางใด 

รวมถึงตระเตรียมเอกสารอื่นๆ เพื่อส่งมอบต่อคนในค่ายเพื่อหนุนเสริมพลังความคิด เช่น เอกสารประกอบการเบิกจ่าย เอกสารอ่านเพิ่มเติมเรื่องแนวคิดการเรียนรู้คู่บริการ หลักการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง

ตลอดจนแบบประเมินผลการเรียนรู้ในกลุ่มผู้ที่ไปเยี่ยมค่าย  เพื่อประเมินว่าพวกเขาทุกคนได้เรียนรู้อะไรจากการเยี่ยมค่าย และมีการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ต่อตนเองและองค์กรอย่างไร



ท้ายที่สุด

ผมคงไม่จำเป็นต้องพูดว่าการไปเยี่ยมค่ายคือการไปให้กำลังใจคนทำงานหรอกนะครับ  เพราะข้อเท็จจริงก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะเป็นกระบวนการของการไปเยี่ยมญาตินั่นเอง หากแต่ตั้งใจที่จะสื่อสารให้รู้ว่าในวิถีของการเยี่ยมค่ายนั้นมีสถานะเป็นอีกหนึ่งกระบวนการของการพัฒนาชาวค่ายและผู้ที่ไปเยี่ยมค่ายดีๆ นั่นเอง  เพียงแต่เป็นกระบวนการพัฒนาที่เน้นความเรียบง่าย เป็นกันเอง มิใช่การชี้วัดถูกชี้ผิด ดี-ด้อย คุ้ม..ไม่คุ้ม ---

หรือแม้แต่การไม่จำเป็นต้องพูดถึงการพัฒนาทักษะของการประเมินผลต่อเจ้าหน้าที่และผู้นำนิสิตผ่านการสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ แบบสอบถาม ฯลฯ

ทุกอย่างชัดเจนและแทรกซึมเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีนั้นอย่างสุภาพและสมถะ

นั่นคือสิ่งที่ผมคิดและเชื่อ หรือแม้แต่นำมาสู่การใช้จริงในวิถีของการเยี่ยมค่าย

แต่ที่แน่ๆ จบจากค่ายผมก็แพลนกระบวนการต่อเนื่องไว้ชัดเจนว่า จะมีเวทีเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังมาแชร์กัน มีเวทีในการถอดบทเรียนและโชว์ผลงาน (ปล่อยของ) ร่วมกันอีกรอบ




"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

เขียน : 5 กรกฎาคม 2560

ภาพ : อติรุจ อัคมูล / สุริยะ สอนสุระ/ นิสิตจิตอาสา / นิสิตชาวค่าย

หมายเลขบันทึก: 630711เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2017 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2017 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • การเรียนการสอน กิจกรรม หรืองานใดๆ การติดตาม ดูแล เสนอแนะ ประเมินผล..เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนา "คนสร้างค่าย ค่ายสร้างคน"
  • ขอบคุณประสบการณ์ดีๆนี้ครับอาจารย์

นักศึกษาต้องใจดี นะคะ ชื่นชมค่ะ

ชอบใจเหมือนการไปเยี่ยมญาติ

แค่ไปเห็นการทำงานก็มีวามสุข

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท