เก็บตกวิทยากร (40) : การเขียนเรื่องเล่าชาวค่าย (กระบวนการสอนแบบไม่สอน)


กระบวนการเช่นนี้ผมถือว่าเป็นกาพัฒนาศักยภาพของทีมงานไปในตัว เป็นการพัฒนาผ่านระบบการอ่าน การคิด การเขียน การฟัง และฝึกการเป็นนักวิชาการที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นิสิต หรือแม้แต่การฝึกให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ของการจัดค่ายอาสาพัฒนาของนิสิต และการประเมินผลการเรียนรู้ของนิสิตผ่านเรื่องเล่า



วันนี้ (วันที่ 15 มิถุนายน 2560) ผมและทีมงานในกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้นำนิสิตที่เพิ่งจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา หรือการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา –

เวทีดังกล่าวนี้ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลักคือการชวนให้นิสิตหวนกลับมาทบทวนเรื่องความรู้และทักษะการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง หรือ “เรื่องเล่าชาวค่าย” รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นการขับเคลื่อนงานค่ายอาสาพัฒนา หรือการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ของแต่ละองค์กร

ประเด็นเหล่านี้ใช่คิดดิบด่วนและจัดขึ้นแบบดิบด่วน – ทว่ามีการเตรียมการต่างๆ มาตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2560 อันเป็นเวทีโครงการ “เยี่ยมค่าย-มอบค่าย” จากนั้นก็ขยับมาเป็นระยะๆ ด้วยการเชิญชวนให้แต่ละองค์กรได้เขียนเรื่องเล่าเร้าพลังส่งกลับมาคนละเรื่องสองเรื่อง 



สอนนิสิตเขียนงานแบบไม่สอน (เรียนรู้ด้วยตนเอง)



เวทีวันนั้น (วันที่ 25 มีนาคม 2560) ผมไม่ได้อบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังเหมือนที่เคยทำมาในหลายๆ ปี ตรงกันข้ามคือเน้นเชิญชวนและให้นิสิตที่สนใจศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจาก Gotoknow.org หรือแม้แต่หนังสืออ่านเล่นในหลายๆ เล่มที่ผมได้เขียนไว้ 

หรือแม้แต่การเจตนาที่จะให้นิสิตได้ทดลองเขียนโดยไม่ติดกรอบหรือยึดกับทฤษฎีว่าด้วยการเขียนใดๆ เป็นการเปิดกว้างให้นิสิตได้เขียนในรูปแบบที่ตนเองถนัดและมีอิสระในการออกแบบงานเขียนที่ว่านั้นอย่างเสรี ซึ่งผมเชื่อว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งการ “สอนแบบไม่สอน” เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองที่น่าจะช่วยให้ “ได้งาน” ที่มีความสด ทั้งเวลาและแก่นคิด และย้ำความเชื่อมั่นต่อนิสิตว่า “อยากเขียนอะไรก็เขียนมาได้เลย – แล้วค่อยมาปรุงแต่งช่วยกัน”   

เช่นเดียวกับการไม่สร้างแรงจูงใจ หรือผูกเงื่อนไขว่าการเขียนครั้งนี้จะมีรางวัลเป็นทุนการศึกษาใดๆ เรียกได้ว่าใช้กลยุทธ “ใจวัดใจ” ก็ไม่ผิด จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จเกินคาด กล่าวคือผมและทีมงานได้รับเรื่องเล่ากลับมาเร็วอย่างรวดเร็วจากนิสิต เร็วกว่าทุกๆ ปีที่เคยปฏิบัติมา แถมจำนวนก็เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มขององค์กรที่ออกค่ายฯ ในเดือนที่ว่านั้น



พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ (ผ่านเรื่องเล่าของนิสิต) 


ผมและทีมงานออกแบบการหนุนเสริมให้นิสิตเขียนเรื่องเล่าชาวค่ายในแบบ “สอนแบบไม่ต้องสอน” แต่ในช่วงที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดกิจกรรมในพื้นที่ก็จะมีเอกสารอันเป็นแนวคิดไปให้อ่านเพิ่มเติมว่าการเขียนเรื่องเล่าควรประกอบด้วยอะไรบ้าง

จากนั้นก็ชวนให้นิสิตส่งเรื่องเล่ากลับมายังผม 

เมื่อผมได้รับแล้ว ผมก็อ่านเองอย่างเงียบๆ พร้อมๆ กับการส่งเรื่องเหล่านั้นไปยังเจ้าหน้าที่แต่ละคน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ลองอ่าน ได้ลองวิเคราะห์-สังเคราะห์ หรือแม้แต่การพิสูจน์อักษรด้วยตัวเอง โดยให้เจ้าหน้าที่สื่อสารกลับไปยังนิสิตว่าควรเสริมเติมแต่งอะไรบ้าง เพื่อให้เรื่องเล่าชาวค่ายมีความน่าสนใจ หรือมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น

พอผ่านไปสักระยะๆ ก็ให้เจ้าหน้าที่ประสานนิสิตแต่ละองค์กรที่เขียนเรื่องเล่าชาวค่ายได้มาร่วม “วงโสเหล่” หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการออกค่ายอาสาพัฒนา หรือการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ โดยใช้ “เรื่องเล่าชาวค่าย” เป็นโจทย์ของการเรียนรู้ร่วมกัน  

กระบวนดังกล่าว ผมมอบหมายให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนเป็นผู้ให้คำแนะนำองค์กรต้นสังกัดด้วยตนเอง 

กระบวนการเช่นนี้ผมถือว่าเป็นกาพัฒนาศักยภาพของทีมงานไปในตัว เป็นการพัฒนาผ่านระบบการอ่าน การคิด การเขียน การฟัง และฝึกการเป็นนักวิชาการที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นิสิต หรือแม้แต่การฝึกให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ของการจัดค่ายอาสาพัฒนาของนิสิต และการประเมินผลการเรียนรู้ของนิสิตผ่านเรื่องเล่า

นี่ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ผมใช้กับเจ้าหน้าที่ คือ “สอน แบบไม่สอน”

หรือแม้แต่การยกระดับเจ้าหน้าที่ให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้นไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเข้าใจและให้ความสำคัญหรือไม่เท่านั้นเอง


กระบวนการหนุนเสริมอื่นๆ (บันเทิงเริงปัญญา)

ในเวทีครั้งนี้ทีมงานได้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญาตามที่พวกเขาถนัด เริ่มตั้งแต่การประเมินความคาดหวัง (BAR) ผ่านบัตรคำ รวมถึงกร

ะบวนการละลายพฤติกรรมในแบบง่ายๆ ที่ได้ทั้งความรู้และความบันเทิงผ่านตาราง 4 ช่อง โดยกำหนดประเด็นคำถามขึ้นมาในแต่ละช่อง จากนั้นก็ให้วิ่ง หรือเดินไปสอบถาม-สัมภาษณ์เพื่อนๆ




กระบวนการนี้สนุกฮาเฮเป็นอย่างยิ่ง กระชับความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี แถมยังฝึกทักษะของการสัมภาษณ์ การจดบันทึกและการจดจำได้เป็นอย่างดีในแบบเนียนๆ อย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้ยังเปิดคลิปบรรยากาศการออกค่ายที่ไปเยี่ยมมาให้นิสิตได้ดูได้ชมร่วมกัน เพื่อให้นิสิติได้ร่วมรำลึกประสบการณ์ภาคสนามอีกรอบว่าพบเจออะไรมาบ้าง ได้เรียนรู้ชะตากรรมแห่งรักและผิดหวังอย่างไรมาบ้าง ถึงแม้คลิปนี้จะยังไม่ได้ตัดต่อบทสัมภาษณ์ใดๆ ลงไป แต่ก็ถือว่าเป็นชิ้นงานที่สร้างอารมณ์ร่วมในเวทีนี้ได้เป็นอย่างดียิ่ง


เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการละลายพฤติกรรม ก็นำเข้าสู่การบรรยายให้ความรู้เรื่องแนวคิดของการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง หรือเรื่องล่าชาวค่ายว่าควรคำนึงถึงอะไร เช่น การให้คำนึงถึง Who What Where When Why Whom How to หรือกระทั่งเรื่องที่นำมาเขียนนั้น ผมยกตัวอย่างให้ฟังว่าจะเป็นประเด็นใดประเด็นหนึ่งก็ได้ หรือเขียนในภาพรวมทั้งกิจกรรมก็ได้ ตลอดจนการเล่าเรื่องง่ายๆ ตามลำดับเวลา เพื่อให้รู้ว่างานค่ายอาสาพัฒนาที่กำลังดำเนินการในแต่ละวันเป็นอย่างไร ทำอย่างไร ประสบความสเร็จ หรือแม้แต่ล้มเหลวอย่างไร


จากนั้นก็แบ่งนิสิตออกไปนั่งโสเหล่ร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยนำหน้าที่เป็นกระบวนกรเชื่อมการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับนิสิตและการสอดแทรกแนวคิดในเชิงการเขียน หรือการสื่อสารข้อมูลในเรื่องเล่า รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนั้นๆ 

ครั้นกระบวนการทั้งปวงเสร็จสิ้นลงก็ประเมินผลการเรียนรู้ง่ายๆ ร่วมกัน ทั้งโดยการโยนไมค์และการเขียนผ่านบัตรคำ 

ท้ายที่สุดก็เป็นการเสนอทางเลือกให้นิสิตกลับไปแก้ไขต้นฉบับเรื่องเล่าของตนเอง ใครใคร่ปรับก็ปรับ ใครจะยืนยันตามฉบับเดิมก็ขอให้ยืนยันกลับมาอีกรอบ เพื่อจะได้นำไปจัดทำเป็นรูปเล่มหนังสือ และมีเวทีเปิดตัวเรื่องเล่าชาวค่ายอย่างเป็นทางการในช่วงเปิดเรียนที่กำลังย่างกรายเข้ามาเยือน




.....


ภาพ : งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต / นิสิตจิตอาสา

หมายเลขบันทึก: 630465เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2017 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2017 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีจ้ะน้องแผ่นดิน

มาเป็นกำลังใจให้คนทำงานจ้ะ

คิดถึงนะ

-สวัสดีครับอาจารย์

-จากการได้เรียนรู้และได้รับคำแนะนำจากสมาชิกรุ่นก่อน ท่านสิงห์ป่าสัก

-ทำให้ผมมีโอกาสได้เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ใน G2K

-ซึ่งผมมักจะบอกกับใครๆ ว่าผมไม่ใช่นักเขียน แต่ผมเป็น"นักเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายและสิ่งต่างๆที่ได้ประสบพบเจอมา..

-ทำให้การเขียนบันทึกของผมไม่ค่อยจะมีหลักเกณฑ์อะไรมาจับจ้องมากนัก จึงทำให้เขียนบันทึกได้เรื่อยๆครับ

-สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นพลังใจในการเขียนบันทึกก็คือ"การที่ได้คิดว่าเป็นการเก็บเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตมาเก็บเอาไว้"

-เป้าหลักมิใช่การได้รับการชื่นชมไดๆ หากแต่อบอุ่นใจในทุกครั้งที่ได้กลับไปเปิดอ่านเรื่องราวที่ผ่านมาและได้รับการเพิ่มเติมเสริมข้อมูลจากกัลยาณมิตรและผู้อ่านที่ผ่านเข้ามา...

-อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว ทำให้ผมยืนยันได้ว่า"การสอนแบบไม่สอน"นั้นทำให้ผู้เรียนหรือผู้ที่สนใจในเรื่องนั้นๆ ได้รับพลังแห่งการเรียนรู้ได้อย่างมากเลยล่ะครับ

-สรุปง่ายๆก็คือ"อยากเขียนอะไรก็เขียนไป เขียนแบบไร้เงื่อนไข"หากมีคนสนใจในเรื่องราวเหล่านั้นก็เก็บเอามาเพิ่มเติมเสริมแต่งต่อไป

-บ่อยครั้งที่ได้อ่านบันทึกของอาจารย์จากค่ายต่างๆ ทำให้ผมได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ไปด้วย

-เรื่องเล่าเร้าพลังจะก่อเกิดขึ้นได้หากมี"เวที"ให้แสดงตัวตนครับ

-ขยายความมาเพื่อ ลปรร กับอาจารย์ครับ

-ด้วยความระลึกถึง...

-อาจารย์สบายดีนะครับ?

-ขอบคุณครับ...


เนียนตามธรรมชาติ สนุกสนาน ผ่อนคลาย สบายใจ .... ใจเปิดนะคะ

ผมอ่านแล้วก็คิดตามไปว่า พอได้มองอะไรที่ละเอียดและอยู่บนความเป็นมนุษย์ด้วยกันแล้ว ความเรียบง่ายผ่อนคลายมันก็ออกมาแสดงผลลัพธ์ของมัน...ขอบคุณครับ

อ่านแล้ว

ได้ทบทวนและกระบวนการครบมาก

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับ พี่คุณมะเดื่อ

คิดถึงเช่นกันครับ

บันทึกนี้ตั้งใจเขียนมานานแล้วครับ

รอพลังบางอย่าง กว่าจะพร้อมก็ผ่านมาหลายวันเลยทีเดียวครับ




สวัสดีครับ อ. เพชรน้ำหนึ่ง


ผมชื่นชมแนวทางการเขียนของอาจารย์ฯ นะครับ แนวเรื่อง รูปแบบคงเส้นคงมามาตลอด เขียนจาก "หน้าตัก" ของตนเอง จนทำให้เห็นและสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของการเป็นนักเล่าเรื่องที่พากเพียร หรือเคารพต่อข้อเท็จจริงที่นำมาเล่า -มาสื่อสาร


ผมเองหลงรักการอ่านการเขียนมานานมากครับ และเชื่อว่า ชีวิตเปลี่ยนได้ก็ด้วยการอ่านและการเขียน แต่ในอดีตไม่มีพื้นที่ในการเขียนถ่ายทอดประสบการณ์ใดๆ จวบจวนมี G2K นี่แหละครับที่ช่วยให้มีพื้นที่ในการสื่อสารความคิดและพัฒนาทักษะการคิด การเขียนไปในตัว


ผมเองก็ไม่มีรูปแบบการเขียนใดตายตัว เขียนแบบ "ใจนำพา ศรัทธานำทาง" แต่จะพยายามให้เห็นมุมคิดของตัวเองในเรื่องนั้นๆ แบบเนียนๆ หรือเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อมิให้คนอ่าน รู้สึกหน่วงหนัก เหมือนถูกครอบ -


จนหลายท่านก็เคยทักแซวว่า ข้อเขียนของผมนั้น "จบในตัว" ไม่รู้จะแชร์อะไร 555


ขอบพระคุณครับ


สวัสดิครับ พี่หมอธิ


เวทีนี้ มอบหมายภารกิจเป็นหลักเลยครับ ถ่ายทอดนิดเดียว จากนั้นให้นิสิตและเจ้าหน้าที่แสดงบทบาทตัวเองอย่างเต็มที่ แถมพาตัวเองออกมานอกห้องและหายเข้ากลีบเมฆไปเลยครับ 555


ไม่ได้หนีงานหรอกนะครับ แต่อยากให้ทุกคนไม่ต้องเกร็งกับการมีเราอย่ตรงนั้นเสียมากกว่า

สวัสดีครับ คุณ ธนะภูมิ ชาญประไพ


จะว่าไปแล้ว กระบวนการตั้งแต่ต้น ผมก็คิดในทำนองเดียวกันครับคือเชื่อมั่นในศักยภาพของทุกคน เชื่อว่าทุกคนเป็นนักเล่าเรื่อง เชื่อว่าทุกคนเป็นนักเรียนรู้และนักสำรวจ จึงไม่จำเป็นต้องสอนว่าด้วยการเขียน เพื่อให้ทุกคนค้นหาทิศทางและวิธีการของตนเอง


ได้ผลเกินคาดจริงๆ ครับ - มีงานกลับมาให้ใคร่ครวญตรวจทานอย่างน่าสนใจ มีความสด มีสาระ และเห็นกระบวนการในเรื่องที่เดินต่อได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ครับ

สวัสดีครับ ดร. ขจิต ฝอยทอง


จริงๆ แล้วมีกระบวนการเยอะมากมายเลยครับ แพลนไว้เป็นระยะๆ แต่เล่าได้ไม่หมด ขนาดทีมงานก็ไม่รู้ว่ามออกแบบกระบวนการไว้อย่างไร ก็มาเฉลยในตอนท้ายนี่แหละครับ 555


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท