จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๓: "Professionalism Part II: มีทำไม? จำเป็นไหม? และเรียนได้ไหม?"


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๓: "Professionalism Part II: มีทำไม? จำเป็นไหม? และเรียนได้ไหม?"

คำถามที่สำคัญในการเรียนรู้คำถามหนึ่งก็คือ "เรียนไปทำไม?" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับการศึกษาของผู้ใหญ่ ที่เราเรียกว่า adult learning (มีศัพท์เท่ๆว่า "andragogy" เพื่อแยกออกจากการเรียนแบบเด็กๆ "pedagogy") ไม่ใช่เพราะว่าในเด็กไม่สำคัญ แต่เพราะว่าธรรมชาติของเด็กนั้นมีพื้นที่การเรียนมากมาย เปิดกว้าง รับได้เยอะ แทบจะไม่มีขีดจำกัด แต่ต่อมาขีดจำกัดก็ถูกสร้างขึ้นตามวัย จนถึงขนาดว่าในผู้ใหญ่ ถ้า "ไม่มีเหตุผลดี" พอที่จะเรียน ก็พบว่าผู้ใหญ่จะมีเงื่อนไขเกิดขึ้นมากมายที่จะเรียนไม่ได้เต็มที่

ในงานนี้ประธานแพทยสภาของสหราชอาณาจักรมาเป็นวิทยากรด้วย ได้พูดหลายประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะประโยคที่บอกว่า "หน้าที่ของแพทยสภานั้นคือปกป้องประชาชน" เป็นการรวบยอดนัยยะว่า "ตราบใดที่แพทยสภาทำหน้าที่นี้ได้สำเร็จ แพทยสภาก็จะทำหน้าที่ปกป้องสถาบันวิชาชีพไปด้วยในตัว" ดังนั้นแพทยสภาไม่ได้ปกป้องสมาชิกในระดับปัจเจกบุคคล แต่ปกป้องที่ตัวคุณค่าของวิชาชีพนี้ แพทย์คนใดก็ตามที่ทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพ ทำหน้าที่ตามปรัชญาวิชาชีพ (คือเพื่อเพื่อนมนุษย์) กฎหมาย กฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ต่างๆของแพทยสภาก็จะปกป้องแพทย์คนนั้นไปโดยปริยาย

ทำให้อีกหน้าหนึ่งของหน้าที่แพทยสภาก็คือการ "จัดการ" อะไรก็ตามที่ฝืนหลักปรัขญาข้างต้น การประกอบอาชีพที่ทำร้ายประชาชน จะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ การไม่มีความสามารถ ด้อยความสามารถ ฯลฯ ไปจนถึงทัศนคติที่ไม่ดีต่อหลักปรั้ชญานี้ จะอยู่ใน "ร่ม" การจัดการที่ว่านี้ด้วย

หน้าที่แพทยสภาในประเทศอังกฤษถูกนำมาขึ้นหน้าหนึ่งของข่าวสารเมื่อมีคดี Dr Harold Shipman แพทย์ที่ทำหน้าที่เยี่ยมบ้านดูแลผู้ป่วยสูงอายุ และปรากฏว่าถูกจับได้ว่าแกแอบเอายาไปฉีดผู้ป่วยตามบ้านจนเสียชีวิตในลักษณะเหมือนหลับ และไม่ใช่เพราะด้วยความกรุณาใดๆ ปรากฎว่าแกไปทำให้เกิดความไว้เนื้อใจมากจนกระทั่งผู้ป่วย คนชราเหล่านี่ที่เป็นเหยื่อของแก ยกพินัยกรรมทรัพย์สมบัติให้แกด้วย จึงเป็นแรงบันดาลใจในพฤติกรรมอันเลวสุดกูนี้ ตัวเลขของผู้รับเคราะห์ไม่ชัดเจน แต่มีประมาณไว้ถึงกว่าร้อยราย อาจจะถึงสองร้อยราย เป็นคดีเขย่าขวัญคนทั้งเกาะอังกฤษเลยทีเดียว ก็เลยมีนักกฎหมาย นักข่าวมากมายตั้งคำถามไปยังแพทยสภาในทำนองว่าปล่อยหมอแบบนี้ออกมาทำงานได้อย่างไรนะ

ประเด็นก็คือ ถ้าไปถามเพื่อนแพทย์ของอีตานี่ รวมทั้งผู้ร่วมงานต่างๆ ไม่มีใครสงสัยแกในแง่ "ความสามารถในวิทยาศาสตร์การแพทย์" เลย ความรู้ ทักษะ เยี่ยม ในระดับเกินมาตรฐานขั้นต่ำ แต่ที่ขาดตกบกพร่องไปอย่างน่าตระหนกก็คือ "มาตรฐานจริยธรรม" ของแกต่างหาก และนี่ทำให้เกิด dilemma ขึ้นมาในองค์กรรักษามาตรฐานวิชาชีพคือ แพทยสภา ว่าได้ทำอะไรลงไปอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่ นอกเหนือจากการสอบมาตรฐานความรู้ และทักษะของว่าที่แพทย์ทั้งหลายแหล่

และเมื่อมองไปยังหลักฐานของ events ต่างๆที่แพทยสภารับมาดูแล (ในอังกฤษ) ยิ่งพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ก็คือ เมื่อพิจารณาแค่ "อุบัติการณ์" อย่างเดียว ๒๑% เกี่ยวกับ professional performance, ๑๙% เกี่ยวกับความรู้่ความสามารถของแพทย์ และ ๑๒% เกี่ยวกับความซื่อสัตย์ความยุติธรรมในการให้บริการ แต่ภายหลังการตรวจสอบโดยแพทยสภา สิ่งที่แพทย์จะ "โดน" ทำโทษในลักษณะต่างๆจากแพทยสภานั้นมีที่เกี่ยวกับความรู้ความสามารถเพียงแค่ ๔% เท่านั้นเอง นอกนั้นเป็นเรื่องของการประพฤติตัว การสื่อสาร รวมทั้งอาชญากรรมที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นแพทย์ เช่น ฉ้อโกง โกหก หลอกลวง ฯลฯ

เกิดมีคำถามที่สำคัญขึ้นหลายข้อ

๑) ตกลงเราค่อนข้างมั่นใจว่าความรู้และทักษะนี่ สอนได้ เรียนได้ และการันตีได้ดีระดับหนึ่งทีเดียว แต่เรื่องความเป็นมืออาชีพ ความเป็นคนดี ความเป็นคนสื่อสารได้ดี เยียวยาคน มันเรียน มันสอน และมันการันตีได้ไหม?

๒) สมมติว่าถ้าได้ ก็เกิดคำถามตามมาคือ

๒.๑ ทำยังไง

๒.๒ วัดยังไง

๒.๓ มันรักษาคุณภาพธำรงไว้ได้ไหม และอย่างไร?

๓) ถ้าสมมติว่ามันเป็นอะไรที่การันตีไม่ได้ เราทำอะไรอย่างอื่นได้อีกไหม เพื่อปกป้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง vulnerable group คนเจ็บไข้ได้ป่วย คนที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ คนที่ถูกสังคมรังแกเพราะด้อยโอกาส ฯลฯ

จึงเป็นที่มาของมาตรการหลายๆประการที่ประธานแพทยสภาใช้เวลาอันจำกัดจำเขี่ยพยายามสื่อให้พวกเราเข้าใจ ประเด็นที่น่าสนก็คือ งานนี้ไม่ได้เป็นคนที่ popular สำหรับใครเลย ฝั่งหนึ่งก็ประชาชนที่ทุกข์เพราะเรื่องที่ผิดหวัง อีกฝั่งหนึ่งก็เป็นสมาชิกแพทย์ที่ต้องถูกตรวจสอบ monitor ตักเตือน sanction, suspension จะกระทั่งบางคนที่ถูก struck-off (ยึดใบประกอบโรคศิลป์) แต่แพทยสภาก็ต้องยืนยันในหลักการอย่างที่ Professor Stephenson กล่าวไว้คือ เราจะต้องปกป้องประชาชน และในการที่เราทำอย่างนั้นเราจึงสามารถปกป้องสถาบันวิชาชีพไว้ได้

หมายเลขบันทึก: 630181เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2017 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2017 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท