จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๑ : ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน Part II "หลุมพราง"


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๑ : ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน Part II "หลุมพราง"

ขียนบทความอันแรกไป มีการสนทนาต่อเนื่องเกิดขึ้นน่าสนใจมาก เลยมี materials พอจะเขียนภาคต่อ เพื่อให้ทราบว่าเป็นภาคต่อก็เลยเรียกว่า Part II และมี subtitle ว่า "หลุมพราง"

ออกตัวว่าไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเป็นบทความวิชาการ ทั้งเหตุและผลรวมทั้งข้อแนะนำต่างๆเป็นเหตุผลส่วนตัว ไม่ได้อ้างอิงอะไร จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็โอเคทั้งนั้น และทางที่ดี เขียนมาเล่าให้ฟังจะชอบมากที่มีการต่อยอด

WHAT HAPPEN and WHY?

ทำไมปรากฏการณ์นี้ถึงเกิดขึ้น เราต้องแยกแยะก่อน ระหว่าง "เกิดอะไรขึ้น" และ "เกิดเพราะอะไร" อันแรกเป็นปรากฎการณ์ เป็นเหตุการณ์ อันหลังนั้นคือสมมติฐานของสาเหตุว่าเกิดจากอะไรบ้าง

เดี๋ยวนี้เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วย คนเราสามารถมีความรู้พื้นฐานของโรคภัยไข้เจ็บได้มากอย่างน่าทึ่ง รวมทั้งความรู้เรื่องวิธีการรักษาต่างๆด้วย ความรู้ก็เป็นรากฐานของความเห็นและความเชื่อต่างๆนานา เป็นเรื่องปกติและเข้าใจได้ไม่ยากนัก

มีข้อสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ ความรู้ทางการแพทย์นั้นมันทั้งลึกและกว้างจริงๆ ขนาดเรียนอย่างหนักมา ๖ ปี ก็ยังได้แค่ "ความรู้พื้นฐานของหมอทั่วไป" เท่านั้น ถ้าจะรู้ลึกในแต่ละระบบ แต่ละอวัยวะ ต้องเรียนต่ออีก ๓-๔-๕ ไปจนถึงเป็น ๑๐ ปี มีความซับซ้อนมากจริงๆ และมากขนาดนั้นเราก็ยัง "รู้ไม่หมด" เสียด้วยซ้ำไป ก็ลองจินตนาการว่า ที่ชาวบ้านทั่วๆไปอ่านเจอบ้าง ได้ยินมาบ้าง ก็ไปค้นคว้ามาสักอาทิตย์สองอาทิตย์จะครอบคลุมถูกต้องสักประมาณใด

แล้วทำไมญาติถึงยังออกความเห็นเรื่องการรักษาแก่หมออยู่ล่ะ? อันนี้จะเข้าเรื่องที่สอง คือ "เพราะอะไร" แล้ว

พื้นฐานก็คือ "ญาติเป็นห่วงคนไข้" ดังนั้นก็อยากให้หาย อะไรที่ตนเองคิดว่าดี ก็อยากจะมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นไปด้วย ซึ่งก็มีตั้งแต่

๑) รู้จริง อาทิ ญาติเป็นหมอ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ตรงไปตรงมา ญาติอาจจะเก่งกว่าหมอก็ยังเป็นไปได้ ก็ถ้าเรียนมาพอ

๒) รู้จริง พอคุยได้ลึกพอสมควร อาทิ ตัวญาติเป็นหมอทั่วไป ไม่ตรงกับที่คนไข้เป็น แต่การเป็นหมอทั่วไปก็คือ "ต้นทุน ๖ ปี" ซึ่งไม่น้อย แต่อาจจะมีผิดได้บ้าง หรือไม่ทันสมัยถ้าไม่ได้อยู่ใน "วงการ" ของโรคนั้นๆโดยตรง

๓) ไม่ได้รู้จริง แต่อ่านมาเยอะ อาจจะเพราะคนไข้ป่วยเรื้อรังมานาน คุยกับหมอต่างๆมานับสิบคน ร่วมดูแลคนไข้มานับปี ในยุคนี้คนเราสามารถค้นคว้าอะไรได้เยอะ ได้ง่าย แต่อย่างที่เกริ่นไว้ ศาสตร์และศิลป์ในเรื่องนี้มันทั้งกว้าง ลึก และเกี่ยวพันกันมากจริงๆ กลุ่มนี้กับแพทย์คุยกันได้เยอะเพราะมักจะรู้เรื่องพอสมควร

๔) ไม่ได้รู้จริง อ่านมาก็ไม่เยอะ แต่จิตกำลังตก เพราะเป็นห่วงคนไข้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์มาก่อน เช่น เป็นลูก เป็นคนใกล้ชิด ที่ทั่วๆไปน่าจะดูแลกันเวลาเดือดร้อน แต่ด้วยชะตากรรมทำให้อยู่ห่างไกลกัน พอเกิดเหตุขึ้นมาก็เกิดอารมณ์ผสมผสานทั้งสำนึกผิดที่ไม่ได้อยู่ดูแล ทั้งกลัวว่าการพรากจากกำลังจะมาถึง กลัวว่าคนไข้จะไม่ทราบว่าตนเองก็รักและห่วงใยคนไข้มากแค่ไหน ฯลฯ กลุ่มนี้คือมีประเด็น "ค้างคาใจ และสำนึกผิด (unfinished business and guilt) ปน

๕) ไม่ได้รู้จริง อ่านมาก็ไม่เยอะ หรือมั่วเป็นส่วนใหญ่ แต่คิดว่าทำให้เยอะที่สุดแปลว่าดี ทุ่มทุกอย่าง รักษาทุกวิธี มีอะไรบ้างก็ถล่มเข้าไป กลุ่มนี้มีสองแบบ คือ ๕.๑) แบบจ่ายเอง มีเงินหนา ไม่จำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย และ ๕.๒) แบบเบิกได้ ไม่ได้จ่ายเอง แบบหลังนี่จะมีปัญหามากเพราะมีอวิชชาถึงสองขั้น คือคิดว่าทำมากแปลว่าดี และไม่มีติดเบรคเรื่องค่าใช้จ่าย ใช้เงินภาษีมาจ่ายเท่าไหร่เท่ากัน (ก็เบิกได้นี่หว่า)

ที่กล่าวมาทุกแบบ จะมีการเสนอวิธีการรักษา การตรวจต่างๆนานา และแพทย์อาจจะไม่ค่อยเห็นด้วย (ปัญหาจะเกิดจริงๆก็ตรงแพทย์ไม่เห็นด้วยนี่แหละ อันไหนที่ยอมๆได้ แพทย์ก็มักจะยอมทำถ้าไม่ได้เกิด harm อะไรมาก เป็นการดูแลความรู้สึกของญาติ)

และเรามักจะ "ไม่ทราบ" หรอกว่าที่เรากำลังเจอนั้นเป็นแบบใด

เพราะเรื่องนี้ พอมีเรื่องมิติทางอารมณ์เข้ามาพัวพัน มันจะยากได้ทุกกลุ่ม แม้ว่าสามกลุ่มแรก ถือว่ามี "ต้นทุน" ด้านเหตุผลมากกว่าอีกสองกลุ่มหลังมากก็ตาม ในกลุ่ม guilt และกลุ่มทุ่มสุดชีวิต (กลุ่ม ๔ และ ๕) อาจจะมีพลังด้านอารมณ์มากดดันมากที่สุด

ที่ผมเขียน subtitle ไว้เป็น "หลุมพราง" ก็เพราะคำว่า "acute กตัญญู syndrome (ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน)" ก็ดี หรือ daughter from california (หมายถึงพวกญาติอยู่ไกลๆ ไม่ได้ดูแลมาแต่ต้น) ก็ดี มันแฝง "การตัดสิน" ไปแล้วว่าเป็นกลุ่ม ๔ หรือ ๕ ทันทีที่เรา "ตัดสิน" ใครไป มันจะเกิดพลังงานแฝง run อยู่ใน background เป็นรองพื้นของความสัมพันธ์ของเราทันที ไม่มากก็น้อย คิดดูว่าจะมีผลอย่างไรได้บ้าง?

@ พอเห็นหน้าลูก เราก็คิด "คนๆนี้ไม่เคยดูแลพ่อมาทั้งชีวิต จู่ๆก็มาดูแลซะยังงั้น"

@ พอเห็นหน้าญาติ เราก็คิด "บอกให้เราสู้ทุกอย่าง ก็เพราะเบิกค่ารักษาได้ล่ะซี้ ไอ้พวกเห็นแก่ตัว"

@ พอเห็นหน้าญาติ เราก็คิด "นี่ถ้าลองเป็นเงินตัวเอง คงจะไม่บอกให้สู้หรอก"

ฯลฯ

ความสัมพันธ์ของเรากับคนๆนั้นที่เราตัดสินไป จะเป็นไปในทางใด? เราจะทำงานร่วมกับเขาได้ดีแค่ไหน และในกลุ่มคนไข้ palliative care นั้น สุขภาวะของผู้ดูแลเชื่อมโยงกับสุขภาวะของคนไข้เสมอ เป็นห่วงโซ่ที่แยกไม่ออก

ยังไม่พูดถึงที่เรา "ด่วนตัดสิน" ไปนั้น อาจจะคนละเรื่องกับความเป็นจริงก็ได้ คือเป็นเราคิดไปเองทั้งสิ้น เรารู้จักเขาดีขนาดที่จะตัดสินคนๆนั้นได้แบบนั้นจริงๆหรือ? และยิ่งถ้าเป็นการด่วนตัดสินผิดๆ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทีมญาติแย่ลง สุขภาวะของผู้ป่วยแย่ลง มันเป็นสิ่งที่ควรทำ/ไม่ควรทำแบบใด?

แต่ผมมีสมมติฐานว่าหากเราสื่อสารกับทั้งผู้ป่วยและญาติ เรื่อง "ผลดี/ผลเสีย" ของการรักษาทุกแบบ และสื่อสารตั้งแต่แรกๆ ผมยังเชื่อว่าทุกกลุ่มที่กล่าวมาต่างก็รักคนไข้ทั้งสิ้นเป็นมูลฐาน ถ้าเขาเหล่านั้นทราบว่าข้อเสนอที่กล่าวกำลังทำร้ายคนไข้ ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิดว่ากำลังช่วยคนไข้ เราน่าจะวางแผนการรักษาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้

กระมัง

น.พ.สกล สิงหะ

เขียนที่บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ หลังอ่างเก็บน้ำ ม.สงขลานครินทร์

วันพุธที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๒๒ นาฬิกา ๒๓ นาที

วันขึน ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 630178เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2017 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2017 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท