จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๒: Professionalism Conference, Part I: First things first


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๒: Professionalism Conference, Part I: First things first

สองสามวันที่ผ่านมาได้ไปเข้าร่วมประชุมวิชาการแพทยศาสตรศึกษาที่ฮ่องกง หัวข้อเป็นเรื่อง professionalism (ศัพท์บัญญัติของไทยคำนี้ เข้าใจว่ายังไม่ตายตัว? หรือใครทราบจะกรุณาชี้แนะก็จะเป็นพระคุณ) และหนทางที่จะพัฒนาให้มีสิ่งนี้ในการเรียนการสอนแพทยศาสตรบัณฑิต

บอกได้เลยว่าสิ่งที่ได้เรียนจากงานประชุมครั้งนี้ คงจะต้องตกผลึกอีกนานพอสมควร แต่ต้องนำมาบันทึกเป็นหย่อมไว้ก่อนเพื่อให้ความ "สด" ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา จะเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมตรงไหนค่อยมาตามเติมทีหลัง

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ "พลังงานของงานประชุม"

เราพบบ่อยๆว่างานประชุมวิชาการมักจะ "เข้มข้น" ไปด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ในทางสายวิทย์ก็จะมีกราฟ มีตาราง มีสถิติอะไรต่อมิอะไรมากมาย บางเรื่องก็ "ลงลึก" ไปไกลมากจนกีดกันคนที่สนใจกว้างๆออกไปได้ เพราะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ในงานประชุมครั้งนี้มีอะไรที่ไม่ค่อยจะเป็นเช่นนั้น และทำให้ได้บรรยากาศของ engagement ของผู้มาเข้าร่วมอย่างน่าสนใจมาก จนกระทั่งเราคิดว่า "อือ... ทำงานประชุมได้แบบนี้ก็น่าจะดีนะ"

ปัจจัยในกลไก

๑) วิทยากรระดับโลก อันนี้ต้องชมผู้จัด (และ sponsor) ทั้งๆที่น่าจะเป็น unit ของมหาวิทยาลัย (หรือโรงพยาบาล?) แต่เชิญวิทยากรมาจากทุกสารทิศที่น่าสนใจมาก ทั้งออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และอีกในสัดส่วนใกล้เคียงกันของเอเชียก็มีทั้งฮ่องกง สิงค์โปร์ มาเลเซีย ไม่เพียงเพราะวิทยากรรู้จริง รู้ลึกซึ้ง และทำงานในเรื่องที่เชิญมาพูดเท่านั้น ทุกคน (หรือเกือบทุกคน) ยังสามารถถ่ายทอดได้ดีมากด้วย

๒) ภาษาการสื่อสารที่ดี อันนี้คงเป็นอีกปัจจัยที่ต้องคำนึง เพราะงานประชุมครั้งนี้เป็นหัวข้อที่ไม่ได้ลงลึกทางวิชาการ แต่ลงลึกในด้านของ "คุณค่า values" ดังนั้นประสบการณ์ชีวิตเป็น background ที่สำคัญ เพิ่มมิติให้ wordings ต่างที่นำมาใช้ และการจะทำให้เรารุ้สึกว่าคนมาฟังมีส่วนร่วม จึงขาดปัจจัยด้านภาษาไปไม่ได้ ทุกคนใช้ภาษาอังกฤษที่ฟังง่าย ชัดเจน และกระตุ้นความคิด การสนทนาต่อเนื่อง

๓) สัดส่วนประสมประสานของ Keynote, panels และ small-group + workshop ที่ลงตัว เนื่องจาก keynote สามารถกระตุ้นต่อม "เอ๊ะ" ได้อย่างพอดิบพอดี พอแยกห้อง แยกกลุ่ม (มีถึง ๔ parallels) ก็เลยต่อยอดได้อย่างเนียนๆ คนเดินแยกออกมาจากห้องใหญ่ ไปสู่ห้องย่อยด้วยความรู้สึกอยากจะถาม อยากจะอภิปราย

๔) ผู้มาร่วมที่สนใจในหัวข้อนี้มักจะทำงานมานานพอสมควร และอยู่ในบริบทที่ไม่ได้ focus เพียงแค่ basic sciences แต่สนในในเรื่อง values ด้วย ซึ่งจะนำพาชุดภาษาอีกรูปแบบที่นอกเหนือจาก logic ตรรกะ แต่จะมีด้าน faith, belief และ emotion อารมณ์ความรู้สึกด้วย

๕) หัวข้อ professionalism เกี่ยวโยงไปถึงด้าน Ethics จริยธรรม และกฎหมาย ทำให้มีคนอภิปรายที่มาจากนอกสาขาอาชีพทางบริการสุขภาพมาร่วมด้วย ซึ่งมีประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคม และที่มากันอีกกลุ่มใหญ่คือนักการศึกษา (educators) เพิ่มสมดุลทางการอภิปรายออกไปนอก field medicine แต่ยังเกี่ยวโยงกันอยู่

๖) ห้องประชุม ระบบเสียง และ wifi ชั้นเยี่ยม เก้าอี้ประชุมทุกตัวติดตั้งระบบ interactive ระหว่างผู้นั่งและ activities ของผู้บรรยายได้หมด in real-time การจะใช้ IT ในระหว่างทำกิจกรรมไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น

๗) ข้อนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก หัวข้ออย่าง professionalism และ Ethics นั้น จะมีคำๆหนึ่งผลุบๆโผล่ๆมาตลอดเวลาคือ empathy และ compassion ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในความรู้สึกอารมณ์ของผู้อื่น จนกระทั่งสุขหรือทุกข์ของผู้อื่นนั้นมากระทบต่อการดำเนินชีวิต การตัดสินใจ และพฤติกรรมของเราเอง คนที่จะ engage อภิปราย หรือพูดในเรื่องแบบนี้จะ "ต้องมี"สิ่งเหล่านี้ด้วย หรืออย่างน้่อยที่สุดต้องสามารถรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มัน "สำคัญจริงๆ" จนอยากรู้ อยากทำ อยากมี อยากสอน อยากให้คนอื่นๆเรียน อยากให้คนอื่นๆมี ไปจนถึงขั้น "ถ้าไม่มีเรื่องนี้คงไม่ได้ คงจะเสียหาย"

เป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุด ########

และที่น่าสนใจคือวิทยากรที่รู้สึกชอบมากที่สุด เป็น ethicist (นักจริยศาสตร์) psychiatrist (จิตแพทย์) และอาจารย์ออรฮโธปิดิกส์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับด้าน professionalism, standard of professional โดยตรง เพราะรู้สึกได้ถึง passion ในเรื่องนี้ขณะที่คนเหล่านี้บรรยาย หรือ conduct workshop

คงจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นยินดีมากทีเดียว ถ้าเราสามารถจัดประชุมในหัวข้อ values ของชีวิต values การเป็นหมอการเป็นพยาบาล และ values ของวิชาชีพโดยรวมได้อย่างมีบรรยากาศเช่นนี้ในประเทศไทย โดยคนมาร่วมรู้สึกตื่นเต้น สนอกสนใจ และมาแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ หนทาง และวิธีการพัฒนามิตินี้ในสิ่งแวดล้อมของเราเอง

ปล. งานนี้นอกจากทีมแพทยศาสตร์ของ ม.อ. ก็ดีใจมากที่ได้เจอทีมแพทยศาสตรศึกษาของจุฬาฯอีกทีมนึงด้วย

ปปล. ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจ คือ WBA (workplace-based assessment) Ethics, Standard and Regulation, Hidden-curricula (vs null-curricula)

น.พ.สกล สิงหะ

หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์

วันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๕ นาที

วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 630180เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2017 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2017 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท