CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _๑๙: รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "ธุรกิจพอเพียง"


ผมเคยไปเรียนรู้แนวคิด "ธุรกิจพอเพียง" กับอาจารย์พีรวัศ กี่ศิริ และ รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ และบันทึกการเรียนรู้ไว้ที่นี่ และเคยเขียนสรุปความหมายและแนวปฏิบัติตามแนวคิดของอาจารย์พีรวัศไว้ที่นี่ และท่านอาจารย์พีรวัศเองก็กำลังขับเคลื่อน "ธุรกิจพอเพียง" ตามแนวทางของท่านกับโรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวนหนึ่ง ท่านเขียนบันทึกไว้ที่นี่

วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ เราจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอบรมพัฒนาอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ อาจารย์ผู้สอนเกือบทุกท่านเข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียงกัน เว้นแต่อาจารย์ที่ติดราชการจำเป็นจริง ๆ ท่านอธิการบดีและผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป ให้เกียรติและให้ความสำคัญกับรายวิชานี้มาก ท่านทั้งสองมาเปิดงานและกล่าวให้โอวาทกับอาจารย์ในการขับเคลื่อน ปศพพ. และพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป ... กำลังใจมาเพียบ

ผมคงไม่เขียนรายละเอียดอะไรยึดยาวและซ้ำซ้อนกับสิ่งที่เคยเขียนมาในบันทึกต่าง ๆ ที่ได้ให้ลิงค์ไว้ข้างต้น แต่จะสรุปไว้ด้วยภาพ ๒ ภาพ ที่อาจารย์ผู้สอนอาจเอาไปใช้ประกอบการสอน เพื่ออธิบายให้นิสิตทราบถึงแนวทางของการมอบหมายงาน "ธุรกิจพอเพียง" และสื่อสารถึงข้อสรุปแนวทางการทำ "ธุรกิจพอเพียง" ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ ๑/๒๕๖๐ เป็นต้นไป ดังนี้

กิจกรรม "ธุรกิจพอเพียง" เป็นเป้าหมายระดับ ๓ ของการจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิต ได้ทดลองหรือฝึกการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการทำงานจริง การประกอบอาชีพ การสร้างรายได้ เพื่อปลูกฝังการพึ่งตนเอง การแบ่งปัน และเสียสละ และทักษะในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑

กิจกรรม "ธุรกิจพอเพียง" ในรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง กิจกรรมกึ่งจำลองสถานการณ์ที่นิสิตแต่ละกลุ่ม (จำนวน ๘-๑๕ คน) สมมติตนเองเป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการ เพื่อสร้าง "รูปแบบธุรกิจ" (Business Model) หรือ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์/นวัตกรรมขึ้นหารายได้ โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในทุกขั้นตอน

"ธุรกิจพอเพียง" ที่ดี ควรจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ได้แก่ ตรงตามความต้องการของตลาด ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาของสังคม มีแนวทางส่งเสริมให้สังคมดีขึ้น ควรเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือวิธีการใหม่ ๆ หรือดีที่สุดคือการสร้างนวัตกรรมบนฐานความรู้ภูมิปัญญาของตนเองหรือท้องถิ่น

ข้อควรคำนึงในการกำหนดหัวเรื่อง "ธุรกิจพอเพียง" ผู้ประกอบการ (กลุ่มนิสิต) ควรมีอิสระในการคิด ทำ และกำหนดหัวเรื่องด้วยตนเอง มีความปรารถนา (passion) มีฉันทะ (อยากในทางที่ดี) หรือแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งนั้น ๆ และควรมีการสะท้อนการเรียนรู้ ถอดบทเรียน หรือถอดประสบการณ์เป็นระยะ

ข้อตกลงสำหรับกิจกรรม "ธุรกิจพอเพียง" ที่ทุกกลุ่มการเรียนจะต้องถือเป็นมติในการมอบหมายร่วมกัน มีดังต่อไปนี้

๑) ในปีการศึกษา ๑/๒๕๖๐ เป็นต้นไป ให้มีการมอบหมายงานกลุ่มเพื่อให้นิสิตได้ฝึกน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการสร้างรายได้ โดยการทำ "ธุรกิจพอเพียง"

๒) ให้นิสิตมีอิสระในการกำหนดหัวเรื่อง "ธุรกิจพอเพียง" เช่น ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม หรือ รูปแบบธุรกิจ ฯลฯ ทั้งนี้ให้เป็นดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอนประจำกลุ่มการเรียน ที่จะกำหนดแนวทางและขอบเขตของการศึกษาและทำ "ธุรกิจพอเพียง"

๓) อาจารย์ประจำกลุ่มการเรียนเป็นผู้ประเมินผลงาน โดยกำหนดให้เป็นคะแนน ๑๒ เปอร์เซ็นต์ของการประเมินผลการเรียนของรายวิชา ทั้งนี้จะต้องไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินลงทุนมากน้อย

๔) นิสิตทุกกลุ่มการเรียนจะต้องนำเอาผลงาน "ธุรกิจพอเพียง" เข้าร่วมนำเสนอในงาน "มหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งทางสำนักศึกษาทั่วไปจะเป็นผู้จัดงานในตอนปลายภาคเรียน โดยกำหนดคะแนนการเข้าร่วมกิจกรรมฯ เป็น ๓ เปอร์เซ็นต์ของการประเมินผลการเรียนของรายวิชา

๕) นิสิตแต่ละกลุ่มย่อย จะต้องจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน "ธุรกิจพอเพียง" โดยประกอบด้วย รายละเอียดโครงการฯ ผู้ประกอบการ วิธีการดำเนิน (ขั้นตอนการผลิตหรือทำธุรกิจ) บัญชีแสดงต้นทุน รายได้ ค่าใช้จ่าย เป็นต้น นำส่งอาจารย์ประจำกลุ่มการเรียน พร้อมกับผลงานหรือชิ้นงานหรือสื่ออื่น ๆ ตามที่อาจารย์ประจำกลุ่มกำหนด

ขอจบบันทึกตรงนี้ครับ




หมายเหตุ อาจารย์ที่เข้าร่วมอบรมมากกว่าในภาพนี้ ถ่ายภาพนี้หลังเลิกกิจกรรมการอบรมฯ ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมกันขับเคลื่อน ปศพพ. สู่นิสิต เพื่อสร้างคนดีให้กับสังคมร่วมกันต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 630150เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2017 01:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2017 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณอาจารย์ต๋อยมากครับ ที่ให้โอกาสไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมงานผู้สอนวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท