อาชญากรรมไซเบอร์แบบใหม่ กับ ผู้ก่อการร้ายร่วมสมัยใช้ Fintech


A new breed Cyber crime and Contemporary Terrorist with Fintech

 

ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

Cyber criminologist

 

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” (Human being is social animal) อริสโตเติล ปราชญ์ชาวกรีกได้กล่าวไว้ แปลเป็นภาษาชาวบ้านตามความเข้าใจของผู้เขียนก็แยกเป็น “สัตว์” กับ “สังคม” นั่นแปลว่ามนุษย์เป็น “สัตว์” ก่อน แล้วต้องอยู่ร่วมกันเป็น “สังคม”

“สัตว์” ผมก็นึกถึงวัวอ้วนๆ ก้มหน้ากินหญ้าเขียวชอุ่มดูสุขุมเพลิดเพลิน แน่นอนในทุ่งโล่งไกลสุดสายตามันคงไม่เลือกไปยืนอยู่ในพื้นที่ไร้หญ้าแต่ว่ามีแต่ดิน นั่นคือแรงจูงใจของสัตว์ (Motivation) กระทำไปเพื่อตอบสนองสัญชาตญาณสัตว์ ที่เลือกว่าอะไรจะเกิดอรรถประโยชน์ (Utility) สูงสุดแก่ตน ก็จะกระทำการอันนั้น โดยเฉพาะมนุษย์นั้น พวกเขาจะแสวงหาความสุขความเพลิดเพลินหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดที่เรียกว่า “สุขนิยม” (Hedonism) แม้ความสุขนั้นจะเกิดจากการทำร้ายมนุษย์เหมือนกันก็ตาม

แต่มนุษย์นั้น นอกจากมีสัญชาตญาณของสัตว์อยู่ในตัวแล้ว พวกเขาสามารถใช้เหตุผลในการกระทำการใดที่ให้ความสุขแก่ตนได้มากกว่าแค่การแสวงหาสิ่งที่ตอบสนองความสุขสบายแก่ร่างกาย หากด้วยการทำเพื่อผู้อื่นหรือส่วนรวม เช่น “การเสียสละ” “การทำเพื่อชาติหรือศาสนา” “การพลีชีพ” เป็นต้น เพราะขี้เกียจค้นหาทฤษฎีผมเดาเอาเองว่า นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “อุดมการณ์” และนั่นคือสิ่งที่มีเกียรติสูงสุด อันเปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่แตกต่างห่างไกลจากสัตว์มาก

ผมเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนมีสองด้านให้มองอยู่เสมอ ทั้ง Objective และ Subjective แม้ว่าวิทยาศาสตร์เป็นการตรวจวัดชั่งตวงที่เป็นรูปธรรม และก็มีนามธรรมแฝงด้วยปรัชญาที่จับต้องไม่ได้เสมอ ที่นักวิทยาศาสตร์ไฮโซมักจิบไวน์ สูบซิกก้าร์ คุยกันบนโต๊ะมื้อค่ำเรื่องปรัชญาควอนตัม

การก่อการร้ายนั้น ผมมองแบบเป็นกลางทั้งด้านดีและร้ายประกอบเสมอ ไม่ได้มีอคติเสมอไป มองเป็นปรากฎการณ์สังคม แต่ไม่เคยชื่นชม หากทำร้ายผู้บริสุทธิ์ก็ต้องประณามในใจไม่สามารถยกย่องได้เช่นกัน เพราะบางทีอยากให้ผู้มีอำนาจที่กำหนดนโยบายแบบมี Criminal mind ควรจะได้รับผลเลวร้ายมากกว่า ผู้บริสุทธิ์ และผมเชื่อว่าการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ไม่เคยสัมฤทธิ์ผล และไม่ได้รับการชื่นชมจากสังคม โดยเฉพาะในใจลึกๆ ของผู้กระทำการก็คงรู้สึกผิด เพราะเป็นความผิดตามธรรมชาติ เป็นความผิดในจิตใต้สำนึกที่มนุษย์ทุกคนรู้ได้ด้วยใจ ภาษากฎหมายเขาเรียกว่า Natural Law

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ก่อการร้าย

 

ขอบคุณภาพจาก : http://www.publicpostonline.net/1952

 

ผู้ก่อการร้าย ในส่วนหนึ่งคือ ผู้ที่มีความเชื่ออย่างบ้าคลั่ง (Fanatical Believer) ในการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา (สุรชาติ, 2554) ความเชื่อนั้นเกิดจากความสิ้นหวังที่ถูกรังแกหรือถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลหรือจากประเทศอื่น

บางครั้งพวกเขาอาจจะถูกทำให้เชื่อว่า ข้าราชการรังแกชาวบ้าน รัฐรังแกประชาชน แต่ถ้าหากถามว่าคดีไหน? ใครถูกรังแก? และคดีไปถึงไหนแล้ว? เขาน่าจะตอบไม่ได้ เพราะถูกสร้างความเชื่อให้รับรู้ โกรธแค้น เกลียดชัง หรือสร้าง Hate crime ในหัวให้ฮึกเหิมมาว่างั้น

การก่อการร้ายสามารถแบ่งตามอุดมการณ์ได้ 2 ประเภทคือ การก่อการร้ายในประเทศ (Domestic Terrorism) ด้วยการต่อต้านรัฐบาลตนเองหรือต่อต้านสังคมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การช่วงชิงประชาชน การแบ่งแยกดินแดน การขัดแย้งทางศาสนา การขัดแย้งวัฒนธรรม การขัดแย้งทางแนวคิดการเมือง ซึ่งมักกระทำการก่อความไม่สงบในประเทศ ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ยั่วยุให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบปรามตนเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อมวลชน และสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในใจแนวร่วม เขาเรียกว่าผู้ก่อการร้ายฝ่ายซ้าย (Left-Wing Terrorism) เช่น กลุ่มกบฏแชสเนีย แนวร่วมปลดปล่อยปาเลสไตน์ และ IRA เป็นต้น

แต่การก่อการร้ายในมิติระหว่างประเทศ (International Terrorism) โดยมุ่งเป้าหมายทำลายประเทศตรงข้ามเท่านั้น ด้วยเหตุขัดแย้งทางเชื้อชาติหรือศาสนา การตอบโต้การเหยียดเผ่าพันธุ์ การตอบโต้รุกราน เขาเรียกว่าผู้ก่อการร้ายฝ่ายขวา (Right-Wing Terrorism) เช่น อัลเคด้า ตาลีบัน ไอซิส หรือแม้แต่ นีโอนาซี (Neo-Nazi) ที่เป็นขวาสุดขั้วใช้ความรุนแรงกับชาวต่างชาติพันธ์ในยุโรป ด้วยเชื่อว่าคนขาวเป็นเผ่าพันธุ์ที่เป็นเลิศรังเกียจคนผิวสีอื่น (คนผิว ซันแทน แอนด์ แฮนด์ซัม อย่างผมก็คงโดนมองเป็นไส้เดือน T_T)

ผู้ก่อการร้ายที่แตกต่างอุดมการณ์กันออกไปนั้น ต่างเชื่อมั่นในการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และล้างแค้น ผมเองไม่แน่ใจว่าเคยมีสักครั้งหรือไม่ที่ผู้ก่อการร้ายใช้ความรุนแรงแล้วต่อรองกับรัฐบาลใดได้สำเร็จน่าจะเคยมีนะแต่ผมไม่ได้ค้นคว้า แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นข้อต่อรองในระดับอธิปไตยคงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐใดจะยินยอม เพราะหากเปรียบเป็นตาชั่งแล้ว ด้านหนึ่งเป็นอธิปไตย อีกด้านหนึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ อย่างไรรัฐบาลใดก็ต้องรักษาชาติอยู่ดี แต่ถ้าหากลองเปลี่ยนจากผู้บริสุทธิ์เป็นผู้นำรัฐบาลหรือนักการเมืองอาจจะเห็นผลที่แตกต่างก็เป็นได้ ดังที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้น่าสนใจว่า “Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results”

ในมุมมองของผม ผู้ก่อการร้ายในทุกกลุ่มจะมีคนอยู่ 2 ประเภท นอกจากมีผู้ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ของตนแล้ว คนอีกประเภทหนึ่งคือ “นักธุรกิจ” ฟังดูเลวร้าย

กองทัพต้องเดินด้วยท้อง หากขบวนการก่อการร้ายไม่มีทรัพยากรที่เลี้ยงดูย่อมตั้งอยู่มิได้ และต้องมีทรัพยากรอย่างมหาศาลในการดำรงอยู่ เพราะผมเชื่อว่าค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของผู้ก่อการร้ายต่อหัวค่อนข้างสูงกว่าแรงงานปกติหลายเท่า และการปฏิบัติการแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ถ้ามีกองทัพสัก 1,000 คนๆละ 500 ต่อวันคงใช้เงินเยอะมากแน่

นักธุรกิจ ก็เป็นสัตว์สังคมประเภทหนึ่ง พวกเขานอกจากช่วยบริหารจัดการทรัพยากรของกลุ่มแล้ว ยังต้องแสวงหาโอกาสธุรกิจที่ต้องมีกำไรมากกว่าปกติ (Normal profit) จึงจะเกิดอรรถประโยชน์สูงจูงใจจนพวกเขาต้องเข้าร่วม อาทิเช่น

ไอซิส (ISIS) ไม่ได้เป็นแค่กลุ่มก่อการร้าย แต่ยังเป็นพ่อค้าน้ำมันรายใหญ่ด้วย พวกเขาครอบครองบ่อน้ำมันที่ยึดมาได้ถึง 11 แห่ง ในอิรัก และซีเรีย นอกจากนี้ยังมีบ่อขุดเจาะน้ำมันอีก 7 แห่ง และเป็นเจ้าของโรงกลั่นอีก 2 แห่ง อีกทั้งยังมีรายได้จากการลักลอบนำวัตถุโบราณของอิรักและซีเรียส่งขายให้ตุรกี ส่วนรายได้เสริมนั้นก็จะปล้นธนาคาร ขู่กรรโชกทรัพย์คนในพื้นที่ และจับตัวเรียกค่าไถ่

เส้นทางของพวกเขาเริ่มจากการสนับสนุนชาวเคิร์ต ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลอิรัก และได้รับการสนับสนุนอาวุธจากอเมริกา ที่สนับสนุนอาจจะเพื่อให้อิรักอ่อนแอ ทั้งที่ชาวเคิร์ตนั้นโลกอาหรับไม่ต้อนรับแม้จะเป็นมุสลิมด้วยกัน แต่ไอซิสจะสถาปนารัฐอิสลามกลับไปเข้าพวกเคิร์ต แต่ตอนหลังไอซิสไหงสังหารนักรบชาวเคิร์ตก็ไม่รู้ แต่ทางเลือกที่ได้ประโยชน์สูงสุดต้องทำไว้ก่อน นี่คือวิถีนักธุรกิจที่นำอุดมการณ์

ผู้ก่อการร้ายฝ่ายขวา เป็นวาระที่โดดเด่นขึ้นมาในสายตาชาวโลกนับตั้งแต่เหตุการณ์ 911 ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาตื่นตัวเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของอเมริกาก็เปลี่ยนจากการป้องปราม (Deterrence) และป้องกัน (Prevention) ในสมัยสงครามเย็น มาเป็นยุทธศาสตร์ Preemption คือ ไปรบกับเขาก่อน เปิดศึกที่บ้านเขาก่อน ก่อนที่เขาจะมาโจมตีเรา

 

 

 

ซึ่งหลังเหตุการณ์ 911 บุช ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องสังหาร บิน ลาเดน และทำลาย อัลเคด้า ให้ได้ แต่ก็ทำไม่ได้สักที แม้ตาลีบันจะสลายได้แล้วก็ตาม อิรัก จึงเป็นกรณีแรกที่อเมริกามองว่า อิรักอาจจะมีอาวุธนิวเคลียร์ และอาจจะส่งต่อให้ผู้ก่อการร้ายก็เป็นได้ จ็อช บุช เลยต้องตัดไฟแต่ต้นลม แม้จะเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งความชอบธรรมในทุกกระบวนการหากมองในเชิงกระบวนการยุติธรรม เพราะอิรักยินดีให้สหประชาชาติตรวจสอบการไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และชีวภาพอย่างที่อเมริกากล่าวหา อีกทั้งไม่มีหลักฐานการเชื่อมโยงว่าอิรักให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ iraq war

 

ขอบคุณภาพจาก : http://www.marcodilauro.com/features/iraq-war/#pb-...

 

ก็นั่นไง สหรัฐ อเมริกา ฝ่าฝืนมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council; UNSC) อย่างเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า เข้ารุกรานอิรัก ทำลายระบบการยุติธรรมของโลก (ไม่รู้จะอธิบายว่าอย่างไรดี) และดูเหมือนไม่มีใครกล้าตำหนิ อเมริกาจึงครองความเป็น จ้าวโลก (Hegemony) ไปโดยปริยาย ดังนั้นยุทธศาสตร์ Preemption และการฝ่าฝืนมติ UN เยี่ยงนี้จึงน่าจะทำให้ความมั่นคงสงบสุขในโลกเริ่มไม่มั่นคงละ แม้อิรักจะมี “น้ำมัน”เป็นอันดับสองของโลก แต่เชื่อว่าอเมริกาคงไม่ไปแตะต้องเอามาเป็นประโยชน์แก่ตนเอง คงต้องการเข้าไปล้มระบอบ ซัดดัม และสร้างประชาธิปไตยให้อิรักเฉยๆ แต่การรุกรานประเทศอาหรับต่อไปจะเป็นประเทศใดทรัพยากรอาจจะเป็นเงื่อนไขพิจารณาด้วยหรือไม่ผมว่าใกล้ๆ อิรักน่าสนใจ อย่างอิหร่าน

 

นับตั้งแต่ปี 2012 อิหร่านถูกมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐและยุโรป งดนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน โดยมามุกเดิมอ้างว่ามีข้อมูลประจักษ์ชัดว่าอิหร่านได้พัฒนาศักยภาพในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ และใกล้จะสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ อันจะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและของโลก

 

อิหร่านส่งออกน้ำมันระหว่างปี 2006-2011 มีรายได้เป็นมูลค่ากว่า 500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้อิหร่านมีกำลังซื้อมหาศาล ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินอิหร่านแข็งค่ามาตลอดเศรษฐกิจดีมั่นคง แต่การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีความรุนแรงมาก โดยพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมน้ำมันและธนาคารกลางของอิหร่าน โดยตัดเส้นทางการเงินของธนาคารอิหร่านทั้งหมดจากระบบ SWIFT (Society for Worldwide Inter-bank Financial Telecommunication คือ ระบบสื่อสารด้านการเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วโลก) นั่นหมายถึงอิหร่านไม่สามารถเชื่อมโยงการทำธุรกรรมทางการเงินกับชาติอื่นได้ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีกเกือบ 50% และมีรายได้หายไปอีก 60-70% ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจอิหร่านต้องประสบปัญหาอย่างหนักบ้านเมืองกำลังอ่อนแอลง

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก : http://www.marcodilauro.com/features/iraq-war/#pb-...

 

แล้วประเทศไทยเราล่ะ? มีทรัพยากรน่าสนใจมั่งป่าว? Financial Action Task (FATF) ซึ่งเป็นองค์การเฉพาะกิจที่กำหนดมาตรการต่อต้านการฟอกเงิน (Anti-Money Laundering; AML) และการปราบปรามระบบการเงินเพื่อก่อการร้าย (Combating Terrorism Financing; CTF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม จี 20 และสหประชาชาติได้ปรับเลื่อนอันดับของประเทศไทยจากบัญชีที่ต้องจับตามองระดับ 2 (watch list 2) ขึ้นมาเป็นบัญชีที่ต้องจับตามองระดับแรก (watch list 1) พร้อมกับประเทศอื่นอีก 4 ประเทศ เช่น อินโดนีเซียและปากีสถาน

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก : http://www.marcodilauro.com/features/iraq-war/#pb-...

 

 

 

 

พลเอก โคลิน เพาเวลล์ รัฐบุรุษและพลเอกแห่งกองทัพบกสหรัฐอเมริกา เขาดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา คนที่ 65 ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ บุช ตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2005 เขาได้กล่าวถึงความกังวลว่า หากส่งทหารกว่าห้าแสนนายไปอิรัก แล้วไม่พบอาวุธร้ายแรง จะเกิดอะไรขึ้น? (ฉันทิมา,2550)

 

ผู้ก่อการร้ายฝ่ายขวา จากเหตุการณ์ 911 ทำให้สหรัฐอเมริกาพัฒนารูปแบบการปฏิบัติงานหน่วยงานความมั่นคงแบบใหม่มากมาย รวมทั้งเกิดงานวิชาการด้านอาชญาวิทยาด้านนี้อย่างกว้างขวาง

 

โดยเฉพาะ “ระบบการเงินผู้ก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” การก่ออาชญากรรมระดับ Street crime นั้นอาจจะไม่ต้องใช้เงินทองมากมาย แต่ผู้ก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ต้องใช้เงินทองมากมายมาหล่อเลี้ยง แล้วเขาส่งข้ามชาติกันยังไงนะ ระบบธนาคารก็คงไม่ได้แน่ๆ และเงินเยอะๆ ด้วย

 

 

Criminal Financial Network ในสมัยก่อนเป็นอย่างไร?

สมัยโบราณเขาใช้ “เพชร” เพราะเบา ขนย้ายง่าย ขายง่าย มีค่าสูง บางครั้งก็ ทองคำ และของโบราณ แต่สุดท้ายเงินปริมาณมากๆ ก็ต้องใช้ระบบธนาคารอยู่ดี แล้วจะเก็บเงินอย่างไร? กระจายบัญชีอย่างไร? โอนย้ายอย่างไร? Hawala System คืออะไร? ระบบโพยก๊วนคืออะไร?

Hawala System เป็นระบบการเงินในสมัย ศตวรรษที่ 18 ของชาวอาหรับและมุสลิมที่ค้าขายในเส้นทาง Silk road เพื่อป้องกันการถูกโจรปล้น

ชาวอาหรับเขาจะเอาเงินไปฝากให้ Hawala broker ในเมืองนั้น แล้วจะได้รับกระดาษที่มีสัญลักษณ์พิเศษหรือสิ่งของ เดินถือไปยังอีกเมืองหนึ่ง แล้วเอาไปยื่นให้ Hawala broker ในเมืองนั้น พร้อมบอกรหัสลับ เขาก็จะจ่ายเงินให้ ส่วนเงินนั้นจะมีคนถือไปให้ซึ่งเป็นคนที่โจรไม่กล้าปล้น อาจจะเป็นกลุ่มคนมีอาวุธมากกว่าโจร และพวกเขาคิดแค่ค่าธรรมเนียม

ภาษาไทยเรียกว่าระบบโพยก๊วน ซึ่งน่าจะเป็นคำมาจากภาษาจีนที่เราเห็นจอมยุทธถือตั๋วเงินกระดาษ เวลาเดินทางท่องยุทธจักรจะถือเป็นกระดาษไปขึ้นเงิน จับกังชาวจีนมาทำงานในไทยก็ส่งเงินกลับบ้านด้วยระบบโพยก๊วนนี่ล่ะ เป็นร้อยปีแล้ว

ระบบโพยก๊วนเป็นการโอนเงินข้ามประเทศที่ไม่ผ่านระบบธนาคาร ที่ไร้ร่องรอยการตรวจสอบและสืบสวน (Paperless Transaction) พวกเขามีระบบธนาคารใต้ดินเลยล่ะเป็น Underground Banking บ้างก็เชื่อว่าคนที่เป็น Hawala broker นั้นส่วนใหญ่เป็น ร้านเพชร ร้านทอง การฟอกเงินอาจจะถือเพชรสักเม็ดไปแล้วขายได้ในราคาที่สูงกว่าปกติก็เป็นได้

แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไม่มีหลักฐานไปเปิดบัญชีธนาคาร หรือไม่รู้กระบวนการ หรือเสียดายค่าธรรมเนียม เพราะรายได้น้อย เด็กเสิร์ฟชาวเวียตนามหน้าตาสวยใสแถวบ้านผมนั้นได้เงินเดือนสี่พันบาท ผมก็สงสัยว่าส่งเงินกลับบ้านอย่างไร เธอบอกว่า พวกเธอจะฝากไปกับรถตู้

การค้ายาเสพติดหรือของผิดกฎหมายในบริเวณชายแดน ก็จะใช้มดงานเดินถือเงินเข้าออกผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเอา เช่น ถือคนละ 5,000 สัก 1,000 คน ให้เดินเข้าออกด่านวันหนึ่งสัก 2 รอบ ก็สิบล้านต่อวันแล้ว ถ้ามีคาสิโนด้วยยิ่งดีได้อ้างได้ว่าได้เงินมาจากไหน

องค์การสหประชาชาติ และภาคีสมาชิกประเทศได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากฎหมาย และกระบวนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกันอย่างกว้างขวาง ผมขอไม่อธิบายยืดยาวเพราะมันยาวจริงๆ นับตั้งแต่อนุสัญญาเวียนนา 1988 เป็นต้นมา แต่สิ่งที่เราจะได้ยินกันบ่อยขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโลกการเงิน Fintech ก็คือ AML/KYC ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารและสถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติต่อลูกค้าตามกฎหมาย

AML ก็คือ Anti-Money Laundering การปฏิบัติตามกฎหมายการฟอกเงิน และ KYC คือ Know Your Customer ธนาคารหรือสถาบันการเงินก็รู้จักลูกค้าตัวเองให้มากที่สุด และแสดงตัวตนที่ถูกต้อง ลูกค้าต้องเป็นบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจตราธุรกรรมของลูกค้า หากพบธุรกรรมที่ต้องสงสัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องรายงานเจ้าหน้าที่ทันที

อเมริกาเป็นต้นแบบการพัฒนาทั้งกฎหมายและระบบการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (Anti-Money Laundering) แน่นอนหากผู้ก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติไม่มีระบบการเงิน เก็บเงินไม่ได้ โอนย้ายไม่ได้ ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

FinCen หรือ Financial Crimes Enforcement Network ของสหรัฐ อเมริกา เป็นหน่วยงานที่สืบสวนสอบสวนเส้นทางการเงินและการฟอกเงินของเหล่าอาชญากร องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และผู้ก่อการร้าย โดยถือพระราชบัญญัติความลับทางธนาคารหรือ Bank Secrecy Act (BSA Regulations) เป็นเครื่องมือในการทำงาน

 

FinCen ได้ปรับ บริษัท Ripple Labs, Inc. เป็นเงินถึง 700,000 ดอลลาร์ สหรัฐ ในข้อหาละเมิดมาตรการป้องกันการฟอกเงิน และไม่รายงานรายการโอนเงินที่ต้องสงสัย

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ fincen

 

จากบทความของ Jim Sivon ซึ่งเป็นนักกฎหมายของ Barnett, Sivon & Natter, P.C., a Washington, DC ได้เขียนบทความเรื่อง FinTech and the Existing Legal Framework for Anti-Money Laundering and Counter-Terrorism Financing เมื่อมิถุนายน 2015 ความว่า

บริษัท Ripple Labs, Inc. นั้นให้บริการ Open Source ระบบการจ่ายเงิน รวมถึงมีสกุลเงินดิจิทัลในระบบ Math-Base ที่มีหน่วย XRP และเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆของโลก ซึ่งเงินสกุลดิจิทัลเหตุหนึ่งที่คนนิยมคือไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นเจ้าของบัญชี ใครโอนไปให้ใคร

อย่างไรก็ตาม BSA Regulations ของสหรัฐ อเมริกา ตามไม่ทัน Fintech แล้วล่ะ เพราะเขาออกกฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 1970 และหากมีบริษัท Digital Currency แบบ Ripple เกิดขึ้นอีกก็คงผิดกฎหมายอีกทั้งที่ข้อดีต่อระบบเศรษฐกิจก็มี

ผู้อ่านท่านอื่นอาจจะสงสัยว่า แล้วเงินดิจิทัลสกุลอื่นทำไมไม่ถูกปรับหรือถูกบังคับตามกฎหมายฟอกเงินมั่งล่ะ? ผมคิดว่า ประการแรก บริษัท Ripple Labs, Inc. เป็นนิติบุคคลในสหรัฐ อเมริกา ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเขา ประการที่สองเงินดิจิทัลสกุลอื่นอย่าง Bitcoin ไม่มีเจ้าของ เลยไม่รู้จะจับใคร คนเชื่อถือมันกันเองนี่

 

ราวพฤษภาคม 2017 The Center for a New American Security (CNAS) ได้ตีพิมพ์วารสาร ENERGY, ECONOMICS & SECURITY เรื่อง “TERRORIST USE OF VIRTUAL CURRENCIES” ความตอนหนึ่งว่า

ได้พบหลักฐานการใช้เงินดิจิทัลของผู้ก่อการร้ายใน Gaza Strip และสมาชิกในกลุ่ม ไอซิส บางคนได้ใช้เงินดิจิทัลใน อินโดนีเซีย และสหรัฐ อเมริกา

 

แต่ผู้ก่อการร้ายในกลุ่มอื่นยังคงใช้ระบบการเงินแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะแบบ Hawala ทั้งใน Sub-Saharan Africa Yemen และ Horn of Africa

จากการวิจัยพบว่าเงินดิจิทัลได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในบรรดาองค์กรอาชญากรรม แต่ในกลุ่มผู้ก่อการร้ายยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเพราะว่า

ผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่ดี และไม่มีความรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เท่าที่ควร อาทิเช่น อัลเคด้า ที่อยู่ใน Islamic Maghreb (AQIM) ที่ Sahel และ อัลเคด้า ใน Arabian Peninsula (AQAP) ที่ Yemen และอีกในหลายพื้นที่ของ ISIS ในอิรักและซีเรีย แต่ถ้าหากกลุ่มผู้ก่อการร้ายรู้จักนำมาประยุกต์ใช้คงจะเติบโตเข้มแข็งมากขึ้น แต่การที่มีสมาชิกผู้ก่อการร้ายบางคนเริ่มใช้เงินดิจิทัลนั่นเป็นเพียงปฏิบัติการแบบ “Lone wolf”

 

 

 

การก่อการร้ายจาก Fintech ครั้งแรก

เช้าตรู่วันที่ 2 ธันวาคม 2015 คู่สามีภรรยา ชื่อนาย Syed Rizwan Farook และนาง Tashfeen Malik ได้นำลูกสาวที่กำลังน่ารักน่าชังวัย 6 เดือน มาฝากไว้กับแม่ของ Farook และบอกว่าพวกเขามีนัดพบหมอ

จากนั้นทั้งคู่ได้มายังที่ทำงานของ Farook ซึ่งเป็นศูนย์ฟื้นฟูผู้พิการของรัฐ ราวเกือบสิบเอ็ดโมงทั้งคู่ได้เปิดฉากระดมยิงใส่ผู้คน สังหารหมู่เพื่อนร่วมงานและชาวอเมริกัน 14 คน และบาดเจ็บราวๆ 17 คน จากนั้นก็หลบหนีและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมทั้งคู่ ลาจากลูกน้อยไป

ผมรู้สึกจุกที่คอ อยากจะร้องไห้เหมือนกัน มีแต่ความเสียใจที่จะเกิดขึ้น พอเข้าใจทุกฝ่าย และอาจจะพอเข้าใจต้นเหตุแห่งปัญหา แต่ไม่มีทางจะทราบปลายเหตุแห่งการยุติได้เลย

 

 

 

นาย Farook นั้นเกิดที่ อเมริกา ครอบครัวอพยพมาจากปากีสถาน เขาทำงานมีหน้าที่การงานที่ดี เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพอาหารอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูผู้พิการ Inland Regional Center ใน San Bernardino แคลิฟอร์เนียมา 5 ปี เขาเป็นคนเงียบขรึมและสุภาพมาก มีรายได้ต่อปีราว 52,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนาง Malik เป็นชาวปากีสถาน เธอเป็นเภสัชกร หลังจากแต่งงานเธอได้วีซ่า เค-1 เป็นพลเมือง เพิ่งได้ย้ายเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ 90 วัน

เขาและเธอรู้จักกันทางอินเทอร์เน็ต นาย Farook สมัครสมาชิกหาคู่ทางเว็บไซต์ iMilap.com จากนั้นเขาและเธอได้พบกันที่ ซาอุดิ อารเบีย ในต้นปี 2014 หลังจากนั้นเพียง 1 เดือนทั้งคู่ก็แต่งงานกัน และได้ลูกสาว

ในการสืบสวน FBI ทราบว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2015 มีเงินโอนเข้าบัญชีของ Farook จำนวน 28,000 ดอลลาร์ สหรัฐ 2 สัปดาห์ก่อนก่อการร้าย ซึ่งเงินมาจาก Webbank.com เป็นธนาคารออนไลน์ในสหรัฐ ให้บริการกู้ยืมเงินแบบ Peer-to-Peer Loans โดย Farook ได้ทำเรื่องกู้เงินผ่านเว็บไซต์ Prosper marketplace

ซึ่ง Prosper เป็น Platform Fintech จับคู่ให้กู้ยืมเงินออนไลน์ P2P Lending เป็นนวัตกรรมการกู้ยืมเงินแบบใหม่ ที่เป็นคนกลางให้ผู้ที่ต้องการกู้ มานำเสนอเครดิตของตนแบบออนไลน์ บัญชีเงินเดือน เครดิตบูโร ยอดหนี้ ไม่ต้องเดินทางมาธนาคารด้วยตัวเอง และผู้ให้กู้ (สถาบันการเงิน) หรือใครก็ตามที่เป็นนักลงทุนต้องการปล่อยเงินกู้ ซึ่งเป็นThird party จะเข้ามาเลือกดูประวัติ และเครดิต แล้วพิจารณาอนุมัติ ทำให้นักลงทุนแข่งขันกันพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และลดดอกเบี้ย เป็นระบบการกู้ยืมเงิน Fintech สมัยใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่มี

 

 

ในกรณีของ Farook ผ่านการพิจารณาของ Webbank จึงมีเงินเข้าบัญชีไปซื้ออาวุธจำนวนมาก และเป็นปืนที่ถูกกฎหมาย เงินส่วนหนึ่งโอนให้แม่ของ farook ราว 5,000 ดอลลาร์ สหรัฐ เท่านั้นเอง แหล่งข่าวบางสำนักกล่าวว่าพวกเขาอาจจะเปลี่ยนเงินเป็น Bitcoin แล้วบริจาคส่วนหนึ่งให้ ไอซิส

 

กรณีศึกษาของ Farook นั่นแสดงให้เห็นวิธีการว่า ผู้ก่อการร้ายไม่ต้องห่วงเรื่องการโอนเงินข้ามประเทศ แต่หาวิธีได้ Green Card และเดินเงินสดในบัญชีสัก 6 เดือน มีหลักฐานการทำงาน ก็มีเครดิตให้กู้ได้ แล้วค่อยเอาเงินมาซื้อปืนที่สหรัฐซื้อปืนถูกกฎหมายง่าย แต่เชื่อว่าตอนนี้ Farook น่าจะติด Black list ในเครดิต บูโร ซะแล้ว เพราะไม่ผ่อน Webbank

 

การระดมทุนเพื่อก่อการร้ายด้วย Fintech

กลุ่มแฮคเกอร์คุณธรรมที่มีนามว่ากลุ่ม Ghost Security Group (GSG) ได้อ้างว่ากลุ่มผู้ก่อการร้าย ไอซิส ได้ระดมทุนด้วยระบบเงินดิจิทัลสกุล Bitcoin ได้ราว 3,000,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 100 ล้านบาทไทย เพื่อปฏิบัติการถล่มกรุงปารีสหรือ Paris Attack เมื่อ พฤศจิกายน 2015 สอดคล้องกับที่นาย Faisal Tayeb หัวหน้าหน่วยสืบสวนคดีพิเศษ Detachment 88 ของอินโดนีเซียให้ข่าวว่า มีชาวอินโดนิเซียราวพันคนให้การสนับสนุน ไอซิส ด้วยการบริจาค Bitcoin แต่อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่ามีการปลอม Bitcoin address ของไอซิสเพื่อหลอกเอาเงินผู้ให้การสนับสนุน ผมเองก็ลองเข้า กูเกิล พิมพ์คำว่า ISIS Bitcoin address ก็เห็นมีเยอะเหมือนกันนะ น่าเอา Bitcoin address ตัวเองไปแปะไว้บ้างเผื่อมีเศรษฐีน้ำมันหลงเชื่อ

 

 

Terrorist with Block Chain

อ้าวไปกันใหญ่ แค่ Fintech กับการก่อการร้ายก็แย่แล้วมาเกี่ยวไรกับ Block chain เทคโนโลยีพลิกโลกอีกเนี่ย?

เดี๋ยวจะว่าชี้ทางให้กระรอก จำเรื่อง Hawala กับ โพยก๊วน ได้มั๊ยครับ พวกเขาซื่อสัตย์ในหมู่โจร ระบบจึงยังคงอยู่ แต่ในเทคโนโลยี Block chain นั้นมันยิ่งกว่าอีก ผมยกตัวอย่างแค่เรื่อง Smart contract หรือสัญญาอัจฉริยะ นะครับ

หากผมเป็นหัวหน้าผู้ก่อการร้ายหรือหัวหน้าแก๊งค์อาชญากรสักแห่ง ผมสั่งการลูกน้องสักคนให้ปฏิบัติการ ผมสามารถร่างสัญญาแล้วลงนามพร้อมกับเขาลงใน Block chain โดยผูกพันบัญชี Bitcoin ว่าจะจ่ายค่าเลี้ยงดูครอบครัวให้ทุกเดือนไปสัก 50 ปี ตามยอดที่ตกลงกันไว้ ซึ่งระบบจะไม่สามารถบิดพลิ้วได้เลย เงินในบัญชี Bitcoin ของผมจะไม่สามารถตัดไปใช้การอื่นได้ หากยอดไม่พอจ่ายตามสัญญา และมันจะส่งเงินให้บัญชีลูกน้องเพื่อดูแลครอบครัวอย่างตรงไปตรงมาทุกเดือนเมื่อเขาไม่อยู่แล้ว หากข้อตกลงนั้นเทียบกับการมีชีวิตของผมซึ่งอาจจะไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ดีกว่าการพลีชีพ ก็ตายดีกว่า 555 ระบบ Block chain นั้นไม่สามารถแก้ไขรายการได้อีกชั่วนิรันดร์ ดังนั้น Smart Contract คือสัจจะในหมู่โจร

 

สรุป

Terrorist Fintech เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด อย่าลืมว่าเราอยู่ในยุคที่ AML/KYC รุ่งเรือง การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนั้นรุ่งโรจน์ เหล่าอาชญากร องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และบรรดาผู้ก่อการร้ายยังมีฤทธิ์ขนาดนี้ แต่ในวันพรุ่งนี้วันที่พวกเขาเข้าถึง Fintech มากกว่านี้ รู้จักใช้มากกว่านี้จะเกิดอะไรขึ้นพวกเขาจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน

Farook และ Malik นั้นเป็นผู้ก่อการร้ายที่มีความรู้มีการศึกษา FBI เชื่อว่าพวกเขาเป็นสมาชิกในกลุ่มบนอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลุ่มสอนให้คลั่งศาสนา ส่วนการ Raise Fund ด้วย Bitcoin ในปฏิบัติการ Paris Attack นั้นอาจจะเป็น Lone Wolf เพียงคนกลุ่มหนึ่งของ ไอซิส แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด อาจจะได้ผลงานและได้เงินมากจากการระดมทุน Bitcoin ซึ่งถ้าหากกลุ่มผู้ก่อการร้ายมีโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพเข้าถึง มีเครื่องมือ และรู้จักใช้งาน อย่างที่ CNAS วิเคราะห์ไว้ โลกก็อาจจะเปลี่ยนโฉมไปอีกรูปแบบหนึ่ง

ต้นตอสาเหตุของปัญหาการก่อการร้ายทั้งฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวานั้น อาจจะแก้ไม่ได้แล้ว เพราะมีเหตุการณ์ข่มเหงรังแกเหยียดหยามรุกรานกันเกิดขึ้นจริงมานานนม แต่การสืบทอดอุดมการณ์นั้นทำให้ปัจจุบันและอนาคตโลกไม่สงบสุข พวกเขาใช้ Hate Crime ในการสร้างความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก ไม่ใช่แค่การไขข่าวอันเป็นเท็จ แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ จูงใจให้เกลียดชังเป้าหมาย และการทำลายด้วยความรุนแรงเป็นสิ่งที่สูงส่ง เป็นวิธีปฏิบัติการจิตวิทยา

การก่อการร้ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของทุกชาติ ภัยก่อการร้ายระหว่างประเทศนั้นแก้ค่อนข้างยากผู้เขียนนึกไม่ออกว่าจะแก้ยังไง แต่ภัยการก่อการร้ายในประเทศนั้น ไม่ว่าการขัดแย้งทาง ชาติพันธ์ ศาสนา วัฒนธรรม แนวคิดการเมือง ต่างเริ่มต้นที่การสร้าง Hate crime เริ่มที่การแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายก่อน สร้างความโกรธ เกลียดชัง จนให้อภัยไม่ได้ จนต้องทำลายล้างกัน ถ้าหากสองฝ่ายเติบโตมีจำนวนเท่ากันเมื่อไรก็กลายเป็น Genocide ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเองในที่สุด

ดังนั้นผมคิดว่า การพูดถึงคนที่แตกต่างในทางลบ โดยไขข่าวอันเป็นเท็จซึ่งฝ่าฝืนความจริง ไม่ว่าเรื่องเกี่ยวกับ เผ่าพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง ในทางที่มีเจตนาให้เกิดความเกลียดชัง และดำเนินกลยุทธ์สร้างเครือข่ายให้มีจำนวนผู้เห็นด้วยมากขึ้นเรื่อยๆอาจจะใช้สื่ออินเทอร์เน็ตด้วยนั้น ไม่ใช่คดีอาญาหมิ่นประมาทธรรมดาแล้ว แต่มันคือคดีอาญาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติกฎหมายต้องปรับปรุง

อย่างไรก็ตามผมปักใจเชื่อว่าการก่อการร้ายแก้ที่ Hate crime ไม่ใช่การปราบปราม ส่วนผู้ก่อการร้ายที่ละทิ้งความสุขส่วนตัวและครอบครัวเพื่อปฏิบัติการด้วยอุดมการณ์ ถ้าไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ก็คงดี แต่การมี Fintech เทคโนโลยีทางการเงินที่ไร้ร่องรอย เก็บรักษา ใช้จ่าย และโอนผ่านข้ามประเทศไปได้โดยง่ายดาย ผมว่าหากทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงภัยคุกคามจากอาชญากรรมไซเบอร์ประเภทนี้แล้วล่ะก้อ ทางออกก็คือ Single Gateway ครับ ผมไม่เคยสนับสนุนนโยบายนี้ แต่มันเป็นทางเดียวที่เราจะป้องกัน Terrorist Fintech และ Terrorist Block chain ได้ครับ สวัสดี

 

 

อ้างอิง

- พิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก

เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร

(http://www.humanrightscenter.go.th/HRK/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%20%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%20%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%20%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%AF.pdf )

 

- รองศาสตราจารย์ สุรชาติ บำรุงสุข, ความมั่นคงร่วมสมัย (Contemporary Security), จุลสารความมั่นคงศึกษา, ตุลาคม-ธันวาคม 2554, ฉบับที่ 99-102

 

-รองศาสตราจารย์ ประภัสสร์ เทพชาตรี, การก่อการร้ายสากล, สถาบันพระปกเกล้า, มีนาคม 2550

 

- รองศาสตราจารย์ ฉันทิมา อ่องสุรักษ์, เครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศ: งานข่าวกรอง, กุมภาพันธ์, 2550

 

- สุภาพร รัศมีรัถาธรรม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน: ศึกษากรณีมาตรการในการดำเนินการเกี่ยวกับเงินสด วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต พ.ศ.๒๕๔๕

( http://libdoc.dpu.ac.th/thesis/85816.pdf )

 

- David C. Faith, The Hawala System, Global Security Studies, Winter 2011, Volume 2, Issue 1

ปปง. เปิดเส้นทาง 'โพยก๊วน' ธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ทิ้งร่องรอย, ศุกร์ ที่ 26 ตุลาคม 2555, สำนักข่าวอิศรา

(https://www.isranews.org/main-thairefom/17309-%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%87-%E0%B9%81%E0%B8%89-%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%A7%E0%B8%99-%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2.html )

 

- Jim Sivon, FinTech and the Existing Legal Framework for Anti-Money Laundering and Counter-Terrorism Financing, June, 2015. (http://www.bsnlawfirm.com/newsletter/OP1506_Sivon.pdf )

 

- Hackers claim ISIS Militants linked to Paris Attacks had a Bitcoin Wallet worth $3 Million

http://thehackernews.com/2015/11/paris-attacks-isis-funding.html

 

- TERRORIST USE OF VIRTUAL CURRENCIES

http://www.lawandsecurity.org/wp-content/uploads/2017/05/CLSCNASReport-TerroristFinancing-Final.pdf

 

- Virtual Currencies and Financial Crime

https://rusi.org/sites/default/files/rusi_op_virtual_currencies_and_financial_crime.pdf

 

- https://en.wikipedia.org/wiki/Rizwan_Farook_and_Tashfeen_Malik

 

-http://www.newsbtc.com/2016/11/30/indonesian-inves...

 

- http://www.acams.org/aml-resources/combatting-terr...

หมายเลขบันทึก: 630149เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2017 01:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท