CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _๑๕: รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ "ธุรกิจพอเพียง" อาจารย์พีรวัศ กี่ศิริ


<p “=”“>ความก้าวหน้าที่สำคัญของรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๙ คือ การตกลงร่วมกันของอาจารย์ผู้สอน ให้ภาคการเรียนที่ ๒/๒๕๕๙ นิสิตทุกกลุ่มการเรียน ทำโครงการ “ธุรกิจพอเพียง” เป็นงานกลุ่มย่อย โดยกำหนดให้นำเสนอผลงานตอนปลายเทอม และประเมินผลเป็นคะแนน ๑๕ เปอร์เซ็นต์ … ขอขอบพระคุณอาจารย์พีรวัศ กี่ศิริ ที่เป็นแรงผลักสำคัญ ดันให้มาถึงจุดนี้ ผมเคยเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากท่านไว้ที่นี่ ขอแนะนำให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาและติดตามผลงานของท่านได้ทางเฟสบุ๊ค พีรวัศ กี่ศิริ ได้ครับ </p> <p “=”“>บันทึกนี้ขอสรุปเกี่ยวกับ “ธุรกิจพอเพียง” ที่เราได้เรียนรู้จากท่าน โดยกำหนดไว้ในความหมายของเรา และให้ทุกกลุ่มเรียนยึดเอานิยามศัพท์เหล่านี้ เป็นแนวทางเดียวกัน </p>

ธุรกิจพอเพียงคืออะไร

"ธุรกิจพอเพียง" หมายถึง กิจกรรมการสร้างผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรม หรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ แล้วนำมาขายเพื่อสร้างรายได้ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอน มีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ ผู้ประกอบการ บริษัท และรายได้ โดยผู้ประกอบการมีการร่วมทุนกัน ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน และมีการแบ่งปันรายได้กัน

"กิจกรรมธุรกิจพอเพียง" หมายถึง กิจกรรม "ธุรกิจพอเพียง" ของกลุ่มนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีนิสิตเป็นผู้ประกอบการ มีกลุ่มนิสิตร่วมกัน ๕ - ๒๐ คน ดำเนินกิจกรรมกลุ่มในลักษณะคล้ายบริษัท เพื่อสร้างรายได้ภายใต้ข้อกำหนดที่อาจารย์ผู้สอนกำหนด เช่น ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๓ เดือน ต้องจัดทำสื่อเพื่อนำเสนอกระบวนการดำเนินการ และทำบัญชีแสดงกำไร-ขาดทุน หน้าชั้นเรียนและในงาน "ตลาดนัดพอเพียง" เป็นต้น วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของกิจกรรมธุรกิจพอเพียง คือ ให้นิสิตได้ฝึกประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

"ตลาดนัดพอเพียง" หมายถึง งานตลาดนัดขายสินค้านวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก "กิจกรรมธุรกิจพอเพียง" จัดขึ้นโดยสำนักศึกษาทั่วไปร่วมกับชมรมตามรอยเท้าพ่อและชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี ณ พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งวัตถุประสงค์หลักเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้และฝึกทักษะการดำเนินชีวิต ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

กิจกรรมธุรกิจพอเพียงทำอย่างไร

อาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข ขอบเขต และเป้าหมายความสำเร็จ ของการดำเนิน "กิจกรรมธุรกิจพอเพียง" ตามแต่ท่านเห็นสมควรว่าเหมาะสมกับผู้เรียน สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ปัจจุบัน นิสิตแต่ละกลุ่มซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการ จะต้องรวมกลุ่มกันคิดและสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์อย่างน้อย ๑ อย่าง เพื่อนำไปขายสร้างรายได้ โดยต้องไม่ร่วมลงทุนกันมากเกินไป (ไม่ควรเกินคนละ ๒๐๐ บาท) นิสิตควรแบ่งขั้นตอนการดำเนินงานออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่

  • เขียนแผนธุรกิจ คือ คิดแผนและเขียนแผนลงในกระดาษ ว่า จะทำอะไร อย่างไร ใช้งบประมาณเท่าใด ใช้เวลาเท่าใด จะขายให้ใคร ใครคือกลุ่มเป้าหมาย ราคาเท่าไหร่ ฯลฯ ... เมื่อเสร็จขั้นนี้ ควรนำมาเสนออาจารย์ผู้สอนให้พิจารณาเห็นชอบก่อนการดำเนินการขั้นต่อไป
  • ลงมือทำตามแผนธุรกิจ คือ การลงมือสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์หรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการขายผลิต สร้างรายได้ ซึ่งต้องมีการทำบัญชีรับจ่ายอย่างละเอียด
  • ขั้นการถอดบทเรียน สรุป และนำเสนอผลงานในงาน ซึ่งอาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินผลหรือกำหนดวิธีการประเมิน

อย่างไรก็ตาม... นี่เป็นเพียงข้อเสนอนะครับ หากนิสิตเข้ามาอ่านบันทึกนี้ ต้องเข้าใจว่า ให้แล้วแต่อาจารย์ผู้สอนท่านจะเป็นผู้กำหนด

ลักษณะเด่นบางประการของ "ธุรกิจพอเพียง"

ต่อไปนี้คือ ลักษณะสำคัญของนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ ในการทำธุรกิจพอเพียง ที่นิสิตควรจะทราบก่อนจะคิดแผนธุรกิจ

  • ไม่ใช่ธุรกิจที่ส่งเสริมอบายมุข เช่น ขายเหล้า ขายบุหรี่ ขายอาวุธ ฯลฯ ควรเป็นสิ่งที่ส่งเสริมสังคมไปในทางที่ดี
  • ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสังคมให้เห่อไปกับคุณค่าเทียมและทุนนิยม เช่น ขายผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม เครื่องประดับหรือแฟชั่นแพง ๆ ฯลฯ ควรเป็นกิจกรรมที่สิ่งเสริมสังคมให้เห็นความสำคัญของคุณค่าแท้ของผลิตภัณฑ์ โดยเน้นคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม
  • ไม่ใช่กิจกรรมลักษณะซื้อมาขายไป เป็นผู้ค้าคนกลาง ควรต้องสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง

ความจริง อาจารย์พีรวัศ ท่านมอบสไลด์ที่แสดงตัวอย่างของ "ธุรกิจพอเพียง" ระดับโรงเรียนมัธยมที่ท่านขับเคลื่อนอยู่ ... แต่ผมเห็นว่า การไม่เห็นตัวอย่าง แต่ให้นิสิตคิดขึ้นเอง จะเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมได้มากว่า

แบบไหนที่เรียกว่าสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม

ลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่นิสิตจะสร้างขึ้น อาจจัดแบ่งลำดับของการคิดสร้างสรรค์ ได้โดยเทียบเคียงกับทฤษฎีสร้างสรรค์ของ ศาสตราจารย์ กิลฟอร์ด (Guilford) นักจิตวิทยาชาวอเมริกา

ซึ่งเสนอมาไว้ตั้งแต่ 1967 เป็น ๔ ระดับ

ได้แก่

  • ระดับลอกเลียน (Duplicate) คือซ้ำเดิมกับสิ่งที่มีคนเคยทำมา ซึ่งรวมถึงสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นทางอินเตอร์เน็ตด้วย
  • ระดับต่อเนื่อง (ต่อยอด ขยาย Extension)
  • ระดับสังเคราะห์ (Synthesis) คือการสังเคราะห์เอาคุณสมบัติต่าง ๆ ของสิ่งที่มีอยู่ มาสร้างเป็นสิ่งใหม่ โดยใช้ความรู้ที่เคยมีเคยทำมาแล้ว
  • ระดับสร้างนวัตกรรม (Innovation) คือการสร้าง สิ่งใหม่จากความคิด จิตนาการ และความรู้ของตนเองขึ้นมา

หรือจะมองอีกอาจมองอีกมุมของการประดิษฐ์ ได้ดังนี้ครับ สิ่งที่สร้างสรรค์คือ

  • สิ่งใหม่ไม่เคยมีใครทำ
  • หากไม่ใหม่ แต่ถ้าดีกว่าเดิมก็โอเค
  • ถ้าไม่ใหม่ ไม่ดีกว่าเดิมแต่ราคาต้นทุนถูกกว่าเดิมก็ได้ หรือ
  • ถ้าไม่ใหม่ ไม่ดีกว่าเดิม ราคาต้นทุนก็ไม่ถูกลง แต่เป็นการพึ่งตนเองมากขึ้น หรือทำด้วยตนเอง ด้วยวัสดุในพื้นที่ของตนเอง ก็ถือว่าควรส่งเสริม

อย่างไรก็ดี ... ก็ขอให้เป็นดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอนในการประเมินและสะท้อนความสำเร็จเพื่อการพัฒนาของนิสิตครับ





หมายเลขบันทึก: 621270เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2017 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2017 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณอ.ฤทธิไกร ที่ shape ธุรกิจพอเพียงให้ผมเป็นรูปเป็นร่าง สมกับการก้าวเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาครับ ขออนุญาตนำไปแบ่งปันในไลน์เสมาสนเทศ สำหรับประชาสัมพันธ์ข่าวของกระทรวงศึกษาธิการ, ในกลุ่มศตวรรษที่ ๒๑ อันเป็นวงเผยแพร่ของโรงเรียนที่อาสาสสมัครเข้าโครงการการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำตามทักษะศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งสองกลุ่ม ตามนโยบายของสำนักมัธยมปลาย สพฐ. และ และในกลุ่มไลน์ของเขตการศึกษาและโรงเรียนที่สนใจทำ ‘ธุรกิจพอเพียง’ รวมทั้งใน FB ของผมเอง

ขอบพระคุณมากๆอีกครั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท