ปรัชญาธุรกิจ 5 กระบวนทรรศน์


ปรัชญาธุรกิจ 5 กระบวนทรรศน์

เขียนโดย ผศ.ดร.เมธา หริมเทพาธิป


 

1. ธุรกิจกระบวนทรรศน์ยุคดึกดำบรรพ์
 

เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น เมื่อมีครอบครัวก็จะคิดถึงความอยู่รอดของคนในครอบครัวเท่านั้น ใครก็ตามไม่ใช่คนในครอบครัว ต้องเอาเปรียบเพื่อดึงผลประโยชน์เข้ามาในธุรกิจของตนเองให้มากที่สุด ดังนั้น การทำธุรกิจแบบกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์จึงไม่ใคร่สนใจว่าใครหรือครอบครัวใดจะขาดทุน อยู่ได้หรือไม่ได้ไม่สน สนใจแต่ว่าตนและครอบครัวต้องได้ประโยชน์ ต้องได้กำไรเท่านั้น เมื่ออยากได้เปรียบทางธุรกิจ จำเป็นต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติตามแบบฉบับกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ มีการบวงสรวงเซ่นไหว้บูชา มีการกราบกรานอธิษฐานเอาใจน้ำพระทัยเบื้องบนอย่างเต็มที่ เป้าหมายคือการขอให้ร่ำให้รวย มีเงินทอง อำนาจ บริวาร จากการได้เสี่ยงทายเอาใจเบื้องบนในแต่ละครั้งได้อย่างถูกต้อง เมื่อเบื้องบนพอพระทัย ลาภยศสรรเสริญสุขก็เป็นที่หวังได้ ประสบสุขเพราะได้เปรียบคนอื่น ครอบครัวอื่น และคู่แข่งทางธุรกิจ แต่บางครั้งก็สังเกตว่า การทำธุรกิจเริ่มมีปัญหา เกิดความซบเซา ไม่สามารถซื้อไปขายคล่องได้เหมือนคราวก่อน ความผันผวนแปรปรวนเหล่านี้ นักธุรกิจกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์เชื่อว่า สาเหตุที่แท้จริงไม่ได้มาจากพิษเศรษฐกิจ ไม่ได้มาจากการบริหารที่ไม่เป็นระบบ ไม่ได้เป็นเพราะสิ่งใดทั้งนั้น แท้ที่จริงมีเพียงสาเหตุเดียว คือ เบื้องบนไม่พอพระทัย จึงบันดาลอำนาจลงโทษให้รับรู้ หากต้องการคืนดี อยากให้น้ำพระทัยมีแนวโน้มไปในทางที่ดีก็ต้องใช้ความพยายามลองผิดลองถูก ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ เช่น เปลี่ยนของเซ่นไหว้ เป็นต้น ถ้าหากธุรกิจเริ่มดีขึ้นจากการเอาใจในลักษณะใดก็ให้ถือว่าเบื้องบนเริ่มพอพระทัย ทายใจเบื้องบนได้ถูกวิธี เช่นนี้ จงเพียรพยายามต่อไป แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เมื่อเบื้องบนเปลี่ยน นักธุรกิจก็ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อเบื้องบน

2. ปรัชญาธุรกิจกระบวนทรรศน์ยุคโบราณ
 

กระบวนทรรศน์ยุคโบราณ เชื่อว่า โลกและจักรวาลมีกฎเกณฑ์ของมัน ในด้านจริยธรรมไม่จำเป็นต้องขึ้นตรงกับอำนาจลึกลับใดๆ เพราะเชื่อว่า แม้แต่เทพยาดาผีสางนางไม้ เจ้าพ่อเจ้าแม่ อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ฯลฯ ให้เก่งแค่ไหนก็อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ทุกสิ่งสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลที่อ้างกฎธรรมชาติ เช่น การค้าขายที่ได้รับการยอมรับ ผู้ที่เป็นพ่อค้าแม่ขายต้องเป็นคนมีสัจจะ ซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ เพราะว่า ผู้ที่มีคุณธรรมย่อมไม่คดโกง ทำธุรกิจการค้าด้วยแล้วย่อมได้รับแต่ความเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น ดังนั้น ปรัชญาธุรกิจกระบวนทรรศน์ยุคโบราณจึงต้องอาศัยความน่าเชือถือเป็นสำคัญ เพราะมันทำให้เกิดความไว้วางใจ (trust) เป็นที่เคารพยกย่องสรรเสริญ ดังนั้น นักธุรกิจกระบวนทรรศน์ยุคโบราณจึงถือเคร่งในเรื่องของศักดิ์ศรียิ่งกว่าสิ่งใด เสียอะไรยอมเสียได้แต่จะไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าสำนักในยุคโบราณ เพราะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ปรากฎแก่ศิษย์ ศิษย์จะเคารพเจ้าสำนักผู้เป็นครูบาอาจารย์ในฐานะคุรุ ดังเช่นที่เล่าปี่ศรัทธาขงเบ้งในฐานะเป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทธ คือรู้กฎธรรมชาติ เจ้าสำนักในยุคโบราณจึงเป็นทั้งคุรุและเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจให้กับศิษย์ เพราะรู้เงื่อนไข กฎเกณฑ์ ความเป็นไปของการกระทำว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำแล้วก่อให้เกิดความร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี มีคนนับหน้าถือตา และควรเว้นสิ่งใดที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายด้วยประการทั้งปวง

ลักษณะธุรกิจในยุคโบราณโดยทั่วไปเป็นลักษณะของการแลกเปลี่ยนสิ่งของ หมูไปไก่มา หรือ ยื่นหมูยื่นแมว ปัจจุบันเรียกธุรกิจในลักษณะเช่นนี้ว่า ธุรกิจแบบเอ็กเชนจ์ (exchange) คือ การแลกเปลี่ยนวัตถุทางการค้า ในยุคโบราณ เช่น ชาวนามีข้าว แต่ไม่มีเกวียน ก็เอาข้าวใส่กระสอบไปแลกกับเกวียน ส่วนนายช่างผู้ทำเกวียน มีแต่เกวียน ไม่มีข้าวกิน จึงเอาเกวียนไปแลกกับข้าว ในลักษณะเชนนี้แต่ละฝ่ายล้วนมีสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ เกิดการแลกเปลี่ยนวัตถุทางการค้า แต่ด้วยเรื่องของศักดิ์ศรี ชาวนาจะคัดข้าวเม็ดพันธุ์ดี เมล็ดงาม ไม่หัก มีความสดใหม่ ส่วนนายช่างผู้ทำเกวียนก็จะเอาเกวียนที่แข็งแรงคงทน มีการประกอบขึ้นด้วยวัสดุที่มีคุณภาพที่สุด สรุปก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างเอาของดีที่สุดที่ตนมีมาแลกเปลี่ยนกัน มีความไว้วางใจกันได้ ต่างฝ่ายก็จะนำคุณงามความดีความสัตย์ซื่อดังกล่าวนี้ไปโฆษณาต่อ บอกเล่าสู่กันฟัง ชื่อเสียงก็จะเกิดขึ้น และมีคนอยากร่วมธุรกิจด้วยเพราะรู้สึกเชื่อใจกันได้

ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ได้รับเป็นไปเพื่อครอบครัวส่วนหนึ่ง เป็นไปเพื่อคนในสำนักเดียวกันส่วนหนึ่ง เน้นการนำผลประโยชน์ที่ได้มาสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นหลัก ใช้ทุนทรัพย์เป็นไปเพื่อการสร้างสถานที่ที่ให้ความรื่นรมย์ เช่น บ่ออาบน้ำร้อนขนาดใหญ่ เป็นต้น ใช้ชีวิตค้นคว้ากฎธรรมชาติเพื่อที่จะได้เอชนะธรรมชาติและนำธรรมชาติมารับใช้มนุษย์ให้มากที่สุด

3. ปรัชญาธุรกิจกระบวนทรรศน์ยุคกลาง

กระบวนทรรศน์ยุคกลางเชื่อว่า แม้จะรู้กฎธรรมชาติเพื่อเก็บเกี่ยวเอาผลประโยชน์จากธรรมชาติมากเท่าใด ประโยชน์สุขที่ได้รับก็เป็นเพียงของชั่วคราว ไม่ใช่ความสุขที่น่าปรารถนา ธุรกิจควรเป็นไปเพื่อการต่อยอดหนทางแห่งความสุขอันเป็นนิจนิรันดร์ ผลประโยชน์ทางธุรกิจต้องส่งเสริมศาสนาเพื่อหวังผลในโลกหน้า การประกอบธุรกิจต้องละเว้นสิ่งที่ศาสนาห้าม และควรประกอบแต่ธุรกิจที่ศาสนาอนุญาต ศาสนาต้องส่งเสริมนักธุรกิจที่นับถือศาสนาของตน ส่วนนักธุรกิจที่นับถือศาสนาอื่นไม่ควรส่งเสริมให้มากนัก แต่ควรพยายามกอบโกยผลประโยชน์จากคนนอกศาสนาให้มากที่สุด เมื่อมีโอกาสตั้งธนาคารศาสนา ก็ควรกำหนดวัตถุประสงค์ให้เป็นไปเพื่อการเกื้อหนุนคนศาสนาเดียวกัน เช่น กู้ยืมโดยไมคิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยน้อยที่สุด ส่วนคนนอกศาสนาไม่เป็นไร เพราะเขาเหล่านั้นต้องตกนรกหมกไหม้ หรืออดไปสวรรค์อยู่แล้วเพราะไม่เชื่อในศาสนาเดียวกัน อยู่ในโลกก็เป็นแค่ผีนรกผ่อนส่ง จะเอาเปรียบคนเหล่านี้บ้างก็ไม่เป็นไรหากนำเงินไปให้กับคนศาสนาเดียวกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ ปรัชญาธุรกิจกระบวนทรรศน์ยุคกลางเป็นธุรกิจศาสนาเพื่อศาสนานั่นเอง

4. ปรัชญาธุรกิจกระบวนทรรศน์นวยุค

กระบวนทรรศน์นวยุค เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ที่เจริญไปด้วยนวัตตกรรมและเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ เป็นยุคที่ผู้คนให้ความเชื่อถือวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ โดยมีตรรกวิทยาและคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการอธิบายเชื่อมโยงเหตุผลทางวิทยาที่มาจากกฎและทฤษฎีที่สามารถสัมผัสได้ ความเชื่อในเรื่องรูปธรรมมีอิทธิพลเหนือสิ่งนามธรรมที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งเพ้อฝัน อำนาจลึบลับ ไสยศาสตร์ ความรู้ทางเทววิทยาและศาสนาถูกมองว่าเป็นความรู้ชั้นต่ำ งมงายดูไร้สาระ สูงไปกว่าความรู้ในระดับเทววิทยาก็คือความรู้ระดับปรัชญา แต่ก็เป็นแค่วิทยาศาสตร์เทียมในสายตาของลัทธิปฏิฐานนิยม (positivism) จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อปรัชญาดังกล่าวทำหน้าที่เป็นสาวรับใช้ให้กับวิทยาศาสตร์เท่านั้น เครื่องมือที่วิทยาศาสตร์เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ตนได้แก่ ตรรกวิทยา และวิธีการอุปนัยของเบเคินและมิลล์ ส่วนความรู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นความรู้สูงสุดของปรัชญากระบวนทรรศน์นวยุคก็คือ ความรู้ในระดับปฏิฐาน ที่เชื่อในวิธีการทางวิทยาศาสตร์

ธุรกิจกระบวนทรรศน์นวยุคไม่ได้คำนึงถึงคุณงามความดีหรือคุณธรรมอะไรที่จะเป็นเสบียงบุญไปสู่โลกหน้า เพราะไม่เชื่อว่าโลกหน้ามีอยู่จริง เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ยึดเหนี่ยวได้มีเพียงแต่ความรู้ด้านชีววิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด ผู้ที่รู้จักปรับตัวได้ดีที่สุดเท่านั้นจึงจะเป็นผู้อยู่รอดในธรรมชาติ ไม่อยากเป็นปลาเล็กให้ปลาใหญ่กินก็ต้องเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก ไม่อยากขาดทุนก็ต้องใช้กลยุทธิ์พลิกแพลง วางหมากเพื่อชิงชัยเอาชนะคู่แข่งให้ราบคาบในเกมธุรกิจ ผู้ชนะเท่านั้นที่จะได้กินเรียบทั้งกระดาน วิธีคิดเชิงกลยุทธิ์ของทหารในยุคโบราณได้ถูกปัดฝุ่นนำมาใช้ห้ำหั่นกันในทางธุรกิจแบบสงครามเย็น แต่เร่าร้อนด้วยเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ยึดหลัก "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" และวางมาตรการป้องปรามคู่แข่งทางธุรกิจด้วยคติพจน์ "แม้นหวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ" วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (swot) ให้รอบ ไม่ประมาท เพราะถ้าได้ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้เด็ดขาด มีเงินแล้วก็ต้องมีพรรคมีพวก มีเครือข่าย (connection) เสริมอำนาจ เกียรติยศ และใช้สิ่งเหล่านี้เสริมความมั่นคงให้แก่ตนและพวกพ้อง

หากเกิดปัญหาทางธุรกิจอันเป็นเหตุมาจากการแก่งแย่งแข่งขัน ชิงดีชิงเด็น ก็กำหนดตัวบทกฎหมายขึ้นมาเพื่อกำกับและบังคับไม่ให้ธุรกิจที่แข่งขันล้ำเส้นกันมากจนเกินไป แต่ก็เปิดเสรีภาพในด้านการค้าการลงทุน การแข่งขันทางธุรกิจแม้จะดุเดือดเลือดพล่านสักเพียงใด หากไม่ผิดกฎหมาย ดำเนินไปตามกติกาที่อนุญาตก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาแม้ว่าจะแสดงออกซึ่งความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้เพียงใดก็ตาม

5. ปรัชญาธุรกิจกระบวนทรรศน์หลังนวยุค

กระบวนทรรศน์หลังนวยุค เน้นธุรกิจบนสัญชาตญาณปัญญา คือการสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา พลังทั้ง 4 ประการนี้ก่อให้เกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ดังนี้

1. สิ่งที่วงการธุรกิจกำลังค้นหากันอยู่ทุกวันนี้ คือ นวัตตกรรมทางธุรกิจ หรือ innovation ใหม่ๆ ที่สามารถเขย่าวงการและขยายผลด้วยการเขียน content ที่น่าสนใจ ลงบนสื่อโซเชียลมีเดียที่พร้อมจะกดไลค์กดแชร์ช่วยกันถ้ามันสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจ กระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นอยากฉลาด อยากเสพสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ที่ทำตัวเป็นสาวกคอยติดตาม อุดหนุนธุรกิจที่มีนวัตตกรรมใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ

2. เนื่องจากธุรกิจหลังนวยุค เน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเน้นการเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคแบบมีส่วนร่วม จึงมีความพร้อมที่จะปรับตัว ปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลาเมื่อพิจารณาเห็นว่าข้อเสนอแนะของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นไปเพื่อคุณภาพชีวิตที่กว่า การดัดแปลงด้วยเทคนิคเพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันก็จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเข้าใจกันและกัน

3. ได้มีการปัดฝุ่นกระบวนทรรศน์ที่แล้วมา เพื่อเค้นหา "คุณค่า" สิ่งที่เป็นจุดดีหรือจุดแข็งของแต่ละกระบวนทรรศน์มาต่อยอดและพัฒนา ในปัจจุบันนี้สิ่งที่ถูกพูดบ่อยในวงการธุรกิจทั่วไปก็คือ Trust หรือ ความเชื่อใจ คือไว้วางใจได้เพราะการทำธุรกิจมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 เรื่องสำคัญที่ธุรกิจกระบวนทรรศน์หลังนวยุคให้ความสำคัญมากคือการแบ่งปันสังคม ให้เป็นสังคมแบ่งปัน (sharing of society) และเน้นการมีความสุขและความสำเร็จร่วมกันทางธุรกิจ นั่นก็คือ การมีส่วนร่วม (participation) ทั้งการ sharing และ participation ต้องอยู่บนหลักธรรมาภิบาล (good governance) หรือที่ทางธุรกิจนิยมเรียกว่า "บรรษัทภิบาล"

การแบ่งปันนวัตตกรรมใหม่ๆ การแบ่งกำไรคืนสู่สังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน การมีจิตอาสาช่วยพัฒนาสังคม ไม่ใช่แค่การทำ CSR. ของบริษัท เป็นความสำนึกที่หลังนวยุคนิยมเรียกร้องให้เกิดขึ้นในสังคม และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ประกอบการ โดยเฉพาะบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องมีการกระจายความชอบธรรมให้แก่ทุกฝ่ายด้วยระบบธรรมาภิบาล มีคณะกรรมการอิสระด้านธรรมาภิบาลที่น่าเชื่อถือและทำงานจริง เน้นความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เน้นคุณธรรมจริยธรรมและการมีส่วนร่วม เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ส่วนผู้ที่ถือหุ้นอยู่แล้วก็มีกำลังใจ มีจิตใจที่จะอยู่อ ร่วมลงทุน ร่วมบริหาร ร่วมรับผิดชอบไปด้วยกัน สิ่งใดที่ขาดหาย สิ่งใดที่เป็นข้อจำกัด ก็มีการพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน โดยถือว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ แก้ได้มากได้น้อยก็ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขไม่แก้ตัว ไม่ทิ้งกัน รู้รักสามัคคีกัน เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน

หมายเลขบันทึก: 629973เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2017 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท