ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๑๗. ยุทธศาสตร์การเริ่มต้นบทเรียน


บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง


ภาค ๖ ใช้ยุทธศาสตร์ที่เป็นลักษณะร่วมของการเรียนทุกแบบ


รูปแบบของการเรียน/การสอน ที่กล่าวถึงในที่นี้ มี ๓ แบบคือ (๑) สอนเนื้อความรู้โดยตรง (ภาค ๓) (๒) ฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เข้าใจสาระอย่างลึกซึ้งและเชื่อมโยง (ภาค ๔) และ (๓) ฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อให้เข้าใจความรู้ที่ซับซ้อน (ภาค ๕) ในภาค ๖ นี้ เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดกระบวนการในสมองของนักเรียนคือ “นักเรียนบูรณาการความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของตน”


ที่จริงการเรียนรู้คือกระบวนการเพิ่มความรู้ใหม่เข้าไปผสมกับความรู้เดิม แต่ไม่เหมือนการเติมน้ำลงในแก้ว ที่มีน้ำอยู่บ้างแล้ว เพราะความรู้ใหม่กับความรู้เดิมไม่เหมือนกัน จึงต้องเกิดกระบวนการผสมผสานหรือบูรณาการความรู้ อย่างซับซ้อน หนังสือศาสตร์และศิลป์ของการสอน นี้ ว่าด้วยหลักการและวิธีการเพื่อการนี้ทั้งหมด


การบูรณาการความรู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองเด็ก (และผู้ใหญ่) และเปลี่ยนความคิด โดยที่ส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนา แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มีที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งที่เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หลักการนี้สอดคล้องกับแนวทางที่เรียนกว่า เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) - https://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=1041#publishing/1041/12908


ดังนั้น สาระในภาค ๖ นี้ น่าจะถือได้ว่า เป็นยุทธศาสตร์ของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงได้ด้วย


คำถามเชิงยุทธศาสตร์ของครู สำหรับการสอนภาค ๖ นี้ คือ “ครูจะใช้วิธีการใด สำหรับช่วยให้นักเรียน บูรณาการความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม และเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจของตนเองอย่างต่อเนื่อง”


ตอนที่ ๑๗ ยุทธศาสตร์การเริ่มต้นบทเรียนตีความจาก Element 15 : Previewing Strategies


ยุทธศาสตร์การเริ่มต้นบทเรียน เป็นการที่ครูนำเสนอความรู้ใหม่นิดเดียวแก่นักเรียน โดยมีเป้าหมายกระตุ้น ให้นักเรียนนึกถึงความรู้เดิมของตน ยุทธศาสตร์หรือเทคนิคนี้ใช้บ่อยในบทเรียนแบบสอนสาระความรู้โดยตรง แต่ก็ใช้ในบทเรียนแบบฝึกปฏิบัติ และฝึกประยุกต์ ได้ด้วย


กล่าวได้ว่า การสอนที่ดีต้องเริ่มด้วยการกระตุ้นความรู้เดิม (prior knowledge) ของนักเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความรู้ใหม่ได้ง่ายขึ้น


คำถามเชิงยุทธศาสตร์ของครู ในการใช้ยุทธศาสตร์การเริ่มต้น คือ “ครูจะช่วยให้นักเรียนได้ชิมเนื้อหาความรู้ล่วงหน้า เพื่อกระตุ้นความรู้เดิมของนักเรียนได้อย่างไร”


ยุทธศาสตร์และวิธีการที่ครูใช้กระตุ้นความรู้เดิมของนักเรียน มีดังต่อไปนี้




ยุทธศาสตร์กระตุ้นความรู้เดิมนี้ บางวิธีการใช้เวลานิดเดียวในตอนต้นชั่วโมง โดยครูพูดโยงสู่บทเรียนหรือกิจกรรมที่เพิ่งผ่านไป บางกิจกรรมใช้ได้ต่อเนื่องตลอดหน่วยเรียนรู้ เช่นกิจกรรม K-W-L


เมื่อยุทธศาสตร์นี้ได้ผล จะสังเกตเห็นพฤติกรรมของนักเรียนดังต่อไปนี้


  • นักเรียนสามารถอธิบายความเชื่อมโยงของเส้นเชื่อมที่ตนเขียน สู่ความรู้เดิม
  • นักเรียนมีส่วนในกิจกรรมสรุปบทเรียน
  • นักเรียนสามารถทำนายสิ่งที่ตนคาดหวังว่าจะได้เรียน



วิจารณ์ พานิช

๗ เม.ย. ๖๐

บนรถยนต์เดินทางกลับบ้าน

หมายเลขบันทึก: 629528เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2017 04:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2017 04:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท