การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 2 : การปฏิรูปการศึกษา 4.0


การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 2 : การปฏิรูปการศึกษา 4.0

8 มิถุนายน 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ด้วยตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่ม พ.ศ. 2553 กำหนดให้ อปท. สามารถจัดการศึกษาได้ทุกระดับ ตั้งแต่ ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาได้ ทั้งนี้ ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการในท้องถิ่น ตลอดทั้งสามารถระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาดังกล่าวได้ โดยจะจัดเองทั้งหมดหรือมีส่วนร่วมก็ได้

สาเหตุแห่งการปฏิรูปการศึกษาสองทศวรรษ

จับความการปฏิรูปการศึกษาในสมัยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่กระแสอ่อนล้าไปหลังปี 2521 และเพิ่งมาเริ่มเกิดกระแสอีกครั้งหนึ่งในช่วงการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 8 ประมาณปี 2536-37 ที่มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ตามมาตรา 43, มาตรา 81 ในการกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และการกำหนดให้มีกฎหมายการศึกษาและแนวทางการจัดการศึกษา ฉะนั้น การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ถือว่าเริ่มจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 2542 รวมทั้งเกิดกฎหมายประกอบขึ้นมาอีกหลายฉบับ โดยมีความมุ่งหวังว่าการศึกษาของไทยจะได้รับการปฏิรูปในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างการบริหาร การกระจายอำนาจ ตลอดไปจนถึงสาระที่สำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิรูป อันได้แก่การปฏิรูปการเรียนรู้ ทั้งนี้ เพื่อเตรียมสังคมไทยเข้าสู่โลกยุคใหม่ โดยมุ่งสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง และทุนทางปัญญา ที่จะนำประเทศให้อยู่รอดในสังคมใหม่ที่มีความรู้เป็นปัจจัยหลักของทั้งระบบเศรษฐกิจ และสังคม [2]

ต่อมาเข้าสู่การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) [3] มุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นและสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ทำการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับเงินและมนุษย์ เป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษา 4.0

เป็นที่ยอมรับกันว่าศักยภาพของมนุษย์ในสังคมนั้นจะบอกถึงสถานภาพความมั่นคงของสังคมนั้น ศักยภาพของมนุษย์อยู่ที่การทำงานของสมอง ประเทศใดให้ความสำคัญในการพัฒนาสมองของคนหรือการคิดของคนในประเทศนั้นจะได้รับการพัฒนา ช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ แรกเกิดถึง 7 ปี [4] หากส่งเสริมภายหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้สามารถพัฒนาไปถึง 70 % ควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เรียนรู้อย่างมีความสุข จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด [5] ฉะนั้น การศึกษาปฐมวัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งก็คือ การจัดการศึกษาในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) และช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-ป.6) ซึ่งมีช่วงอายุระหว่าง 7-12 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาในช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-ม.3) และ ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4-ม.6) ซึ่งมีช่วงอายุวัยรุ่นระหว่าง 13-18 ปี เป็นการศึกษาต่อเนื่องมาที่ความสำคัญเช่นกัน เพราะ เป็นช่วงสุดท้ายก่อนที่เด็กจะเข้าสู่การเรียนมหาวิทยาลัย หรือ เข้าสู่ตลาดแรงงาน

สรุปทบทวนการศึกษาไทย 1.0, 2.0, 3.0 และ 4.0 [6]

การศึกษาไทย 1.0 เป็นยุคการศึกษาเพื่อสร้างนักปกครอง เป็นการศึกษาสำหรับชนชั้นสูงในสังคม โดยมีการจัดการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการให้กับบุตรหลานชนชั้นปกครอง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นนักปกครองในรุ่นต่อไป การศึกษาในยุคนี้ไม่เป็นที่แพร่หลาย มีการจัดการศึกษาเฉพาะกลุ่มเท่านั้น รูปแบบการจัดการศึกษาเป็นแบบบอกความรู้จากผู้สอน ถ้าผู้สอนไม่มีอะไรจะสอนแล้ว ถือว่าสำเร็จการศึกษา

การศึกษาไทย 2.0 เป็นยุคแห่งการจัดการศึกษาที่เปิดกว้างขึ้น เพตุจากการจัดการศึกษาในยุค 1.0 นั้น ไม่สามารถผลิตกำลังคนได้ทันต่อความต้องการในการบริหารราชการบ้านเมือง ทำให้ชนชั้นปกครองต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดให้มีการศึกษาสำหรับลูกหลานขุนนางชั้นสูง เพื่อผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่ระบบราชการ ที่นับวันจะขยายขอบเขตงานเพิ่มมากขึ้น ตามความเจริญและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคนั้น รูปแบบการจัดการศึกษาเริ่มมีระบบโรงเรียน แต่ยังเป็นการเรียนแบบบอกความรู้จากผู้สอนอยู่เช่นเดิม

การศึกษาไทย 3.0 ในยุคนี้เป็นยุคที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเบาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเหตุให้การศึกษายุคนี้ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม เกิดการทำซ้ำบัณฑิตอย่างมโหฬาร เป็นเหตุให้เกิดความตกต่ำของบัณฑิตในทุกระดับ ทุกสถาบันการผลิต โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้นั้น เป็นแบบทางการเหมือนสายพานการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

ลักษณะพิเศษการศึกษา 4.0 [7]

การศึกษาไทย 4.0 การศึกษายุคนี้ การเข้าถึงเนื้อหาความรู้มีลักษณะเปิด (Open Education Resource) เข้าถึงได้ง่าย การแสวงหาความรู้จึงทำได้เร็ว เด็ก เยาวชน ยุคใหม่ มีลักษณะเป็นชนพื้นเมืองดิจิทัล (Digital native) การเรียนการสอนแบบเก่าในห้องเรียน ที่ท่องบ่นเนื้อหา ตามแผนการสอน ตามกรอบหลักสูตร หรือทำโจทย์ ทำข้อสอบแบบเดิมจึงไม่เหมาะกับการศึกษายุคใหม่ นอกจากนี้ การศึกษายุคใหม่ (Next Generation Education) ต้องเน้นแสวงหา เรียนรู้ได้เอง อย่างท้าทาย สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ต่อยอดความรู้เดิม คิดและประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ได้ เหมาะกับตนเอง สังคมตามสถานการณ์ ดังนั้น การศึกษาควรเป็นการศึกษาเพื่อการสร้างนวัตกรรม เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นการศึกษาเพื่อสังคม ที่คนที่ได้รับการศึกษานั้นต้องหันมาช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจัง และกว้างขวาง โดยที่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์ใด วัตถุประสงค์หนึ่งดังเช่นที่ผ่านมา และการจัดการศึกษาต้องบูรณาการทั้งศาสตร์ ศิลป์ ชีวิต และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อสร้างคนที่สังคมต้องการได้ในทุกมิติ และมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน โดยครูอาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หรือถ้าจำเป็นต้องมีก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทไปอย่างมาก เรียกว่า “โมเดลการจัดการศึกษาท้องถิ่น” [8] จะเปลี่ยนไป เหมือนการฟังเพลง เมื่อก่อนต้องซื้อเทป ซีดี หรือผู้เรียนต้องจ่ายค่าเล่าเรียน แต่การศึกษาแบบใหม่ การเข้าถึงบริการกิจกรรมการเรียนรู้บนไซเบอร์ จะเหมือนการฟังเพลงบน ยูทูปโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ซื้อเทปซีดี เพียงการเข้าถึง บนคลาวด์ ในโลกไซเบอร์

สรุปว่าการจัดการศึกษา 4.0 เป็นการเรียนการสอนที่สอนให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้ มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มาตอบสนองความต้องการของคนสังคม [9] แต่ในความเป็นจริงการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันแตกต่างกับจุดมุ่งหมายของ การจัดการศึกษา 4.0 อย่างสิ้นเชิง เช่น เราไม่เคยสอนให้เด็กได้คิดเองทำเอง ส่วนใหญ่สอนให้เด็กทำโจทย์แบบเดิมๆ เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาในโลกออนไลน์ไปกับ การเล่นเกม การแชท เล่น Facebook Line Instargram เป็นการใช้เทคโนโลยีโดยไม่ค่อยสร้างสรรค์ การเรียนการสอนในยุค 4.0 ต้องปล่อยให้เด็กได้ใช้เทคโนโลยี ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ปล่อยให้เด็กกล้าคิดและกล้าที่จะทำผิด แต่ทั้งหมดก็ยังคงต้องอยู่ในกรอบที่สังคมต้องการหรือยอมรับได้ ไม่ใช่ว่าเก่งจริง คิดอะไรใหม่ๆ ได้เสมอ โดยมีความมุ่งหวังว่า เราต้องช่วยกันปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในโรงเรียน จากระบบการท่องจำและบรรยายโดยการที่ไม่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง มาเป็นระบบที่สอนให้ผู้เรียนได้หัดคิด หัดทำ สามารถที่จะโต้ตอบด้วยเหตุผลได้ แต่ก็ยังคงต้องมีกรอบให้เข้าใจถึงการอยู่ร่วมในสังคมด้วย ผู้เรียนจะได้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้

ขอมีต่อในตอนที่ 3



[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23425 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 39 วันศุกร์ที่ 9 – วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2560, หน้า 66

[2]การปฏิรูปการศึกษาไทย, 6 ธันวาคม 2552, http://www.kroobannok.com/24213

[3]ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561), ที่มา สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2552, 17 ธันวาคม 2552, http://www.kroobannok.com/24862

[4]นันทนา เหมือนรัตน์, การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) สำหรับเด็กปฐมวัย, 29 กันยายน 2551, https://www.gotoknow.org/posts/212621

[5]ดร.ประทีป วีรพัฒนนิรันดร์, ทางเลือก ปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2, มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน, [email protected], 16 กุมภาพันธ์ 2552, https://sites.google.com/site/banrainarao/column/e...

[6]การศึกษาไทย 4.0 หรือ Thailand Education 4.0 ??, 26 กันยายน 2559, http://www.krukittin.info/?p=744

รศ.วุฒิชัย มูลศิลป์ ซึ่งได้อธิบายพัฒนาการของระบบการศึกษาไทย 1.0, 2.0, 3.0 ไว้หนังสือ “สมเด็จพระปิยะมหาราชกับการปฏิรูปการศึกษา”, 2554

& ดร.โพยม จันทร์น้อย, บทความพิเศษ : การศึกษา 4.0, MGR Online 12 มีนาคม 2560, โพสต์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560, http://www.kroobannok.com/8149...

[7]การศึกษาไทย 4.0 หรือ Thailand Education 4.0 ??, 26 กันยายน 2559, อ้างแล้ว โดย นายกฤติน

เห็นว่าการศึกษายุคนี้ ควรเป็นการศึกษาเพื่อการสร้างนวัตกรรม เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นการศึกษาเพื่อสังคม ที่คนที่ได้รับการศึกษานั้นต้องหันมาช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจัง และกว้างขวาง โดยที่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์ใด วัตถุประสงค์หนึ่งดังเช่นที่ผ่านมา และการจัดการศึกษาต้องบูรณาการทั้งศาสตร์ ศิลป์ ชีวิต และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อสร้างคนที่สังคมต้องการได้ในทุกมิติ และมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน โดยครูอาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หรือถ้าจำเป็นต้องมีก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทไปอย่างมาก

[8]ท้องถิ่นกับการจัดการศึกษา, สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา, 28 กรกฎาคม 2558, https://www.facebook.com/EducationReformAssemblyTH...

[9]Education 4.0, AppliCAD Co., Ltd., 3 สิงหาคม 2559, www.applicadthai.com/articles/education-4-0/ & โครงการสัมมนาเรื่อง “ทิศทางเทคโนโลยีการศึกษากับ Education 4.0” ณ ห้องประชุมห้องประชุมประเสริฐ ณ นคร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 18 พฤศจิกายน 2559, http://www.ku.ac.th/web2012/index.php?c=adms&m=seltab_th&time=20161110085611&ip=10&load=tab&lang=thai&id=2629&id1=89&page=%A2%E8%D2%C7%CA%D2%C3%E1%C5%D0%A1%D4%A8%A1%C3%C3%C1&page1=

หมายเลขบันทึก: 629521เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2017 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2017 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท