มนต์เสน่ห์ “เมืองเก่าสงขลา” ความลงตัว แห่ง แห่งศิลปะ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม


มนต์เสน่ห์ “เมืองเก่าสงขลา”

ความลงตัว แห่ง แห่งศิลปะ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม

สจ.พาเที่ยวฉบับนี้ กองบรรณาธิการสรุปว่า จะพาเที่ยวย่านเมืองเก่าสงขลา เพื่อต้อนรับคณะนักกีฬาและทีมงานที่จะมาร่วมการแข่งขันกีฬาแห่งชาติและกีฬาคนพิการแห่งชาติในช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม 2560 กัน สารถีและไกด์กิตติมศักดิ์ของเราคือนายศิริชัย เอกพันธ์ สจ.เมืองสงขลาหรือท่านสจ.อ้วน

ถึงเวลานัดท่านสจ.มารับทีมงาน เราพร้อมออกเดินทางระหว่างนั่งรถท่านสจ.อ้วนให้ข้อมูลว่า “ย่านเมืองเก่าสงขลา” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง มีถนนสายสำคัญน่าเดินเที่ยว 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และ ถนนนางงาม เป็นถนนที่ประกอบไปด้วย แหล่งรวมศิลปะและวัฒนธรรมโบราณ ห้องแถวไม้สไตล์จีน ตึกปูนเก่าทรงชิโนโปรตุกีส และอาคารยุคอาร์ตเดคโคสุดคลาสสิก ที่งดงาม เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชาวสงขลา เมื่ออดีตราว 200 ปีก่อน

ตัวเมืองสงขลาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ เรียกว่า "เมืองสงขลา ฝั่งแหลมสน" จนกระทั่งพ.ศ. 2385 จึงขยายมาทางฝั่งทิศตะวันออกบริเวณตำบลบ่อยาง เรียกกันว่า "เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง" โดยเริ่มแรกมีถนนสองสายคือ ถนนนครนอก เป็นถนนเส้นนอกติดกับทะเลสาบ และถนนนครใน เป็นถนนเส้นในเมือง ต่อมามี การตัดถนนสายที่สามเรียกว่าถนนเก้าห้องหรือย่านเก้าห้อง เพื่องานสมโภชเสาหลักเมือง ต่อมาเรียกกันว่า ถนนนางงาม

จุดแรกท่านสจ.อ้วน พาทีมงานไปสัมผัสบรรยากาศคือ ART MILL หรือหอศิลป์สงขลา ถนนกำแพงเพชร อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งขณะนี้กำลังแสดง

นิทรรศการ “Art way Asean Way” นำวิถีชีวิตเมืองเก่าสงขลา ถ่ายทอดสู่งานศิลปะร่วมสมัย

โดยมูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ร่วมกับคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และหอศิลป์สงขลา จัดนิทรรศการ “Art way Asean Way” พร้อมนำศิลปิน และนักจิตรกรรมจากทั่วภูมิภาคอาเซียน วาดและออกแบบผลงานที่สะท้อนถึงความเป็นเมืองเก่าร่วมสมัยของจังหวัดสงขลา เนรมิตหอศิลป์แห่งใหม่ภายใต้ชื่อ Art Mill ถ่ายทอดผ่านผลงานที่มาจากจินตนาการ และความรู้สึกผสมผสานวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว โดยนิทรรศการดังกล่าวจะเปิดถึงวันที่ 10 พฤษภาคมหลังจากนั้นก็จะเป็นนิทรรศการ “เมืองเก่าสงขลา”

ออกเดินทางกันอีครั้งหลังเต็มอิ่มกับบรรยากาศ เรากำลังผ่านถนนนครนอกเห็นตึกรามบ้านช่อง สจ.อ้วนบอกว่าสงขลาต้องการอนุรักษ์ความเป็นเมืองเก่า ดังนั้นเราจะเห็นตึกสูงน้อยมาก บ้านย่านถนนนครนอกติดชายทะเลบรรยากาศแสนจะโรแมนติก

เราถึงจุดที่ 2 บ้านสงครามโลก ซึ่งเป็นร่องรอยบ้านที่ระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสงขลาโดนหลายจุดแต่ที่บ้านหลังนี้ สจ.อ้วนบอกว่าหนักที่สุด

ภาพที่เห็นคือบ้านที่ถูกระเบิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 โดยเครื่องบินกองทัพอากาศอังกฤษ แต่ปัจจุบันบ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งศิลปะที่ถ่ายทอดความเป็นมาของจังหวัดสงขลา ซึ่งเชื่อมโยงกับ ART MILL มีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวด้วย ชั้นบนมีนิทรรศการให้ชม ไปแล้วอย่าลืมขึ้นไปดูกัน

จุดที่ 3 ที่นักท่องเที่ยวไม่อยากจะพลาดคือ โรงสีแดง หรือหับโห้หิ้นซึ่งก่อตั้งโดยขุนราชกิจจารี (จุ่นเลี่ยง ลิ้มเสาวพฤกษ์) ในปี พ.ศ. 2457 ต่อมาอีก 14 ปี หลานของท่านคือ คุณสุชาติ รัตนปราการ ได้ซื้อกิจการต่อทั้งหมด และพัฒนาโรงสีข้าวโดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์พลังไอน้ำ ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ชื่อโรงสี “หับ โห้หิ้น” เป็นภาษาฮกเกี้ยน หมายถึง สามัคคี กลมเกลียวและเจริญรุ่งเรือง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยึดครองสงขลา และใช้โรงสีแดงเป็นคลังเก็บเวชภัณฑ์ หลังสงครามได้เลิกกิจการโรงสีข้าว เปลี่ยนเป็นโกดังเก็บยางพารา เพื่อส่งออก และท่าเทียบเรือประมง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม

สจ.อ้วนยังคงพาทีมงานตะลุยต่อเปาหมายจุดต่อไปคือ”บ้านนครใน” รถที่วิ่งไปตลอดเส้นทางแม้ว่าสงขลาจะเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อ แต่บ้านเรียนยังคงเป็นห้องแถวไม้แบบจีน ตึกคลาสสิคสไตล์ ชิโนโปรตุกีส และยังมีอาคารตึกแถวแบบจีนโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่ปะปนกันทั้งสองฟากฝั่งถนน โดยอาคารหลายหลังมี การปรับปรุง ทาสีใหม่ แต่รูปแบบไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอาคารอาคารเก่าเหล่านี้สะท้อนภาพการเป็นเมืองสำคัญด้านการปกครอง และทางเศรษฐกิจมา แต่ครั้งสมัยธนบุรีอีกทั้งการเป็นเมืองท่าติดทะเลทำให้ได้รับวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติ ผสมผสาน กันเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวแบบสงขลา

วันนี้สงขลาเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ นักท่องเที่ยวทยอยเข้าออกตามซอกตามซอย มีทั้งนักท่อเที่ยวไทยและต่างประเทศ

ถึงแล้วบ้านนครใน เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น การแต่งแต่งแลดูแปลกตาเป็นบ้านไม้โบราณมีนักท่องเที่ยวเข้าออกตลอดเวลา

เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าชั้นล่างเป็นการแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และชั้นบนเป็นการแสดงวัตถุโบราณ และถ้วยชามที่ค้นพบจากเรือสินค้าที่จมอยู่ในทะเล เมื่อชาวประมงลานอวนเจอก็นำมาขายคุณกระจ่างเจ้าของบ้าน

บรรยากาศการจัดนิทรรศการนั้นสะท้อนให้เห็นความแตกต่างของคนคิด สจ.อ้วนเหมือนจะอ่านใจเราออก ท่านบอกว่าวันนี้ถ้าโชคดีเราจะได้เจอเจ้าของบ้าน

แต่ตอนนี้เราไปหาของกินกันที่ถนนนางงามกันดีกว่า อย่างที่บอกนอกจากอาคารเก่าแก่แล้ว ในย่านเมืองเก่าสงขลาถนนนางงามนี้เต็มไปด้วยร้านจำหน่ายขนมพื้นเมือง ของกินหลากหลาย ทั้งไทย จีน ฝรั่ง ให้เลือกชมและ ชิมอย่าง เอร็ดอร่อย รวมทั้งของฝากมีให้เลือกซื้อเลือกหากันมาหมาย

สจ.อ้วนจอดรถ บรรยากาศถนนนางงาม คึกคักเห็นมาแต่ไกลๆ”ถนนนางงาม” หรือชื่อเดิมว่า ถนนเก้าห้อง มากไปด้วย อาหารคาวหวานท้องถิ่นอันเลื่องชื่อซึ่งเอกลักษณ์ของเมืองสงขลา

สายตาเราเหลือบเห็นศาลเจ้าหลักเมือง เอ๊ะใจมากๆ ทำไมอยู่ในศาลเจ้า นักท่องเที่ยวกำลังจุดธุปไหว้พระ และไหว้เทพเจ้าต่างๆ คึกคักที่เดียว เราอยากรู้ประวัติศาลหลักเมือง เจ้าหน้าที่ที่ศาลใจดีพยายามหาหนังสือประวัติให้

ระบุว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมือสงขลา มีประวัติยาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2385 ในศาลนอกจากจะมีเสาหลักเมืองแล้วยังตั้งรูปองค์เทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์และทรงคุณความดีด้านต่างๆ ทั้งจีนและไทย

เราออกมาจากศาลดังเจอร้านก๋วยเต๊ยวร้านดังของถนนนางาม ซึ่งตั้งอยู่ใต้โรงงิ้ว แต่วันนี้อากาศร้อนมาก ถามคนที่นั่งทานเขาบอกอร่อยจะลองดูหน่อยไหม

ออกจากศาลหลักเมือง ที่นี่คือย่านเมืองเก่าสงขลา ถนนนางงามร้านอาหารมากมายเรียงรายกัน สจ.อ้วนแวะร้านเกียดฟั่ง (โกยาว) ที่นี่เมนูสตูแบบจีนที่กินคู่กับซาลาเปายักษ์ร้อน ๆขึ้นชื่อมาก

ถัดไปฝากตรงข้ามไอติมโอ่ง คนเต็มร้านเลยที่เดียว เดินกลับมาอีกฝากเจอ ร้านสอง-แสน ขายสำปันนี ขี้มอด ทองเอก ข้าวฟ่างกวน ขนมเทียนสด ซึ่งเป็นขนมโบราณหากินยากแล้วในสมัยนี้ สจ.อ้วนได้โอกาสช้อป แวะกันเกือบทุกร้าน ขนมพื้นเมืองล้วนน่ากิน รถนักท่องเที่ยวเข้าออก ตลอดเวลา

ตะลอนกันพักใหญ่ได้ของกันทุกคน สายฝนโปรยปราย ทริปนี้ท่าจะจบแล้ววันนี้ ขึ้นรถกันอย่างรวดเร็วก่อนฝนเทลงมา

สจ.อ้วนขับผ่านโรงแรม “สงขลาแต่แรก” เจ้าของบ้านอยู่ แหล่งข่าวคนสำคัญของเรา ท่านอดีตสว. กระจ่าง หลังจากแนะนำตัวเสร็จ ก็ทำให้เรารู้ว่า นายกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ ท่านนี้เป็นเจ้าของบ้านนครใน พิพิธภัณฑ์ของเอกชนแห่งแรกบนถนนนครใน เทศบาลนครสงขลา คหบดีแห่งเมืองสงขลา กรรมการมูลนิธิสวนประวัติ ศาสตร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และอดีต สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ธุรกิจหลักคือห้างทองหยงเตียน ทั้งค้าปลีก และค้าส่งรวมทั้งยังมีโรงงานผลิตทองรูปภัณฑ์ และ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท ที่อ.สิงหนคร

ท่านอดีตสว. กระจ่างเล่าให้ฟังถึงแนวคิดที่พยายามจะปลุกเมืองสงขลาขึ้นมาอีกครั้ง ว่า วันนี้ถึงเวลาที่เราต้องย้อนกลับไปสู่ความรุ่งเรืองในอดีต สงขลามีประวัติยาวนานกว่า 1,000 ปี ผมได้ต่อสู้เรื่องนี้มาประมาณ 2-3 ปี บ้านนครในหลังนี้ ราคาไม่ถึง 10 ล้านบาท แต่ผมตั้งใจมาทำสิ่งดีๆ ให้เมืองสงขลา ผมเป็นคนควนเนียงชนบทมากๆ แต่ผูกพันกับสงขลาเพราะมาเรียนหนังสือที่นี่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่กว่าค่อนชีวิต มีครอบครัว มีธุรกิจที่นี่ ตอนที่คิดใครๆ ก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ หรอก แต่ในช่วงที่ผมทำประมาณ 8 เดือน ย่านเมืองเก่าสงขลาเกิดการเปลี่ยนแปลง

นายกระจ่างเล่าต่อว่า อดีต ถนนนครในเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ เมืองสงขลาเป็นเมืองชั้นเอกของภาคใต้ สมัยนั้นมีการตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช แต่ที่ว่าการของมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา การค้า ขายคึกคักตั้งแต่ต้นซอยจนถึงท้ายซ้าย อาคารทุกอาคารมีตู้สำหรับจัดวางสินค้า เป็นการยืนยันถึงความยิ่งใหญ่
ท่านอดีตสว. กระจ่างถามเราว่าเคยได้ยินประโยคนี้ไหม

สมัยก่อนมีคำกล่าวว่า “เศรษฐีหาดใหญ่ขับรถเบนซ์มากู้เงิน เศรษฐีสงขลานั่งรถไฟไปเก็บดอกเบี้ย” เรายิ้มก่อนบอกว่าเพิ่งได้ยินสจ.อ้วน พูดให้ฟัง

“เศรษฐีสงขลาทุกคนเมื่อมั่งมีก็ส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯ ต่างประเทศ ออกไปตั้งหลักปักฐานที่อื่นกันหมด ละแวกย่านเมืองเก่า จึงทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ผมดีใจที่ทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และได้เปิด “โครงการถนนวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าสงขลา” เมื่อกันยายน 2559ที่ผ่านมา ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี”
วันนี้ร้านค้าของคนรุ่นใหม่มาเปิดหลายร้าน กิจกรรมศิลปะแนวสตรีทอาร์ต ก็จะเกิดขึ้น อยากเชิญชวนนักลงทุนให้มามองดูตรงนี้ มั่นใจว่าเมืองเก่าสงขลาจะฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง สำหรับบ้านนครใน เป็นบ้านไม้แบบจีนโบราณและบ้านตึกสีขาวเป็นแบบชิโนยูโรเปี้ยน มีพื้นที่ 20 ตารางวา จะจัดแสดงของเก่า เช่น เตียงอายุ 100 ปีขึ้นไป มีตำนานเล่าว่า เคยเป็นเตียงเก่าของเจ้าเมืองสงขลา บางหลังเป็นเตียงมาจากเมืองจีน หรือตู้โบราณเก็บสะสมมาประมาณ 30-40 ปี ถ้วยชามจากจีนอายุ 100 กว่าปี ประมาณ 100 ชิ้น
ท่านอดีตสว.สงขลา กล่าวต่ออีกว่าดีใจทุกวันนี้ทุกคนหวงแหน เห็นว่าของทุกอย่างมีค่า อย่างวัยรุ่นเข้ามาถ่ายรูปกันเยอะ ตอนที่กำลังปรับปรุงทุกคนก็มองว่าเป็นไปไม่ได้ ก็ปิดปรับปรุงซ่อมแซม กั้นเชือกไว้ไม่ให้เข้า แต่คนที่มาก็ขอเข้าไปดูหน่อย เราก็ต้องยอม ปรากฏว่า จากแนวคิดแปลกๆของผม แต่โดน…!!! กลายเป็นที่นิยม มีคนพูดถึง ตอนนี้ทุกคนเข้าเยี่ยมชม ถ่ายรูปบริเวณบ้านนครในได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีนักวิชาการเข้ามาช่วยดูแล สร้างองค์ความรู้ให้สังคมเปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 9.00-19.00 น.

หมายเลขบันทึก: 629180เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2017 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2017 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท