น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเสี่ยงภยันตราย เพื่อพสกนิกร


พลอากาศโท ไพโรจน์พุกจินดา ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ ราชพาหนะ ผ่านหนังสือดังกล่าว ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ บันทึกสยาม ในเครือบริษัท เพชรประกาย จำกัด ...จากการที่ได้อ่านเรื่องราวในหนังสือดังกล่าว ยิ่งทำให้รู้สึกตื้นตันใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ได้ทรงเสี่ยงภยันตรายในการเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทห่างไกล เต็มไปด้วยพื้นที่ภูเขาสูงแทบทั้งสิ้น

เฮลิคอปเตอร์ ฮ.๖ ก (UH – 1N) หรือ ฮ.สีฟ้า

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ
(
www.rtaf.mi.th/th/Pages/tourist_Attractions.aspx)

ทศพนธ์ นรทัศน์ เรียบเรียง

ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club)

www.facebook.com/ICTforAll.org

กระผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “เฮลิคอปเตอร์สีฟ้า” ของครูแจ๋ว (พลอากาศโท ไพโรจน์ พุกจินดา) อดีตเจ้าหน้าที่ (นักบิน) ประจำอากาศยานพระราชพาหนะ เป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี นับเนื่องตั้งแต่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อพ้นจากหน้าที่นักบินเฮลิคอปเตอร์ราชพาหนะแล้ว ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการเดินทางขบวนเฮลิคอปเตอร์ราชพาหนะ มีหน้าที่รับผิดชอบความเรียบร้อยปลอดภัยขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะทุกเครื่องในขบวนจนเกษียณอายุราชการ

"เฮลิคอปเตอร์สีฟ้า" ถ่ายทอดเรื่องราวความสุข ความซาบซึ้ง ความภูมิใจ ในการปฏิบัติหน้าที่การเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะของ "ครูแจ๋ว พลอากาศโท ไพโรจน์ พุกจินดา" ซึ่งได้ถวายงานใกล้ชิด "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙" ถึง ๑๕ ปี นำเสนอด้วยสำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย ได้สาระและความสนุก สอดแทรกประสบการณ์ในฐานะศิษย์การบิน ครูการบิน และนักบินทหารอากาศ
ซึ่งผู้เขียนได้รับมาตลอดอายุราชการของท่าน และที่สำคัญไปกว่านั้น ผู้อ่านจะได้เห็นถึงความยากลำบาก พระวิริยะอุตสาหะ และพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์ (ซีเอ็ดยูเคชั่น, ๒๕๖๐
; goo.gl/1MIGe8)


ที่มาภาพ: Scontent.cdninstagram.com; https://goo.gl/YDRNMf

พลอากาศโท ไพโรจน์พุกจินดา ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ ราชพาหนะ ผ่านหนังสือดังกล่าว ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ บันทึกสยาม ในเครือบริษัท เพชรประกาย จำกัด ...จากการที่ได้อ่านเรื่องราวในหนังสือดังกล่าว ยิ่งทำให้รู้สึกตื้นตันใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ได้ทรงเสี่ยงภยันตรายในการเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทห่างไกล เต็มไปด้วยพื้นที่ภูเขาสูงแทบทั้งสิ้น

ในอดีตนั้น เราท่านทั้งหลายล้วนคุ้นเคยกับภาพข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อปฏิบัติพระราชภารกิจด้วยเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งในสมัยนั้น เทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของเครื่องเฮลิคอปเตอร์ที่ยังเป็นแบบเครื่องยนต์เพียงเครื่องเดียว ระบบนักบินกลยังไม่มี ระบบนำร่องการบินยังไม่ทันสมัย การระบุหรือเข้าถึงตำแหน่งที่หมายต่างๆ ยังไม่มีระบบ GPS (Global Positioning System) ให้ใช้งานเหมือนในปัจจุบันระบบสื่อสารที่ยังไม่ทันสมัย ความเสี่ยงจากการทำการบินกลับในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาปกติโดยทั่วไปที่พระองค์ท่านจะเสร็จสิ้นพระราชภารกิจในพื้นที่ของแต่ละวัน รวมถึงความเสี่ยงจากการที่จะถูกโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในสมัยนั้น

พลอากาศโท ไพโรจน์ฯ ได้เล่าถึง “ภารกิจภาคเหนือ” ไว้ในหนังสือฯ หน้า ๒๐-๒๒ ความตอนหนึ่งว่า “การเสด็จปฏิบัติภารกิจภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังจำได้ไม่ลืมเลือน แม้ว่าปัจจุบันผู้เขียน (พลอากาศโท ไพโรจน์ฯ) จะอายุมากแล้วก็ตาม เพียงชั่วระยะเวลา ๑-๒ เดือนที่ถวายการรับใช้ต้องขึ้นบินมากที่สุดถึง ๔๒ เที่ยว ทุกเที่ยวบินเสด็จกลับมาลงบนพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ในช่วงเวลากลางคืนไม่เคยต่ำกว่า ๒ ทุ่ม ทั้งนั้น บางเที่ยวบินเชื้อเพลิงเหลือต่ำสุดจนต้องกดปิดไฟเตือนเชื้อเพลิงต่ำ เพื่อไม่ให้มีแสงไฟปรากฏขึ้นให้เป็นที่ระคายเคืองพระเนตร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ทรงมีภารกิจหลัก คือ เสด็จเยี่ยมราษฎรและตรวจความก้าวหน้าของโครงการเกษตรหลวง ซึ่งพระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวเขา ทรงตรวจดูพืชผลเมืองหนาวที่ทดลองปลูกไว้ ทุกปีจะมีเที่ยวบินสำหรับให้ทูตานุทูตจากต่างประเทศได้โดยเสด็จด้วย เพื่อตรวจดูผลงานการค้นคว้าวิจัยทดลองปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น ช่วยให้ชาวเขามีอาชีพที่ยั่งยืน

หากจะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในภาคเหนือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ จะแปรพระราชฐานเสด็จมาประทับที่พระตำแหนักภูพิงคราชนิเวศน์ สนามบินเฮลิคอปเตอร์อยู่ต่ำลงมา เป็นไหล่เขาปรับพื้นเรียบ ฮ.สามารถลงจอดได้ ๓ เครื่องชนิดที่มองเห็นใบพัดหลักหมุนอยู่ใกล้ๆ กัน ด้านหน้าสนามมีต้นไม้ใหญ่
ถ้านักบินกะสนามบินล้ำเกินไปก็ชนต้นไม้ ส่วนตรงหน้าผาถ้ากะสนามขาดไปก็ชนไหล่เขา ขณะร่อนลงจะมีกระแสลมประมาณ ๑๐ นอตเข้ามาด้านข้าง ต้องเอียงเครื่องสู้ลมเพื่อรักษาเส้นทางร่อน

มีเที่ยวบินหนึ่งกระแสลมน่าจะมากกว่า ๑๐ นอต เมื่อเลี้ยวเครื่องตรงแนวร่อนลง ต้องเอียงเครี่องสู้กระแสลมจนถึงจุดวางตัว ก่อนจะเสด็จลงจาก ฮ.พระที่นั่ง พระองค์ท่านทรงใช้พระหัตถ์แตะไหล่นักบินพร้อมตรัสขอบใจทุกครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้...

ผู้เขียน (พลอากาศโท ไพโรจน์ฯ) คิดเสมอว่าทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จะต้องเสด็จมาปฏิบัติพระราชภารกิจที่หนักและเสี่ยงอันตรายทุกเที่ยวบินเยี่ยงนี้ ประชาชนทั้งประเทศคงจะมีคำตอบเหมือนๆ กัน ผู้เขียน (พลอากาศโท ไพโรจน์ฯ) เคยเสนอแนวคิดผ่านทางท่านผู้ใหญ่ที่รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ว่า นักบินขบวนพระราชพาหนะเป็นห่วงพระองค์ท่านมาก เนื่องจากการเสด็จกลับในตอนกลางคืนเสี่ยงอันตราย เห็นควรเสด็จกลับก่อนพระอาทิตย์ตกดิน แต่พระองค์ท่านมีรับสั่งว่าไว้ใจในการบินของนักบินกองทัพอากาศ ดังนั้นก่อนจะถวายงานการปฏิบัติพระราชภารกิจทางภาคเหนือ ทางฝูงบินต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดทั้งนักบินและเฮลิคอปเตอร์...”

นอกจากนี้ พลอากาศโท ไพโรจน์ฯ ยังได้กล่าวถึง “ภารกิจ ฮ.สีฟ้า กับเที่ยวบินอันตราย” ไว้ในหนังสือฯ หน้า ๗๕-๗๘ ความตอนหนึ่งว่า “จังหวัดเชียงราย...พอพลบค่ำ มองเห็นเมฆดำหนาทึบในระยะไกล ลักษณะนี้เป็นเมฆพายุฝนเริ่มก่อตัว นับเป็นนาทีต่อนาที ชั่วโมงต่อชั่วโมง...นักบินเฮลิคอปเตอร์ได้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางบิน โดยกำหนดจากจุดวิ่งขึ้น ตรงไปอำเภอแม่จัน แล้งบินตามเส้นทางถนนเข้าสนามบินจังหวัดเชียงราย ถ้าเกิดจำเป็นต้องลงฉุกเฉินที่บริเวณอำเภอแม่จัน สามารถนำขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะลงได้ และตามเส้นทางถนนสามารถนำเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉินได้

เมื่อสรุปอย่างรวดเร็วและตัดสินใจได้แล้ว จึงได้กราบบังคมทูล จำเป็นต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับก่อนเวลาโดยเร็ว ภายในไม่กี่นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ได้เสด็จมาประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เมื่อ ฮ.สีฟ้า วิ่งขึ้นเรียบร้อยแล้ว ความมืดก็เข้ามาในพื้นที่ ผู้เขียน (พลอากาศโท ไพโรจน์ฯ) ในฐานะนักบิน
ฮ.สีฟ้า ตั้งจิตขอบารมีคุ้มครองให้เที่ยวบินปลอดภัยทั้งขบวนบิน

เมื่อบินเหนืออำเภอแม่จันได้เปลี่ยนเส้นทางบิน ตามเส้นทางถนนเข้าสนามบิน จังหวัดเชียงราย หอบังคับการบินได้แจ้งข่าวอากาศให้ขบวนเฮลิคอปเตอร์ราชพาหนะทราบว่า จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm) พาดผ่านสนามบินเชียงราย เมื่อพิจารณาแล้ว ถ้ามีพายุฝนรุนแรง จะต้องนำขบวน ฮ.สีฟ้าลงฉุกเฉินตามแนวถนน

ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนแปลง แสงไฟจากพื้นดินเริ่มมองไม่เห็น เส้นทางมีแต่ความมืดสนิท เมื่อขบวน ฮ.สีฟ้าใกล้สนามบิน นักบิน ฮ.สีฟ้าได้สั่งการให้ ฮ.หมายเลข ๒ นำขบวน ฮ. พระราชพาหนะไปลงสนามบินจังหวัดเชียงรายก่อน โดยใช้รูปขบวน รูปหมู่บินตามกัน ระยะให้เห็นไฟแสดงตำแหน่งเครื่องชัดเจน

ฮ.หมายเลข ๒ ได้วิทยุรายงานให้ทราบว่าได้นำหมู่บินแซง ฮ.สีฟ้า เรียบร้อยแล้ว เมื่อบินใกล้สนามบิน ฮ.หมายเลข ๒ ได้รายงานว่า มีลมพัดแรงมาก แทบจะบังคับ ฮ.ไม่ได้ มีเสียงวิทยุจาก ฮ.ในขบวน เริ่มผิดปกติ มีเสียงดังออกมาว่า ตกลงไปแล้ว

ทันทีนั้น นักบิน ฮ.สีฟ้าเตรียมวางแผนนำ ฮ.สีฟ้าลงฉุกเฉิน เสียงวิทยุเงียบลงไป แสดงว่า ขบวน ฮ.หมายเลข ๒ คงจะลงได้เรียบร้อยแล้ว ฮ.สีฟ้า ตัดสินใจนำ ฮ.ลดระยะสูงร่อนลงสนามบินทันที ขณะที่บินร่อนลง ลมพัดแรงเหมือนเรือที่วิ่งผ่านคลื่นสูง เครื่องไม่แกว่งรุนแรง ไม่เสียการทรงตัว นักบินยังบังคับเครื่องให้ร่อนลงได้ เมื่อถึงจุดวางตัวก็ยังสามารถวางตัวได้ แม้ว่าลมจะพัดแรง

เมื่อวาง ฮ.สีฟ้าถึงพื้นเรียบร้อย ลมพัดกรรโชกแรงเข้ามาปะทะเครื่องทันที ขณะเดียวกันฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก เสียงลูกเห็บตกกระทบเครื่องอย่างแรง นักบิน ฮ.สีฟ้ารีบดับเครื่องยนต์ ลงมาส่งเสด็จที่บันได ฮ.สีฟ้า โดนฝนเปียกโชก ลูกเห็บตกใส่ทั้งตัว แต่ความปีติที่สามารถนำ ฮ.สีฟ้าลงได้ปลอดภัยทำให้ไม่รู้สึกอะไรเลย เพียงแต่ร่างกายหนาวเย็นจนตัวสั่น

เมื่อฝนเบาลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ได้เสด็จลงจาก ฮ.สีฟ้า ตรัส ขอบใจ ทุกเที่ยวบินพระองค์ท่านจะพระราชทานพระหัตถ์แตะที่บ่านักบิน ฮ.สีฟ้า พร้อมกล่าวขอบใจ นี่คือพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์...”

ยังมีเรื่องราวที่น่าตื้นเต้น และประทับอีกมากมายในพระราชภารกิจและพระมหากรุณธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ดังข้อความในปกหลังของหนังสือดังกล่าว ที่ระบุว่า

พื้นที่ป่าเขา เส้นทางทุรกันดารเพียงใด

แม้กระทั่งพื้นที่การรบ ไม่มีที่ใดในประเทศไทย

ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ไม่เคยเสด็จไปเยี่ยมเยียน

ทุกครั้งที่เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งบินขึ้นสู่ท้องฟ้า นั่นหมายถึง

"ความทุกข์ยากของราษฎรจะได้รับการปัดเป่า บรรเทา

ด้วยพระเมตตาแห่งพ่อหลวงของเราชาวไทย"


หนังสือ “เฮลิคอปเตอร์สีฟ้า” ของ ครูแจ๋ว (พลอากาศโท ไพโรจน์ พุกจินดา) จัดจำหน่ายโดย บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีวางจำหน่ายที่ร้านหนังสือซีเอ็ด และร้านหนังสือทั่วไป หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.se-ed.com

นอกจากนี้ ยังสามารถรับชมคลิปวีดีโอการให้สัมภาษณ์ของ พลอากาศโท ไพโรจน์ พุกจินดา อดีตนักบินขับเครื่องบินพระที่นั่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในรายการต่างคนต่างคิด ตอน “พระเจ้าแผ่นดินในความทรงจำ จากผู้ทำหน้าที่ขับเครื่องบินพระที่นั่งได้ที่ www.youtube.com/watch?v=ZXAnh_e86CI&t=1176s ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ AMARIN TVHD เมื่อวันอังคารที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๘.๕๐-๑๙.๓๐ น. ดำเนินรายการโดย คุณพุทธ อภิวรรณ


ที่มา: Facebook พุทธ อภิวรรณ (๒๕๕๙, facebook.com/photo.php?fbid=280470132349035&set=pcb.280470242349024&type=3&theater)

ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มคลิกที่นี่

หมายเลขบันทึก: 628886เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2017 20:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2017 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณบันทึกดีดี อ่านแล้วมีกำลังแรงใจมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท