ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๑๑. ฝึกปฏิบัติตามแบบแผน



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง


ภาค ๔ ฝึกปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจสาระอย่างลึกซึ้งและเชื่อมโยง

ภาค ๔ นี้ ตีความจากบทที่ ๔ Conducting Practicing and Deepening Lessons มี ๓ ตอน ตอนที่ ๑๑ เป็นเรื่องฝึกปฏิบัติตามแบบแผน ตีความจาก Element 9 : Using Structured Practice Sessions


การเรียนให้รู้ลึกและเชื่อมโยงต้องมีการปฏิบัติ สามตอนต่อไปนี้ว่าด้วยการปฏิบัติเพื่อเป้าหมายดังกล่าว


คำถามเชิงยุทธศาสตร์ของครู สำหรับภาค ๔ นี้ ได้แก่ “หลังจากให้นักเรียนเรียนความรู้ใหม่ ครูจะมียุทธศาสตร์ และวิธีการอย่างไร เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ลึก เชื่อมโยง ได้พัฒนาทักษะและกระบวนการใช้ความรู้นั้น”


รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องนำไปใช้เป็น และใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว


ครูพึงคิดถึงสภาพความคิดในสมองนักเรียนอยู่ตลอดเวลา ทั้งในระหว่างการสอนสาระโดยตรง และหลังจากนำเสนอความรู้ใหม่แก่ศิษย์แล้ว ถึงขั้นนี้ สภาพความคิดหรือกระบวนการในสมองของนักเรียนคือ ทำความเข้าใจความรู้นั้น ในมิติที่ลึก และเชื่อมโยง ยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาความคล่องแคล่วในทักษะและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง และเมื่อเกี่ยวข้องกับทักษะ ก็ย่อมต้องการการฝึกปฏิบัติ


ถึงขั้นนี้ ครูต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ความรู้เชิงกระบวนการ (procedural knowledge) ซึ่งนำไปสู่ทักษะ กับความรู้เชิงข้อเท็จจริง (declarative knowledge)


ความรู้เชิงกระบวนการ ประกอบด้วย ทักษะ (skills), ยุทธศาสตร์ (strategy), และกระบวนการ (process) ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนเลขเศษส่วนเป็นเลขทศนิยม เป็นทักษะ เพราะต้องการความสามารถดำเนินการตามขั้นตอน และลำดับที่จำเพาะ การถอดรหัส (decoding) เป็นยุทธศาสตร์ เพราะต้องการกิจกรรมที่จำเพาะ แม้จะไม่จำเป็นต้องทำตามลำดับแบบเดียวกันทุกครั้ง และการเขียนข้อเขียนเพื่ออธิบายเป็นกระบวนการ เนื่องจากเป็นการใช้หลายยุทธศาสตร์ที่ให้ผลต่างกัน แต่ต้องทำอย่างมีเอกภาพ


ความรู้เชิงข้อเท็จจริงเป็นสารสนเทศ (information) มีหลากหลายรูปแบบ ขั้นต่ำสุดคือคำศัพท์ (terminology) ขั้นต่อไปคือข้อเท็จจริง (facts) คำศัพท์กับข้อเท็จจริงรวมกันเป็น รายละเอียด (details) ขั้นต่อไปคือการกล่าวอย่างกว้างๆ (generalization) และ การกำหนดเป็นหลักการ (principles) และขั้นสูงสุดคือ พัฒนาเป็นแนวคิด (concept)


การฝึกปฏิบัติเป็นการฝึกความรู้เชิงกระบวนการ ไม่เกี่ยวกับความรู้เชิงข้อเท็จจริง ดังนั้นสาระในตอนนี้เกี่ยวข้องกับการฝึกทักษะ ยุทธศาสตร์ และกระบวนการ ไม่เกี่ยวข้องกับการฝึกคำศัพท์ ข้อเท็จจริง รายละเอียด การกล่าวอย่างกว้างๆ หลักการ และแนวคิด


พัฒนาการของความรู้เชิงกระบวนการเป็นไป ๓ ขั้น คือ (๑) เข้าใจ (cognitive) (๒) เชื่อมโยง (associative) (๓) ใช้อย่างอัตโนมัติ (autonomous)


ในขั้นเข้าใจ (cognitive stage) นักเรียนทำความเข้าใจ ทักษะ ยุทธศาสตร์ และกระบวนการ ของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นเรื่องกราฟแท่ง นักเรียนเรียนรู้เชิงข้อเท็จจริงของทักษะ ยุทธศาสตร์ และกระบวนการในการทำความรู้จักกราฟแท่ง ในขั้นเชื่อมโยง (associative stage) นักเรียนฝึกวิธีเขียนกราฟแท่ง โดยจะต้องวิเคราะห์ว่าจะเขียนอะไรก่อน อะไรหลัง ในขั้นอัตโนมัติ (autonomous stage) นักเรียนสามารถเขียนกราฟแท่งได้อย่างอัตโนมัติ


คำถามเชิงยุทธศาสตร์ของครู ในตอนฝึกปฏิบัติตามแผน คือ “ครูจะช่วยให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติตามแบบแผนได้อย่างไร”


ยุทธศาสตร์และรายละเอียดของครูในการฝึกนักศึกษาอย่างมีแบบแผน มีดังนี้




หลักการสำคัญของการฝึกปฏิบัติคือ ต้องฝึกบ่อยๆ จนคล่อง และแม้คล่องแล้วก็อาจลืมได้ จึงควรมีการซ้อมเพิ่มเติมด้วย


เมื่อยุทธศาสตร์และวิธีการในตอนนี้ให้ผลดี จะสังเกตเห็นพฤติกรรมต่อไปนี้ในนักเรียน


  • นักเรียนฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง
  • นักเรียนถามคำถามเกี่ยวกับวิธีการ
  • นักเรียนมีสมรรถนะเพิ่มขึ้นในกระบวนการ
  • นักเรียนมีความมั่นใจมากขึ้นต่อการปฏิบัติกระบวนการ
  • นักเรียนมีความคล่องแคล่วเพิ่มขึ้นในการปฏิบัติกระบวนการ


จะเห็นว่าในภาค ๔ นี้ (ตอนที่ ๑๑ - ๑๓) ครูจะต้องเตรียมตัววางแผนบทเรียนอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัวอย่างข้อความ และสาระอย่างอื่น ที่มีความเหมาะสมต่อระดับความรู้และประสบการณ์เดิม ของนักเรียน เพื่อให้แบบฝึกหัดมีระดับความยากง่ายเหมาะสม ผมมีความเห็นว่า ครูที่ดีต้องหมั่นสะสมข้อความ สื่อ และวัสดุประกอบการสอน อยู่ตลอดเวลา



วิจารณ์ พานิช

๔ เม.ย. ๖๐

ห้องรอขึ้นเครื่องบิน สนามบินหาดใหญ่ ระหว่างรอไปภูเก็ต

หมายเลขบันทึก: 628839เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2017 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2017 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท