เพื่อนช่วยเพื่อนและศัลยแพทย์นักประดิษฐ์


น้ำใจของผู้พร้อมให้

เก็บตกมาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" เรื่องการดูแลเท้า ระหว่างทีมจาก รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม และทีมของ รพ.เทพธารินทร์ เมื่อวันที่ ๗-๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา เราได้รู้ว่าศัลยแพทย์ของเราเป็นนักประดิษฐ์ค่ะ

เช้าวันที่ ๗ ตุลาคม ขณะที่คุณหมอประกาศิต จิรัปปภา หัวหน้าทีมของธาตุพนม กำลังเล่าให้ที่ประชุมฟังถึงบริบทและการทำงานของทีม คุณหมอแสดงภาพการผ่าตัดทำ skin graft ผู้ป่วยรายหนึ่ง ในภาพกำลังมีการใช้ใบมีดโกนไถเอาหนังบางๆ ออกมา เมื่อคุณหมอทวีศักดิ์ ศรีคำมุล ศัลยแพทย์ของเทพธารินทร์เห็นภาพดังกล่าว จึงเขียน note บอกให้คุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน เจ้าหน้าที่ของเรา ให้ไปเอาเครื่องมือชิ้นหนึ่งจากห้องผ่าตัด แล้วเมื่อถึงเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คุณหมอทวีศักดิ์ก็เล่าเรื่องเครื่องมือชิ้นนี้ พร้อมสาธิตการใช้ให้เห็นจริงด้วย

ดิฉันและชาวเทพธารินทร์อีกหลายคน เพิ่งทราบในวันนั้นว่าคุณหมอทวีศักดิ์ได้ประดิษฐ์ skin graft-assisted instrument ออกมาใช้เอง เพราะในการไถเอาหนังบางๆ มาใช้ปะแผลนั้น ขณะไถจะต้องมีผู้ช่วยคอยบีบให้ผิวหนังตึงตลอดเวลา จากประสบการณ์คุณหมอทวีศักดิ์พบว่าการทำงานดังกล่าวต้องใช้แรงมาก คุณหมอบอกว่า "เหงื่อออกชุ่มรักแร้เลย วันรุ่งขึ้นเมื่อยมากจนยกแขนแทบไม่ขึ้น" เครื่องมือชิ้นนี้ทำหน้าที่แทนผู้ช่วย สามารถบีบให้ผิวหนังตึงสม่ำเสมอตลอดการผ่าตัด ไถผิวหนังบางๆ ได้เป็นชิ้นใหญ่ๆ ทำงานได้ต่อเนื่อง

กิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" ในวันนั้น ทำให้ได้รู้จักกับเครื่องมือเล็กๆ ที่มีประโยชน์ แต่ที่ดีและยิ่งใหญ่กว่านั้นคือได้เห็น "น้ำใจ" ของผู้พร้อมให้ ที่มองเห็นว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ก็หยิบยกมานำเสนอ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

 

 

 Skin graft-assisted instrument

หมายเลขบันทึก: 6288เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2005 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท