​การทำงานเบาหวานไม่มีวันจบ


การทำงานเบาหวานมีหลากหลายแง่มุม มีเรื่องให้ทำต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันดิฉันได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเบาหวานต่าง ๆ ดังนี้

NCD Clinic Plus ของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดิฉันได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะที่ปรึกษาของคณะทำงานจัดทำคู่มือดำเนินงานประเมินคุณภาพ NCD Clinic Plus ปี 2560 ได้มีโอกาสร่วมพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ของคู่มือดังกล่าวและร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดชุดมาตรฐานการบริการป้องกันควบคุมโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงสำหรับสถานบริการสาธารณสุข และแนวทางการประเมินคุณภาพ NCD Clinic Plus (อ่านที่นี่) ปัจจุบันมีการพิมพ์คู่มือดังกล่าวเผยแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะมีการตรวจเยี่ยมและประเมินคลินิกตามเกณฑ์ (Download คู่มือได้จากบันทึกนี้)

การจัดทำ DM/HT prevention package ดิฉันได้ร่วมเขียนตัวอย่างกิจกรรมในโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตสำหรับกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน ที่เราได้ใช้ในงาน Thai DPP เป็น 1 ในจำนวน 4 interventions ขณะนี้หนังสือได้พิมพ์เสร็จแล้ว ต่อไปจะมีการอบรมบุคลากรจากระบบสุขภาพอำเภอ (DHS) ให้ใช้ interventions เหล่านี้ในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 เป้าหมายคือ DHS 200 แห่ง (Download หนังสือได้จากบันทึกนี้)

ดิฉันได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบุคลากรหลักสูตรผู้จัดการระบบโรคไม่ติดต่อระดับจังหวัดขั้นสูง และร่วมเวทีการประชุมเรื่องการสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้ป่วยอย่างยั่งยืน ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการถอดบทเรียนเพื่อหา best practice ของการทำงานด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กรณีโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ของ พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้ซึ่งมีความขยันขันแข็งอย่างต่อเนื่อง

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้ดำเนินโครงการเสริมพลังเครือข่ายการเรียนรู้ระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System, DHS) ด้วยการจัดการความรู้ยุคใหม่และการจัดการข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างต้นแบบระบบการเรียนรู้จากการปฏิบัติด้านการจัดการสุขภาพใน DHS จนเกิดเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการที่แข็งแรงขึ้น และ (2) ริเริ่มเครือข่ายการเรียนรู้ในมิติใหม่ที่มี Big Data technology เข้ามาหนุน โดยการนำข้อมูลพฤติกรรมของผู้ป่วยเข้าสู่ระบบดิจิตอล แล้วใช้เครื่องมือ Big Data วิเคราะห์ ป้อนผลกลับเข้าไปในเครือข่ายการเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วย ในเรื่อง Big Data technology นั้นได้ทีมอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาทำงานด้วย ระหว่างนี้กำลังพัฒนาและทดลองใช้ Application ที่ทำงานผ่านโทรศัพท์มือถือ DHS นำร่อง 3 แห่งคือแก่งคอย บางปะอิน และภาชี โครงการกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ดิฉันมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมและให้ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาและกำกับทิศทางการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นครั้งคราว ทำให้ได้รู้ว่าในเรื่องงานเบาหวานและความดันโลหิตสูงนั้น มีใคร/หน่วยงานใด ทำอะไร ที่ไหน ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ได้ update ตัวเองให้ทันต่อความก้าวหน้าของงานต่าง ๆ และที่ชื่นชมเป็นพิเศษคือได้เรียนรู้จากการนำการประชุม การสรุป และการให้ความคิดเห็นของท่านประธานคือ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ท่านเป็นผู้ที่รู้จริงและรู้รอบจริง ๆ

ดิฉันเป็นกรรมการฝ่ายวิชาการของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน สมาคมมีการจัดอบรมบุคลากรสหสาขาวิชาชีพ เพื่อไปทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน” หรือ “diabetes educator” ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกตลอดชีพ ซึ่งเป็นบุคลากรด้านสุขภาพสหสาขาวิชาชีพ กว่า 1,600 คน ประมาณ 63% เป็นพยาบาลวิชาชีพ อบรมบุคลากรไปแล้วกว่า 10,200 คน และมีอาจารย์แพทย์สาว (แต่ไม่โสดแล้ว) ไฟแรง จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รองศาสตราจารย์ พญ.สิริมนต์ ริ้วตระกูล ประเทืองธรรม มาริเริ่มและผลักดันจนเกิดระบบการสอบเพื่อพัฒนาเป็นผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานที่ผ่านการรับรอง หรือ Certified Diabetes Educator (CDE) สำเร็จ มีการสอบไปแล้วหนึ่งรุ่น ดิฉันมีหน้าที่ช่วยออกข้อสอบจำนวนหนึ่ง ช่วย edit และวิพากษ์ข้อสอบ ช่วยสอบสัมภาษณ์และสอบภาคปฏิบัติ และจัดการให้มีการวิเคราะห์คุณภาพของข้อสอบ

ดิฉันได้รับมอบหมายจากศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เทพ หิมะทองคำ ให้ดูแลงานของมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน ขณะนี้มูลนิธิร่วมกับโรงพยาบาลเทพธารินทร์และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กำลังเริ่มต้นจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้แบบออนไลน์เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน โดยหวังว่าจะเป็นช่องทางการพัฒนาผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานที่เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน ช่วยให้ผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานได้เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ปรับปรุงการปฏิบัติงานของตนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการป้องกันและการดูแลรักษาโรคเบาหวาน หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือ รองศาสตราจารย์ พญ.สิริมนต์ ริ้วตระกูล ประเทืองธรรม อาจารย์แพทย์สาวไฟแรงคนเดิม หลักสูตรแล้วเสร็จและพร้อมใช้งานได้เมื่อใด จะแจ้งให้รู้ทั่วกัน

การทำงานเบาหวานมีหลากหลายแง่มุม มีเรื่องให้ทำต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560

หมายเลขบันทึก: 628453เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2017 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2017 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทีเรื่องให้ทำเยอะมากเลยคะอาจารย์

ยิ่งทำ ก็ยิ่งเจอผู้ป่วยเยอะขึ้น เรื่อยๆ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท