​กว่าใจจะเปลี่ยน กับ Trans-Theoretical Model (TTM)


เล่าค้างไว้จากตอนที่แล้ว ว่ากว่าที่คนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพนั้น อาจไม่ใช่ว่านึกจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน แต่มักผ่านกระบวนการทางความคิดมาเป็นขั้นๆ และแต่ละขั้นก็มักใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยที่การเปลี่ยนแปลงจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ สภาพจิตใจ ความพร้อมและแรงจูงใจของแต่ละคน

ทฤษฎีที่พูดถึงเรื่องนี้คือ Trans- Theoretical Model และเนื่องจากมีการแบ่งพฤติกรรมสุขภาพเป็นขั้นๆ เลยได้ชื่อว่าทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ( Stage of Change Model ) ด้วย โดยแบ่งขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมออกเป็น 5 ขั้นตอน

สมมติว่า คุณ ก. ไม่เคยคิดจะออกกำลังกายเลย ไม่คิดว่าการออกกำลังกายจะเป็นเรื่องสำคัญ อย่างนี้ก็จัดได้ว่าคุณ ก. อยู่ในขั้นแรก คือขั้นก่อนการคิดและไตร่ตรอง ( Pre-Contemplation Stage)

ต่อมาคุณ ก. ได้รับรู้ข้อมูลว่าการไม่ออกกำลังกายเกิดผลเสียอย่างไร หรือคุณ ก. อยากให้ตัวเองดูดีในสายตาคนอื่น ก็เริ่มคิดชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของการออกกำลังกาย อย่างนี้ก็จัดคุณ ก. เข้าในขั้นการคิดและไตร่ตรอง ( Contemplation Stage)

ต่อมาคุณ ก. เริ่มมองหากิจกรรมออกกำลังกาย พร้อมที่จะให้กิจกรรมออกกำลังกาย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เริ่มซื้อรองเท้า เสื้อผ้าที่จะใช้เวลาออกกำลังกาย เริ่มเข้ายิมเป็นครั้งคราว อย่างนี้ก็จัดคุณ ก. เข้าในขั้นการเตรียมการได้ ( Preparation Stage)

แล้วคุณ ก. ก็ออกกำลังกายสม่ำเสมอไปจนประมาณ 6 เดือน เราจึงจัดคุณ ก. เข้าในขั้นลงมือปฏิบัติ (Action Stage)

ครั้นคุณ ก. ออกกำลังกายเกิน 6 เดือนขึ้นไป ตอนนี้ก็สามารถจัดคุณ ก. เข้าในขั้นสูงสุดคือขั้นการคงรักษา( Maintenance Stage) ได้แล้ว

แต่อย่าเพิ่งดีใจไปค่ะ เพราะถึงคุณ ก. จะถูกอยู่ในขั้นของการคงรักษา แต่เธอก็สามารถถดถอย กลับไปอยู่ในขั้นต้นๆได้อีก เช่น มีเหตุจำเป็นเช่น ย้ายถิ่นที่อยู่ ทำให้ไม่สามารถเข้ายิมได้ตามปกติ หรือได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีในการออกกำลังกาย เช่น บาดเจ็บ หรือออกกำลังกายแบบเดิมๆไปนานๆก็เริ่มไม่สนุก เบื่อหน่าย

ประสบการณ์ที่ดีในการออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญค่ะ เพราะพบว่าคนที่ออกกำลังกายไม่ถึง 6 เดือนเลือกที่จะเลิกไปถึง 50% เลยทีเดียว ซึ่งเกิดจากหลายๆสาเหตุค่ะ เช่น ออกกำลังกายหนักเกินไป เร่งรัดตนเองเกินไป สุดท้ายทั้งกายและใจก็รับไม่ไหวบ้าง ขาดผู้นำในการออกกำลังกายบ้าง ไม่สามารถจูงใจตนเองให้รักษาการออกกำลังกายให้เป็นวิถีชีวิตได้บ้าง ขาดเแรงสนับสนุนจากบุคคลรอบข้างบ้าง ขาดความสะดวกในการเข้าถึง เช่น ยิมอยู่ไกลบ้าง ขาดโปรแกรมออกกำลังกายที่ดีบ้าง ขาดแคลนค่าใช้จ่ายบ้าง ไม่มีเวลาพอบ้าง ขาดการฝึกการตระหนักรู้ จนไม่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองบ้าง

ซึ่งการรับรู้ความสามารถของตนเองนี้มีความสำคัญไม่แพ้ประสบการณ์การออกกำลังกายเลยค่ะ จนถึงกับมีการจัดเป็นอีกทฤษฎีหนึ่งเลยทีเดียว หากการรับรู้ความสามารถของตนเองดี เราก็จะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไปในทางที่ดี

คราวหน้าจะเล่าถึงทฤษฎีนี้ หรือที่รู้จักในชื่อ Self Efficacy นะคะ

หมายเลขบันทึก: 628451เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2017 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2017 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท