จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตอนที่ 3


จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตอนที่ 3

20 เมษายน 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ยิ่งเข้มข้นน่าติดตามข่าวการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวหลังรัฐธรรมนูญตามที่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้วิพากษ์ตั้งแต่วันเริ่มใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ยิ่งชีพกล่าวถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2560 คือ “สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง 5 อย่าง” “สิ่งที่จะคงอยู่ต่อไป (ไม่เปลี่ยนไป) 5 อย่าง” และ “ความคาดหวังของประชาชนใน 2 อย่าง” [2]

สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง 5 อย่าง

(1) จะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตามมาตรา 65[3] แห่งรัฐธรรมนูญ ภายในหนึ่งปี แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ “ป.ย.ป.” 4 ชุด ตามคำสั่ง หน.คสช. (2) จะมีข้อกำหนดมาตรฐานจริยธรรม นักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ตามมาตรา 219[4] แห่งรัฐธรรมนูญ (3) จะมีกฎหมายลูก 10 ฉบับ ตามมาตรา 267 [5]แห่งรัฐธรรมนูญ ที่จะมากำกับการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. เกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้งหมด ส.ว.มาจากการเลือกตั้งแบ่งกลุ่ม แต่ไม่บอกรายละเอียดอื่น (4) จะมีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ต้องจัดทำภายใน 120 วันและเริ่มดำเนินการปฏิรูปประเทศภายในหนึ่งปี โดยคาดหวังว่าจะเห็นผลภายใน 5 ปี ตามมาตรา 259 [6] แห่งรัฐธรรมนูญ และจะมีการตั้งคณะปฏิรูปสองชุดโดย คสช. คือ (4.1) ปฏิรูปการศึกษา และ (4.2) ปฏิรูปตำรวจ (5) การเลือกตั้งตามโรดแมป ตามมาตรา 268 [7]แห่งรัฐธรรมนูญ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับแล้ว จะเกิดขึ้นอยู่ในช่วง เดือน กันยายน-ตุลาคม ปี 2561 หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืดเยื้อโหวตคว่ำกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่งการเลือกตั้งก็จะยืดออกไปเป็นปี การเลือกตั้งอย่างเร็วจะเร่งได้ในเดือนมกราคม 2562

สิ่งที่จะคงอยู่ต่อไป (ไม่เปลี่ยนไป) 5 อย่าง

(1) ประกาศคำสั่งของ คสช. ทุกฉบับที่ออกมาแล้วจะมีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย และคงอยู่ตลอดไปจนกว่าจะมีประกาศยกเลิก ตามมาตรา 279 [8] แห่งรัฐธรรมนูญ (2) มาตรา 44 [9] แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะยังคงอยู่ จนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ (3) สนช. จะยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะเลือกตั้ง และมีส.ส. ส.ว. มาทำหน้าที่ (4) สภาปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) ยังคงมีอยู่และทำงานต่อไปจนกว่าจะออกกฎหมายปฏิรูปเสร็จ (5) คสช. จะยังคงอยู่ต่อไปได้อีก 8-9 ปี โดยมีวิธีกลไกทางกฎหมายต่ออำนาจให้อยู่ได้

ความคาดหวังของประชาชนใน 2 อย่าง

(1) ประชาชนจะมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (2) ประชาชนจะมีสิทธิ์ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้มีบทบัญญัติให้ประชาชนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หากพบว่ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อยากให้ศาลคุ้มครอง

อปท. มีอะไรบ้างที่คาดหวัง

จากสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะคงอยู่ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนไป รวมถึงความคาดหวังของประชาชนตามข้างต้นไม่เห็นแววว่าจะเกี่ยวกับท้องถิ่น หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม บรรดานักเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงข้าราชการส่วนท้องถิ่น ต่างอดคาดหวัง และคิดลึก ๆ วาดฝันไปกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างงุนงง ไม่เข้าใจ และ คาดเดาความเคลื่อนไหวเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าได้อย่างยากเย็น

(1) กฎหมายท้องถิ่น 3 ฉบับ ได้แก่ (1.1) ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม ร่าง พรบ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก สปท. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 และผ่านที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี สนช.และ สปท. แล้ว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 รวมทั้ง มติวิป สนช.และ สปท. เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ให้กรรมาธิการ (กมธ.) ของ สนช.และ สปท. ที่เกี่ยวข้อง ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปในด้านนี้เป็นผลสำเร็จต่อไป (1.2) ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น และ (1.3) ร่าง พรบ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่ง สปท.ได้มีมติผ่านร่างแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559

กล่าวคือ ในกฎหมายข้างทั้งสามยังคงความอึมครึม ยืดเยื้อ ไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน เพราะกฎหมายทั้งสามมีความเกี่ยวพันเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก ด้วยเงื่อนไขความไม่ลงตัวอีรุงตุงนังที่ได้ประดังเข้ามาเป็นระยะ แม้จะพยายามลุ้นกันว่ากฎหมายท้องถิ่นฉบับใดจะได้ผ่าน สนช.และตราเป็นกฎหมายก่อนกันก็ยัง ไม่อาจคาดเดาได้แน่นอน ด้วยความไม่ลงตัวของ “ผู้มีส่วนได้เสีย” (Stake holders) ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบุคคลากรของท้องถิ่นโดยตรง ได้แก่ฝ่ายการเมืองท้องถิ่น และ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นรวมลูกจ้าง หรือ ฝ่ายบุคคลกรราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ได้รับผลพวงกระทบโดยตรงจากการถูกลดบทบาทหน้าที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ ที่ต่างจด ๆ จ้อง ๆ สร้างกระแสการคัดค้าน ต่อรองเพื่อความลงตัวในร่างกฎหมายเกี่ยวข้องที่จะเกิดขึ้นมีแนวโน้มว่าต่างฝ่ายต่างยึดมั่นถือมั่น ไม่ยอมลดราวาศอก ประหนึ่งยึดอัตตาส่วนตนเป็นที่ตั้ง งานนี้คงต้องวัดใจ คสช. ว่าจะตัดสินอย่างไร ในขั้นต้น เห็นได้ว่า สนช. ได้รับประเด็นปัญหาความไม่ลงตัวตรงนี้ โดยเปิดโอกาสให้มีการขยายเวลารับฟังความคิดเห็นออกไปอีก แม้ว่าระยะเวลาตามโรดแมปการปฏิรูปท้องถิ่นที่วางไว้ก่อนหน้า ได้พ้นเลยห้วงเวลามาพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังถูกทักท้วงจากฝ่ายที่คิดว่าได้รับผลกระทบ(เน้นเชิงลบ)อยู่ดี จนในบางเรื่อง ไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้เลยว่าจะต้องทำอะไรก่อน อาทิ จะยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลตำบลหรือไม่ จะมีการควบรวม อปท. เพื่อประสิทธิภาพหรือไม่ [10] จะปลดล็อคการดำรงตำแหน่งและให้มีการเลือกตั้งของ “สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น” ที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งเดิมปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวไปอีกนานเพียงใดอาทิ มีการปล่อยข่าวว่าจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ (การเลือกตั้ง ส.ส.) [11] หรือ ข่าว จะให้ กกต.จัดการเลือกตั้งระดับชาติ ส่วนการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นจะให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้จัด [12] หรือ ข่าว ปลัด มท.ปฏิเสธการยกเลิกให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระรักษาการในตำแหน่ง แล้วให้ปลัดท้องถิ่นเข้ามารักษาการแทน [13] หรือ ข่าวสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย และ เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป (ศูนย์ประสานงานชั่วคราวองค์การบริหารส่วนตำบลบางพูด) ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการควบรวม อปท.ของสปท. [14]

ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งบอกว่า ร่างประมวลกฎหมาย อปท.ผ่านวิปสามฝ่าย และเข้า ครม. ซึ่งจะรอความเห็นจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ และอนุฝ่ายที่ร่างกฎหมายกทม. จะนำเข้าพร้อมกันกับร่าง พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นหากผ่านครม.ก็จะไปกฤษฎีกา และเข้า สนช. คาดว่า จะผ่านออกมาเป็นกฎหมายอย่างเร็ว ธันวาคม 2560 และคาดว่าอย่างเร็วจะมีผลบังคับใช้ประมาณ เมษายน 2561 ขึ้นอยู่กับ ครม. กฤษฎีกา และ สนช. เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป จึงอาจไม่เป็นไปตาม สปท.เสนอไว้ก็ได้ อย่างไรก็ตามเส้นทางดังกล่าวเป็นการคาดการณ์เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา [15]

(2) แม้ในรอบปีที่ผ่านมา 2559 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้เผยแผนปฏิบัติการกรมส่งเสริมฯ ที่แสดงถึงความก้าวหน้าเพิ่มประสิทธิภาพท้องถิ่นครบรอบ 14 ปี ได้พัฒนาท้องถิ่นบนพื้นฐานความเป็นอิสระโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติงานภาษีท้องถิ่น ในระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน (LTAX 3000) และระบบประยุกต์สารสนเทศด้านภูมิศาสตร์ (LTAX GIS), การจัดทำระบบบัญชี e-LAAS ผ่านระบบคอมพิวเตอร์, ระบบการประเมินผลที่เรียกว่า Local Performance Assessment (LPA) และ การสานต่อการปฏิบัติด้านจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจังหวัดสะอาด[16]

(3) เชื่อว่าการปฏิรูปประเทศนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มปฏิรูปจากท้องถิ่นก่อน เพราะ ท้องถิ่นก็คือประเทศ ถ้าทำไม่สำเร็จ อาจเกิดความล้มเหลวทั้งหมดแต่การปฏิรูปท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัญหาหลายอย่างที่สะสมพอกพูน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญหาการทุจริตการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องต่าง ๆในการบริหารงาน” อาทิ การทุจริตบริหารงานบุคคล เช่น กรณี “สารคามโมเดล”[17] และ ในอีกหลายจังหวัดที่กำลังจะเกิดตามมา อย่างไรก็ตาม ในอีกฟากหนึ่งกระทรวงมหาดไทย (มท.) ก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทอำนาจหน้าที่ การกำกับดูแลที่มีต่อท้องถิ่น กล่าวคือ มท. ก็ต้องปฏิรูปบ้าง หาก มท. ยังเป็นระบบ "เดิม" การปฏิรูปประเทศย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอนเพราะระบบงบประมาณ “เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” ที่ผ่านกระทรวงมหาดไทย และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คือ จุดเริ่มของทุจริตนี่เป็นเหตุผลและกระแสหนึ่งที่ต้องมีการ “ตั้งคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ” ที่มิได้สังกัดกระทรวงมหาดไทย จากเครือข่าย อบต.ภาคใต้ที่ประสงค์แยกอปท.ออกจากมหาดไทย เพื่อการทำงานที่คล่องตัว [18]

(4) ในการปฏิรูปการบริหารงานบุคคล เห็นว่า น่าจะปฏิรูปตั้งแต่การได้มาของบุคลากรก่อนเป็นอันดับแรก ระบบการคัดเลือกบุคลากรโดยการสอบควรเป็นมาตรฐานเดียวกับกระทรวงหรือกรมอื่น มิใช่ให้อปท.เปิดสอบกันเองเหมือนดังเช่นในรอบ 17 ปีที่ผ่านมามีผู้ให้ข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า หากตรวจสอบข้อมูลที่ อปท. จัดสอบเองในรอบ 14-15 ปีที่ผ่านมา บุคคลากรที่สอบได้ร้อยละ 80 คือ เด็กเส้นดูจากนามสกุลก็รู้นี่รวมถึง ที่จังหวัดที่เปิดสอบด้วยก็เช่นเดียวกัน การปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมกลางท้องถิ่นที่ควรเป็นคนท้องถิ่นเท่านั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหลัก “คนเขียนไม่ใช่คนปฏิบัติ และคนปฏิบัติไม่ได้เขียน” มันใช้ไม่ได้ในบริบทปัจจุบัน

(5) นับตั้งแต่มี คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้สั่งงดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ครบวาระไว้ทั้งหมด แล้วใช้วิธีคัดสรรบุคคลที่มีความสามารถตั้งเข้าไปทำหน้าที่แทน [19] แต่ต่อมาได้คลายแรงกดดันโดยยอมให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระ ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง [20] ซึ่งกาลเวลาล่วงเลยมานานมากกว่าหนึ่งปีแล้ว ดูท่าสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นดังกล่าวจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปอีกนาน ทำให้เกิดความอึดอัดจากฝ่ายที่เฝ้ารอ แม้จะมีกระแสว่า อาจจะมีการเปลี่ยนผู้บริหารท้องถิ่น โดยคำสั่ง คสช. ให้ ปลัด อปท. ปฏิบัติหน้าที่แทน ก็เป็นเพียงข่าว หากมองมุมกลับ อาจเป็นการผลัดเปลี่ยนก่อนที่จะเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งก็ได้ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งในสองระดับ คือ เมื่อการเลือกตั้งระดับชาติเสร็จ ก็จะให้นักการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศลงสนามต่อ [21] อันเป็นช่วงที่การเมืองระดับชาติยังชุลมุนอยู่ที่ไม่พร้อมจะทุ่มไปวางฐานในการเมืองท้องถิ่นได้

(6) แม้ว่าจะมีอีกฝ่าย หรือ อาจจะเป็นฝ่ายพวกเดียวกันก็ตาม ต่างกำลังสร้างกระแสโจมตีท้องถิ่นในหลายด้านนำข่าวเก่าๆ มาสร้างกระแสโจมตีท้องถิ่นที่เป็นอุปสรรคต่อความหวังในการปฏิรูปท้องถิ่นให้ง่ายขึ้นนอกจากนี้ การสร้างแนวร่วมต่างๆเพื่อลดกระแสต่อต้านก็ดูท่าจะไม่ง่ายนัก

ยาวหน่อย หาจุดลงยาก คงเป็นมหากาพย์วิพากษ์กันไปได้อีกหลายเพลา



[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officerทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23376 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 32วันศุกร์ที่ 21– วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2560, หน้า 66

[2]ย้อนดู 5 อย่างที่จะเปลี่ยนไป และคงอยู่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, สำนักข่าวอิศรา, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), 6 เมษายน2560, https://www.isranews.org/main-issue/55266-politics...

[3]มาตรา 65 รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย

ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

[4]มาตรา 219 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ทั้งนี้มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง

ในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยและเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีด้วยแต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

[5]มาตรา 267 ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จ และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

(5) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

(6) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(7) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

(8) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(9) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

(10) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และต้องมุ่งหมายให้มีการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ และต้องทำให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เสนอตามวรรคหนึ่งเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันพ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องไม่ช้ากว่าวันพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรา 263

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะขอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งเพิ่มขึ้นก็ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสามสิบคนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดไม่แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าวให้ถือว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนั้นตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอ

ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดไม่แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนั้นตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอ

เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนสิบเอ็ดคน ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมอบหมาย ฝ่ายละห้าคน เพื่อพิจารณาแล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเพื่อให้ความเห็นชอบ ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติไม่ถึงสองในสามดังกล่าว ให้ถือว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบตามร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอและให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81

[6]มาตรา 259 ภายใต้บังคับมาตรา 260 และมาตรา 261 การปฏิรูปประเทศตามหมวดนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทำแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลาห้าปี

ให้ดำเนินการตรากฎหมายตามวรรคหนึ่ง และประกาศใช้บังคับภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

ในระหว่างที่กฎหมายตามวรรคหนึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการปฏิรูปโดยอาศัยหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่แล้วไปพลางก่อน

[7]มาตรา 268ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3)และ 4) มีผลใช้บังคับแล้ว

[8]มาตรา 279 บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น เป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

บรรดาการใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1)พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

[9]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560

มาตรา 44 ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

[10]จับตา! ยุบ อบต.-ควบรวมเทศบาลเล็ก จุดเปลี่ยนใหญ่ท้องถิ่นไทย, ประชาชาติ, 29 สิงหาคม 2559,

www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=14724531...

[11]กกต.ชี้ เลือกตั้งท้องถิ่นเป็นโจทย์ใหญ่ ระบุหากเกิดขึ้นจริงเป็นสิ่งที่ดี, มติชน, 30 มีนาคม 2560, http://www.matichon.co.th/news/513102

& เลือกตั้งท้องถิ่น โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข, 30 มีนาคม 2560, http://www.matichon.co.th/news/513046

[12]ทิศทางการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น นิด้าโพล, 10 ตุลาคม 2559, http://www.topicza.com/news17666.html?f=570

& อ.จุฬา ชี้ โจทย์ใหญ่เมืองไทย คือชนชั้นกลางไม่เอาประชาธิปไตย, 5 พฤศจิกายน 2559, http://www.matichon.co.th/news/348709

[13]ปลัด มท.แจง ข่าวลือใช้ ม.44 ยกเลิกรักษาการผู้บริหารท้องถิ่น ให้ปลัดท้องถิ่น, 9 ตุลาคม 2559, www.topicza.com/news17678.html

[14]อ้างอิงจากเฟซบุ๊ค ป.พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง, 17 ตุลาคม 2559 & ดู “เครือข่ายท้องถิ่น” ค้านยุบ อบต. -แต่เพิ่มอำนาจประชาชน, สยามโฟกัส, 6 ธันวาคม 2559, http://siamfocusnews.com/siam/?p=604

[15]อ้างอิงจาก พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย, คืบหน้ากฎหมายท้องถิ่น... สรุปสั้นๆ จากผอ.สกล ลีโนทัย (อดีต ผอ.สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) บรรยายการสัมมนาสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เมื่อ 11 ธันวาคม 2559

& ดูคนเขียนไม่ใช่คนปฏิบัติ...คนปฏิบัติไม่ได้เขียน ดีเดย์ มกราคม 2561 “ยุบ อบต.” วางไทม์ไลน์เลือกตั้งเทศบาลหลังได้ สส., โดย ฐานเศรษฐกิจ, 11 พฤศจิกายน 2559, http://www.thansettakij.com/2016/11/11/112301

[16]“กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” กระทรวงมหาดไทย ครบ 14 ปี, Tnews, 3 ตุลาคม2559, www.tnews.co.th/contents/206869 & เผยแผนปฏิบัติการ กรมส่งเสริมฯ เพิ่มประสิทธิภาพท้องถิ่น ครบ 14 ปี พัฒนาท้องถิ่น บนพื้นฐานความเป็นอิสระ, ผู้นำท้องถิ่น 17 ตุลาคม 2559

[17]“PRIMETIME กับ เทพชัย” : “มหาสารคามโมเดล”กวาดล้าง! ทุจริตท้องถิ่น, 13 ตุลาคม2559, www.nationtv.tv/main/program/PRIMETIME/378519764/

[18]ชงแยกอปท.ออกจากมหาดไทย เครือข่าย อบต.ใต้ยันทำงานไม่คล่องตัว, สยามรัฐออนไลน์, 13 ธันวาคม 2559, http://www.siamrath.co.th/n/6387

[19]ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2557, ราชกิจจานุเบกษา, หน้า 12 - 14, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 134 ง วันที่ 21 กรกฎาคม 2557, http://library2.parliament.go.th/giventake/ncpo.ht... &http://thainews.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetai... & http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/...

[20]คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป โดยมิให้คำสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 48-52 เล่ม 132 ตอนพิเศษ 1 ง วันที่ 5 มกราคม 2558, http://library2.parliament.go.th/giventake/content... & http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/626872#s...

[21] คนเขียนไม่ใช่คนปฏิบัติ...คนปฏิบัติไม่ได้เขียน ดีเดย์ มกราคม 2561 “ยุบ อบต.” วางไทม์ไลน์เลือกตั้งเทศบาลหลังได้ สส., โดย ฐานเศรษฐกิจ, 11 พฤศจิกายน 2559, อ้างแล้ว.

หมายเลขบันทึก: 627716เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2017 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2017 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท