สงบจิตศึกษา


สาระเล็กๆ

ถ้าการสงบจิตคือการพักผ่อนที่ดีอย่างหนึ่ง ทำไมเราจึงไม่ให้เวลาสำหรับการทำให้จิตสงบลง จิตสงบน่าจะคล้ายกับทะเลที่มีคลื่นแผ่วเบา และไม่มีคลื่น ดังนั้น จิตสงบจะคือการที่จิตว่างเว้นจากอารมณ์ความคิดสูงๆต่ำ ปกติเมื่อเราถูกด่า ภาวะที่จิตราบเรียบดังน้ำไม่มีคลื่นจะกระเพื่อมพร้อมกับความคิดต่างๆตามมา เช่น ด่าฉันทำไม ฉันผิดอะไร เรื่องของฉันไม่เกี่ยวกับใคร ฯลฯ มีความเป็นไปได้ที่บุคคลจะฟังเสียงด่าที่เป็นเพียงเสียงแต่ไม่ได้ตีความว่าเสียงนั้นมีศัพท์อะไรบ้าง มีความหมายอย่างไร อย่างไรก็ตาม ถ้าทำให้จิตสงบลงได้ โดยงดเว้นการใส่ใจจากสิ่งต่างๆที่เข้ามากระทบความรู้สึกให้ต่ำลง น่าจะคือการพักใจที่ดีอย่างหนึ่ง ถ้าใจหรือจิตของเราจะยังต้องอยู่กับเราต่อไป การพักใจน่าจะคือการรักษาใจให้ยาวนานไปกับความเป็นเรา

เรื่องราว

การได้ย้ายฐานชีวิตจากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่ง อาจจะลำบากในด้านการโยกย้ายที่จะสานต่อสิ่งเก่าที่ผ่านมากับสิ่งใหม่ให้สอดรับกันในมิติของสังคม แต่น่าจะดีหากสิ่งใหม่ที่เข้ามาจะช่วยเยียวยาและถนอมความรู้สึกของตนไว้ ที่ผ่านมาหลายสิบปีถ้าหากไม่มีใครบังคับก็ไม่สามารถจะให้เวลากับสงบจิตได้ด้วยตน แต่เชื่อได้ว่า ความทุกข์ทั้งหลายในตน เราเองเป็นผู้นำพาเข้ามา ดังนั้น หากไม่ปิดใจเสียบ้างก็มีแต่ยึดถือสิ่งที่ขัดใจ/รับไม่ได้ไว้ในตนให้คอยกัดกร่อนชีวิต แนวคิดแบบพุทธบอกว่า "สนิมเกิดจากเหล็กนั่นแหละ" ทุกข์หรือก็เกิดจากใจตน ถ้าทุกข์คือคลื่นที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ถ้าไม้หลักไม่ได้ปักเลน แต่ปักอยู่บนหินที่แข็งแกร่ง คลื่นหรือจะถ่าโถมไม้นั้นให้หวั่นไหวไปตามคลื่น จะทำอย่างไรให้ไม้หลักไม่ปักเลน อันนั้น ต้องสั่งสมประสบการณ์กันเอง ดังนั้น จะเห็นผู้สูงอายุบางท่านสามารถนิ่งเฉยได้อย่างน่าอัศจรรย์กับความขัดแย้งในตนของบุคคลรอบกาย พร้อมกับข้อความที่ท่านบอกเราว่า "ไม่มีอะไร เดี๋ยวก็ผ่านไป เป็นเรื่องโลกๆ"

การเคลื่อนย้ายชีวิตจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง จากสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งหนึ่ง น่าจะไม่ใช่เรื่องประหลาดอันใด หากศึกษามิติแบบพุทธในเชิงลึก การเกิด-ดับ สานต่อของจิตและการเกิด-ดับสานต่อของกายเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ อันเป็นการบ่งชี้ว่า ไม่มีอะไรยั่งยืนถาวร ดังนั้น การเคลื่อนย้ายชีวิตทางสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอย่างที่ว่ามา

เป็นความโชคดีหรือธรรมชาติจัดสรรในช่วงชีวิตหนึ่งก็หารู้ไม่ อีก ๔-๕ เดือนก็ครบปี ที่สิ่งใหม่อันเป็นของเก่าเข้ามาในชีวิต ทำให้รู้สึกว่า อืมม ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันได้ทำหน้าที่บุคคลในครอบครัว ชุมชน และสังคมแตกต่างกว่าเดิม แต่นั่นแหละ สิ่งที่เราปฏิเสธมาบ่อยครั้งก็ยิ่งเข้ามาวนเวียนรอบตัวมากขึ้น สิ่งนั้นคือ โลกของเทพเจ้า ในเมื่อเรามาเส้นทางของอดีตมหาเถระสามรูป (ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเรียกตัวเองว่าศิษย์หากแต่วัฒนธรรมรอบตัวตีกรอบให้) คือ พระราชญาณกวี (บ.ช.เขมาภิรัติ) พุทธทาส ภิกขุ และปัญญานันทะภิกขุ ดังนั้น เรื่องโลกของเทพเจ้าจึงไม่ได้อยู่ในความคิด และถูกมองว่าไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การเข้ามาใช้ชีวิตในพื้นที่ใหม่ สังคมรอบตัวคงเข้าใจว่าเราติดต่อกับโลกเทพเจ้าได้กระมั้ง คิดแล้วขำๆ เราจึงกลายเป็นที่พึ่งพาในการพูดคุยกับสังคมแบบนี้ด้วย โดยส่วนตัวไม่ได้ปฏิเสธกับเรื่องเหล่านี้ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องยึดถือปักหลักชีวิตไว้ ดังนั้น เมื่อถูกชักชวนว่า "มีเสียงกระซิบจากสวรรค์ว่าให้เราเป็นสื่อในการช่วยเหลือคนที่ทุกข์ยาก" จึงได้แต่บอกว่า "ไม่ได้มีความสามารถในด้านนั้น อย่าให้ได้ทำเรื่องแบบนั้นเลย" ดูเหมือนว่า เหตุผลอันหนึ่งที่เตือนเบื้องหลังคำพูดนั้นคือ เรียนเนื้อหามาแบบหนึ่งแล้วมาช่วยคนในแบบนั้นหรือ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า โลกของเทพเจ้าก็มีความหมายต่อผู้คนมากทีเดียว อย่างน้อยที่มองเห็นคือ ช่วยกระตุ้นพลังใจให้ผู้คนที่หมดกำลังใจจะหึกเหิมเดินทางชีวิตกันต่อไป

ความโชคดีหรือธรรมชาติจัดสรรหารู้ไม่ ห้องทำงานใหม่เงียบสงบ ทำให้เกิดความคิดใหม่ที่เก่าๆว่า ชีวิตเราอาจอยู่ไม่นาน มีเวลาอีกไม่มาก ควรต่อเติมชีวิตด้วยความสงบจิตพักใจในวันหนึ่งๆหรือสัปดาห์หนึ่งๆบ้างจะเป็นไร วันนี้เรายังไม่เห็นโลกหน้า และถ้าโลกหน้ามีจริง จิตที่เกิด-ดับนี้จะไปอยู่อย่างไร ล่องลอยโหยหาสิ่งสนับสนุนความอยากที่ไม่อาจหยิบยื่นได้ด้วยตนเองหรือ หรือว่าหาทางสงบจิตไว้ก่อน อย่างน้อยถ้าโลกหน้าไม่มีจริง การให้จิตสงบขณะมีชีวิตคือวิธีการพักผ่อนอย่างหนึ่ง และเมื่อมองว่า ทำไมเรากินอาหารให้ร่างกายได้ทุกวัน แต่เรื่องการพักจิต ทำไมเราไม่ทำให้เป็นอาหารใจทุกวัน ดังนั้น ต้องหาเวลาที่มีเพื่อการพักใจ

การเข้าที่ทำงานก่อนเจ็ดโมงครึ่ง เป็นอุบายอย่างหนึ่งสำหรับการพักใจ ก่อนจะเข้าสู่กรรมวิธีในการพักใจ เปิดเสียงธรรมฟังไปก่อน ระหว่างที่ผู้คนยังไม่มาที่ทำงาน เสียงดังกล่าวจึงไม่รบกวนใคร นอกจากเทวดาผู้มิจฉาทิฏฐิ เสียงธรรมที่เปิดเกือบทุกเช้าพื้นที่ใหม่คือเสียงธรรมของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ต้องขอบคุณโลกใหม่ไซเบอร์ อันเป็นคลังข้อมูลความรู้จากผู้รู้ให้เราได้เรียนรู้และทำตาม

ที่เก่าผ่านมาไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้ ยกเว้นว่าถูกบังคับด้วยเกณฑ์ แต่ที่ใหม่แห่งนี้มีความคิดว่า ทำไม ไม่ทำสิ่งนี้ให้เป็นเหมือนสิ่งที่เราขาดไม่ได้ (สงบจิตศึกษา) เฉกเช่นเดียวกับข้าวที่ต้องกินทุกวัน น้ำที่ต้องดื่มทุกวัน จึงเป็นที่มาของ จงให้เวลาสงบจิตในทุกเช้ามากบ้างน้อยบ้างตามกำลัง หลายเดือนที่ผ่านมาจึงรับรู้ว่า "เฮ้ย เดี๋ยวนี้ใจร้อนน้อยลงแฮะ" (นี่ขนาดใจร้อนน้อยลงนะ) ก็ไม่รู้เหมือนกันเป็นผลจากพักใจในเกือบทุกเช้าในที่ทำงาน (ที่บ้านทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ให้เวลากับโลกส่วนตัว/ลูกน้อยหอยสังข์ต้องแอบทำความดี) หรือว่า เป็นผลมาจากการอยู่ในประเทศที่เหมาะสม (ปฏิรูปเทศวาสะ) จึงเป็นมงคลของชีวิต (เอตัมมังคลมุตตมัง) หรือว่า เกิดจากอายุมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ขอชักชวนให้ใครทำการสงบจิตศึกษา แต่ขอให้รู้ว่า เวลาของเรามีไม่มากนัก ระหว่างที่เขียนมาถึงตรงนี้ เสียงหลวงพ่อพุธทาง youtube บอกว่า "สิ่งใดที่เรายังไม่รู้ไม่เห็น อย่าเพิ่งเชื่อตามคำพูด..." หลายเรื่องที่ผ่านมาเมื่อฟังพระมหาเถระเหล่านี้กล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่า "มันจริงหรือวะ" แต่ก็มีข้อโต้แย้งในใจว่า "ก็พิสูจน์สิ"

:-)

หมายเลขบันทึก: 627709เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2017 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2017 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท