​เรียนรู้วิธีอยู่อย่างชาญฉลาด (SMART LIVING) ตอนที่ 1


เพื่อทำให้คนที่มาจากภูมิหลังที่หลากหลายสามารถร่วมกันศึกษาประเมินประเด็นการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ และร่วมกันสร้างข้อเสนอที่เป็นนวตกรรมตามแนวคิดของ SMART Living Design

ตอนที่ 1 Smart Living Workshop

สัปดาห์นี้มีโอกาสดีมากอีกครั้ง คือได้มาประเทศไต้หวันเป็นครั้งแรก

ไต้หวันเป็นประเทศที่ตัวเองรู้สึกเสมอว่า อย่างไรก็ต้องหาโอกาสมาสักครั้งหนึ่งในชีวิต เนื่องจากช่วงทำปริญญาเอกที่ต่างประเทศเมื่อสิบกว่าปีก่อน พอบอกฝรั่งว่ามาจาก Thailand ก็จะมีคนพูดขึ้นว่า Oh Taiwan หรือ Oh Taipei ทำให้หงุดหงิดรำคาญใจอยู่เนืองๆ นอกจากนั้นยังมีเพื่อนร่วมชั้นเป็นชาวไต้หวันหลายคน แล้วรู้สึกว่าเค้าทำให้เราดูแย่ เพราะเค้าขยันมากๆ ทำการบ้านและวิทยานิพนธ์อย่างจริงจังสุดชีวิต ส่วนเรานั้นระหว่างเรียนก็มีการฝึก soft skills อื่นๆเสริมเยอะ แม้เค้าจะมาชมว่า you นั้นรู้จักใช้ชีวิตคุ้มค่าดีจริงๆ ก็ยังได้กลิ่นคำประชดนิดหน่อย (ฮา)

อีกสองวันจะต้องนั่งรถไฟจากไทเปไปเมืองเกาสง (Kaohsiung) ทางใต้สุดของเกาะเพื่อเข้าร่วม workshop ชื่อ SMART Living International School (ASLIS) อันที่จริงได้ข่าวและสมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่คงส่งช้าไปหน่อยกรรมการบอกว่าได้ผู้เข้าร่วมครบแล้วจึงอยู่ในรายการรอและได้เข้าร่วมจริงๆในปีนี้

ในคู่มือของหลักสูตรนี้เค้าเขียนอารัมภบทว่า เป็นโปรแกรมเพื่อบ่มเพาะผู้มีพรสวรรค์ (Talent Cultivation Program) สำหรับอุตสาหกรรมการสร้างความเป็นอยู่ที่ชาญฉลาด (Smart Living Industry) พออ่านเสร็จปุ๊บก็เริ่มกังวลว่าเค้าจะให้เราทำอะไรบ้างหนอ เพราะเราก็ไม่ใช่ผู้มีพรสวรรค์ ไม่รู้เรื่องอุตสาหกรรม(ถนัดเกษตรกรรมมากกว่า) และความเป็นอยู่ทั่วๆไปก็ไม่ค่อยฉลาด (ฮา)

แต่บอกตัวเองว่า เอาไงเอากันละวะก็สมัครมาแล้ว และถ้าถอนตัวก็อาจทำให้ชนชาติไทยเสียชื่อเสียงได้ เลยลุยต่อ เค้าให้หานักศึกษาระดับหลังปริญญาที่สนใจเข้าร่วมโปรแกรมอีก 3 คน เลยพยายามหาคนที่ดูจะฉลาด นิสัยดีและมีพรสวรรค์มาได้จนครบ เพื่อร่วมกับทีมอื่นสร้างกลุ่มถกแถลงระหว่างนักวิชาการและนักวิจัยในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย

รายชื่อที่เค้าส่งมาให้ดูรอบสุดท้าย ประกอบด้วย 6 ทีมจาก 6 ประเทศ จากสาขาอาชีพที่มีชื่อเรียกหลากหลาย คือ Design and Environment, Integrated Design, Industrial design, Industrial and Commercial design, Health Sciences, Rehabilitation Sciences, Medicine, Occupational medicine, Sport Medicine, Aging and Long term care, และ Physical Therapy นอกจากนั้นยังได้ทราบว่าถูกมอบหมายให้ทำงานฐานะ Mentor เพื่อให้นักศึกษาในทีมซึ่งมาจากสาขาอาชีพอื่น-ประเทศอื่นร่วมกันผลิตโครงงานที่เป็นนวตกรรมเกี่ยวกับ Smart living ออกมาให้ได้ในเวลา 5 วันของ workshop

ที่น่าสนใจมากๆอีกอย่างคือ วิธีการจัดหลักสูตรนี้ เค้าใช้ Social Design Platform ที่เรียกว่า “5% Design Action” ซึ่งถูกใช้ในการสร้างนวตกรรมสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไต้หวันมาก่อน นอกจากนั้นยังเชิญนักวิชาชีพที่เคยเป็น Mentors ของปีก่อนๆ นักออกแบบ (designer) จากหลายสาขา และที่สำคัญคือผู้แทนจากองค์กรผู้ใช้นวตกรรม เช่น Daycare, Health service center, Home health care หรือ Support center ต่างๆในเมืองเกาสง มาร่วมเป็นผู้กำหนด theme เพื่อให้สามารถนำนวตกรรมที่ผลิตจากโปรแกรมนี้ไปใช้ได้จริง

วิธีจัดการเรียนรู้จะใช้ “Living labs” โดยใช้ทฤษฎี “Design-Driven Innovation” และวิธีการ Service design และ Lean start up approach ทั้งหมดก็เพื่อทำให้คนที่มาจากภูมิหลังที่หลากหลายสามารถร่วมกันศึกษาประเมินประเด็นการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ และร่วมกันสร้างข้อเสนอที่เป็นนวตกรรมตามแนวคิดของ SMART Living Design

ฟังวิธีการเรียนการสอนก็ทำให้ครูรุ่นโบราณ ถนัดแต่สอนบรรยายหน้าชั้นอย่างตัวเองหนักใจไม่น้อย แต่อีกใจหนึ่งก็ตื่นเต้นมากที่จะได้เปิดตาเปิดใจเห็นโลกกว้าง และได้ทำงานในหัวข้อที่ตัวเองสนใจและคิดว่าสำคัญมากๆในประเทศเราขณะนี้ คือการรับมือกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งตระหนักรู้อยู่ว่าเป็นประเด็นสังคมที่ต้องใช้การทำงานร่วมกันของคนหลากภาคส่วนหลาสาขาวิชาชีพ หวังอย่างยิ่งว่าจะได้ประสบการณ์จาก Workshop นี้มาเสนอสร้างทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศในฐานะครูกายภาพบำบัดคนหนึ่งต่อไป

จะทยอยเขียนบันทึกสะท้อนคิดสิ่งที่ได้เรียนรู้สำหรับตัวเอง และแบ่งปันคนอื่นๆเกี่ยวกับ SMART Living workshop ครั้งนี้อีกเรื่อยๆค่ะ


หมายเลขบันทึก: 626111เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2017 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2017 06:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท