จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๐ : ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน Part I


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๐ : ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน

ไม่ชอบคำๆนี้เลย ทั้งความหมาย การใช้ และที่ไม่ชอบมากที่้สุดคือการคิดคำๆนี้ขึ้นมา

อธิบายก่อนว่าคืออะไร คำๆนี้ปรากฏขึ้นมาในบริบทการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ระยะสุดท้าย หรือระยะลุกลามที่รักษาไม่หายแล้ว เมื่อโรคหรือพยาธิสภาพดำเนินมาถึงจุดๆหนึ่ง เกินกว่าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์จะรักษาให้หายขาด เราจะเปลี่ยนเป้าหมายจาก "รักษาหาย" มาเป็น "รักษาประคับประคอง" เน้นที่ไม่ทุกข์ ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ทรมาน โดยพยาธิต้นกำเนิดก็จะดำเนินต่อไปตามธรรมชาติของโรค แต่แพทย์จะพยายามที่จะดูแลเรื่องอาการต่างๆเป็นสำคัญ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า พอเปลี่ยนเป้าหมายนั้น จะมีเรื่องราว กิจกรรม หัตถการบางอย่างที่เราเคยทำตอนที่เป้าหมายเป็นการรักษาให้หายขาดนั้น เราจะไม่ทำอีกต่อไป ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับความคิดและความรู้สึกของญาติพี่น้องและครอบครัวของคนไข้ ทำให้เกิดการเรียกร้องต่างๆนานาจากญาติให้หมอทำกิจกรรม หัตถการ หรือการรักษาทางเลือกต่างๆ ที่ "ผิดหลักทางการแพทย์" ในยุคสมัยที่การกดดันสามารถทำได้อย่างง่ายดายและรุนแรงอย่างในปัจจุบัน ทำให้เกิดบรรยากาศอันอึดอัดในการทำงานอย่างมากมาย มีความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ควรทำตามหลักวิชาชีพกับข้อเรียกร้องตามอารมณ์ของญาติ

จึงเป็นที่มาขอการกำเนิดคำๆนี้ acute กตัญญู syndrome หรือภาวะกตัญญูเฉียบพลัน เป็นคำแสลง เป็นคำที่สะท้อนถึงความอึดอัดคับข้องใจของผู้ให้บริการทางสุขภาพที่ไม่รู้จะระบายอย่างไร

จะสังเกตได้จากคำที่เลือกมาใช้ นั่นคือ แพทย์ก็ทราบว่าที่ลูกหลาน ครอบครัว และญาติ เรียกร้องให้ทำโน่นนี่นั่น ก็เพราะ "หวังดี" ต่อคนไข้ และพลอยคิดไปว่า "การไม่ทำโน่นนี่นั่น" เป็นความไม่หวังดี ก็กลายเป็นความอกตัญญูต่อคนไข้ ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นเพราะคนนอกวงการแพทย์นั้น ไม่ได้รับรู้ว่า "การรักษาทุกชนิดที่แพทย์ใช้อยู่นั้น มีโทษ มีอันตราย และทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น" ต่างหาก

แต่ที่แพทย์ใช้การรักษานั้นๆ ก็เพราะ "ประโยชน์เหนือกว่าโทษ" เท่านั้นเอง

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านไม่ทราบ ก็เพราะเวลาสนทนาเรื่องทางเลือกในการรักษา เราก็มักจะพูดกันแต่เรื่องดีๆ ว่ารักษาแล้วจะหาย รักษาแล้วจะดีขึ้น เรามักจะเว้นไม่พูดถึง "ข้อเสียจากการรักษา" ด้วยสาเหตุหลายประการโดยเราไม่รู้ตัว พอพูดถึงแต่ข้อดีไปเรื่อยๆ ก็เกิดการรับรู้ผิดๆว่ามันคงจะมีแต่ข้อดี ไม่มีข้อเสีย ดังนั้นในภาวะวิกฤติ อะไรที่แพทย์ยังไม่ได้ทำ ญาติก็อยากจะให้ลองดู ไม่ได้ผลก็ไม่เห็นเป็นไร ดีกว่าไม่ได้ลอง

ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง

แพทย์จะทำอะไร รักษาอย่างไร ก็เพราะการทำอะไรนั้น การรักษาอย่างไรนั้น "เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ สำหรับผู้ป่วย" และในทำนองกลับกัน...

แพทย์จะไม่ทำอะไร จะไม่รักษาอย่างไร ก็เพราะการไม่ทำ การไม่รักษานั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วสำหรับผู้ป่วย ถ้าจะทำอะไร รักษาแบบนั้นลงไป รังแต่จะเกิดความทุกข์ทรมานมากขึ้น เราจึงเว้นไว้ไม่กระทำ

ดังนั้นหากญาติๆ ลูกหลาน และครอบครัว ทราบอย่างนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะมาบีบบังคับให้แพทย์ทำโน่นนี่นั่น เพียงเพราะ "ลองดูเถอะ ไม่น่าจะเสียหาย" และน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าไม่น่าจะทำอะไรที่มีแต่จะทำให้คนไข้ทุกข์ทรมานไปกว่านี้

รวมทั้งญาติ ลูกหลาน ที่อาจจะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ดูแลกันมาตามควรก่อนหน้านี้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ใครๆก็เลือกไม่ได้ แต่ละคนมีเรื่องราวและวิถีชีวิตที่เราต้องไหลไปตามพลังงานหลักของเหตุปัจจัยมากมาย

สาเหตุที่ไม่ชอบที่มา ก็เพราะรู้สึกว่า ปัญหาเรื่องนี้แก้ได้ไม่ใช่โดยวิธีการ "ตั้งชื่อ" หรืออุปโลกน์ "สภาวะ" อะไรขึ้นมาแบบนี้ แต่ควรจะทำโดยการสื่อสารอย่างมืออาชีพ โดยการสื่อสารอย่างมีเมตตาเป็นสรณะมากกว่า

ปัญหาเรื่องนี้แก้ได้โดยการฝึกสื่อสารเรื่องการรักษาต่างๆ โดยให้ความรู้แต่แรกว่า การรักษาทุกชนิดนั้นมีโทษ มีด้านไม่ดี แต่ที่เราเลือกแบบนั้นๆ เพราะข้อดีมันเหนือกว่า มีมากกว่า คุ้มกับการแลกกับด้านไม่ดีของการรักษา ทำแต่เนิ่นๆ แต่ระยะแรกๆ เพราะไปทำทีหลัง ไปทำตอนผู้ป่วยระยะท้ายๆ มันจะมีด้านอารมณ์มามีอิทธิพลเยอะ จนการสื่อสารด้วยตรรกะ เหตุผล จะใช้การได้น้อยลง

สุดท้ายแล้ว การกตัญญูนั้นดีแน่ เพราะเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดี และคงจะไม่มีใครคิดว่าจะตอบแทนด้วยการยื้ดยื้อความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นเป็นแน่ ถ้ามีการเข้าใจผิด คิดว่าการทำโน่นนี่นั่นเป็นการช่วย วิธีการตอบสนองที่ถูกต้องคืออธิบาย ไม่ใช่การมาตั้งชื่อ หรือการโกรธ การอึดอัดคับข้องใจแต่อย่างใดเลย

น.พ.สกล สิงหะ

หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์

วันพุธที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๕ นาฬิกา ๑๗ นาที

วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 625431เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2017 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2017 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งเคยได้ยิน ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน ก็ครั้งนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท