​ชีวิตที่พอเพียง : 2863. ไตร่ตรองสะท้อนคิดชีวิตยามชรา



อายุ ๗๕ ปี สมัยผมเป็นเด็กถือว่าเป็นอายุของคนแก่รอความตาย ผมเห็นปู่นั่งๆ นอนๆ มาตั้งแต่เด็ก จนปู่ตายเมื่อท่านอายุ ๗๗ และผมอายุ ๑๔


เคยอ่านหนังสือประวัติของพระยาอนุมานราชธน เล่าว่าเมื่อลูกคนโต (คือนายยง ต่อมาเป็นพระยาอนุมานราชธน) ทำงาน บิดาของท่านก็เกษียนอายุงานของตนเอง (จำได้ว่าอายุเพียงประมาณห้าสิบ) มานั่งๆ นอนๆ ให้ลูกหาเลี้ยง แต่ไม่นั่งๆ นอนๆ เฉยๆ ยังผลิตลูกออกมาเป็นเพื่อนกับหลานปู่ของตนเสียอีก


นั่นมันกว่าร้อยปีมาแล้ว


ตอนนี้ผมอายุ ๗๕ ปี ยังคิดว่าตนเองยังแข็งแรง ยังทำงานได้ มีคนมาชมเสมอว่า “อาจารย์แข็งแรงจัง อายุถึงแปดสิบหรือยัง” ฟังแล้วไม่รู้ว่าเขาชมความแข็งแรง หรือชมความชรา


ผมเชื่อว่า ชีวิตที่จะแข็งแรงได้ ต้องออกกำลัง การออกกำลังมีสองอย่าง คืออกกำลังกายกับออกกำลังสมอง ผมโชคดีหรือมีบุญ ที่บังคับตนเองให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิคสม่ำเสมอแทบทุกวันมาตั้งแต่อายุ ๔๐ มีคนชมเสมอว่าผมมีวินัยในตนสูงมาก ซึ่งเป็นความจริง ส่วนการออกกำลังสมอง ก็ได้จากความมีบุญของผม ที่ยังได้รับการร้องขอให้ทำงานในหลากหลายบทบาท ที่คงจะไม่ค่อยมีคนอยากทำ เพราะไม่มีค่าตอบแทนหรือมีน้อยมาก


การทำงานในบางบทบาท เน้นที่ “การทำแบบไม่ทำ” คือเน้นทำหน้าที่ชื่นชมในผลงานของน้องๆ อย่างกรณีของงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ผมทำหน้าที่กรรมการมูลนิธิ ประธานกรรมการรางวัลนานาชาติ ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ และประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชน ปณิธานของผมคือ ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้น้องๆ ได้ทำงานแบบสร้างสรรค์ให้แก่สังคมหรือบ้านเมือง ผ่านการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมมราชชนก และพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยผมแสดงตัวน้อยที่สุด และไม่ถือเป็นผลงานของผม


แปลกมาก ที่ท่าที และการแสดงบทเช่นนี้ กลับยิ่งทำให้ผมเป็นที่ต้องการไปทำงานคล้ายๆ กันในที่หรือองค์กรต่างๆ จนทำไม่ไหวต้องปฏิเสธไปก็มาก


การทำหน้าที่แบบนี้ ผมตีความว่า เป็นการทำหน้าที่เข้าไปเรียนรู้ และตีความคุณค่าของงานนั้นๆ แล้วหาทางชักจูง ชักชวน และส่งเสริม ให้การทำงานนั้นเกิดคุณค่าที่สูงส่งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นชีวิตที่เรียนรู้ นั่นเอง


ชีวิตเช่นนี้ ผมถือว่า เป็นชีวิตของคนมีบุญ แม้จะไม่ค่อยมีสตางค์


วิจารณ์ พานิช

๔ ก.พ. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 624755เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2017 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2017 01:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท