PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๑. กรณีเด็กชายเทพ (นามสมมติ)


วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ จัด PLC ครูภาษาไทย ในโครงการขยายผลกระบวนการพัฒนานักเรียนจิตอาสาด้วยการแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นการจัดการความรู้ติดตามผลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อเนื่องของกลุ่มครูเพื่อศิษย์ที่มาอบรมกระบวนการ ๖ ขั้น กับครูตุ๋มที่โรงเรียนบ้านหินลาด ตั้งแต่วันที่ ๑๗-๑๘ กันยายน ๒๕๕๙ (ผมบันทึกไว้ที่นี่) จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าครูทุกท่านได้นำเอากระบวนการ ๖ ขั้นของครูตุ๋มไปใช้ทุกท่าน โดยเน้นนำไปใช้แตกต่างกันไปตามข้อจำกัดของตนๆ


ความจริงกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมงานวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะครูจากโรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น แต่มีตัวแทนนักเรียนจิตอาสามาร่วมด้วยโรงเรียนละ ๒ คน เราแยกเวทีกันหลังจากพิธีเปิด โดยมอบให้แสนธีระวุฒิ ศรีมังคละ เป็นกระบวนกรกลุ่มนักเรียน (ผู้สนใจติดตามบล็อคของแสนครับ)

สำหรับวง “PLC ครู” ผมออกแบบกระบวนการแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนแบบง่าย ๆ แต่ได้ผลดีมาก ใช้เครื่องมือหาง่าย ได้แก่ดินสอสีกับกระดาษ วิธีคือ ให้ครูวาดรูปเด็กนักเรียนของตนเองไว้กลางกระดาษ แล้วให้เขียนข้อมูลของเด็กคนนั้นใน ๔ ประเด็น ดังรูปด้านล่าง ได้แก่ ๑) ข้อมูลพื้นฐาน (สิ่งแวดล้อม บริบทของเด็ก) ๒) ปัญหาหรือพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ๓) ความสำเร็จของครู หรือพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทักษะของเด็ก และ ๔) วิธีการของครู รวมถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของครู วัตถุประสงค์ของขั้นตอนนี้ คือให้คุณครูได้วอร์มอัพก่อนแลกเปลี่ยน เพื่อให้การถอดบทเรียนมีมิติเวลาจากซ้ายไปขวา (ค้นหาการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการ) และมิติของการแก้ปัญหา คือ สิ่งแวดล้อม->สาเหตุ->วิธีแก้ -> ความสำเร็จ แบบตัว “ยู”



ขอเชิญชวนให้ครูเพื่อศิษย์ที่กำลังช่วยเหลือนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ พิจารณาปัญหาและข้อแนะนำจากครูตุ๋มกรณีต่อไปนี้ (ทั้งที่จะมีตามมาในบันทึกต่อไป) หากท่านไม่ถนัดอ่าน สามารถคลิกฟังคลิปเสียงได้ แต่ต้องขออภัยที่เราใช้ภาษาถิ่นกันเกือบทั้งหมด


๑) เด็กชายเทพ (นามสมมติ)


ครู : เด็กชายเทพอาศัยอยู่กับตายาย พ่อแม่แยกทางกัน และไปทำงานต่างจังหวัด จะขึ้น ป.๒ แล้วยังเขียนพยัญชนะยังไม่ได้เลย เขียนหนังสือก็ไม่เป็นตัว ไม่เป็นระเบียบ สกปรกเลอะไปหมด มีความสนใจแต่ไม่ค่อยมีความจำ สมาธิสั้น สอน กอ อา กา เหมือนจะได้แต่ซักพัก ก็ลืมเหมือนเดิม ต้องมาเริ่มต้นใหม่ พยายามพาเขียนบ่อยซ้ำย้ำทวนก็แล้ว ก็ไม่ค่อยได้ผล (คลิกฟังครูเล่าได้ที่นี่ครับ)


ครูศิริลักษณ์ : วิธีการวางเป้าหมายในการเรียนของเด็ก ต้องไม่วางเป้าไกลเกินไป แม้การเขียนหนังสือไม่เป็นตัว หรือเขียนไม่สะอาด ก็ยังไม่ต้องเข้มงวดสะอาดและเป็นระเบียบทันที ต้องไม่ดุด่าว่าเด็ดขาด ให้ค่อยตะล่อมให้เกิดความสนุกชอบเรียนภาษาไทยให้ได้ ให้เข้ามาเล่นมาเรียนในห้องก่อน วิธีการคือ ให้ใช้การชม (ญ่ออง) และใช้ "เรื่องเล่า" (บนฐานเรื่องราวชีวิตที่เด็กคุ้นเคย) เช่น

  • กรณีเขียนไม่เป็นตัว เช่น ด.ช.เคน เขียนชื่อตนเองออกมาไม่เป็นตัว เราจะบอกว่า "...บักหล่า พ่อใหญ่เคนเพิ่นป่วยตั่วนี่ บักหล่าพาเพิ่นไปแล่นเล่นก่อนเด้อ พาเพิ่มไปออกกำลังกาย กินข่าวกินปลา ให้เพิ่นอ้วนขึ้นก็นี่เด้อ..." เป็นต้น
  • กรณีเขียนไม่เป็นระเบียบ ไม่สะอาด เช่น ให้บอกว่า "...บักหล่า..พ่อใหญ่เคนเพิ่นบ่อได้อาบน้ำจักเทื่อติ บักหล่าพาเพิ่นไปอาบน้ำ สาผม ทาแป้งงาม ๆ หวีผม ก่อนเด้อหล่า ..." เป็นต้น
  • กรณีมาตราตัวสะกด สำหรับเด็ก LD ให้สอนเฉพาะที่สะกดตรง ๆ โดยใช้เรื่องเล่า และผูกสิ่งที่ต้องจำไว้กับเรื่องเล่า หรือก็คือ ให้หลักการจำที่สัมพันธ์กับเรื่องเล่านั่นเอง
  • สำหรับตัวการันต์ ก็ให้ผูกเป็นเรื่องเล่า เช่น "...ทหารชอบคุยโทรศัพท์เด้หล่า ยักษ์สร้างเจดีย์ น้องชอบดูโทรทัศน์ ..." เป็นต้น

ท่านที่อยากฟังเสียงสดของครูตุ๋มในการแนะนำเพื่อนครู คลิกฟังที่นี่ครับ

อ.ต๋อย : ผมจับหลักสำคัญได้ดังนี้

  • ใช้การชมอย่างเดียว คือใช้เชิงบวกอย่างเดียว จากหนังสือ "เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่" ของหมอวิจารณ์ ท่านสรุปงานวิจัยของต่างประเทศไว้น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการชมไว้ว่า "...คำชมหรือยกย่องที่ถูกต้องคือ ต้องชมความฉลาดหรือปัญญา เพราะทำให้เด็กอ่อนแอและมีข้ออ้าง ต้องไม่ชมผลงานแบบลอย ๆ ว่าดีหรือเด่น เช่น "ลูกมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ" คำชมที่มีคุณค่าต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวัง โดยเลือกชมที่กระบวนการที่เด็กใช้ในการบรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจและพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมหรือการกระทำที่จำเพาะ ที่นำไปสู่ความสำเร็จที่เรียกว่า "ชมกระบวนการ" (Process Praise) ..." เช่น
    • เธอวาดภาพได้ดี ครูชอบรายละเอียดที่เธอใส่ในใบหน้าคน
    • เธอทบทวนสาระในรายวิชาสังคมศึกษาได้อย่างดีมาก เธออ่านทบทวนหลายรอบ และสรุปโครงสร้างของสาระ และทดสอบความรู้ของตนเองได้ดี
    • ครูชอบที่เธอลองวิธีแก้โจทย์คณิตศาสตร์นี้หลายวิธี จนพบวิธีที่ถูกต้องในที่สุด
    • การบ้านภาษาอังกฤษนี้ยาก แต่เธอก็มุ่งมั่นอยู่กับงาน เธอนั่งอยู่กับโต๊ะเรียนอย่างมีสมาธิ สุดยอด

(หากอยากฟังเสียงผมคุยกับครู อยู่ที่นี่ครับ)

  • ใช้เรื่องเล่า ใช้การเล่าเรื่อง ใช้ทั้งภาษาถิ่นและภาษาไทย หลักสำคัญคือ ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้เดิม โดยเฉพาะการเดินชีวิตของเด็ก เช่น เด็ก LD บางคน สับสนระหว่าง ก.ไก่ ถ.ถุง และ ภ.สำเภา และยิ่งจำไม่ค่อยได้กับตัวยาก ๆ อย่าง ฌ.กะเฌอ ณ.เณร วิธีการของครูตุ๋ม จะบอกว่า "่...ตัว ถ.ถุง มันต้องใส่ของนะลูก ต้องม้วนหัวเข้าเป็นถุง ไม่อย่างนั้นจะใส่สิ่งของไม่ได้ ... ส่วนตัว ภ.สำเภา คนเราต้องใช้เรือสำเภาออกไปหาปลา หัวมันต้องม้วนออก จะได้มีปลาอาหารมากิน ... ถ.ถุงกับ ม.ม้า มาเจอกันจะแปลงร่างเป็น ฌ.กะเฌอ ... หนูเข้าไปในถุงจะแปลงร่างกายเป็นเณรทันที....." เด็ก ๆ จะสนุกและจำได้ (คลิกฟังคำแนะนำของครูตุ๋มได้ที่นี่ครับ)
  • ครูควรจะมีการบันทึก ปัญหาและพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ไว้ ในสมุดประจำตัวเด็กอย่างต่อเนื่อง ... หากเราทำได้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนารายบุคคลมาก ๆ

(หากอยากฟังเสียง อ.ต๋อยพูดกับครู อยู่ที่นี่ครับ)




หมายเลขบันทึก: 624750เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2017 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2017 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท